Bashing : ความต่างที่ต้องถูกคัดทิ้ง
โดย merveillesxx
ใน เทศกาลหนังเมืองคานส์เมื่อปี 2005 นั้น Bashing ของผู้กำกับมาซาฮิโร่ โคบายาชิ เป็นหนังญี่ปุ่นเพียงเรื่องเดียวที่ได้เข้าสายประกวดหลัก ซึ่งตามจริงแล้ว โคบยาชิ เองก็ไม่ใช่คนทำหนังโนเนมเสียทีเดียว ก่อนหน้านั้นเขาเคยมาเยือนคานส์แล้วถึง 3 ครั้ง ทั้งในสายรองและนอกสายประกวด
แต่สาเหตุแท้จริงที่ Bashing ดึงดูดผู้จัดเทศกาลน่าจะมาจากประเด็นของมันที่ว่าด้วย “สาวชาวญี่ปุ่นที่ถูกจับเป็นตัวประกันในอิรัก” เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า ช่วงปีสองปีที่ผ่านมานี้เทศกาลหนังทั่วโลกต่าง ‘กระหาย’ ถึงหนังที่สะท้อนประเด็นทางสังคม โดยเฉพาะเรื่องของเหตุการณ์ 11 กันยายน และผลกระทบหลังจากนั้น ในคานส์ปี 2005 เราจึงได้เห็นหนังอย่าง Hidden, A History of Violence และ Manderlay ส่วนปี 2006 กองทัพหนังสงครามก็บุกคานส์ ทั้ง The Wind that Shakes the Barley, Flanders และ Days of Glory คว้ารางวัลไปทุกเรื่อง
Bashing เล่าถึง ยูโกะ (ฟุซาโกะ อุราเบะ) หญิงสาวชาวญี่ปุ่นที่เข้าไปทำงานเป็นอาสาสมัครในประเทศตะวันออกกลาง (ถึงแม้ในการประชาสัมพันธ์จะไม่มีการระบุชื่อประเทศ แต่เราก็แน่ใจได้ว่ามันหมายถึงประเทศอิรัก) เธอถูกกลุ่มผู้ก้อการร้ายจับเป็นตัวประกัน ไม่มีใครคิดว่าเธอจะรอด แต่ด้วยความช่วยเหลือของรัฐบาลญี่ปุ่น ในที่สุดเธอกลับมายังประเทศบ้านเกิดได้
แต่สิ่งที่รอเธออยู่ไม่ใช่ การอ้าแขนตอนรับอย่างอบอุ่น แต่มันคือ เสียงก่นด่าประณาม เพราะชาวญี่ปุ่นทั่วประเทศต่างตราหน้าว่าเธอนั้นคือ ความอับอายของประเทศชาติ เธอคือคนที่เห็นแก่ตัวอย่างรุนแรง ที่เข้าไปในประเทศอันตรายอย่างอิรัก ทั้งที่รัฐบาลก็ประกาศเตือนอยู่โครม ๆ และการทำงานเป็นอาสาสมัครของเธอก็ถูกนิยามว่าเป็น ‘การแส่ไม่เข้าเรื่อง’
คำ ว่า Bashing นั้นหมายถึง การทุบตีหรือฟาดอย่างรุนแรง ดังที่มีคำว่า Gay Bashing ปรากฏในช่วงยุค 40-50 ในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากสังคมอเมริกันในตอนนั้นต่อต้านพวกรักร่วมเพศอย่างรุนแรง คนกลุ่มนี้จึงถูกรุมทำร้ายร่างกาย และบางรายก็ถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งหนังดังอย่าง Brokeback Mountain ก็มีประเด็นนี้อยู่ด้วย
