Linux Ubuntu

วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

การกำเนิดโลก และมนุษย์

บทที่ 4

การกำเนิดโลก และมนุษย์

ในเรื่องการกำเนิดขึ้นของจักรวาล โลก และมนุษย์นั้น คิดว่าหลายท่านคงจะเคยได้ทราบหรือเคยศึกษามาบ้างแล้ว ทั้งนี้เป็นเพราะมีผู้ที่สนใจในเรื่องนี้อยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจใคร่รู้ของมนุษย์มานับตั้งแต่ยุคโบราณ มนุษย์ต่างตั้งข้อสงสัยและพยายามแสวงหาคำตอบ เพื่อให้ทราบว่า จุดเริ่มต้นของสรรพสิ่งคืออะไร โลกเกิดขึ้นได้อย่างไร ตัวเรามาจากไหน ใครเป็นมนุษย์คนแรก จนกระทั่ง บัดนี้มนุษย์ก็ยังไม่รู้แน่ชัดถึงความเป็นจริงของคำตอบต่าง ๆ ที่ตนสงสัยมาช้านาน

ความเชื่อเรื่องกำเนิดโลก

มีหลายคำสอนในหลายศาสนาที่เป็นศาสนาประเภท เทวนิยม ไม่ว่าจะเป็นศาสนาของชาวอียิปต์โบราณ ชาวสุเมเรียน และชาวบาบิโลนเมื่อกว่า ๕๐๐๐ ปีก่อน เรื่อยมากระทั่ง พราหมณ์ คริสต์ อิสลาม หรือแม้แต่ ศาสนาชินโตของชาวญี่ปุ่น ต่างก็มีคำสอนว่า สิ่งต่าง ๆ ที่ เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะเทพเจ้าหรือพระเจ้าในศาสนาของตนเป็นผู้บันดาลให้เกิดขึ้นหรือสร้างขึ้นทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว โลก มนุษย์ และสรรพสิ่งทั้งปวงล้วนเป็นผลงานของพระเจ้าทั้งสิ้น โดยแต่ละศาสนาก็มีบันทึกเรื่องราวที่พระเจ้าในศาสนาของตนสร้างสิ่งต่าง ๆ ไว้ในคัมภีร์ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันไป

จน กระทั่งปัจจุบัน แม้โลกจะเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตมาก มีเทคโนโลยีและวิทยาการต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย เรียกว่าแทบจะทุกชั่วโมงเลยก็ว่าได้ และมนุษย์ก็ได้ใช้สิ่งเหล่านี้เป็นอุปกรณ์ในการค้นหาคำตอบ เพื่อพิสูจน์ความจริง จะเป็นเพราะด้วยไม่เห็นด้วยกับคำสอนที่ตนเคยได้ยินหรือได้รับการถ่ายทอดมา หรือว่าจะเป็นเพราะต้องการที่จะหาข้อพิสูจน์มายืนยันความเชื่อทั้งหลายเหล่า นั้นก็ไม่ทราบได้ แล้วก็ตั้งข้อสันนิษฐานไปต่าง ๆ นา เป็นต้นว่า จักรวาล และโลก เกิดจากการระเบิดตัวของวัตถุที่มีมวลมหาศาลบ้าง มนุษย์เกิดมาจากลิงบ้าง โดยอาศัยสิ่งต่าง ๆ เป็นเครื่องสนับสนุนเพื่อต้องการให้ข้อคิดเห็นของตนนั้นน่าเชื่อถือ ดูมีเหตุมีผลเป็นหลักการ แต่แล้วก็มีผู้เสนอแนวคิดใหม่ ๆ มาหักล้างแนวคิดเดิม เป็นเช่นนี้อย่างไม่ มีที่สิ้นสุด

แต่แม้จะมีผู้พยายามเสนอทฤษฎีต่าง ๆ คนแล้วคนเล่ารวมทั้งพยายามพิสูจน์ด้วยวิธีการต่าง ๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่เราก็ยังไม่ทราบอยู่นั่นเองว่า สิ่งต่าง ๆ ที่มนุษย์สงสัยและโต้แยงกันมายาวนานไม่มีที่สิ้นสุดนี้ มีคำตอบที่ถูกต้องอย่างไร มีข้อสรุปที่ชัดเจนเช่นไร ในเมื่อเราต่างก็กำลังแสวงหาคำตอบด้วยกันทุกท่าน ก็อยากจะเสนอแนวคิดเรื่องการกำเนิดขึ้นของจักรวาล โลก มนุษย์ และสรรพสิ่ง อีกทัศนะหนึ่งให้ศึกษาพิจารณาดู โดยแนวคิดนี้เป็นคำสอนที่มีปรากฏในพระไตรปิฎกซึ่งเป็นคัมภีร์ของชาวพุทธ และเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงมากว่า ๒๕๐๐ ปี ก่อน


ปฐมเหตุที่ทรงแสดง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสถึงเรื่องการกำเนิดจักรวาล โลก มนุษย์ และสิ่งต่าง ๆ ไว้ใน อัคคัญญสูตร[1] พระสูตรนี้ได้กล่าวถึงการบังเกิดขึ้นจักรวาล โลก มนุษย์ และสรรพสิ่งทั้งหลาย ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงของสิ่งเหล่านี้

อัคคัญญสูตรที่พระพุทธองค์ทรงแสดงนี้ มิได้มีจุดมุ่งหมายที่จะกล่าวถึงการกำเนิดของโลก และมนุษย์ ตลอดจนสรรพสิ่งโดยตรง เพียงแต่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่สามเณร ๒ รูป คือ วาเสฏฐสามเณรและภารทวาชสามเณร เพื่อจะบอกเหตุอันเป็นความเชื่อในเรื่องของวรรณะที่พวกพราหมณ์ยึดถือต่อ ๆ กันมา เนื่องจากสามเณรทั้ง ๒ นั้นเกิดมาจากวรรณะของพราหมณ์ ซึ่งในยุคสมัยนั้นถือกันว่า วรรณะพราหมณ์เป็นวรรณะสูง จะเป็นรองก็เพียงวรรณะกษัตริย์เท่านั้น[2] แต่ทั้ง ๒ กลับเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาที่พวกพราหมณ์เรียกว่าเป็นสมณะโล้น จัดเป็นวรรณะที่เลวทราม เกิดจากเท้าของพรหม

พระศาสดาเมื่อทรงสดับเช่นนั้น จึงทรงชี้ให้เห็นถึงที่มาที่ไปแห่งการที่เกิดชื่อเรียกของวรรณะต่าง ๆ ขึ้นเพื่อให้สามเณรทั้ง ๒ นั้นทราบ โดยทรงหยิบยกเอาเรื่องตั้งแต่การที่จักรวาลยังกลายเป็นน้ำเรื่อยมา จนเกิดมีการสมมติชื่อของวรรณะต่าง ๆ ขึ้น แล้วทรงสรุปว่า การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งจะประเสริฐหรือเลวทราม ก็ด้วยการกำหนดจากธรรมและอธรรมที่เขาประพฤติเท่านั้น หาได้กำหนดจากสิ่งอื่นไม่ ถึงอย่างไรก็ตามแม้พระสูตรจะมิได้มุ่งหมายที่จะกล่าวถึงการบังเกิดขึ้นของโลก มนุษย์ และสรรพสิ่งโดยตรง แต่เนื้อหาของพระสูตรก็ทำให้เราทราบว่ามนุษย์ ตลอดจนสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ที่เราต่างก็สงสัยและโต้เถียงกันมายาวนานนั้น มีจุดกำเนิดหรือที่มาอย่างไร


