Linux Ubuntu

วันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2553

บทที่ 7 การดำเนินกลยุทธ์

อันหลักแห่งการบัญชาทัพนั้น แม่ทัพรับโองการจากประมุข ระดมไพร่รวมพล ตั้งทัพเผชิญข้าศึกที่ยากคือการชิงชัย ความยากของการชิงชัยอยู่ที่แปลงอ้อมให้เป็นตรง แปลงภยันตรายให้เป็นประโยชน์ ฉะนั้น จึงพึงเดินทางทางอ้อม แล้วล่อด้วยประโยชน์ เคลื่อนพลทีหลัง ถึงที่หมายก่อน นี้คือผู้รู้กลยุทธ์อ้อมตรง

ฉะนั้น การชิงชัยมีประโยชน์ การชิงชัยมีภัย ยกทัพทั้งกองไปชิงประโยชน์ จักไม่ทันกาล ทิ้งยุทโธปกรณ์ไปชิงประโยชน์ จักสูญเสียสัมภาระ

เหตุนี้ แม้นเก็บเสื้อเกราะเร่งเดินทัพ ไม่หยุดทั้งกลางวันกลางคืน รีบรุดเป็นทวีคูณ เพื่อไปชิงประโยชน์ในร้อยลี้ แม่ทัพทั้งสามจักเป็นเชลย เพราะผู้แข็งแรงจะขึ้นหน้า ผู้เหนื่อยล้าจะตกหลัง การนี้จะมีทหารถึงที่หมายเพียงหนึ่งในสิบ แม้นเพื่อชิงประโยชน์ในห้าสิบลี้ แม่ทัพหน้าจักมีอันตราย การนี้จะมีทหารถึงที่หมายเพียงครึ่งเดียว แม้นเพื่อชิงประโยชน์ในสามสิบลี้ ก็จะมีทหารถึงที่หมายเพียงสองในสาม

เหตุนี้ กองทัพที่ขาดยุทธสัมภาระจักล่ม ขาดเสบียงอาหารจักล่ม ขาดคลังสำรองจักล่ม

ฉะนั้น มิรู้เจตจำนงเหล่าเจ้าครองแคว้น ก็มิพึงคบหา มิรู้ลักษณะป่าเขา ที่คับขันอันตราย ห้วยหนองคลองบึง ก็มิอาจเดินทัพ ไม่ใช้มัคคุเทศก์พื้นเมือง ก็มิได้ประโยชน์จากภูมิประเทศ

ฉะนั้น การศึกจึงกำหนดด้วยเล่ห์ เคลื่อนทัพด้วยประโยชน์กระจ่ายหรือรวมพลตามศึก

ฉะนั้น จึงรวดเร็วดังหนึ่งพายุ เชื่องช้าดังหนึ่งไม้ลู่ รุกไล่ดังหนึ่งเพลิงผลาญ ตั้งมั่นดังหนึ่งภูผา รู้ยากดังหนึ่งความมืด เคลื่อนทัพดังหนึ่งฟ้าคำรณ ได้บ้านให้แบ่งสินศึก ได้เมืองให้ปูนบำเหน็จประมาณการแล้วจึงเคลื่อน ผู้รู้กลยุทธ์อ้อมตรงก่อนจักชนะ นี้คือหลักแห่งการสัประยุทธ์

“ตำราการทหาร” กล่าวว่า “ส่งเสียงไม่ได้ยิน จึงให้ฆ้องกลอง แลมองมิได้เห็น จึงใช้ธงทิว” อันฆ้องกลองและธงทิวนั้น เพื่อให้หูตาไพร่พลเป็นหนึ่งเดียว เมื่อไหร่พลเป็นหนึ่งเดียว ผู้กล้าหาญก็ไม่บุกแต่ลำพัง ผู้ขลาดกลัวก็ไม่ถอยแต่คนเดียว นี้คือหลักแห่งการบัญชาไพร่พล ฉะนั้น รบกลางคืนจึงมากด้วยแสงไฟเสียงกลอง รบกลางวันจึงมากด้วยธงธวัชสะบัดโบก ดังนี้ จึงเปลี่ยนแปลงหูตาไพร่พลได้

ฉะนั้น สามทัพอาจเสียขวัญ แม่ทัพอาจท้อแท้ โดยเหตุที่ยามเช้ามักฮักเหิม ยามสายจักอิดโรย ยามเย็นก็สิ้นแรง ฉะนั้น ผู้สันทัดการบัญชาทัพ พึงเลี้ยงความฮึกเหิม เข้าตีเมื่ออิดโรย นี้คือคุมขวัญ เอาสงบรอปั่นป่วน เอาเงียบรอโกลาหล นี้คือคุมจิต เอาใกล้รอไกล เอาสบายรอเหนื่อย เอาอิ่มรอหิว นี้คือคุมพลัง อย่าตีสกัดทัพซึ่งธงทิวปลิวไสว อย่าโจมตีทัพซึ่งตั้งอยู่อย่างผ่าเผย นี้คือคุมเปลี่ยนแปลง