ถึง แม้ ยูโกะ นั้นจะไม่ถึงขั้นถูกรุมทำร้าย แต่สิ่งที่เธอถูกกระทำก็เลวร้ายอย่างเหลือทน แม้เหตุการณ์จะผ่านไป 6 เดือนแล้ว เธอก็ยังถูกโทรศัพท์มาก่อกวน เธอถูกไล่ออกจากงาน หรือแม้แต่แฟนของเธอเองก็ยังด่าว่าเธอ แต่สิ่งที่เลวร้ายที่สุดสำหรับ ยูโกะ ก็คือ ‘สายตา’ ของคนอื่นที่มองมายังเธอ
หลายคนที่ได้ดูหนังเรื่องนี้อาจจะเกิดความฉงนในใจว่าคนเราจะใจร้าย กันได้ถึงขนาดนี้เชียวหรือ แต่ถ้าหากคุณรู้จักประเทศญี่ปุ่น ในระดับหนึ่งแล้วคุณจะไม่แปลกใจกับสิ่งที่ เกิดขึ้นในหนังเลย
ประเทศญี่ปุ่นนั้นขึ้นชื่ออยู่แล้วในเรื่องของ วัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์และลักษณะเฉพาะตัวอันโดดเด่น (อย่างหนึ่งที่ชัดเจนที่สุดก็คือ อุตสาหกรรมหนังโป๊ของญี่ปุ่น) คนญี่ปุ่นยึดมั่นในกฎเกณฑ์ (หรือที่เรียกว่า Taboo) ของสังคมอย่างมาก ฉากหนึ่งเราเห็นบ่อย ๆ ในหนังและละครทีวีคือ เวลาที่พวกพนักงานบริษัทไปกินเหล้าหรือร้องคาราโอเกะหลังเลิกงาน แม้ว่าเวลาจะเลยมาถึงเที่ยงคืนแล้ว พวกเขาก็จะยังไม่ถอดเนคไทออก มันอาจเป็นสิ่งที่ดูน่าขบขันในสายตาเรา แต่นี่แหละคือสังคมญี่ปุ่น
ดัง นั้นการกระทำของ ยูโกะ ถือว่าละเมิดกฎเกณฑ์ของสังคมอย่างที่สุด มุมมองของคนชาวญี่ปุ่น คงคล้ายกับสิ่งที่แฟนเก่าพูดใส่เธอว่า “ถ้าเธอว่างขนาดไปช่วยประเทศอื่นล่ะก็ ทำไมไม่คิดจะมาพัฒนาประเทศชาติตัวเองบ้าง!” นอกจากนั้น พวกเขายังโกรธแค้นที่ผู้หญิงคนเดียวทำให้คนทั้งชาติต้องเดือดร้อน ทั้งเรื่องความช่วยเหลือ เรื่องงบประมาณ ไปจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ พูดให้ถึงที่สุดก็คือ ชาวญี่ปุ่นทุกคนพร้อมใจกันคิดว่า มันคงจะดีกว่านี้ถ้า ยูโกะ ตายในอิรัก
ด้วย ความคิดความเชื่อที่กล่าวมา กระบวนการ Japanese Bashing จึงเกิดขึ้นกับ ยูโกะ และแท้จริงแล้วนิสัย ‘พวกมากลากไป’ ก็เป็นพื้นฐานของสัตว์สังคมอย่างมนุษย์ไปเสียแล้ว อย่างที่คนทั้งหมู่บ้านทำกับไอ้ฟักในนิยายเรื่อง ‘คำพิพากษา’ สิ่งเหล่านี้ล้วนไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะการทำร้ายกันนั้น มันง่ายกว่า การช่วยเหลือกัน หลายเท่านัก
