วันอาทิตย์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2555

วันเสาร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2555

"อาลัยรัก" คุณไทย-สุริยะ


ทีมงานถ่ายทอดสดภาคเหนือ
เสียชีวิตจากตับอักเสบและเชื้อราขึ้นสมอง
เช้ามืดวันเสาร์ที่ 14 เมษายน 2555
ขอให้ดวงวิญญาณจงไปสู่สุคติเทอญ






เบื้องหลังกรณี “กลอนสมัคร” โดย จักรภพ เพ็ญแข




ครั้งแรกที่ผมเห็นกลอนที่มีผู้อ้างว่าเขียนโดย ท่านนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช ผู้ล่วงลับ และมีเรื่องเล่าแถมด้วยว่าท่านได้แต่งไว้ก่อนถึงแก่อสัญกรรมไม่นาน เขียนแล้วก็ใส่มือคุณหญิงสุรัตน์ฯ ผู้เป็นภรรยาเสมือนจะฝากไว้ในแผ่นดิน ผมรู้สึกอยู่ในใจว่าช่างผูกเรื่องกันเก่งจริง ช่วยให้บรรยากาศทางการเมืองเข้มข้นครึกครื้นยิ่ง ผมจึงเก็บข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ไว้ในใจ

ไม่อยากออกมาอธิบายว่าแท้ที่จริงกลอนแปดชิ้นนี้มีที่มาอย่างไร และสั่งทีมงานทุกคนที่รู้เห็นให้เก็บเงียบไว้ด้วย การเปลี่ยนครรลองการเมืองในภาพใหญ่ของไทยตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๙ เป็นต้นมาเป็นเป้าหมายที่ผมต้องการมากกว่าสิ่งใดๆ แม้แต่เรื่องที่เคยสำคัญต่อผมมากสมัยที่เป็นสื่อมวลชนและนักวิชาการอย่างเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เหมือน “กรณีกลอนสมัคร” นี้
แต่แล้วเรื่องนี้ก็ไม่จบ มีผู้เข้ามาร่วมถกเถียงและอ้างเป็นผู้รู้กันมากมาย

ซึ่งผมได้อ่านและวางเฉยอยู่ ต่อมาความเห็นเริ่มแปลกประหลาด ในทำนองว่าผมเป็นผู้ไปนำกลอนของท่านมาปรับปรุงแต่งเติมให้เป็นกลอนของตนเองและนำออกมาเผยแพร่ จะเพราะอยากเด่นดัง หรือมีอุปนิสัยฉวยโอกาสอย่างไรผู้แสดงความเห็นท่านก็ไม่ได้พูดหรือเขียนออกมาตรงๆ แต่ผมก็เริ่มรู้สึกว่าเรื่องนี้ชักจะไปไกลกันเกินไปหน่อยแล้ว ยิ่งภายหลังผู้นำทางความคิดอย่าง ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ออกมาถามหาข้อเท็จจริงด้วย เรื่องธรรมดานี้ก็ชักจะเป็นเรื่องสำคัญขึ้นมา

ผมจึงคิดว่าต้องออกมาชี้แจงเล็กน้อย เพื่อความซื่อสัตย์ในทางประวัติศาสตร์ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของปัจเจกชนคนใด

กลอนแปดหรือกลอนสุภาพจำนวน ๑๔ บทนี้ ผม-นายจักรภพ เพ็ญแข เป็นผู้เขียนขึ้นเอง โดยได้แรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นทันทีที่รู้ข่าวว่าท่านอดีตนายกรัฐมนตรีถึงแก่อสัญกรรม ในขณะนั้นผมมีพื้นที่ที่ตีพิมพ์งานร้อยกรองอยู่หนึ่งคอลัมน์ในนิตยสารการเมือง “ไทยเรดนิวส์” ภายใต้การบริหารของผู้อำนวยการและบรรณาธิการ ดร.วิบูลย์ แช่มชื่น คอลัมน์นี้ชื่อ “ร้อยรักอักษราเป็นอาวุธ” และผมได้ใช้ชื่อจริงในการเขียนตั้งแต่กลอนชิ้นแรก จนถึงวันที่นิตยสารนี้ถูกข่มขู่คุกคามจากฝ่ายรัฐจนต้องปิดตัวลง

