Linux Ubuntu

วันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เปิด“เอกสารลับ กต.” ร่างแผน กำจัด"แม้ว" ระบุเป็น“ภัยคุกคามความอยู่รอดรัฐบาล” จับแยกออกจาก"ฮุน เซน"

เรื่อง แนวทางการดำเนินการกับปัญหาความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา
กราบเรียน นายกรัฐมนตรี

อ้างถึง หนังสือกระทรวงการต่างประเทศ ลับมาก ด่วนที่สุดที่ กต 1302/2318 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2552

สิ่งที่ส่งมาด้วย

1.เอกสารแนวทางการดำเนินการกับปัญหาความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา

2.ตารางการส่งสัญญาณและระดับความรุนแรงเพื่อเตรียมมาตรการป้องปราม และตอบโต้การกระทำของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

อนุสนธิหนังสือที่อ้างถึง รายงานปฏิกิริยาของกัมพูชาและเสนอแนวทางจัดการสถานการณ์และผลกระทบ ความละเอียดแจ้งแล้วนั้น

กระทรวงการต่างประเทศขอกราบเรียนเสนอแนวทางการดำเนินการกับปัญหาความ สัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ดังความละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 1 ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

1.วิเคราะห์ท่าทีของฝ่ายกัมพูชา

1.1 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็น "ภัยหลัก" มุ่งคุกคามความอยู่รอดของรัฐบาล

โดยใช้ยุทธศาสตร์มุ่งให้เกิดสถานการณ์ที่เสื่อมทรามลง (deterioration) โดยอาศัยกลยุทธ์ที่สำคัญ 2 ด้าน คือ ความร่วมมือจากนายกรัฐมนตรีกัมพูชา และการเคลื่อนไหวของฝ่ายค้านต่างๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่ม นปช. ที่มุ่งหวังจะบั่นทอนเสถียรภาพของรัฐบาลไทย จนประเทศไทยตกอยู่ในสภาพไร้อำนาจรัฐ และโค่นล้มรัฐบาล อย่างไรก็ดีมาตรการตอบโต้ของกัมพูชาในขณะนี้ ยังคงจำกัดอยู่เพียงมาตรการทางการทูตเท่านั้น ยังไม่ใช่มาตรการรุนแรง แต่เป็นการ"ยั่วยุ" เพื่อเร่งปฏิกิริยาให้ฝ่ายไทยตอบโต้อย่างรุนแรงขึ้น

1.2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล ฝ่ายไทยไม่ควรหลงประเด็นตามที่ฝ่ายกัมพูชาต้องการให้เกิดความเข้าใจผิดว่า เป็นความขัดแย้งระหว่างบุคคล คือ ระหว่างนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา

1.3 สถานการณ์ปัญหาระหว่างไทยกับกัมพูชาจะยืดเยื้อหรือไม่ มิได้ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา แต่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขภายในประเทศไทยเอง โดยนายกรัฐมนตรีกัมพูชาจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จาก พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ว่าสถานการณ์จะลงเอยอย่างไร ดังนั้น ความเป็นเอกภาพของรัฐบาล ทุกส่วนราชการและทุกภาคส่วนของสังคมไทยเป็นปัจจัยสำคัญสูงสุดในการช่วยให้ ปัญหาดังกล่าวคลี่คลายลง

2.แนวทางการดำเนินการ

เพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์เป็นไปตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณและนายกรัฐมนตรีกัมพูชาคาดหวัง กระทรวงการต่างประเทศขอกราบเรียนเสนอมาตรการ ดังนี้

2.1 ป้องกันหรือหลีกเลี่ยงมิให้สถานการณ์รุนแรง โดยไม่มีเหตุผลหรือความจำเป็น (de-escalation) เช่น ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง โดยไม่เริ่มมาตรการตอบโต้ โดยไม่มีเหตุผลหรือเงื่อนไขพอควร ดำเนินมาตรการต่างๆ ด้วยความมีน้ำหนัก หนักแน่น ค่อยเป็นค่อยไป (incremental) สมน้ำสมเนื้อ (proportional) มีความหมายและยังประโยชน์คุ้มค่า และที่สำคัญ ไม่ควรดำเนินการใดๆ ที่ดูเหมือนว่า เป็นการ "เต้น" ไปตามกระแสของสื่อ

2.2 สร้างความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างส่วนราชการเพื่อเป็นแนวทางสำหรับการดำเนิน การที่เกี่ยวข้องอย่างสอดคล้องกัน โดยเฉพาะการให้ข้อมูลต่อฝ่ายต่างๆ โดยอาจพิจารณาเชิงให้ข้อมูลซึ่งเป็นข้อเท็จจริงและความจริงก่อนที่ฝ่าย กัมพูชาจะบิดเบือน หรือเมื่อปรากฏความเท็จ

2.3 สร้างความเป็นเอกภาพในประเทศไทย รวมถึงรัฐบาลไทยเอง เพื่อมุ่งเป้าให้นายกรัฐมนตรีกัมพูชาประจักษ์ว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะไม่มีโอกาสได้คืนสู่อำนาจอีกครั้ง และความสัมพันธ์และผลประโยชน์ส่วนตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ และนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน และกัมพูชาจะเสียประโยชน์ในระยะยาวที่มีอยู่กับประเทศไทย ไม่ว่าด้านการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว ฯลฯ