กำเนิดจักรวาล โลก มนุษย์ และสรรพสิ่ง

การ กำเนิดขึ้นของ จักรวาล โลก หรือมนุษย์ ตลอดจนสรรพสิ่งทั้งปวงนี้ เป็นคำสอนหรือความรู้ในพระพุทธศาสนาดังที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้นอาจจะมีบางท่านที่เคยศึกษาแล้วอาจจะไม่เห็นด้วย หรือมีข้อขัดแย้งเกิดขึ้นในใจ ซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งแปลกแต่อย่างใด ที่การที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะรู้สึกปฏิเสธหรือต่อต้านในสิ่งที่ผิดไปจากสิ่งที่ ตนเคยรู้เคยได้ยินมา หรือแม้กระทั่งผิดไปจากสิ่งที่ตนเชื่อมั่นหรือคาดหวัง ซึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงทราบดีอยู่ว่าจะต้องมีผู้ที่ไม่เชื่อหรือไม่เห็นด้วย เป็นจำนวนมาก ซึ่งก็ไม่ใช่อุปสรรคเลย

พระ พุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาที่บังคับให้ใคร ๆ เชื่อในคำสอน ไม่ได้ใส่ใจว่าผู้ใดจะศรัทธาหรือไม่แต่อย่างใด แต่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของผู้มีปัญญา เป็นศาสนาที่ว่าด้วยเหตุและผล และสิ่งที่พระพุทธองค์แสดงนั้นเป็นเพราะทรงเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น และคำสอนที่แสดงนั้นก็ไม่ได้ให้ผู้ฟังเชื่อตาม แต่ทรงให้พิจารณาไตร่ตรองและให้พิสูจน์ว่าสิ่งที่พระองค์แสดงนั้นจริงเท็จ อย่างไรด้วยตัวของผู้นั้นเอง ดังที่ได้แสดงแก่ชนทั้งหลายในการที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ที่บ้านกาลาม ในกาลามสูตรว่า


“ควรแล้วท่านจะสงสัย ความสงสัยของท่านเกิดขึ้นแล้วในเหตุควรสงสัยจริง ท่านอย่าได้ถือโดยได้ฟังตามกันมา อย่าได้ถือโดยลำดับสืบ ๆ กันมา อย่าได้ถือโดยความตื่นว่าได้ยินอย่างนี้ ๆ อย่าได้ถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ถือโดยเหตุนึกเดาเอา อย่าได้ถือโดยนัยคือคาดคะเน อย่าได้ถือโดยความตรึกตามอาการ อย่าได้ถือโดยชอบใจว่า ต้องกันกับลัทธิของตน อย่าได้ถือโดยเชื่อว่า ผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ อย่าได้ถือโดยความนับถือว่า สมณะผู้นี้เป็นครูของเรา เมื่อใดท่านรู้ด้วยตนนั่นแลว่า ธรรมเหล่านี้ เป็นอกุศลธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ ใครประพฤติให้เต็มที่แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์ ดังนี้ ท่านควรละธรรมเหล่านั้นเสีย เมื่อนั้น”[3]


ดังนั้น เนื้อหาในเรื่องกำเนิดโลกนี้ หากมีท่านใดท่านหนึ่งอาจจะคัดค้านไม่เห็นด้วยก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นทัศนะในพระพุทธศาสนาซึ่งไม่ปรารถนาจะให้ผู้อ่านเชื่อในทันทีเมื่อมาศึกษา แต่จะเป็นการดีถ้าได้พิสูจน์แล้วและเห็นตาม

การกำเนิดขึ้นของจักรวาล โลก และสรรพสิ่งนั้น เริ่มจากแต่เดิมนั้นก่อนที่สรรพสิ่งจะเกิดขึ้นนั้น ในท้องจักรวาลไม่มีสิ่งใด ๆ เลย มีเพียงอากาศที่เวิ้งว่างว่างเปล่า โล่งเตียนตลอด (ในบทเรียนที่ ๒ เราได้ทราบแล้วว่า อากาศ เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งมีสภาพเป็นที่ว่าง ปราศจากธาตุอื่น ๆ และเป็นธาตุองค์ประกอบหนึ่งที่เป็นจุดกำเนิด และมีอยู่ในทุกสรรพสิ่ง) โดยที่ความว่างเปล่านี้เกิดจากการที่จักรวาลได้เสื่อมและถูกทำลายลง ด้วย ไฟ น้ำ และลม ซึ่งเราจะได้ศึกษาถึงรายละเอียดการที่โลกถูกทำลาย ในบทเรียนที่ ๖ ต่อไป

เนื่องจากจักรวาลและโลกนั้นกำเนิดขึ้น และถูกทำลายลงมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน และยังจะต้องถูกทำลาย และก็จะเกิดขึ้นอีกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยที่ไม่สามารถจะระบุได้ว่า จุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของการเริ่มต้นและสิ้นสุดนี้คือเมื่อใด การกำเนิดของโลกและสรรพสิ่งที่กล่าวถึงในบทเรียนนี้ จึงเป็นช่วงหนึ่งของวัฏจักรที่ไม่มีที่สิ้นสุดนั้น โดยการกำเนิดที่กล่าวถึงในบทเรียนนี้ เป็นการกำเนิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่จักรวาลถูกทำลายด้วยไฟ ก่อนที่จะมาถึงกำเนิดขึ้นนี้

หลังจากที่จักรวาลเปล่าร้างปราศจากสิ่งใด ๆ เป็นเวลายาวนาน (นานจนไม่สามารถระบุระยะเวลาได้) ต่อมามีฝนตกลงมาในท้องจักรวาลที่มีเพียงอากาศนั้น น้ำฝนที่ตกลงมาในระยะแรก เป็นฝนที่มีขนาดเล็กมาก จากนั้นจึงมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งขนาดเท่ากับลำของต้นตาล เนื่องจากฝนที่ตกขึ้นนี้ ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ปริมาณน้ำฝนจึงเพิ่มระดับสูงขึ้น จนกระทั่งท่วมเต็มทั่วทั้งท้องจักรวาล

การที่ฝนทรงตัวอยู่ได้นี้ เป็นเพราะมีลมมารองรับไว้เหมือนภาชนะ จึงทำให้น้ำไม่รั่วไหลกระจัดกระจาย แต่จะรวมตัวเป็นกลุ่มก้อน ด้วยคุณสมบัติของลมทำให้น้ำค่อย ๆ งวดยุบหดลดลงจากเบื้องบน ระดับน้ำได้ลดระดับลงมาเรื่อย ๆ เมื่อระดับน้ำลดลง ทำให้ที่ตั้งของภพต่าง ๆ ปรากฏขึ้น เริ่มตั้งแต่ พรหมชั้นต่าง ๆ เรื่อยลงมาจากชั้นบนสู่ชั้นล่าง จากนั้นสวรรค์ชั้น ต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นหลังจากที่ระดับน้ำได้ลงไปจากที่ตั้งของภพสวรรค์ชั้นต่าง ๆ นั้น

