อันหลักการทำศึกนั้น บ้านเมืองสมบูรณ์เป็นเอก บ้านเมืองบอบซ้ำเป็นรอง กองทัพสมบูรณ์เป็นเอก กองทัพบอบซ้ำเป็นรอง กองพลสมบูรณ์เป็นเอก กองพลบอบซ้ำเป็นรอง กองร้อยสมบูรณ์เป็นเอก กองร้อยบอบซ้ำเป็นรอง เหตุนี้ รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง ยังหาใช้ความยอดเยี่ยมในความยอดเยี่ยมไม่ มิต้องรบแต่สยบทัพข้าศึกได้ จึงจะเป็นความยอดเยี่ยมในความยอดเยี่ยม
ฉะนั้น การบัญชาทัพชั้นเอกคือชนะด้วยอุบาย รองมาคือชนะด้วยการทูต รองมาคือชนะด้วยการรบ เลวสุดคือการตีเมืองเป็นเรื่องสุดวิสัย เพราะการสร้างรถโล่ การเตรียมยุทโธปกรณ์ สามเดือนจึงแล้วเสร็จ การถมเนินเข้าตีเมือง ต้องอีกสามเดือนจึงลุล่วง แม่ทัพจักกลั่นโทสะมิได้ ทุ่มทหารเข้าตีดุจจอมปลวก ต้องล้มตายหนึ่งในสาม แต่เมืองก็มิแตก นี้คือความวิบัติจากการตีเมือง
ฉะนั้น ผู้สันทัดการบัญชาทัพ จักสยบทัพข้าศึกได้โดยมิต้องรบ จักยึดเมืองข้าศึกโดยมิต้องตี จักทำลายประเทศข้าศึกได้โดยมิต้องนาน จักครองปฐพีได้ด้วยชัยชนะอันสมบูรณ์ ดังนี้ กองทัพมิต้องเหน็ดเหนื่อยยากเข็ญ ก็ได้ชัยชนะอย่างสมบูรณ์ นี้คือกลวิธีแห่งการรุก
ฉะนั้น หลักการบัญชาทัพคือ มีสิบเท่าให้ล้อม มีห้าเท่าให้รุก มีหนึ่งเท่าให้แยก มีเท่ากันก็รบได้ มีน้อยกว่าก็เลี่ยงหนี มีไม่ทัดเทียม ก็หลบหลีก เหตุนี้ ด้อยกว่าข้าศึกยังขืนรบ ก็จักตกเป็นเชลยข้าศึกที่เข้มแข็ง
อันแม่ทัพนั้น คือผู้ค้ำจุนประเทศ ถ้ารอบคอบ บ้านเมืองจักเข้มแข็ง ถ้าบกพร่อง บ้านเมืองจักอ่อนแอ
ประมุขนำความวิบัติแก่กองทัพมีสาม ไม่รู้ว่ากองทัพรุกมิได้บัญชาให้รุก ไม่ได้รู้ว่ากองทัพถอยมิได้ก็บัญชาให้ถอย นี้เรียกว่าจำจองกองทัพ ไม่รู้เรื่องของสามทัพ แต่เข้าสอดแทรกกิจการของสามทัพ แม่ทัพนายกองก็สับสน ไม่ได้รู้อำนาจของสามทัพ แต่เข้าแทรกแซงการบัญชาของสามทัพ แม่ทัพนายกองก็สงสัย เมื่อแม่ทัพนายกองทั้งสับสนและสงสัย เจ้าครองแคว้นอื่นก็จะนำภัยมาสู่ นี้เรียกว่าก่อกวนกองทัพ ชักนำข้าศึกให้ชนะ
ฉะนั้น เราสามารถล้วงรู้ชัยชนะได้ห้าทาง ผู้รู้ว่าควรรบหรือไม่ควรรบจักชนะ ผู้เข้าใจการรบในภาวะกำลังมากหรือกำลังน้อยจักชนะ ฝ่ายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งชั้นบนและชั้นล่างจักชนะ ฝ่ายพร้อมรบบุกฝ่ายไม่พร้อมรบจักชนะ ฝ่ายแม่ทัพมีปัญญาประมุขไม่ยุ่งเกี่ยวจักชนะ ห้าทางนี้คือวิธีแห่งการล้วงรู้ชัยชนะ
ฉะนั้น จึงกล่าวว่า รู้เขารู้เรา ร้อยรบมิพ่าย ไม่รู้เขาแต่รู้เรา ชนะหนึ่งแพ้หนึ่ง ไม่รู้เขาไม่รู้เรา ทุกรบจักพ่าย
