Downfall ปิดตำนานบุรุษล้างโลก
บทวิเคราะห์โดย อ.ยงยุทธ พีรพงศ์พิพัฒน์
ฮิตเลอร์ที่เรารู้จักคือบุรุษผู้น่ากลัว เป็นปีศาจ บ้าอำนาจ เจ้าอารมณ์ ฉุนเฉียว เกรี้ยวกราด เผด็จการโหดร้าย
คลั่งชาตินิยม ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว พวกฟาสซิสต์นิยมความรุนแรง และพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เขาเป็นผู้นำที่ไม่น่าเลียนแบบ
แม้แต่สัญลักษณ์สวัสดิกะ และท่าทางยืนตรงยกมือขวาขึ้นแสดงความเคารพ “ไฮล์..ฮิตเลอร์”
ที่ใช้ในยุคของเขาก็ไม่ถูกอนุญาตให้นำมาใช้อีกต่อไป นี่คือภาพที่เราได้รับรู้เกี่ยวกับฮิตเลอร์ในบทเรียนผ่านสื่อต่าง ๆ
แต่ก่อนที่จะดูภาพยนตร์เรื่องนี้ สำหรับเด็กรุ่นใหม่ ๆ น่าจะได้รู้จักประวัติย่อ ๆ ของเขาสักหน่อย (1889-1945)
เพื่อจะทำให้การดูมีอรรถรสมากขึ้น ฮิตเลอร์เกิด 20 เม.ย.1889 เป็นชาวออสเตรีย ที่เมืองเบราเนา ติดชายแดนเยอรมนี
ทั้งพ่อและแม่มาจากครอบครัวเกษตรกรที่ยากจน พ่อเป็นคนฉลาดและทะเยอทะยาน จึงก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าหน้าที่ภาษี
อายุพ่อห่างจากแม่ถึง 23 ปี และมีลูกติดมา 2 คน ทำให้ฮิตเลอร์มีพี่น้องถึง 5 คน แต่โตขึ้นมาเหลือรอดอยู่ 2 คน
คือฮิตเลอร์และน้องสาว พ่อเป็นคนที่เข้มงวดมาก และนิยมใช้ความรุนแรงลงโทษหากลูกไม่เชื่อฟัง
ฮิตเลอร์เป็นเด็กเรียนดีในตอนต้น เพื่อนๆ ยกย่องให้เป็นผู้นำ ทั้งยังเคร่งศาสนา จนใครๆ คิดว่าโตขึ้นมาจะเป็นนักบวช
แต่พอเรียนชั้นสูงขึ้นเขาเรียนตกลง เมื่อสอบไม่ได้ที่ 1 พ่อเริ่มเกรี้ยวกราด เพราะกลัวลูกจะเข้ารับราชการไม่ได้
ส่วนเพื่อนๆ ก็เริ่มไม่ให้เป็นหัวหน้า ความกดดันต่าง ๆ ทำให้ฮิตเลอร์เบี่ยงไปสนใจการต่อสู้
เขาเปลี่ยนจากที่เคยมั่นใจในตัวเองและเข้าสังคมได้ง่าย ตลอดจนเป็นนักเรียนยอดเยี่ยม มาเป็นเด็กเจ้าอารมณ์
เฉยชา และบึ้งตึง เขามักทะเลาะกับพ่อและครูอย่างต่อเนื่อง
ฮิตเลอร์มาหลงใหลในลัทธิชาตินิยมเยอรมัน ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งที่จะแสดงการไม่เชื่อฟังพ่อของตน
เพราะพ่อแสดงตนเป็นผู้รับใช้รัฐบาลออสเตรียอย่างภูมิใจ ฮิตเลอร์แสดงออกซึ่งความภักดีต่อเยอรมนี
แม้ราชวงศ์ฮับสบูร์กและการปกครองเหนือจักรวรรดิ จะเสื่อมถอยลงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ตาม
ฮิตเลอร์และเพื่อนของเขาใช้คำทักทายภาษาเยอรมัน "ไฮล์" และร้องเพลงชาติเยอรมัน "ดอยท์ชลันด์อือแบร์อัลเลส์"
แทนเพลงชาติออสเตรีย
ว่ากันว่าครูชั้นมัธยมคนเดียวที่ฮิตเลอร์ชื่นชอบคือลีโอโพลด์ พอตช์ ซึ่งเป็นคนนิยมความสำเร็จของเยอรมนี
เขามักเล่าถึงชัยชนะต่าง ๆ ของเยอรมันเหนือฝรั่งเศสในศึกปีค.ศ.1870-1871 และต่อว่าออสเตรียว่าไม่ยอมเข้าร่วมกับเยอรมนี
ฮิตเลอร์ก็ชื่นชอบเยอรมันไปด้วย โดยมีออตโต วอน บิสมาร์ก นายกรัฐมนตรีของอาณาจักรเยอรมนี เป็นฮีโร่ในดวงใจ