เมื่อระดับน้ำลดลงมาถึงระดับพื้นดิน ระดับน้ำเริ่มคงที่ไม่ลดลงไปอีก เมื่อน้ำนิ่งจึงเกิดการรวมตัวกันเป็นตะกอนลอยอยู่เหนือผิวน้ำ ซึ่งตะกอนนี้เกิดจากการรวมตัวของธาตุหยาบ (การเกิดขึ้นของภพพรหมและสวรรค์ เป็นการรวมตัวของธาตุละเอียด ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตามนุษย์) ตะกอนที่รวมตัวและลอยอยู่เหนือน้ำนี้ คล้ายกับการลอยของใบบัวที่อยู่เหนือน้ำคือลอยอยู่ได้โดยไม่จม มีสีเหลือง รสหวาน และมีกลิ่นหอม (เรียกว่า ง้วนดิน) ซึ่งต่อมาคือแผ่นดินที่รองรับสิ่งต่าง ๆ โดยตะกอนที่เกิดขึ้นมาก่อนเรียกว่า ศีรษะแผ่นดิน ซึ่งถือว่าเป็นประธานของโลกมนุษย์

หลังจากแผ่นดินได้เกิดขึ้นแล้ว ต่อมาได้มีต้นไม้เกิดขึ้น ต้นไม้ที่เกิดขึ้นเป็นชนิดแรกคือ ต้นบัว โดยที่เป็นบัวที่มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้น และขึ้นบนแผ่นดิน ต่างจากบัวในปัจจุบันที่เป็นไม้ล้มลุกและขึ้นเฉพาะในน้ำ บัวที่เกิดขึ้นนี้จะปรากฏขึ้นทุกครั้งที่โลกกำเนิดขึ้นหลังจากที่ถูกทำลายไป โดยที่ในการเกิดขึ้นของดอกบัวนี้จะออกดอกไม่เท่ากันในแต่ละครั้ง บางครั้งไม่มีดอก บางครั้งมีดอก โดยการออกดอกจะมีตั้งแต่ ๑ ถึง ๕ ดอก แต่จะไม่มากไปกว่านั้น ซึ่งจำนวนของดอกบัวที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นสิ่งที่บอกว่า จะมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดหรือไม่บังเกิดขึ้น หรือว่าบังเกิดขึ้นอีกพระองค์ในกัปนั้น (อย่างเช่นในกัปของเรา มีดอกบัวปรากฏเมื่อครั้งกำเนิดโลก ๕ ดอก ก็หมายความว่าจะมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ๕ พระองค์) บัวนี้จึงมีชื่อว่า บัวพยากรณ์


มนุษย์ยุคแรก

หลังจากที่แผ่นดินได้เกิดขึ้นแล้ว ได้มีพรหมพวกหนึ่ง(อาภัสสราพรหม) จุติลงมาเกิดเป็นมนุษย์ โดยเป็นพรหมที่หมดบุญ หรือสิ้นอายุจากชั้นอาภัสสราพรหม การเกิดมาเป็นมนุษย์ในยุคแรกนี้ เป็นการเกิดเองโดยไม่ต้องอาศัยพ่อแม่ เกิดแล้วมาก็โตเต็มวัยเลย ซึ่งการเกิดชนิดนี้เรียกว่า เกิดแบบโอปปาติกะ[4]

มนุษย์ที่จุติมาจากอาภัสสราพรหมนี้ จะมีรูปร่างและลักษณะเหมือนขณะที่ตอนยังเป็นพรหม คือจะไม่มีเพศ ร่างกายมีแสงสว่างเรือง มีรัศมีสว่าง เหาะไปมาในอากาศได้ และมีปีติเป็นอาหาร ไม่ต้องกินสิ่งอื่นที่อยู่ภายนอกร่างกายเข้าไป

โลกในช่วงที่พรหมลงมาเกิดเป็นมนุษย์นี้ มีสัณฐานแบนและมีจุดเชื่อมต่อกับสวรรค์ (สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา) โลกกับสวรรค์สามารถไปมาหาสู่กันได้ แต่ต่อมาจึงค่อย ๆ เปลี่ยนรูปทรงและเคลื่อนตัวห่างออกจากสวรรค์ไปตามบาปอกุศลที่มนุษย์สร้าง ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ จากโลกที่แต่เดิมมีสัณฐานแบน ก็เริ่มฟูขึ้น เมื่อฟูจนได้ระดับหนึ่ง ก็จะหดตัวเข้าเป็นทรงรี แล้วจึงกลายเป็นทรงกลมในที่สุด ซึ่งแต่ละช่วงที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงรูปทรงนี้ใช้เวลานานมาก ยุคที่โลกกลมนี้เป็นยุคที่มนุษย์มีอายุต่ำกว่า ๑ แสนปี

มนุษย์ที่เกิดมีชีวิตอยู่เช่นนั้นเป็นเวลายาวนาน จนกระทั่งมีมนุษย์คนหนึ่ง (มนุษย์ที่ลงมาเกิดในยุคนี้มีเป็นจำนวนมาก ไม่ใช่คนเดียวหรือ ๒ คน) เห็นดินที่มีสีสันสวยงาม มีกลิ่นหอม เห็นแล้วก็อยากจะหยิบขึ้นมาลิ้มลอง จึงหยิบใส่ปากเพื่อลิ้มรส แต่เพียงแค่ดินนั้น (ง้วนดิน) สัมผัสเพียงปลายลิ้น รสดินก็แผ่ซาบซ่านไปทั่วร่างกาย มีรสเป็นที่ถูกใจของมนุษย์ผู้นั้น จึงหยิบมาบริโภคอีก มนุษย์อื่นเห็นเช่นนั้นจึงพากันเอาอย่างบ้าง และเนื่องจากง้วนดินที่บริโภคเข้าไปนั้นเป็นอาหารหยาบ จึงทำให้รัศมีกายและแสงในตัวของมนุษย์หายไป ความมืดจึงบังเกิดขึ้น มนุษย์ทั้งหลายเมื่อถูกความมืดปกคลุมจึงพากันตกใจ

เมื่อความมืดบังเกิดขึ้นอยู่นั้นเอง สุริยเทพบุตรพร้อมด้วยดวงอาทิตย์ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยก็บังเกิดขึ้น ทำให้มีแสงสว่างเกิดขึ้นมาขับไล่ความมืด จากนั้นดวงจันทร์และดวงดาวต่าง ๆ ก็เกิดขึ้น ทำให้มีกลางวัน กลางคืน ฤดูกาลต่าง ๆ พร้อมกับการเกิดขึ้นของเขาพระสุเมรุ เขาจักรวาล เขาหิมพานต์ และมหาสมุทร ซึ่งการเกิดขึ้นของสิ่งเหล่านี้ใช้เวลานานมาก

นอกจากฤทธิ์ของอาหารหยาบที่มนุษย์บริโภคเข้าไป จะทำให้รัศมีกายและความสว่างหายไปแล้ว ยังส่งผลให้มนุษย์มีผิวพรรณที่เศร้าหมองลงไม่ผ่องใสสวยงามเหมือนดังเดิม แต่ความเศร้าหมองที่เกิดขึ้นในมนุษย์แต่ละคนมีไม่เท่ากัน บางคนเศร้าหมองน้อย บางคนเศร้าหมองมาก ขึ้นอยู่กับกรรมเก่าที่เคยทำมาในชาติต่าง ๆ และกิเลสที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เมื่อมีความแตกต่างเกิดขึ้น ทำให้มนุษย์มีความยึดมั่นและถือตัวเกิดขึ้น จึงทำให้ร่างกายที่เคยเหาะได้หยาบลง จึงเหาะไม่ได้อีกต่อไป