ผมยังจำความรู้สึกในขณะที่เขียนกลอนชิ้นนี้ได้ดี ผมรู้สึกเศร้าสะเทือนใจแทนท่านนายกสมัครจนน้ำตาไหล ผมรู้สึกเสียใจที่ผู้คนส่วนหนึ่งในบ้านเมืองไม่เข้าใจบทบาทในบั้นปลายของท่าน ผมเห็นใจสิ่งที่ท่านยึดถือเป็นสรณะในชีวิตแต่สุดท้ายกลายเป็นมายาให้ท่านได้เห็นต่อหน้า

ในฐานะที่ร่วมอยู่ในคณะรัฐมนตรีโดยเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งของท่าน ผมมีโอกาสได้เห็นหัวใจดวงใหญ่ของผู้ใหญ่คนหนึ่ง ที่ผมติดตามบทบาททางการเมืองมาตั้งแต่เป็นนักเรียนนุ่งกางเกงขาสั้น ผมรู้ว่าท่านมิใช่คนที่เพียบพร้อมสมบูรณ์แบบ แต่ผมก็รู้ว่าท่านมีความดีงามมากพอที่เราจะกราบไหว้รำลึกถึง โดยเฉพาะจุดยืนในขณะที่บ้านเมืองเข้าสู่ “การเมืองปลายรัชกาล” การตัดสินใจทางการเมืองของท่านหลายครั้งสะท้อนว่า

ท่านเอาบ้านเมืองไว้ก่อนอย่างอื่น และเอาเกียรติคุณส่วนตัวไว้ในระดับต่ำสุด หรือไม่เอามาคิดเลยด้วยซ้ำ กลอนทั้ง ๑๔ บทนี้ไหลออกมาอย่างต่อเนื่องเป็นธรรมชาติและน้ำตาผมก็ไหลในขณะที่เขียน ผมรู้ว่าผมคือผู้ลี้ภัยทางการเมือง คงจะไม่อาจไปร่วมเคารพศพท่านด้วยตัวเอง ความรู้สึกอาลัยรักจึงท่วมท้นหัวใจเป็นทวีคูณ

ผลที่ปรากฎขึ้นคือ:

คอลัมน์ ร้อยรักอักษราเป็นอาวุธ

เรื่อง สมัคร สุนทรเวช

       โดย จักรภพ เพ็ญแข

ณ แผ่นดินถิ่นนี้มีผู้ใหญ่    ผู้เกรียงไกรใจถึงประหนึ่งสิงห์
ตอบสังคมสมศักดิ์รักความจริง        ไม่แอบอิงมายาเป็นอาภรณ์
มากศัตรูมากมิตรชีวิตชัด         รักษาชีพด้วยสัตย์เป็นอนุสรณ์
ผ่านถนนจนคุ้มทั้งลุ่มดอน         ครบวงจรอย่างผู้ใหญ่หัวใจจริง

“สมัคร  สุนทรเวช” ท่านจากลับ        ย่อมมิใช่มืดดับทุกสรรพสิ่ง
ทุกร่องรอยตัวตนของคนจริง        ทุกครั้งนิ่งเงียบสงบพบปัญญา
ผู้แผ้วถางทางเองไม่เกรงขาม         ผู้ก้าวข้ามอุปสรรคที่ขวางหน้า
ผู้สร้างตัวไม่กลัวใครในนครา         ผู้จับมือมวลประชาร่วมท้าทาย

และเป็นผู้ผิดหวังครั้งใหญ่ยิ่ง         ผู้ที่ท่านยึดว่าจริงกลับห่างหาย
ผู้ใหญ่กลับสลับคู่เป็นผู้ร้าย         หัวใจท่านจึงสลายเพราะใจจริง
เสมือนสวมพระเครื่องอันเรืองเวทย์ ประนตเกศมอบหัวใจให้ทุกสิ่ง
แต่องค์พระกลับล้วงเข้าช่วงชิง        จนได้รู้ความจริงอันเจ็บใจ

