Linux Ubuntu

วันอังคารที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2553

"มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล" จากเฟซบุ๊กถึง "ชนชั้นกลาง" ด้วย "รักแห่งสยาม" ที่แท้

สัมภาษณ์พิเศษโดย โต๊ะข่าวบันเทิง หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน

เป็นกระแสขึ้นมาในอินเตอร์เน็ต เมื่อ "มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล" ผู้กำกับภาพยนตร์เจ้าของผลงานอย่าง "13 เกมสยอง" และ "รักแห่งสยาม" เขียนจดหมายที่มีเนื้อหาอิงกับสภาวะการเมืองปัจจุบันด้วยท่าทีกระตุกขาชนชั้นกลางแล้วนำไปเผยแพร่ผ่านโลกไซเบอร์ ก่อนจะถูกนำมาเผยแพร่ซ้ำในเว็บไซต์มติชนออนไลน์ กระทั่งกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์เพราะมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

มะเดี่ยวได้รับทั้ง "ก้อนอิฐ" และ "ดอกไม้"

"ก็เฉยๆ นะเพราะเขียนลงบล็อคก็ต้องการบอกอยู่แล้ว" ผู้กำกับดังเปรยยิ้มๆ

เหตุหนึ่งที่ทำให้คนในวงการบันเทิงอย่างเขาตัดสินใจเปิดตัวแสดงความเห็น ทั้งที่จริงๆ แล้วเงียบไว้จะดีกว่า มะเดี่ยวบอกว่าเป็นเพราะกระแสในอินเตอร์เน็ตอย่าง "เฟซบุ๊ก" นั้นน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

"มันเหมือนว่าคนในเมืองมีความเข้าใจอย่างหนึ่ง มีคนเอารูปคนตายลงอินเตอร์เน็ต ก็มีคนแสดงความสะใจ สมน้ำหน้าตายซะได้ก็ดี น่ากลัวคือ แล้วมีคนเห็นด้วยเยอะแยะ เรารู้แต่แรกแล้วว่าคนกรุงเทพรู้สึกยังไงกับการชุมนุม ก็ด่าทุกวันในเฟซบุ๊ก ไปตายซะ เป็นวัวเป็นควายก็กลับไปอยู่นาซะ เราก็ฮึ่มๆ ในใจ เห็นด้วยไหมกับการชุมนุมเราก็ไม่เห็นด้วยทุกอย่าง ก็เดือดร้อนอยู่ แต่มันเป็นผลสืบเนื่องกันมา ก็เข้าใจ" มะเดี่ยวแสดงความเห็น

"ตอนหลังก็ไปหาข้อมูลเกี่ยวกับการเมืองอีกด้านมาเหมือนกัน ก็พอจะเข้าใจเหตุที่เขามากัน ยอมรับว่าตอนเขียนก็มีความรู้สึกเหมือนกันกับสิ่งที่คนกรุงเทพทำกับม็อบด้วยทรรศนคติวาจาซึ่งมันสะท้อนอะไรบางอย่าง ก็เลยต้องตบหน้าเขาไปซะทีว่าฟังอีกข้างด้วยอย่าเพิ่งคลั่ง เราก็ต้องตบหน้าให้ได้สติ ฝั่งการเมืองอาจจะคิดว่าเราแดงฉานไปแล้ว" เขากล่าวพร้อมหัวเราะ

ในทรรศนะส่วนตัวของเขาซึ่งก็ออกตัวว่าเป็นคนชนชั้นกลางเหมือนกัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา มันสะท้อนว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย นักการเมืองมาก็ไป แต่คนที่จะหาผลประโยชน์กับการเมืองก็ยังอยู่

"แล้วมันยังไง เราขับไล่ทักษิณที่เราคิดว่าเป็นตัวแทนความคดโกงไปแล้ว แต่นักการเมืองบางส่วนที่อาจจะทุจริตก็ยังอยู่ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ตอนนั้นยอมรับไม่ได้ แล้วทำไมตอนนี้ยอมรับได้ล่ะ มันก็สับสนว่าสังคมต้องการอะไรกันแน่"

ที่สุดชูเกียรติก็เห็นว่า มันต้องยอมรับความจริงว่านักการเมืองมาด้วยผลประโยชน์ ถ้าตกลงกันได้ สันติสุขก็จะกลับมา ถ้าอำนาจหลายๆ ส่วนตกลงกันได้ก็สันติ แต่ตอนนี้ประชาชนกลับกลายเป็นคนต้องรับเคราะห์ มันเศร้าหมดหวัง เราโตมามันทำให้เราเห็นอะไรเยอะ ตั้งแต่เกิดมาจนวันนี้โลกในอุดมคติมันไม่มีจริงสักอย่าง