และจากบาปกรรมที่เกิดขึ้นนี้ สิ่งต่างจึงแปรเปลี่ยนไป ง้วนดินที่เคยมีรสอร่อยได้หายไป กลายเป็นสะเก็ดดิน แต่ยังคงมีรสอร่อย และกลิ่นหอม บริโภคได้เหมือนเดิม ยิ่งมนุษย์ถูกกิเลสครอบงำเท่าไร ความประณีตของอาหารก็น้อยลงทุกที จากสะเก็ดดิน กลายเป็นเครือดิน และต่อมาได้กลายเป็นข้าวสาลี

ข้าวสาลีในยุคนั้นต่างข้าวสาลีในยุคปัจจุบัน โดยเป็นข้าวที่มีเปลือกบางคล้าย ๆ เปลือกของแตงกวา จึงกินได้ทั้งเปลือก มีสีเหลืองอมขาว รู้สึกนุ่มเมื่อเคี้ยว มีกลิ่นหอม มีคุณค่าทางอาหารครบ และมีความอร่อยอยู่ในตัว เมื่อบริโภคเข้าไปแล้วจะสามารถดับความหิวกระหาย ความเหน็ดเหนื่อยได้ ขนาดของเมล็ดประมาณ ๑ ศอกของมนุษย์ในยุคนั้น(ศอกที่กำมือแล้ว) ๑ เมล็ดสามารถบริโภคได้ ๓- ๕ คน เมื่อจะบริโภคก็นำมาวางไว้บนแผ่นหินชนิดหนึ่ง ข้าวก็จะสุกเอง

เนื่องจากมนุษย์ยุคนั้นมีร่างกายที่ใหญ่กว่ายุคปัจจุบันมาก ข้าวสาลีจึงมีลำต้นสูงใหญ่มาก โดยสูงประมาณเท่าต้นยางนา (ยางนาสูงโดยเฉลี่ย ๔๐ - ๔๕ เมตร) และสูงกว่ามนุษย์ในยุคนั้น ปกติรวงข้าวจะตั้งตรง แต่ครั้นเมื่อรวงข้าวสุกก็จะโน้มลงมาจนมนุษย์สามารถเก็บได้ เมื่อเก็บแล้วก็จะงอกออกมาใหม่ และขึ้นได้ทั่วไป

เนื่องจากคุณภาพของอาหารที่มนุษย์บริโภคเข้าไป มีลักษณะหยาบขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะกิเลสที่เพิ่มมากขึ้นของมนุษย์ ทำให้อาหารที่มนุษย์บริโภคเข้าไปนั้นไม่สามารถถูกดูดซึมได้ดังเดิม เกิดมีกากอาหารขึ้นกายเป็นของส่วนเกิดของร่างกาย ร่างกายของมนุษย์จึงปรากฏช่องทางขับถ่ายขึ้นคือทวารหนักและทวารเบา แต่เนื่องจากกรรมที่เคยประพฤติผิดศีลกาเมของชาติในอดีต ส่งผลทำให้มนุษย์มีอวัยวะเพศต่างกัน บางคนเพศหญิงปรากฏ บางคนเพศชายปรากฏ

เมื่ออวัยวะเพศปรากฏ และด้วยเหตุว่า มีเพศต่างกันเป็นเพศหญิงเพศชาย ทำให้มนุษย์เพ่งเล็งกันและกัน มีความปรารถนาในกาม มีความสนใจในเพศตรงข้าม จึงต่างเข้าหากันและได้เสพเมถุนธรรมต่กัน และเนื่องจากการเสพเมถุนธรรมนี้เป็นสิ่งแปลกใหม่ จึงทำให้มนุษย์ส่วนมาก เห็นการที่หญิงชายเสพกามกันนั้นเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ จังพากันห้ามปราม จับแยก รวมทั้งติเตียน ด่าว่า จนกระทั่งพากันขับไล่ โดยในพระสูตรได้พรรณนาถึงอาการขับไล่ไว้ว่า


“สัตว์เหล่าใดเห็นสัตว์เหล่าอื่นกำลังเสพเมถุนกัน ก็โปรยฝุ่นลงบ้าง โปรยขี้เถ้าลงบ้าง โปรยโคมัยลงบ้าง ด้วยกล่าวว่า คนถ่อย เจ้าจงฉิบหาย คนถ่อย เจ้าจงฉิบหายดังนี้ แล้วกล่าวว่า ก็สัตว์จักกระทำกรรมอย่างนี้แก่สัตว์อย่างไรดังนี้...”


เมื่อชายหญิงเหล่านั้น ถูกรังเกียจและขับไล่ จึงเสาะแวงหาหาและสร้างที่มุงบังเพื่อป้องปิดในเวลาเสพเมถุนธรรม ทำให้มีการสร้างบ้านเรือนตามมา เมื่อมนุษย์ต่างก็ซ้องเสพกามกัน ทำให้การเกิดแบบชลาพุชะคือ การเกิดในมดลูกมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น ซึ่งถือได้ว่ามนุษย์ได้เริ่มเกิดจากครรภ์ตั้งแต่ครั้งนั้น หลังจากนั้นก็ไม่มีการเกิดแบบโอปปาติกะในหมู่มนุษย์อีก

เมื่อมนุษย์สร้างบ้านเรือน มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งจึงเกียจคร้านในการออกไปแสวงหาข้าวสาลีบ่อย ๆ เกิดความโลภขึ้น เมื่อออกไปเก็บข้าวสาลีก็นำมาทีละมาก ๆ นำมาสะสมไว้ ยิ่งความโลภมากเท่าไรความประณีตของอาหารก็ยิ่งน้อยลง ข้าวสาลีจึงเริ่มเสื่อมคุณภาพลงไปเรื่อย ๆ ขนาดต้นเล็กลง ปรากฏมีเปลือกขึ้น และเมื่อเก็บไปแล้วก็ไม่งอกออกมาอีก ที่เคยขึ้นอยู่ทั่วไป ก็เริ่มลดน้อยร่อยหรอลงไปเรื่อย หาได้ยากขึ้น

จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของพรหมในชั้นอาภัสสราที่ได้เสื่อมจากอัตภาพเดิมกลายมาเป็นมนุษย์ในยุคต้นกัป เพราะอาศัยเหตุคือง้วนดิน หากจะกล่าวอีกนัยหนึ่งง้วนดินก็เป็นวัตถุกามชั้นเลิศ ที่ชักชวนให้พรหมเหล่านั้นหันมาสนใจ เมื่อทดลองลิ้มก็ติดใจ ถูกกิเลสกามคือความอยากที่มีอยู่ในใจแต่เดิมเข้าครอบงำ อุปมาเปรียบง้วนดินได้กับกับดักของนายพราน ที่คอยดักสัตว์ป่าผู้โง่เขลาให้เข้ามาติดนั่นเอง