สิ่งที่สูงกลับต่ำนั้นตำเนตร         ใจ “สมัคร สุนทรเวช” จึงหม่นไหม้
นบนอบมาด้วยประชาธิปไตย         ก็สั่งให้กองทัพมากลับทาง
ยุให้คนผิดกฎหมายท้าทายรัฐ         ยุประชาธิปัตย์เข้าด้านข้าง
ยุให้ศาลเบือนบิดเข้าปิดทาง         และใช้ “บ่าง” สื่อมวลชนคนบริกร

นี่ล่ะหรือเสาหลักอันศักดิ์สิทธิ์         ภาพนิมิตรกลับกลอกเป็นหลอกหลอน
นึกว่าว่านสมุนไพรแท้ใบบอน         นึกว่าจริงกลับละครย้อนดูตัว
แต่เกียรติยศแห่ง “สมัคร” จำหลักมั่น     ประชาชนทั้งนั้นท่านรู้ทั่ว
ถึงร่างลับดับขันธ์อย่าหวั่นกลัว         ความจริงจักปรากฎทั่วอย่ากลัวปลอม

พักเถิดครับ...ท่านสมัคร...โปรดพักผ่อน   สิ่งที่ท่านสั่งสอนทั้งตรงอ้อม
จะนำมาปรับใช้จะไม่ยอม         ประชาธิปไตยแมวย้อมจะไม่เอา
ประชาชนได้เป็นใหญ่ใน “สมัคร”        เขาจึงรักแน่วแน่จนแก่เฒ่า
เผด็จการอำมาตย์ไทยเขาไม่เอา            ท่านคือเบ้าหลอมร่างสร้างผู้นำ

กราบวิญญาณ “ท่านสมัคร” ผู้รักชาติ   ผู้สร้างมาตรฐานไว้ไม่ตกต่ำ
หนุนประชาธิปไตยธงชัยนำ         สวนระบอบใจดำผู้อำพราง
ชาว “ประชากรไทย” รวมใจหวัง        มวล “พลังประชาชน” คนสืบสร้าง
จะสานต่อ “ท่านสมัคร” ผู้สร้างทาง    สละร่างทิ้งหัวใจให้บ้านเมือง.

หลายเดือนต่อมา หลังจากที่ระบอบศักดินา-อำมาตยาธิปไตยไทยได้ใช้เล่ห์กลจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะมาสวมแทนรัฐบาลของประชาชนแล้ว กลอนแปดชิ้นนี้ได้กลับมาปรากฎในโลกไซเบอร์อีกครั้งหนึ่ง แต่ในรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนแปรไป นั่นคือถูกตัดทอนให้สั้นลง ถ้อยคำถูกแก้ไขในบางส่วน และมีผู้เขียนคำอธิบายเพิ่มเติม ดังนี้:

 “สวมพระเครื่องอันเรื่องเวทย์    ประนมเดชมอบดวงใจให้ทุกสิ่ง
แต่องค์พระกลับเข้าช่วงชิง   จนได้รู้ความจริงอันเจ็บใจ
สิ่งที่สูงกลับต่ำนั้นตำเนตร   ใจสมัคร สุนทรเวชจึงหมองไหม้
เฝ้าจงรักภักดีมิรู้คลาย   ขอกัดฟันลาตาย......ไม่ถวายพระพร

นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีคนที่ ๒๕ ของประเทศไทย (ผู้ประพันธ์)
มอบให้ในอุ้งมือคุณหญิงภรรยาท่านไว้ก่อนสิ้นใจไม่นาน”

ผมเชื่อว่า เจตนาของใครก็ตามที่นำงานเขียนชิ้นนี้ไปปรับเปลี่ยนแก้ไขเป็นเรื่องของความตั้งใจดี เขาคนนั้นคงต้องการให้ผู้อ่านเข้าใจว่า อดีตนายกรัฐมนตรีผู้แสดงความมั่นคงทางความคิดต่อระบอบราชาธิปไตยของไทยมาตลอดชีวิต ได้เกิดความแตกหักทางความคิดในบั้นปลาย และได้ระบายความรู้สึกนั้นผ่านกลอนชิ้นนี้