"คุณอภิสิทธิ์อาจจะเป็นแบบนั้นก็ได้ (อุดมคติ) แต่ว่าแกอยู่ในระบบที่ผิด เราเชื่อว่าประเทศไทยทั้งหมด ชนชั้นมันมีอยู่จริง คนมันจนมันไม่ได้จนเองเฉยๆ นะมันมีที่มาที่ไป คุณทักษิณมองออกทางโครงสร้างแล้วก็เห็นว่าจะช่วยยังไง พอคุณอภิสิทธิ์มาทำนโยบายเดียวกันกลับทำไม่ถูกจุด"

ในอีกด้านก็อาจจะมีเสียงเถียงว่านโยบายของทักษิณเป็นเสรีนิยมค่อนข้างมาก สุดท้ายความมั่งคั่งทั้งหมดก็ไปตกอยู่กับคนที่กระเป๋าใหญ่สุดอยู่ดี เรื่องนี้มะเดี่ยวเห็นว่า "เวลาที่ผ่านไป ก็คิดว่าคนส่วนหนึ่งเขาจะมองออก แต่รัฐบาลชุดนี้ก็ไม่ได้ทำอะไรที่จะไม่ให้มันเกิดขึ้น นอกจากไปไล่จับคุณทักษิณ"

"สิ่งที่ชอกช้ำคือ คุณทักษิณพยายามจะเป็นเจ้าของสื่ออย่างครบวงจร แต่รัฐบาลชุดนี้ก็ใช้สื่อของตัวเองเต็มที่เหมือนกัน แล้วสื่อเองก็เป็นปัญหาจริงๆ นายทุนสื่อมันมีจริงๆ ในวงการ เขาก็กวานซื้อสื่อ มันไม่ต้องพูดเรื่องการเป็นกลางเพราะว่ามันไม่มีอยู่แล้ว และไม่ว่าเหลืองหรือแดง สื่อก็รับใช้ใครสักคนตลอด คนอยากใช้สื่อก็มารีบกว้านซื้อไปซะ"

"ถ้าต้องให้ประชาชนรับสื่อเยอะแล้วก็เลือกเชื่อเอา แบบนี้ก็เหนื่อยเหมือนกัน จะทำยังไงไม่ให้ใครครองสื่อ ตรงนี้ไม่รู้ว่ามันเป็นเรื่องของกลไกหรือจริยธรรม" มะเดี่ยวให้ความเห็น

คำถามคือมันเกิดอะไรขึ้น? ที่ไม่ว่าเปลี่ยนไปข้างไหนก็กลับมีปัญหาเดิมๆ เกิดขึ้นมา อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องถามตัวเอง

ถ้าถามว่าทางออกปัจจุบันของปัญหาตอนนี้ที่หลายๆ ฝ่ายมองว่าควรคุยกัน มะเดี่ยวบอกว่า ที่จริงเขาเองก็เห็นแบบนั้น แต่ตอนนี้ทุกอย่างมันไปกันใหญ่แล้ว เพราะเริ่มไม่ใช่เรื่องของ 2 ฝ่าย และเรื่องราวเลยเถิดจนคนเริ่มลืมจุดเริ่มต้น และเหลือเพียงอารมณ์และความต้องการเอาชนะกันอย่างเดียว

"ก็คิดเหมือนกันนะว่ายุบสภาแล้วไง คุณทักษิณกลับมา อีกข้างก็ออกมาชุมนุม งั้นแก้กฎหมายก่อนไหม แต่บรรยากาศตอนนี้ทั้งสองฝ่ายจะมานั่งคุยกันได้ไหม? ฝั่งเป็นกลางที่คนเชื่อถือมันไม่มีแล้ว ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราค่อยๆ ทำลายคนกลางในสังคมไปหมด ด้วยกระบวนการทุกอย่างที่เกิดขึ้น มันคุยกันยากแล้ว"

เขาว่าในฐานะคนในสังคมส่วนหนึ่งคงต้องเปิดใจยอมรับว่า มันเป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงระบบบางอย่างในสังคม แต่ปัญหาที่สำคัญที่สุด ตอนนี้คือขั้นตอนจะเป็นยังไง ซึ่งเป็นส่วนที่สังคมต้องมาพูดกันว่าต่อจากนี้จะเป็นยังไง

"ปัญหาคือต้องมองให้ออกว่า อะไรคือจุดที่ทำให้ชนชั้นมันต่างกันขนาดนั้น ชนชั้นกลางกลางน่าสงสารที่สุด เพราะไม่มีทุนไม่มีความมั่นคงในชีวิตเขาก็ต้องอิงอำนาจ ชนชั้นล่างหรือกลางใหม่ ตามข้อเขียน อ. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่บอกว่าจะโตมาจากภาคเกษตร ก็กลับไม่เป็นที่ยอมรับของชนชั้นกลางและสูงเดิมด้วยข้ออ้างว่าไม่มีการศึกษา แต่ว่าปัญหาเกิดจากอะไร ทำไมคนถึงวัดกันที่การศึกษาคืออาจจะเป็นเพราะว่าคุยกันไม่รู้เรื่องเลยด่ากันว่าไม่มีการศึกษา อาจจะเป็นเพราะว่าต่างคนต่างมีตรรกะของตัวเองด้วย"