บทวิเคราะห์
ในบทนี้ ซุนวูได้อธิบายความคิดที่ทรงคุณค่าที่สุดอย่างหนึ่งคือ “รู้เขารู้เรา ร้อยรบมิพ่าย ไม่รู้เขาไม่รู้เรา ทุกรบจักพ่าย” ซึ่งชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความเข้าใจและความรับรู้ของผู้บัญชาการรบต่อสภาพข้าศึก และของทั้งสองฝ่าย กับชัยชนะและปราชัยของสงคราม เปิดเผยให้เห็นถึงกฎทั้วไปแห่งการชี้นำสงคราม เหมาเจ๋อตงเคยประเมินค่าสูงสุดต่อความคิดซุนวูข้อนี้ เขาได้กล่าวว่า “สงครามมิใช้สิ่งอาถรรพ์ หากยังคงเป็นการเคลื่อนไหวที่จำเป็นอย่างหนึ่งในโลกมนุษย์ ดังนั้น กฏของซุนวูที่ว่า “รู้เขารู้เรา ร้อยรบมิพ่าย” จึงยังคงเป็นสัจธรรมที่เป็นวิทยาศาสตร์อยู่”
ซุนวูมีความเห็นให้สู้รบกับข้าศึกในสภาพการณ์ที่เราเป็นฝ่ายเหนือกว่า ดัดค้านการสู้รบอย่างดันทุรังในสภาพการณ์ที่เราเป็นฝ่ายด้อยกว่า โดยเริ่มต้นจากจุดนี้ เขาได้เสนอบัญชาทัพที่ “มีสิบเท่าให้ล้อม มีห้าเท่าให้รุก มีหนึ่งเท่าให้แยก มีเท่ากันก็รบได้ มีน้อยกว่าให้เลี่ยงหนี มีไม่ทัดเทียมกันก็หลบหนี” เห็นว่าใช้วิธีการรบตามสัดส่วนที่แตกต่างของส่วนเปรียบเทียบทางกำลังทางทหารทั้งสองฝ่าย เขาเตือนว่า "ด้อยกว่าข้าศึกยังขืนรบ ก็จักตกเป็นเชลยข้าศึกที่เข้มแข็ง” กองทัพที่อ่อนกว่าข้าศึก หากเอาแต่รบอย่างดื้อรั้น ในที่สุดก็จะตกเป็นเชลยศึกที่เข็มแข็งกว่าแน่นอน
ในบทนี้ ซุนวูได้เสนอว่า “การบัญชาทัพชั้นเอกคือชนะด้วยอุบาย รองลงมาคือชนะด้วยการทูต รองมาคือชนะด้วยการรบ เลวสุดคือการเข้าตีเมือง” เห็นว่าการใช้อุบายในทางการเมืองและการทูตเอาชนะข้าศึกเป็นเรื่องที่เยี่ยมที่สุด
ควรชี้ให้เห็นว่า ในสงคราม “การเอาชนะด้วยอุบาย” “การเอาชนะด้วยการทูต” นั้น เป็นมาตรการสำคัญ นั้น เป็นมาตรการสำคัญอันจะขาดเสียมิได้ในการต่อสู้กับข้าศึก แต่ทั้งนี้มีแต่จะต้องประสานกับ “การเอาชนะด้วยการรบ” ซึ่งเป็นมาตรการทางทหารด้วยจึงจะสามารถขยายบทบาทของมันได้ โดยเนื้อแท้แล้วยังคงเป็น “สยบข้าศึกด้วยการรบ” อยู่นั้นเอง
ด้วยเหตุนี้ การที่ซุนวูถือ “สยบทัพข้าศึกโดยมิต้องรบ” เป็น “ความยอดเยี่ยมในความยอดเยี่ยม” และถือเป็นหลักการบัญชาทหารโดยทั่วไปนั้น ดูจะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันซึ่งยากเหลือเกินที่จะ “เอาชนะด้วยอุบาย” หรือ “เอาชนะด้วยการทูต” ได้โดย ไม่มีกองทัพอันเกรียงไกรยืนตระหง่านอยู่เบื้องหลัง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น