การที่ผู้แก้ไขใส่วงเล็บเอาไว้ตอนท้ายด้วยว่า “นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีคนที่ ๒๕ ของประเทศไทย (ผู้ประพันธ์)”

เป็นความต้องการที่จะย้ำหัวตะปูว่ากลอนชิ้นนี้ท่านอดีตนายกรัฐมนตรีเป็นผู้เขียนจริงๆ เพราะเจ้าตัวคงรู้ดีว่ากลอนนี้แท้ที่จริงมาจากไหนและใครเป็นผู้แต่ง

สำนวนเขียนที่ว่า “...มอบให้ให้อุ้งมือคุณหญิงภรรยาท่านไว้ก่อนสิ้นใจไม่นาน...” ก็เป็นการเขียนที่เร้าใจ มีลักษณะอย่างที่ชาวละครคงเรียกว่า drama

ในเชิงกลอนนั้น ก็ต้องถือว่าผู้แก้ไขได้พยายามทำให้เนียนที่สุดแล้ว หากศิลปะกลอนนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอยู่มาก

หากจะสละเวลาเพื่อการวิจารณ์เชิงวรรณกรรมกันแล้ว ก็ต้องขอแสดงความเห็นไว้ตรงนี้ว่า:

“...สิ่งที่สูงกลับต่ำนั้นตำเนตร     ใจสมัคร สุนทรเวชจึงหมองไหม้
เฝ้าจงรักภักดีมิรู้คลาย    ขอกัดฟันลาตาย......ไม่ถวายพระพร”

วรรคสองที่ลงท้ายว่า “...จึงหมองไหม้” นั้น ในทางกลอนแล้วจะต้องลงสัมผัสกับคำที่ใช้สระเสียงสั้นเช่นเดียวกับ สระไอ ในคำว่า “ไหม้” การข้ามไปใช้คำว่า “คลาย”

ซึ่งเป็นคำที่ประกอบด้วยสระเสียงยาว หรือ สระอา นั้นถือเป็นผิด หรืออย่างน้อยก็ทำให้ขาดความไพเราะ ผู้แก้ไขคงจะอยากให้คำๆ นี้ไปรับกับวรรคที่ว่า “...ขอกัดฟันลาตาย...” ที่ตนหวังให้เป็นประโยคทองชนิดที่คนปัจจุบันใช้คำว่า จบข่าว ในแง่เจตนาแล้วถือว่าดี แต่ในเชิงกลอนแล้วต้องย้อนกลับไปฝึกพื้นฐานกันใหม่เล็กน้อย

ประโยคสุดท้ายที่อ้างนี้เองก็ขัดกับหลักการเขียนกลอน “ขอกัดฟันลาตาย... ไม่ถวายพระพร” มีลักษณะประดักประเดิดและเกินถ้อยคำของกลอน ๘

ไปอย่างน้อยหนึ่งพยางค์ เพราะประกอบด้วย ๑๐ พยางค์ ในขณะที่กลอน ๘ ที่ดีควรมีไม่เกิน ๙ พยางค์
หากจะปรับแต่งกันให้ได้ดั่งใจ ผมในฐานะที่เป็นต้นเค้าของกลอนชิ้นนี้ ขอเสนอใหม่เฉพาะในบทนี้ว่า:

สิ่งที่สูงกลับต่ำนั้นตำเนตร
ใจสมัคร สุนทรเวชจึงหม่นไหม้
เฝ้าจงรักภักดีพลีหัวใจ
แม้ชาติหน้าฟ้าใหม่... เลิกให้พร”

ในฐานะที่เป็นผู้แต่งกลอน “สมัคร สุนทรเวช” เพื่อแสดงความรักอาลัยต่อท่านอดีตนายกรัฐมนตรีที่ผมก้มกราบได้ทุกเมื่อ ผมขออธิบาย “กรณีกลอนสมัคร” ไว้เพียงเท่านี้ เรื่องนี้ล้วนเป็นเรื่องเจตนาดี ไม่ควรให้เป็นความขัดแย้งระหว่างพวกเราชาวประชาธิปไตยเป็นอันขาด ผมขอมอบกลอนชิ้นนี้เป็นสมบัติสาธารณะเพื่อการรณรงค์ต่อสู้ของพวกเราต่อไป ถึงท่านอดีตนายกรัฐมนตรีจะไม่ได้แต่งกลอนชิ้นนี้ แต่ผมขอประกันด้วยเกียรติของนักประชาธิปไตยคนหนึ่งว่า