ถึงแม้ว่าอาภัสสราพรหมจะเป็นมนุษย์ในยุคต้นกัป แต่อายุของมนุษย์นั้นก็ยืนยาวจนมิอาจที่จะนับได้ซึ่งในภาษาบาลี คือ อสงไขยปี เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าในสมัยนั้นมิได้มีมลภาวะเช่นปัจจุบัน ดินฟ้าอากาศ ฤดูต่างๆ ก็มิได้แปรปรวนมีแต่ฤดูสบาย ไม่ต้องมีบ้านไว้คอยกันฝน ไม่ต้องมีร่มเงาไว้คอยบังแดด เครื่องนุ่งห่มนั้นก็เป็นเครื่องนุ่งห่มเมื่อครั้งยังเป็นพรหม ไม่ต้องมีการประกอบการงาน สิ่งใดที่เป็นความยากลำบากในยุคนั้นล้วนมิได้มีเลย

โลกในยุคแรกจึงเป็นโลกที่สะดวกสบาย ปราศจากความทุกข์ยากลำบากใดๆ หากจะมีความทุกข์บ้างก็เป็นความทุกข์เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาชดเชยแทน เช่น การเสื่อมจากง้วนดินที่เป็นอาหารอันประณีต กลับกลายมาเป็นต้องรับประทาน กะบิดินและเครือดินตามลำดับ เป็นต้น

การ เปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่มีผลกระทบอย่างยิ่งต่อมนุษย์ในยุคนั้น ก็คือเรื่องของผิวพรรณที่มีทั้งงามและทรามควบคู่กันไป เพราะการบริโภคของพวกมนุษย์ในยุคต้นกัปนั้นในสมัยที่ตนยังเป็นพรหมอยู่ก็ บริโภคด้วยความต้องการ หาใช่เพราะความจำเป็นไม่ เพราะพรหมนั้นมีปีติเป็นภักษาอยู่แล้ว อาหารอย่างอื่นจึงไม่มีความจำเป็น เมื่อมนุษย์คนใดมีความต้องการมาก ก็จะบริโภคมากมาตั้งแต่สมัยที่ตนยังเป็นพรหม ธาตุหยาบที่มีสั่งสมอยู่ในร่างกายก็จะมากตามไปด้วย เป็นเหตุให้ความประณีตของผิวพรรณลดลง หากมนุษย์คนใดบริโภคเพียงเพื่อต้องการแค่ให้ดำรงอัตภาพได้ธาตุหยาบที่ได้จาก อาหารก็จะเข้าไปในร่างกายน้อย ความประณีตของผิวพรรณจึงยังมีอยู่บ้าง ทำให้มีผิวพรรณงามกว่าพวกที่บริโภคมาก

เราอาจจะเปรียบเทียบกับการผสมสีดำลงไปในสีขาว ซึ่งถือว่าเป็นสีที่มีความบริสุทธิ์หากผสมน้อย สีขาวก็จะกลายเป็นสีเทา แต่หากผสมมากไปสีขาวก็จะกลายเป็นสีแดงไปในที่สุด เมื่อเป็นเช่นนี้พวกมนุษย์เหล่านั้นจึงดูหมิ่นผิวพรรณของกันและกัน การที่กายของพรหมหมดรัศมีไป รวมไปถึงความกล้าแข็งของกายที่ค่อยมีมากขึ้นเรื่อยๆ

ซึ่งเราสามารถเปรียบเทียบปรากฏการณ์เช่นนี้ ได้กับวิธีการทางเคมีของนักวิทยาศาสตร์ โดยนำเอาธาตุองค์ประกอบหลาย ๆ ตัวไปผสมเข้ากับธาตุหลักตัวใดตัวหนึ่ง จนทำให้ธาตุนั้นเกิดปฏิกิริยาการเปลี่ยนแปลง ไปเป็นธาตุตามที่เราต้องการ นี้เป็นหลักพื้นฐานง่าย ๆในวิชาเคมี

และเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปอย่างช้าๆได้กับการนำน้ำเปล่าเข้าไปแช่ในช่องฟรีส น้ำที่เป็นของเหลวในตอนแรกพอเย็นมากเข้าๆ ก็จะค่อย ๆ กลายเป็นวุ้น และพอถึงความเย็นระดับหนึ่ง ก็จะกลายเป็นก้อนแข็งไปในที่สุด น้ำนั้นมิได้แข็งขึ้นในทันทีทันใด ร่างกายของพวกพรหมก่อนที่จะกลายเป็นมนุษย์ในยุคต้นกัป ก็จะเปลี่ยนแปลงไปเช่นนั้น ซึ่งจะต้องอาศัยระยะเวลาเป็นล้านๆปี

ร่างกายของมนุษย์ในยุคต้นกัปนั้น มีขนาดที่ใหญ่โตและแข็งแรงมาก ถ้าจะยกตัวอย่างจากในพระไตรปิฎก ก็มีในคัมภีร์พุทธวงศ์ที่กล่าวถึงพระพุทธเจ้าพระองค์ต่างๆ ที่มีพระชนมายุ และขนาดของพระวรกายไม่เท่ากัน พระพุทธเจ้าบางพระองค์มีพระวรกายสูงถึง 60 ศอก


ระบอบการปกครองแรกของโลก

เมื่อข้าวสาลีเริ่มปรากฏน้อยลง ซ้ำยังห่างไกลออกไปจากที่อยู่อาศัยขึ้นเรื่อย ๆ จึงเริ่มมีการจับจองพื้นที่และแบ่งปันเขตแดนกัน แต่เนื่องจากมีผู้ที่อยากได้ข้าวของผู้อื่นจึงทำการลักขโมย เมื่อมีการจับได้ก็จะตัดพ้อต่อว่า และเมื่อบ่อยครั้งเข้าก็มีการทำร้ายร่าง เกิดความเดือดร้อนขึ้น มนุษย์จึงปรึกษาให้มีการตั้งทำหน้าที่ปกครองพวกตนขึ้นเป็นหัวหน้า

ในการคัดเลือกผู้ที่จะมาเป็นผู้ปกครองนั้น มนุษย์จะเลือกผู้ที่มีสติปัญญา มีรูปร่างลักษณะและกิริยาสง่างามน่าเกรงขาม สามารถปกครองคนทั้งปวงได้ เมื่อพบผู้ใดที่มีคุณสมบัตินี้แล้ว ก็จะเลือกให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินปกครองประเทศ ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินก็จะทรงวางระเบียบแบบแผน และออกกฎข้อบังคับต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนปฏิบัติเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีการจัดแบ่งปันเขตแดนต่าง ๆ อย่างยุติธรรม จึงทำให้ได้รับการยกย่องเป็นกษัตริย์ ซึ่งแปลว่าผู้เป็นใหญ่ในการเกษตร ระบอบกษัตริย์จึงเป็นการปกครองระบอบแรกของมนุษยชาติ แต่กษัตริย์ในยุคนั้น ปกครองผู้ใต้ปกครองแบบพ่อปกครองลูก

แม้ว่าจะมีการเลือกกษัตริย์แล้ว แต่มนุษย์บางพวกเห็นการกระทำของมนุษย์ที่กระทำความผิด จึงพากันหลีกเลี่ยงออกจากอกุศลเหล่านั้น พากันลอยบาปอกุศลทิ้งไปจึงถูกสมมติว่า พราหมณ์ พวกเขาพากันสร้างกระท่อมที่มุงบังด้วยใบไม้อยู่ในราวป่า ทำการเพ่งกสิณอยู่ในป่า ไม่ได้ทำมาหากินเช่นพวกมนุษย์ทั่วไป แต่แสวงหาอาหารด้วยการขอจากชนในหมู่บ้านเพื่อบริโภคในเวลาเช้าเย็น ชนเหล่านั้นเห็นเขาทำการลอยบาปอกุศลซึ่งพวกตนก็ยังไม่สามารถทำได้จึงยินดีมอบอาหารให้แก่เขา เมื่อเขาได้อาหารแล้วก็กลับไปทำความเพียรเพ่งต่อ จนฌานเกิดขึ้น พวกเขาจึงได้ถูกเรียกสมมติว่า ฌายิกา