เรื่องราวในหนังไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น สังคมไม่ได้ลงโทษแต่เพียง ยูโกะ แต่รวมถึงครอบครัวของเธอด้วย พ่อของเธอ (ริวโซ ทานากะ) ถูกไล่ออกจากงาน ซึ่งฉากนี้ก็เป็นอีกฉากที่สะท้อนวัฒนธรรมของญี่ปุ่นได้อย่างดี เพราะโดยปกติแล้ว บริษัทในญี่ปุ่นมักหลีกเลี่ยงการไล่พนักงานของตนออก (ดังที่เห็นได้ว่าพ่อของยูโกะทำงานที่นี่มาถึง 30 ปี) แต่สิ่งที่บริษัททำก็คือ การอ้อนวอนหรือบีบบังคับให้พนักงาน ‘ลาออก’ เอง ซึ่งพ่อของ ยูโกะ ก็ทำเช่นนั้น
ถัดจากเหตุการณ์นี้ ฉากที่พ่อกับแม่เลี้ยง (เนเน่ โอทสึกะ) นั่งคุยกัน โดยที่ยูโกะแอบฟังอยู่หน้าห้องนั้นเป็นฉากที่น่าสนใจมาก เพราะใครได้ดูแล้วก็คงนึกออกว่ามันเป็นฉากที่เราเห็นบ่อย ๆ ในหนังของ ยาสึจิโร่ โอสุ ไม่ว่าผกก.โคบายาชิ จะตั้งใจทริบิวต์ให้ โอสุ หรือไม่ แต่ข้อสังเกตอย่างหนึ่งก็คือ นับวัน ‘ครอบครัว’ ในหนังแบบ โอสุ จะประสบกับปัญหาที่รุนแรงมากขึ้นทุกวัน จากเรื่องของลูกสาวที่ไม่ได้ออกเหย้าออกเรือนเสียที (ในหนังของ โอสุ), ลูกสาวที่ท้องไม่มีพ่อ (ใน Cafe Lumiere ของโหวเสี่ยวเสี้ยน) มาจนถึงลูกสาวที่ถูกสังคมรังเกียจเดียดฉันท์ใน Bashing ซึ่งทุกเรื่อง ล้วนมีจุดร่วมที่ว่าพ่อนั้นไม่ใช่ผู้ที่แก้ปัญหาให้ลูกได้ แต่ตัวลูกสาวนั้นต้องพึ่งพาตัวเอง
ในเหตุการณ์ส่วน พ่อ ของ ยูโกะ เรายังเห็นได้ว่าข่าวจากหนังสือพิมพ์นั้น มีส่วนอย่างมากต่อชีวิตของ ยูโกะ มันเป็นเหมือน ‘ใบสั่ง’ ว่าคนในสังคมควรจะปฏิบัติกับเธออย่างไร ไม่ต่างกับที่ตัวละครในหนังญี่ปุ่นเรื่อง Eureka (2000, ชินจิ อาโอยาม่า) หรือ Distance (2001, ฮิโรคาสุ โคริเอดะ) ต้องพบเจอ เพราะสื่อในยุคสมัยนี้ ตั้งตนเป็นผู้พิพากษา ชี้ถูกชี้ผิดผู้คนได้อย่างง่าย ดาย ขนาดที่ว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ดาราสาวในบ้านเราแทบจะต้องกราบเท้านักข่าว เพราะกลัวถูกแบน
น่าสงสัยอยู่เหมือนกันว่าผู้คนในหมู่บ้านของ ยูโกะ อ่านข่าวต่างประเทศกันบ้างหรือเปล่า แต่ข่าวมันอาจจะเก่าเกินไปจนพวกเขาลืมไปแล้ว สิ่งที่พวกเขาลืมไปก็คือ คำถามที่ว่า “เพราะอะไรนะ ยูโกะ ถึงถูกพวกก่อการร้ายจับเป็นตัวประกัน”
ก็เพราะ ญี่ปุ่นส่งทหารเข้าไปในอิรักน่ะสิ! (ถึงตอนนี้คงต้องย้อนถามแล้วว่าใครกันแน่ที่ ‘แส่หาเรื่อง’)
นี่ เองเป็นสิ่งผู้คน ‘ลืม’ ได้อย่างร้ายกาจ เหมือนกับที่พระเอกในเรื่อง Hidden (2005, ไมเคิล ฮาเนเก้) ลืมไปว่าตัวเองเคยทำอะไรกับญาติชาวอัลจีเรีย เหมือนกับที่ ญี่ปุ่น พยายามลืมว่าตัวเองเคยทำอะไรกับเกาหลี และ จีน ด้วยการลบ มันทิ้งออกจากตำราเรียน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่การลืม เพียงแต่มนุษย์เราเลือกรับแต่ ‘ความจริง’ ที่เราอยากได้ยิน