ความรู้สึกในใจของท่านในบั้นปลายคงไม่ต่างไปจากคำพรรณนาในกลอนชิ้นนี้นัก ใครที่ยังสงสัย ยังมีบุคคลอีก ๒ คนให้ท่านไปหาทางถามได้ ท่านที่หนึ่งคือ คุณหญิงสุรัตน์ สุนทรเวช เพราะท่านถูกนำมาอ้างว่ารับกลอนชิ้นนี้ไว้ สามารถไปถามท่านได้ว่าได้รับกระดาษเขียนกลอนไว้จริงหรือไม่ อีกท่านหนึ่งคือ ดร.วิบูลย์ แช่มชื่น อดีตสมาชิกวุฒิสภาจากการเลือกต้ัง ซึ่งเป็นผู้อำนวยการและบรรณาธิการบริหารนิตยสารไทยเรดนิวส์ ผู้กรุณารับพิมพ์งานเขียนชิ้นนี้ไว้ตั้งแต่ต้น

ขอให้ดวงวิญญาณของท่านอดีตนายกรัฐมนตรีได้สถิตในสุคติ และขอให้การกระทำในช่วงปลายชีวิตของท่านได้มีผลดลใจให้ขบวนประชาธิปไตยของเรากลับมาตั้งสติได้เหมือนกับตัวท่าน จนเราเดินสู่หลักชัยแห่งระบอบประชาชนได้โดยเร็วด้วยเทอญ.

                                                     วันพฤหัสบดีที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๔



วันอังคารที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2555

พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก่นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย

จากกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.) ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 6 เมษายน และก่อนหน้านี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นมหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.) เมื่อวันที่ 20 มีนาคม และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นประถมาภรณ์ ช้างเผือก (ป.ช.) เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 นั้น


เมื่อวันที่ 7 เมษายน รายงานข่าวแจ้งว่า การพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย โดยที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) มิได้ทำเรื่องเสนอขอพระราชทานขึ้นไป และถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของข้าราชการการเมืองที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชฯเป็นกรณีพิเศษเช่นนี้ เพราะถ้าคิดจากหลักเกณฑ์ท้ายระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย พ.ศ.2536 น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องใช้เวลาถึง 2 ปี ถึงจะเสนอขอพระราชทานเครื่องราชฯ ม.ป.ช. หรือสาย 4 ซึ่งถือเป็นชั้นสูงสุดของตระกูลช้างเผือกได้ เพราะโดยระเบียบการเสนอขอพระราชทานเครื่องราชฯจะกระทำในวโรกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา โดยเป็นการขอสลับกันระหว่างตระกูลช้างเผือก กับตระกูลมงกุฎไทย


แหล่งข่าวกล่าวว่า ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา สามารถทำเรื่องขอพระราชทานเครื่องราชฯมงกฎไทย ชั้น ม.ว.ม. หรือสาย 3 ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ แต่เนื่องจากเป็นความประสงค์ส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับโบราณราชประเพณี เมื่อมีหมายกำหนดการพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ออกมา จึงเสนอขอพระราชทานเครื่องราชฯช้างเผือก ชั้น ป.ช. หรือสาย 2 แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อย่างไรก็ตาม ต่อมาได้มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชฯ ม.ว.ม. เป็นกรณีพิเศษให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ก่อนพระราชทานเครื่องราชฯ ม.ป.ช. ให้ล่าสุด หากเป็นไปตามเกณฑ์ปกติ สลค. สามารถทำเรื่องเสนอขอพระราชทานเครื่องราชฯ ชั้นดังกล่าวให้นายกฯ ได้ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2555