พวกพราหมณ์ที่ทำการเพ่งกสิณบางพวกมิได้ทำฌานให้บังเกิดขึ้นได้ กลับพากันเที่ยวไปรอบนิคมแล้วเขียนคัมภีร์ต่าง ๆ ขึ้นมา พวกเขาถูกเรียกสมมติว่า อัชฌายิกา คำนี้ในสมัยก่อนท่านสมมติกันว่าเป็นคำเลว แต่ในสมัยนี้กลับถูกสมมติว่าเป็นคำประเสริฐฝ่ายมนุษย์ที่ยึดติดในเมถุนธรรมแยกกันทำงานต่างๆเพื่อหาเลี้ยงชีพจึงถูกเรียกสมมติว่า เวสสา คำว่า แพศย์และศูทร จึงเกิดขึ้นต่อมาภายหลังเพราะการแยกประเภทของผู้ทำการงาน คือแพศย์นั้นเป็นนายหรือเจ้าของงาน แต่ศูทรกลับเป็นคนที่ทำงานให้เพื่อการรับค่าจ้าง

ต่อมาเมื่อมีสัตว์เกิดขึ้น โดยช้างกับม้าเกิดขึ้นก่อน เกิดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก มนุษย์ได้จับช้างและม้ามาใช้สำหรับทำการเกษตร และเป็นพาหนะในการเดินทาง แต่ก่อนที่จะนำไปใช้จะต้อนสัตว์เหล่านั้น เลือกสัตว์ที่มีลักษณะดีถวายกษัตริย์ และให้กษัตริย์แบ่งปันช้างม้าให้ประชาชนนำไปใช้



กำเนิดสัตว์

เมื่อมนุษย์ได้มีการคัดเลือกบุคคลขึ้นมาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เพื่อปกครองพวกของตนแล้ว ทำให้สังคมสงบขึ้นมาอีกครั้ง เพราะแต่ละคนต่างก็เชื่อฟังพระเจ้าแผ่นดิน ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติระเบียบแบบแผนที่พระเจ้าแผ่นดินทรงวางไว้ แต่อย่างไรก็ตามกิเลสในตัวมนุษย์ก็ไม่ได้น้อยลงไป กลับแต่จะมีเพิ่มขึ้นทุกที ดังนั้นอาหารต่าง ๆ จึงหยาบลงไปเรื่อย จากที่เป็นข้าวสาลีมีรสอร่อยกินได้โดยไม่ต้องอาศัยกับข้าว ก็มีคุณค่าทางอาหารน้อยลง รสไม่โอชาเช่นเดิม แต่ก็ได้มีพืชผัก ผลไม้ต่าง ๆ เกิดขึ้น โดยที่ต้นไม้เหล่านี้เกิดแบบโอปปาติกะ เกิดมาแล้วโตเลย ไม่มีการงอกจากเมล็ดแล้วค่อย ๆ โตขึ้น เมื่อมนุษย์เห็นก็นำมากินเป็นกับข้าว โยตลอดแรก ๆ ก็กินสด ๆ โดยไม่มีการปรุงหรือทำให้สุกอย่างในปัจจุบัน

ต่อมาเมื่อกิเลสเพิ่มมากอีก สัตว์ต่าง ๆ จึงเกิดขึ้น โดยสัตว์เหล่านี้เป็นที่เคยอยู่ในอบายภูมิของจักรวาลอื่น ซึ่งมีทั้งที่จากสัตว์นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์ดิรัจฉาน เมื่อจักรวาลที่สัตว์เหล่านี้เสวยกรรมอยู่ถูกทำลาย ซึ่งอาจจะถูกทำลายด้วย ไฟ น้ำ หรือลม ก็ตาม เนื่องจากสัตว์เหล่านี้ยังไม่หมดกรรมที่ตนจะต้องใช้ จึงถูกลมกรรมพัดจากจักรวาลที่ถูกทำลายนั้นไปบังเกิดในจักรวาลต่าง ๆ ที่ยังไม่ถูกทำลาย และไปบังเกิดในภพภูมิต่าง ๆ ตามกรรมของตนตามที่ตนเคยเป็นในจักรวาลเดิม สัตว์ใดมีกรรมที่จะต้องมาเป็นสัตว์ ก็มาบังเกิดเป็นสัตว์ในจักรวาลที่ไปบังเกิดใหม่นั้น

สัตว์ในยุคแรกก็เช่นเดียวกับมนุษย์และพืชทั้งหลาย คือ เกิดแบบโอปปาติกะ เกิดแล้วโตเต็มไวทันที ไม่ต้องอาศัยพ่อแม่เป็นที่เกิด โดยการเกิดเป็นสัตว์อะไรนั้นขึ้นอยู่กับวิบากกรรมที่มีโลภะ โทสะ โมหะ ปรุงแต่ง ซึ่งโยปกติการเดเป็นสัตว์ดิรัจฉานนั้น จะมีโมหะเป็นหลัก ถ้าหากว่ามีโทสะผสมมากมีโลภะเพียงเล็กน้อย ก็จะเกิดเป็นสัตว์กินเนื้อ ถ้ามีโลภะมากมีโทสะเพียงเล็กน้อย ก็จะเกิดเป็นสัตว์กินพืช และถ้าหากมีทั้งโทสะและโลภะก็จะเกิดเป็นสัตว์ที่กินทั้งพืชทั้งเนื้อ

การส่วนสัดของ โลภะ โทสะ โมหะ ส่งผลทำให้เป็นสัตว์ต่าง ๆ หลากหลายกันไปนั้น เพื่อให้เข้าใจง่าย จะขอเปรียบเทียบกับการผสมสี คือ ปกติแม่สีมีอยู่ ๓ สี คือ สีแดง สีน้ำเงิน สีเหลือง เมื่อนำมาผสมกันเข้าแล้ว หากว่ามีการเปลี่ยนสัดส่วนของสี ไม่ว่าจะเป็นสีใดก็ตาม ย่อมทำให้สีที่ได้ออกมาแตกต่างกันไปได้อย่างหลากลหลาย เช่นเดียวกันเพราะสัตว์ส่วนของ โลภะ โทสะ โมหะ แตกต่างกันจึงทำให้มีสัตว์ต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างหลากหลาย

สัตว์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกก่อนสัตว์ชนิดอื่นทุกชนิด คือ ช้างและม้า ซึ่งถือว่าเป็นสัตว์ชั้นสูง โดยเกิดมาแบบโอปปาติกะ จากนั้นสัตว์ต่างจึงเกิดตามมา สัตว์ที่เกิดมานี้ล้วนเกิดแบบโอปปาติกะทั้งสิ้น แต่ว่าจะมีเพศมาด้วย ถ้ามีกรรมกาเมติดมาก็จะมาเกิดเป็นสัตว์เพศเมีย ถ้าไม่มีกรรมหรือใช้กรรมกาเมหมดแล้วก็จะเกิดเป็นสัตว์เพศผู้ เมื่อสัตว์ต่างเพศมาเจอกันจึงดึงดูดเข้าหากัน และสืบพันธุ์จึงทำให้มีการเกิดแบบอัณฑชะ คือ เกิดในฟองไข่เกิดขึ้น สัตว์ที่เกิดจากฟองไข่จึงเกิดต่อแต่นั้นมา