ในทรรศนะเขาการศึกษานี่แหละซึ่งเป็นตัวถ่างคนให้ห่างออกจากกัน โดยเฉพาะเรื่องของ "การสอบเข้ามหาวิทยาลัย"

"สมัยเราที่จะใช้เกรดม.ปลายแล้วเดี๋ยวก็ไม่ใช้มันงงแล้วนะ แต่เด็กสมัยนี้งงกว่าอีก และสอบแต่ละครั้งก็ใช้เงินค่าสอบ เคยมีเด็กเขียนมาถามเราว่าถ้าไม่มีเงินจะสอบได้ยังไง แล้วมาตรฐานการออกข้อสอบมันมาจากส่วนกลาง แต่เด็กที่อยู่ต่างจังหวัดก็ไม่ได้เรียนแบบเดียวกับเด็กเตรียมอุดมฯ มันก็ทำกันไม่ได้เลย กลายเป็นว่าถ้าต้องการเรียนสูงต้องเข้าเมือง ต้องไปกวดวิชา ตรงนี้เงินมันก็เข้ามามีบทบาท มาตรฐานการศึกษาตอนนี้ก็อย่างที่รู้กัน ไม่แปลกที่มันจะเกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา"

"นอกจากนี้อาชีวะศึกษาก็ล้มเหลว ส่งไปเรียนแต่นักเรียนตีกัน ส่วนอาชีพบางอย่างก็เป็นอาชีพสำคัญนะ แต่ทำไมระบบการศึกษาส่งคนเข้าอุตสาหกรรมไม่ได้ครบและขาดแคลนขนาดนี้"

มะเดี่ยวบอกว่ามันชัดเจนมากที่ระบบของประเทศตอนนี้มันล้มเหลวไปหมดทุกระบบ

"มันเป็นไปได้ยังไงที่ระบบทุกอย่างในประเทศมันช่วยกันผลักให้คนในสังคมมันล้มเหลวในชีวิตโดยพร้อมเพรียงกันไปหมดขนาดนี้ คนที่จะประสบความสำเร็จได้ถ้าขึ้นมาจากฐาน มันก็ต้องกระเสือกกระสนดิ้นรนเป็นพิเศษ แล้วปลายยอดกับฐานมันถ่างออกจากกันจนกว้างไปหมด"

ถ้ามานั่งคิดดูไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมครั้งไหน ตั้งแต่ 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภาทมิฬ จนถึงครั้งนี้ เรื่องราวและม็อบทุกอย่างที่เกิดขึ้นก็คล้ายคลึงกันไปหมด ชูเกียรติตั้งคำถามว่าทำไมสังคมไทยยังผ่านจุดนี้ไปไม่ได้สักที

"มันปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเพราะคนชั้นสูงเอาทรัพยากรไปหมด และคนมันก็เรียนรู้มาเรื่อยๆ คนจนเขาก็ไม่ได้งมงาย มนุษย์เรามีความคิด มีฐานในเรื่องการดำรงชีวิตเป็นแรงผลักที่ทำให้มีสติปัญญา ชนชั้นล่างตอนนี้ต้องการท้องอิ่มก่อน ซึ่งถ้าถามว่าทำไมมันเกิดซ้ำเรื่องเดิม ก็เพราะมันไม่อิ่มมาตลอด 30-40 ปี ไม่อิ่มจริงๆ ไม่ใช่ว่าเขาเคยได้แล้วไม่ได้ ความหวังที่ชีวิตจะได้ลืมตาอ้าปาก มันยังไม่มาถึงเลย"

นั่นแหละปัญหาที่แท้จริง ที่คนชั้นกลางบางส่วนอาจจะยังไม่ตระหนักให้มากพอ จนเป็นที่มาของการแสดงออกต่อม็อบในเวลานี้ ซึ่งสุ่มเสี่ยงและแตกแยกอย่างน่ากลัว

อย่างไรก็ตามในฐานะคนธรรมดาๆ ที่ไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายใด มะเดี่ยวเปิดเผยว่าเวลานี้อยู่บ้านก็ปิดทีวี

"สิ่งที่ทำได้คืออย่าโกรธอย่าเกลียดกัน อย่ามาหักหาญกันเกินไป ปล่อยให้คนที่อยู่ในการเมืองทำหน้าที่กันไป หลายคนอาจจะไม่ซีเรียสเรื่องการเปลี่ยนแต่ว่าซีเรียสเรื่องวิธีการ แต่ว่านั่นก็เป็นเรื่องที่เราไปคุมอะไรไม่ได้แล้ว เพราะตอนนี้มันมั่วไปหมด"

"ถึงเวลาควันจางก็หวังว่าเราคงคิดได้ ว่าทุกคนก็รักชาติ สุดท้ายจะพบว่าเราหวังดีต่อกันทั้งคู่ แต่ว่าด้วยอารมณ์มันก็บังตาเราไปบ้าง"


แหล่งที่มา มติชน...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น