Bashing จึงเปรียบเสมือนการนำความจริง ที่ชาวญี่ปุ่นไม่อยากให้ชาวโลกได้เห็นมาบันทึก สู่แผ่นฟิล์ม เพราะตัวหนังนั้นสร้างจากเรื่องจริง (แม้จะมีการชี้แจง ไว้ตอนต้นเรื่องว่าส่วนใหญ่ของหนังเป็นเรื่องแต่ง ก็ตาม) ที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน ปี 2004 เมื่อชาวญี่ปุ่น 3 คน ถูกกลุ่มผู้ก่อการร้ายในอิรักจับเป็นตัวประกัน โดยยืนข้อเสนอให้ญี่ปุ่นถอนกำลังออกจากอิรัก
แต่ทว่านายก จุนอิจิโร่ โคอิซุมิ กลับยืนยันว่าจะไม่ถอนทหารออกมาโดยเด็ดขาด ซึ่งไม่น่าแปลกใจนัก เพราะทั่วโลกรู้กันว่า โคอิซุมิพยายามตีซี้กับประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช แห่ง สหรัฐ ขนาดไหน สัญญา FTA ระหว่าง อเมริกา กับ ญี่ปุ่น ก็เกิดขึ้นในยุคของ นาย โคอิซุมิ นี่เอง แทบจะเรียกได้ว่าเป็นยุคที่ ญี่ปุ่น กลายเป็นลูกแหง่ของ อเมริกา โดยสมบูรณ์แบบ (ใน Bashing เองก็พูดถึงเรื่องนี้ด้วย เพราะเมื่อร้านมินิมาร์ท ไม่ยอมขายของให้ ยูโกะ ที่พึ่งสุดท้ายของเธอก็คือ แมคโดนัลด์) นอกจากนั้น โคอิซุมิ ยังพูดถึงเหตุการณ์นี้ว่า ตัวประกันชาวญี่ปุ่นเองก็มีส่วน ผิดด้วยที่เข้าไปที่อันตรายอย่างนั้น ซึ่งท่าทีของ ท่านนายก นี่เองที่เปิดช่องให้สื่อมวลชนเขียนข่าวโจมตีเหล่า ผู้เคราะห์ร้าย
แม้จะสามารถกลับมาประเทศได้อย่างปลอดภัย แต่ก็เหมือนหนังตลกร้าย ที่พวกตัวประกันต้องจ่ายค่าธรรมเนียมโดยสารทางอากาศ เป็นเงินเกือบ 2 แสนบาท แถมเมื่อก้าวเท้าลงสนามบิน สิ่งแรกที่พวกเขาก็เจอก็คือ ผู้คนมากมายพร้อมกับป้ายต้อนรับที่เขียนว่า “สมควรแล้วสิ่งที่พวกแกจะเจอแบบนี้” และ “ แกคือความอับอายของญี่ปุ่น ”
สิ่งที่น่าสนใจมากก็คือ คำให้สัมภาษณ์ของตัวประกันคนหนึ่ง เธอพูดว่า
“ ฉันอยากกลับบ้านเร็ว ๆ แต่ฉันก็กลัวการกลับบ้าน ”
นั่นก็หมายความว่าเธอรู้อยู่แล้วว่าเธอต้อง ‘เจอ’ กับอะไรบ้าง
การ ถูกทารุณกรรมทางจิตใจ ที่พวกเขาต้องเผชิญก็คงไม่ต่างอะไรกับที่ปรากฏในหนัง นัก หลังจากนั้น จึงมีข่าวรายงานออกมาว่าผู้เคราะห์ร้ายบางคนคิดจะกลับไปที่อิรัก อีกครั้ง (ซึ่ง นายก โคอิซุมิ มีท่าทีกับเรื่องนี้ว่า “เจ้าหน้าที่ของเราพยายามช่วยเหลือพวกเขา โดยแทบไม่ได้กินไม่ได้นอน พวกเขากล้าดียังไงถึงคิดจะทำแบบนั้น!”)