ต่อจากนั้นสัตว์ที่มาเกิดก็เริ่มมีสัตว์ขนาดเล็กมาเกิด จากเริ่มแรกที่สัตว์ชั้นสูงคือช้างกับม้าเกิดขึ้นก่อน มาเป็นสัตว์ อื่น เป็นโค เป็นกระบือ เสือ เก้ง กวาง หมู สุนัข แมว เป็ด ไก่ ฯลฯ การเกิดของสัตว์แต่ละชนิดมาเกิดคราวละเป็นจำนวนมาก ไม่ได้เกิดเป็นคู่เฉพาะตัวที่เป็นพ่อและแม่แต่อย่างใด และในที่สุดเมื่อกิเลสในตัวมนุษย์มากยิ่งขึ้น สัตว์จำพวก มด ปลวก ยุง แมลงต่าง ๆ ก็เกิดขึ้น

ต่อมาสัตว์เหล่านั้นก็กลายพันธ์ เปลี่ยนแปลงไปต่าง ๆ นานา ทั้งนี้เป็นเพราะกิเลสของมนุษย์ และกรรมของสัตว์นั้น ครั้นมาถึงช่วงที่มนุษย์มีอายุสั้น คือมีอายุขัยเพียง ๑๐ ปีมีขนาดร่างกายเล็ก สัตว์ที่มาเกิดในยุคนี้จะมีขนาดโตขึ้น จนมีขนาดใหญ่มาก อย่างเช่นกิ้งก่าตัวเล็กก็จะกลายเป็นกิ้งก่าขนาดใหญ่ โดยสัตว์ที่เกิดในช่วงนี้ไม่ได้เกิดแบบโอปปาติกะ แต่เกิดโดยการสืบพันธุ์ของพ่อแม่ มีความดุร้ายมากขั้นตามลำดับ



มนุษย์เริ่มกินเนื้อสัตว์

สาเหตุที่มนุษย์เริ่มกินเนื้อสัตว์ เนื่องจากมีสัตว์นรกที่พ้นกรรมมาเกิดเป็นมนุษย์ แต่ยังมีวิบากติดตัว เป็นวิบากที่เป็นประเภทโทสะจริต เคยผูกเวรกัน เนื่องจากเคยเป็นสัตว์ที่กินกันมาก่อน เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์จึงผูกเวรกัน เมื่อเห็นสัตว์ที่เป็นคู่กรรมคู่เวรกับตน ก็จะทำให้มีความคิดที่อยากจะฆ่า อยากจะทำร้าย โดยการฆ่าในช่วงแรกจะฆ่าด้วยก้อนอิฐ ก้อนหิน หรือท่อนไม้

ตอนแรกที่ฆ่านั้น ไม่ได้คิดว่าจะเอามาทำเป็นอาหารเพียงแค่คิดอยากจะฆ่า แต่เมื่อเห็นสัตว์นั้นตายแล้ว จึงลองมานำมาประกอบเป็นอาหาร เมื่อกินเข้าไปก็ถูกปากติดใจ ติดในรสอยากกินอีก จึงลงมือฆ่าเพื่อนำมาเป็นอาหาร ระยะแยกจะกินเพียงคนเดียว ต่อมาจึงแจกจ่ายในครอบครัว ต่อจากนั้นจึงขยายวงกว้างไปอย่างแพร่หลาย จึงกินเนื้อสัตว์กันเรื่อยมา

ครั้นเมื่อจะกินอย่างอื่นบ้างจึงนำสัตว์ที่ฆ่าได้ไปแลกกับสิ่งอื่น เช่น ข้าว พืชผักต่าง ๆ เมื่อได้กินเนื้อสัตว์เข้าไปคนเหล่านั้นก็ติดใจ ทำการกินเนื้อสัตว์เป็นที่นิยม ทำให้มีความคิดความเข้าใจกันว่า สัตว์เกิดมาสำหรับเป็นอาหารของมนุษย์ และทำให้เกิดการค้าขายแลกเปลี่ยนขึ้น ในตอนเริ่มต้นมนุษย์แลกเปลี่ยนสิ่งของกับสิ่งของ ระหว่างกัน ครั้นเมื่อมีการสมมติให้มีเงินและทองเป็นสื่อกลาง จึงเริ่มมีการซื้อขายกันด้วยเงิน และทองเกิดขึ้น

ที่กล่าวถึงเกี่ยวกับวิวัฒนาการต่าง ๆ ของมนุษย์นี้กล่าวถึงเฉพาะการเกิดบนโลกที่เราอาศัยอยู่ ซึ่งเรียกกันว่า ชมพูทวีป นอกจากโลกที่เราอยู่ ยังมีมนุษย์เกิดในโลกหรือทวีปอื่นอีก ๓ ทวีป คืออุตตรกุรุทวีป ปุพพวิเทหทวีป และอปรโคยานทวีป โดยที่แต่เดิมนั้น อายุขัยของมนุษย์ที่อยู่ในทุกทวีปจะยาวนานมาก ยาวเป็นอสงขัยปีดังที่กล่าวแล้ว ครั้นเมื่กิเลสในตัวมนุษย์มากขึ้น ทำให้สิ่งแวดล้อมในโลกเลวร้ายลง ทั้งนี้เป็นเพราะบุญที่จะมารองรับมนุษย์น้อยลง ประกอบการเกิดจากการกระทำของมนุษย์เอง ทำให้อายุมนุษยน์สั้นลงตามลำดับ

มนุษย์ในอุตตรกุรุทวีป จะอายุขัยลดลงจนถึง ๑๐๐๐ ปีแล้วจะคงที่ มนุษย์ที่อยู๋ในปุพพวิเทหทวีป อายุขัยลดลงถึง ๗๐๐ ปี แล้วคงที่ และมนุษย์ที่อยู่ในอปรโคยานทวีป อายุขัยจะลดลงเหลือ ๕๐๐ ปีแล้วคงที่ ส่วนมนุษย์ในชมพูทวีปจะมีอายุลดลงไปถึง ๑๐ ปี แล้วอายุจึงเพิ่มขึ้นตามลำดับ จนกระทั่ง อสงขัยปี แล้วก็ลดลงมาอีก เป็นเช่นนี้เรื่อยไป

ในแต่ละจักรวาลจะมีทวีป ๔ ทวีปนี้ เหมือนกันทุกจักรวาล และในทวีปต่าง ๆ ที่อยู่ในจักรวาลทั้งหลาย ก็จะมีอายุขัยเช่นนี้ มนุษย์ในทวีปทั้ง ๓ คือ อุตตรกุรุทวีป ปุพพวิเทหทวีป และ อปรโคยานทวีป จะมีศีล ๕ เป็นปกติ ทุกคนจึงชีวิตที่สงบสุข แต่อย่างไรก็ตาม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะมาบังเกิดขึ้นเฉพาะในชมพูทวีปเท่านั้น



