กรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ถูกตรวจสอบกรณีการรับเงินจากบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ของ นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ จำนวนกว่า 258 ล้านบาท เงียบหายไปนาน
แต่ล่าสุด (28 กรกฎาคม 2552) "ประจวบ สังขาว" อดีตเจ้าของบริษัท เมซไซอะ บิซิเนส แอนด์ ครีเอชั่น จำกัด ได้โผล่ไปให้การกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
คำพูดหรือคำให้การของ dead man walking คนนี้ จึงมีโอกาสนำไปสู่การตัดสินอนาคตพรรคประชาธิปัตย์ หากพิสูจน์ได้ว่าอะไรคือความจริง
ย้อน ไปเมื่อครั้งที่นายสมัคร สุนทรเวช ยังเป็นนายกรัฐมนตรี มีการสร้างข่าวขึ้นมาว่า พรรคประชาธิปัตย์ในช่วงที่นายบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นหัวหน้าพรรค มีการรับเงินจากทีพีไอฯเพื่อนำไปสนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯขับไล่ รัฐบาล
เอกสารฉบับหนึ่งระบุว่า ก่อนการรัฐประหาร 19 กันยา บริษัททีพีไอฯได้โอนเงินให้กลุ่มพันธมิตรฯ จำนวนกว่า 250 ล้านบาท มีการเหวี่ยงแหไปโดน "น้องแหม่ม" น.ส.สุพัชรี ธรรมเพชร ส.ส.เขต 1 จ.พัทลุง ประชาธิปัตย์ ลูกสาวของนาย สุพัฒน์ อดีต ส.ส. จนต้องลุกขึ้นมากล่าว กลางสภาด้วยเสียงสะอื้นว่า "ท่านไม่สงสารดิฉันบ้างเหรอคะ"
ต่อมามี การขยายผลจากความไม่น่าเชื่อถือของ ส.ส.พรรคพลังประชาชน จนมาพบหลักฐานการโอนเงินจากบริษัททีพีไอฯ มายังบริษัทเมซไซอะฯ จำนวนเงินกว่า 258 ล้านบาท
จิ๊กซอว์สำคัญคือ นายประจวบ เจ้าของ บริษัทเมซไซอะฯ ได้เอาเงินดังกล่าวโอนไปยังบัญชีน้องชายของกรรมการบริหารพรรค, น้องของภริยากรรมการบริหารพรรค และภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนของกรรมการบริหารพรรค
ซึ่งนอกจากนี้ยัง มีคนเล็กคนน้อย อาทิ ผู้สมัคร ส.ส.อีกเยอะ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ หรือใกล้ชิดหลายครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1.9 ล้านบาท โดยไม่เก็บไว้แม้แต่บาทเดียว
มีการ ตั้งข้อสงสัยว่า การโอนเงินครั้งละไม่เกิน 1.9 ล้านบาทนี้ เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอก เงิน (ปปง.) ใช่หรือไม่ แล้วเหตุใดนายประจวบจึงนำเงินที่ทีพีไอฯยืนยันว่าเป็นเงินจ้างทำการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ โอนไปให้ คนใกล้ชิดพรรคประชาธิปัตย์จนหมด โดยไม่เก็บไว้ใช้เลย
นี่คือที่มาของปมเงินล่องหน 258 ล้าน
แต่ ในระหว่างที่พรรคประชาธิปัตย์ยังตอบข้อสงสัยอะไรไม่ได้ ระเบิดอีกลูกก็ตามมา เมื่อมีการพบว่าพรรคประชาธิปัตย์ นำเงินจำนวน 23 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อพัฒนาพรรคการเมือง ซึ่งพรรค ประชาธิปัตย์ได้รับการจัดสรรจาก กกต. ในปี 2548 ไปว่าจ้างบริษัทเมซไซอะฯของนายประจวบให้เข้ามาทำบิลบอร์ดป้าย หาเสียง
แต่ ต่อมาปรากฏว่าเงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองได้ว่าจ้างบริษัทเมซไซอะฯ ทำป้ายประชาสัมพันธ์เมื่อปี 2548 แต่นายประจวบให้การว่าไม่มีการว่าจ้าง เป็นการทำนิติกรรมอำพรางและไม่มีการทำสัญญาใดๆ เพียงแต่พรรคประชาธิปัตย์มาขอร้องให้ออกใบเสร็จ
ล่าสุด สารวัตรเฉลิมยังนำนายประจวบไปให้ถ้อยคำต่ออนุกรรมการไต่สวนสำนวนเงินบริจาค 258 ล้านบาท และเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง 29 ล้านบาท ของพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อปี 2548 โดยกล่าวหาว่ามีการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์
นี่คือจุดเริ่มต้นของการตั้งข้อหารายงานเท็จต่อ กกต. จากกรณีป้ายหาเสียงลม
นายไทกร พลสุวรรณา ผู้เคยเข้าออกพรรคประชาธิปัตย์มาหลายปี ก่อนที่จะลาออกมา เคยให้ความเห็นว่า
"เป็น ความโชคดีของฝ่ายค้านที่เขาต้องการเล่นงานบริษัทตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านมองว่า นายประชัยเป็นศัตรูกับทักษิณ เพราะเป็นผู้สนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ แต่แทนที่จะตกได้ปลาดุก กลับได้ปลาวาฬ"
ในส่วนของนายประจวบที่นายไทกร บอกว่าก็เป็นแค่เด็กในพรรคประชาธิปัตย์คนหนึ่ง เป็นคนอีสานมากินกาแฟสูบบุหรี่ที่พรรค แล้วก็มาของานพรรคทำ เมื่อตกเป็นข่าวคราวก็ได้หลบซ่อนตัวลึกลับมาตั้งแต่ต้นปี โทรศัพท์ไปก็ไม่รับสาย
ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิมยังกล่าวด้วยว่า ได้รับทราบจากผู้ใหญ่ที่ดูแลนายประจวบว่าได้เปลี่ยนชื่อเป็น "นายคณาปติ"
"ก่อน หน้านี้นายประจวบได้เข้าไปให้การเพิ่มต่อดีเอสไอเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา และโทรศัพท์มายืนยัน กับผมว่าได้ยืนยันต่อเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ เช่นที่เคยให้การไว้ เพียงแต่ว่ามี รายละเอียดของเนื้อหาสาระเพิ่มเติม เล็กน้อย ดังนั้นเมื่อนายประจวบซึ่งเป็นพยานปากสำคัญมาให้การต่อ กกต.แล้ว ก็คิดว่าน่าจะสรุปได้เร็วๆ นี้"
"ขณะนี้นายประจวบก็ยังอยู่ในความ ดูแลของนายทหารนอกราชการคนหนึ่ง ซึ่งการมาให้การต่อ กกต. เขาก็เป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของตัวเองเหมือนกัน แต่คงคิดได้ว่าความกลัวทำให้คนเสื่อม และผมก็คิดว่าคำให้การของนายประจวบคงจะเป็นอื่นไปไม่ได้ เพราะหากเขาไม่มีเจตนาที่จะทำให้ความจริงปรากฏ ก็คงไม่มาให้การกับ กกต. และเมื่อพยานสำคัญคือผม และนายประจวบมาให้การแล้ว ละครก็ใกล้จะจบแล้ว ขอให้ติดตามดู"
แต่กระนั้นเสียงกระซิบจาก ส.ส. ในพรรคประชาธิปัตย์ ก็แว่วมาว่า...ถึงยุบพรรคก็เปลี่ยนชื่อใหม่ได้
จาก : นสพ.ประชาชาติธุรกิจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น