ฉะนั้น หลักแห่งการบัญชาทัพ ที่สูงอย่าบุก อิงเนินอย่ารุก แสร้งถอยอย่าไล่ แกร่งกล้าอย่าตี อ่อยเหยื่ออย่ากิน คืนถิ่นอย่างขวาง ล้อมพึงเปิดช่อง จนตรองอย่างเค้น นี้คือหลักแห่งการสัประยุทธ์
บทวิเคราะห์

การสาธยายของซุนวูในบทนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาคู่สงครามช่วงชิงชัยชนะให้กับตน ความคิดที่เป็นใจกลางก็คือ พยายามยึดกุมอำนาจหรือสิทธิเป็นฝ่ายกระทำในสนามรบให้ได้

ซุนวูเห็นว่า ในกระบวนการทำสงครามนั้น การเข้ายึดครองพื้นที่สำคัญในสนามรบและยึดกุมโอกาสที่เป็นประโยชน์ในการทำศึก เป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดและยากที่สุดในการช่วงชิงความได้เปรียบของคู่สงคราม เขาเห็นว่า เพื่อที่จะช่วงชิงให้ได้มาซึ่งฐานะที่เป็นประโยชน์ จะต้องเข้าใจในหลักการ "แปลงอ้อมให้เป็นตรง แปลงภยันตรายให้เป็นประโยชน์” จะต้อง “พึงเดินทางอ้อม และล้อด้วยประโยชน์” และใช้มาตรการที่ดูผิวเผินไม่เป็นผลดีแต่ตน หลอกลวงสร้างความฉงนสนเท่ห์แก่ข้าศึก ทำถึงขั้น “เคลื่อนผลทีหลัง ถึงที่หมายก่อน”

ซุนวูเห็นว่า การชิงชัยมีสองด้าน คือทั้งที่เป็นประโยชน์และที่เป็นภัย เขาชี้ว่า “การชิงชัยมีประโยชน์ การชิงชัยมีภัย” เน้นว่าในกระบวนการสัประยุทธ์นั้น จะต้องจัดการกับปัญหา “ยกกองทัพไปชิงประโยชน์” และ “ทิ้งยุทโธปกรณ์ไปชิงประโยชน์” ให้ดี จะต้องปฏิบัติการอย่างรวดเร็ว แต่ก็ไม่ควรจะคิดแต่ให้เบาตัวโดยทิ้งยุทธสัมภาระไปเสีย คือคิดแต่่รีบรุดไปโดยทำให้ไพร่พลต้องสิ้นสมรรถนะ เขาเตือนว่า กองทัพหากปราศจากยุทธสัมภาระก็ไม่อาจจะอยู่ได้ การรุกอย่างสุ่มเสี่ยงเบาปัญญา แม่ทัพของสามทัพก็อาจจะเป็นอันตรายตกเป็นเชลยของข้าศึกได้

ซุนวูเน้นว่า เพื่อบรรลุจุดมุ่มหมายในการช่วงชิงผลประโยชน์ยังจะต้องเข้าใจเจตจำนงของแคว้นต่างๆ เข้าใจเส้นทางการเดินทัพและภูมิประเทศของสนามรบ เล็งเห็นความสำคัญของการใช้มัคคุเทศก์ มีการบัญชาอย่างเป็นเอกภาพ และได้เสนอให้มีการปฎิบัติการเยี่ยง “รวดเร็วดังหนึ่งพายุ เชื่องช้าดังหนึ่งไม้ลู่ รุกไล่ดังหนึ่งเพลิงผลาญ ตั้งมั่นดังหนึ่งภูผา” เป็นต้น ตลอดจนหลักการบัญชาทัพซึ่งยึดกุมการหลอกลวงข้าศึก ใช้กำลังทหารของตนให้ “กระจายหรือรวมผล” โดยเปลี่ยนแปลงตามสภาพการรบเหล่านี้ ล้วนแต่มีคุณค่าที่แน่นอนทั้งสิ้น

ในบทนี้ ซุนวูยังได้เสนอความคิดชี้นำและวิธีทำสงครามซึ่ง “คุมขวัญ คุมจิต คุมพลัง คุมเปลี่ยนแปลง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขาได้เสนอสำนวนการทหารที่ลือชื่อคำหนึ่งไว้ในบทนี้คือ “พึงเลี่ยงความฮึกเหิม เข้าตีเมื่ออิดโรย” อันได้สะท้อนสิ่งซึ่งมีลักษณะเป็นปรากฏการณ์บางประการในการชี้นำสงคราม

เหมาเจ๋อตงได้ชี้ในจุลสาร “ปัญหายุทธศาสตร์ในสงครามปฎิวัติของจีนว่า” ว่า “คำของซุนวูที่ว่า “พึงเลี่ยงความฮึกเหิม เข้าตีเมื่ออิดโรย” นั้นก็หมายถึงการทำให้ข้าศึกอ่อนเพลียเสียขวัญเพื่อบันทอนความเหนือกว่าของมันเสียนั้นเอง”

แต่คำที่ว่า “กลับถิ่นอย่าขวาง” “จนตรองอย่าเค้น” ซึ่งซุนวูได้เสนอในบทนี้นั้น การนำไปใช้ในปริมณฑลอื่นๆ อาจไม่ปีปัญหา แต่ในด้านการทหารแล้ว การทำเช่นนี้ก็เท่ากับปล่อยเสือเข้าป่า จึงควรที่จะพิจารณาให้จงหนัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น