สรุป

การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ตั้งแต่สมัยที่กัปบังเกิดขึ้น แล้วพรหมก็ลงมากินง้วนดินจนกลายมาเป็นมนุษย์ในยุคต้นกัป แล้วกลายสภาพความเป็นอยู่ของตนมาเป็นเช่นปัจจุบันนี้ ล้วนมีเหตุอันเกิดขึ้นมาจากจิตในของมนุษย์นี้เอง แม้ว่าวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามนุษย์นั้นมีต้นกำเนิดมาจากอะไร แต่พระพุทธศาสนาก็มีคำสอนที่ได้บอกเอาไว้ว่า มนุษย์นั้นมิได้เกิดมาจากสัตว์เดรัจฉานอย่างที่นักวิทยาศาสตร์พากันคิดกัน

ความรู้ในวิทยาศาสตร์ หรือศาสตร์ในแขนงต่างๆ เมื่อนำมาเปรียบกับความรู้ในพระพุทธศาสนาแล้วก็เป็นเพียงแค่ก้อนเมฆที่ล่องลอยอยู่บนท้องฟ้าเท่านั้น เพราะความรู้ในพระพุทธศาสนาครอบคลุมความรู้ทั้งหมด แม้แต่อัลเบิร์ต ไอสไตน์ นักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ผู้คิดค้นทฤษฎีสัมพันธภาพยังแสดงความเห็นต่อศาสนาพุทธว่า



“ศาสนาในอนาคตจะเป็นศาสนาแห่งสากลจักรวาล เป็นศาสนาที่ข้ามพ้นความเชื่อที่เป็นตัวเป็นตนของพระเจ้า และหลีกเลี่ยงความเชื่อแบบติดศรัทธาโดยไม่พิสูจน์และเรื่องของพระเจ้ากับโลก แต่จะเป็นศาสนาที่ครอบคลุมทั้งเรื่องธรรมชาติและจิตวิญญาณ โดยมีพื้นฐานมาจากความรู้สึกทางศาสนาที่มาจากประสบการณ์ที่ได้ประสบกับสรรพสิ่ง ทั้งจากธรรมชาติและจิตวิญญาณ ด้วยนัยยะความหมายที่มีความเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งพระพุทธศาสนาสามารถให้คำตอบในสิ่งที่พรรณนามาดังกล่าว ถ้าจะมีศาสนาใดที่ดำเนินไปได้กับความต้องการของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ศาสนานั้นก็คือพระพุทธศาสนา”[5]



การที่พระพุทธองค์แสดงถึงการเกิดขึ้นของจักรวาล โลก มนุษย์ ตลอดจนสรรพสิ่งนี้ เป็นเพราะเพื่อแสดงการเกิดขึ้นของพารหมณ์ และวรรณะต่าง ๆ เพื่อให้สามเณรวาเสฏฐะและสามเณรภารทวาชะเกิดความอาจหาญร่าเริงภาคภูมิใจ ที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาดังที่ได้กล่าวในข้างต้น มิได้มีพระประสงค์ที่จะแสดงการเกิดของสรรพสิ่งแต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะทรงเห็นว่า ความรู้เรื่องโลกไม่ได้ทำให้ผู้ใดล่วงพ้นจากทุกข์ เลย

ดังนั้นเมื่อมีผู้ถามพระองค์ก็มิได้ทรงตอบ ซึ่งบางครั้งถึงกับ มีพระภิกษุรูปหนึ่งมาขู่ถามว่า ถ้าพระองค์ไม่ทรงตอบว่าโลกเกิดขึ้นได้อย่างไร จะลาสิกขา พระองค์ ก็ไม่ทรงตอบ เพราะทรงเห็นว่าไม่เกิดประโยชน์กลับภิกษุนั้นแต่อย่างไร เพราะการที่พระพุทธองค์ทรงสร้างบารมีเพื่อตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มิได้ปรารถนาเพียงเพื่อรู้ถึงสิ่งต่าง ๆ แต่อย่างใด แต่ทรงปรารถนาที่จะยกสรรพสัตว์ให้พ้นจากห้วงทะเลแห่งความทุกข์ ด้วยเหตุนี้เองการที่พระพุทธองค์จะแสดงสิ่งใดก็ตาม ทรงได้เล็งเห็นแล้วว่าเป็นประโยชน์

ดังนั้นการที่ทุกท่านได้มาศึกษาจักรวาลวิทยานี้ หากศึกษาเพียงเพื่อรู้ย่อมไม่เกิดประโยชน์อันใดเลย ซ้ำยังเป็นการผิดพุทธประสงค์ แต่ถ้าศึกษาแล้วเกิดความเบื่อหน่าย เห็นทุกข์ภัยในวัฏสงสาร ซึ่งไมมีอะไรใหม่ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นก็ของเดิมที่เกิดวนเวียนไปมาอย่างไมมีที่สินสุด เมื่อเห็นเช่นนี้ก็ควรที่จะแสวงหาทางที่จะไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก ซึ่งจะเป็นการได้ประโยชน์จากการศึกษาวิชานี้มากกว่า

[1] พระไตรปิฎกและอรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม 15 หน้า 146

[2] ในอินเดียได้จัดคนออกเป็นวรรณะต่าง ๆ ๔ วรรณะ ประกอบด้วย กษัตริย์ พราหม์ แพศ ศูทร กษัตริย์ และพราหมณ์จัดว่าเป็นวรรณะสูง แพศ เป็นวรรณะกลาง ส่วนศูทรเป็นวรรณะต่ำ ทั้ง ๔ วรรณะนี้จะดูถูกเหยียดหยามกัน จะไม่มีการคลุกคลีกันข้ามวรรณะ ถ้าหากว่ามีชายหญิงใดมีความสัมพันธ์กันจนมีทารกออกมา ทารกนั้นจะเป็นที่รังเกียจของคนทั้งหลายและถูกเรียกว่า จัณฑาล วรรณะทั้ง ๔ นี้

[3] พระสูตรและอรรถกถาแปล เล่ม ๓๔ หน้า ๓๓๘.

[4] การเกิดของสิ่งมีชีวิตในภพภูมิต่าง ๆ มีด้วยกัน ๔ วิธี เรียกว่า กำเนิด ๔ คือ

๑. สังเสทชะกำเนิด คือ เกิดในเถ้า ไคล สิ่งปฏิกูลต่าง ๆ เช่น การเกิดของจุรินทรีย์ เชื้อโรคต่าง ๆ

๒. โอปปาติกะกำเนิด คือ การที่ไม่ต้องอาศัยพ่อแม่ เมื่อเกิดแล้วโตเต็มวัยเลย ได้แก่ เทวดา พรหม สัตว์นรก เปรต อสรุกาย และมนุษย์ยุคแรก

๓. อัณฑชะกำเนิด คือ การเกิดในฟองไข่ เช่น พวกสัตว์ปีก สัตว์เลื้อยคลาน

๔. ชลาพุชะกำเนิด คือ การเกิดในครรภ์ เช่น มนุษย์ในปัจจุบัน สัตว์ต่าง ๆ

[5] "The religion of the future will be a cosmic religion. It should transcend a personal God and

avoid dogmas and theology. Covering both the natural and the spiritual, it should be based

on a religious sense arising from the experience of all things, natural and spiritual, as a

meaningful unity. Buddhism answers this description. If there is any religion that would

cope with modern scientific needs, it would be Buddhism."

(May 19th, 1939, Albert Einstein’s speech on "Science and Religion" in Princeton, New

Jersey, U.S.A.)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น