ดังนั้น ช่วงท้ายเรื่องของ Bashing ที่ ยูโกะ คิดจะกลับไป อิรัก อีกครั้งจึงไม่ใช่เรื่องเกินความเป็นจริง ฉากที่เธอพูดกับแม่เลี้ยงว่า ทำไมเธอต้องกลับไปที่นั่นได้อธิบายทุกสิ่ง ทุกอย่างแล้ว นี่เป็นฉากเดียวที่เราเห็น ยูโกะ แสดงความรู้สึกของเธอ รวมถึงการร้องไห้ที่ออกมาจากใจจริง เพราะแม้แต่ในงาน ศพ สิ่งที่ทำคือการกัดฟันกลั้นน้ำตา แม้ว่าตอนนั้นเธอแทบระเบิดเป็นเสี่ยง ๆ ก็ตาม
นอกจาก Bashing จะเป็นหนังที่แสดงประเด็นทางสังคม โดยผ่านปัจเจกบุคคล ได้อย่างทรงพลังแล้ว ชั้นเชิงทางศิลปะของหนังก็มีอะไรให้ชวนคิดอยู่มาก สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ ‘ความขัดแย้ง’ ที่ปรากฏอยู่ในหนังอยู่เนือง ๆ อย่างฉากแรกนั้น หนังฉายให้เห็นว่า ยูโกะ นั้นมีอาชีพเป็นพนักงานในโรงแรม เธอจัดห้องจัดเตียงได้อย่างเรียบร้อยหมดจด แต่ชีวิตของเธอกลับเละทะไม่เหลือชิ้นดี ไม่ต่างอะไรกับสภาพห้องก่อนหน้านั้น
โลเคชั่นในหนังก็เป็นอีกอย่างที่น่าสนใจ บ้านของ ยูโกะ อยู่ติดริมทะเล มองเห็นขอบฟ้าไม่รู้จบ โดยปกติทั้งสองอย่างเป็นนัยถึงความอิสระแท้ ๆ แต่กลับกลายเป็นว่า มันคือสิ่งที่เป็นกรอบกั้น ให้เธอต้องติดอยู่ในหมู่บ้าน นี้ ประเทศนี้ อีกทั้งการบันทึกเสียงในระบบ Mono ก็ทำให้เราได้ยินเสียงคลื่นและเสียงลมแทรกเข้ามาอย่างชัดเจน เสียงเหล่านี้ก็เปรียบเหมือนคำประณามหยามเหยียด ที่หลอกหลอน ยูโกะ ตลอดเวลา
ฉาก สุดท้ายที่ยูโกะลากกระเป๋าใบใหญ่ ไปยืนประจันหน้ากับท้องฟ้าและทะเลจึงเป็น ที่สื่อความหมายอย่างลึกซึ้ง เพราะในห้วงเวลานั้นหูของเธอก็ไม่ได้ยินเสียง ของคลื่นลมทะเลอีกต่อไป เธอได้ยินเพียงเสียงออกตัวของเครื่องบิน เธอกำลังเฝ้าฝันถึงดินแดนไกล และคำว่าอิสระภาพ
เพราะนับตั้งแต่วันแรกที่เธอกลับมา เธอก็ไม่ได้อยู่ที่นี่อีกต่อไปแล้ว
++++++++++++++++
1. เวบทางการของหนัง
http://www.ocean-films.com/bashing/
2. ข่าวเกี่ยวกับตัวประกันชาวญี่ปุ่นในอิรัก
Three Japanese hostages released
http://www.cnn.com/2004/WORLD/meast/04/15/iraq.hostages.japan/index.html
For Japanese Hostages, Release Only Adds to Stress
http://www.nytimes.com/2004/04/22/international/asia/22CND-JAPAN.html?ex=1165726800&en=52b49eccdf5f5afe&ei=5070
Reaction of Japan to the Japanese Hostages in Iraq
http://joi.ito.com/archives/2004/04/30/reaction_of_japan_to_the_japanese_hostages_in_iraq.html
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น