2.4 ลดและแยกการเชื่อมโยงระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชาและฝ่ายค้านในประเทศไทย ด้วยการลดและขจัดเงื่อนไขที่เอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินการของฝ่ายตรงข้าม รัฐบาล โดยรัฐบาลควรแสดงท่าทีและความเห็นต่างๆ อย่างมีเอกภาพและเป็นระบบการตอบโต้รัฐบาลกัมพูชาอย่างสุขุม มีสติ ไม่วู่วาม และกระทบประชาชนน้อยที่สุด จะมีส่วนสำคัญในการ "ครองความนิยม" ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลที่สำคัญควรเร่งแปรความรู้สึก "สะใจ" หรือสนับสนุนรัฐบาลเป็น "ความเข้าใจ" โดยอาศัยการประชาสัมพันธ์ และบริหารจัดการ"เวลา" ให้เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลไทยที่สุด โดยการเร่งการพิจารณาคดีต่างๆ ของ พ.ต.ท.ทักษิณที่ยั่งคั่งค้างอยู่

3.จุดหมายปลายทาง (end game)

ต้องคำนึงว่า จุดประสงค์ของไทย คือ การปรับความสัมพันธ์สู่ปกติ (normalization) ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง (regime change) ในกัมพูชา อย่างไรก็ดี เนื่องจากต้นเหตุของปัญหามาจากการที่ พ.ต.ท.ทักษิณมุ่งทำลายความอยู่รอดของรัฐบาล การจัดการกับปัญหานี้จึงจำเป็นต้องมุ่งไปที่ต้นตอของปัญหาด้วยการ

(1) ขจัดภัยคุกคามหลัก และ

(2) แยกหรือทอนความร่วมมือระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งแนวโน้มที่น่าจะเป็นไปได้มี 3 สถานการณ์

3.1 ดีที่สุด (best case scenario)

การประคองสถานการณ์ปัจจุบัน (status quo) เพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณและนายกรัฐมนตรีกัมพูชาไม่สามารถดำเนินการใดๆ ที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ตามแนวทางการดำเนินการกับปัญหาข้อ 2 และรอเวลาเพื่อพิจารณาใช้ประเทศหรือบุคคลที่ 3 ที่มีอิทธิพลหรือเอื้อประโยชน์ให้กัมพูชาในการช่วยคลี่คลายปัญหาดังกล่าว

3.2 ระดับกลาง (medium case scenario)

3.2.1 ต่างฝ่ายต่างใช้มาตรการตอบโต้ โดยเพิ่มความเข้มข้นขึ้นเป็นลำดับเพื่อชิงความได้เปรียบ

3.2.2 หากกัมพูชาดำเนินมาตรการที่รุนแรงขึ้นในทางที่เป็นการแทรกแซงกิจการภายในของ ไทย รัฐบาลควรดำเนินมาตรการตอบโต้ที่ (1) ไม่กระทบต่อผลประโยชน์ของไทยและประชาชนของทั้งสองประเทศ (2) สมน้ำสมเนื้อ และ

(3) ไม่สร้างรอยแผลในความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศในระยะยาว

3.2.3 ในขณะเดียวกัน รัฐบาลยังไม่ควรกล่าวถึงมาตรการตอบโต้ล่วงหน้า เนื่องจาก (1) ฝ่ายกัมพูชาจะมีเวลาเตรียมการตอบโต้ (2) ทำให้ไทยถูกมองว่า "ธงอยู่แล้ว"ที่จะกลั่นแกล้งประเทศกัมพูชา ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้จัดทำตารางมาตรการตอบโต้นายกรัฐมนตรีกัมพูชา โดยระบุข้อดี/ข้อเสีย ดังความละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 2

3.3 เลวร้ายที่สุด (worst case scenario)

หาก พ.ต.ท.ทักษิณและนายกรัฐมนตรีกัมพูชาร่วมกันกระทำการใดๆ จนเกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในวงกว้าง เป็นการละเมิดบูรณภาพของดินแดน คุกคามอำนาจอธิปไตย และสถาบันสำคัญของไทย ซึ่งรวมถึงการดำเนินกิจกรรมเสมือนการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในกัมพูชา อันเป็นการแทรกแซงกิจการภายในและบ่อนทำลายประเทศไทยอย่างชัดเจน ก็จำเป็นที่รัฐบาลไทยต้องพิจารณาตัดความสัมพันธ์ทางการทูต และยกเลิกการติดต่อทุกด้าน รวมถึงใช้มาตรการทางทหารเพื่อปกป้องอธิปไตย

4.ข้อเสนอแนะ

หากเห็นชอบตามแนวทางดังกล่าวข้างต้น กระทรวงการต่างประเทศขอกราบเรียนเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการให้ส่วนราชการดำเนินการ ดังนี้

4.1 เพื่อให้มีความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างส่วนราชการ ขอให้มีการปรึกษาหารือกับกระทรวงการต่างประเทศอย่างใกล้ชิดก่อนดำเนินการ ด้านนโยบายใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับกัมพูชา

4.2 ใช้แนวทางที่เสนอเป็นหลักในการดำเนินการอย่างสอดคล้องกัน

4.3 ใช้แนวทางเดียวกันในการให้ข้อมูลแก่ฝ่ายต่างๆ และสาธารณชน

จึงขอกราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาข้อ 4

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง

นายกษิต ภิรมย์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

(ที่มา มติชนออนไลน์ , 19 ธันวาคม 2552)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น