ฮิตเลอร์สนใจวิชาคือศิลปะ แต่พ่อไม่เห็นด้วยที่จะให้ลูกเป็นศิลปิน ทำให้ทะเลาะกันอย่างมาก ศึกพ่อลูกสิ้นสุดลงในปี ค.ศ.1903
เมื่อพ่อเสียชีวิต ฮิตเลอร์ออกจากโรงเรียน ในช่วงอายุ 18 ปี ฮิตเลอร์ได้รับมรดกของพ่อและใช้เงินเดินทางไปกรุงเวียนนา
หวังว่าจะไปเรียนวิชาศิลปะที่นั่น ฮิตเลอร์คิดว่าตนเองมีความสามารถทางศิลปะที่เหนือชั้น แต่พอไปถึงจริงเขาถูกปฏิเสธสองครั้ง
จากสถาบันวิจิตรศิลป์เวียนนา ด้วยเหตุผลว่า "ไม่มีความเหมาะสมที่จะวาดภาพ" จากนั้นจึงย้ายไปสมัครที่โรงเรียนสถาปัตยกรรม
แต่ไม่ได้อีก เพราะไม่มีใบรับรองจากโรงเรียนเก่า ฮิตเลอร์อับอายมากที่ล้มเหลวเช่นนี้ จนไม่กล้าบอกความจริงกับแม่ว่าเกิดอะไรขึ้น
แสร้งทำเป็นอยู่ในเวียนนาต่อไปว่าตนเองเป็นนักเรียนศิลปะ โดยใช้เงินบำนาญมรดกของพ่อดำรงชีวิตในเมืองหลวงอย่างสบาย วัน ๆ
ก็นอนเล่นอ่านหนังสือ ตกบ่ายไปพิพิธภัณฑ์ศิลปะ จนกระทั่งปีค.ศ.1907 แม่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง
ในปีค.ศ.1909 ซึ่งเป็นปีที่ควรเกณฑ์ทหาร ฮิตเลอร์กลับไม่ยอมรับใช้กองทัพออสเตรียของตัวเอง เพราะแค้นอยู่ลึก ๆ
ที่สถาบันการศึกษาออสเตรียไม่เปิดโอกาสให้เรียน นอกจากนี้ยังชื่นชมอาณาจักรเยอรมนีที่เหนือกว่าออสเตรียมาตั้งแต่เด็ก
จึงไปเป็นอาสาสมัครในกองทัพเยอรมนี เป็นทหารหน่วยกล้าตาย เป็นทหารผ่านศึกจากสงครามโลกครั้งที่ 1 และเป็นทหารชั้นผู้น้อย
ที่น้อยคนมากที่จะได้รับเหรียญกางเขนเหล็ก ชั้นที่ 2 ในปี 1914 และชั้นที่ 1 ในปี 1918 เขาเริ่มหลงใหลและรักชาติเยอรมัน
และเขาถึงกับช็อคเมื่อเยอรมันยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ในเดือนพฤศจิกายน 1918 เขาคิดว่าที่แพ้เพราะพวกแนวหลัง
พวกแทงข้างหลัง พวกทรยศหักหลัง พวกขี้ขลาด และเก็บความเคืองแค้นนี้ไว้ในใจและไม่ยอมรับถึงความพ่ายแพ้
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง ฮิตเลอร์ ย้ายไปอยู่มิวนิกและเริ่มชีวิตทางการเมืองโดยเข้าเป็นสมาชิกในพรรคกรรมกร
ในปี 1919 จนกระทั่งปีค.ศ.1921 ก้าวขึ้นเป็นหัวหน้า พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี มีนโยบายชาตินิยม
และต่อต้านชาวยิว และพยายามก่อกบฎโรงเบียร์ในปี 1923 แต่ไม่สำเร็จถูกจับจำคุก 1 ปี หลังจากออกมาเขาได้รับเสียงสนับสนุน
จากการเสนอนโยบายรวมชาวเยอรมัน ต่อต้านทุนนิยมละต่อต้านคอมมิวนิสต์ (ซึ่งในยุคนั้นลัทธิคอมมิวนิสต์ สังคมนิยม ชาตินิยม
และเสรีนิยมกำลังต่อสู้กันอย่างหนัก) โดยการกล่าวสุนทรพจน์อันมีเสน่ห์และการโฆษณาชวนเชื่อได้รับการตอบรับอย่างมาก
เขาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1933 หนึ่งปีหลังจากนั้น ฮิตเลอร์ได้เปลี่ยนแปลงการ
ปกครองจากสาธารณรัฐไวมาร์เป็นจักรวรรดิไรช์ที่สาม รัฐเผด็จการพรรคการเมืองเดียว ภายใต้แนวคิดนาซี
อันมีลักษณะเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จและอัตตาธิปไตย โดยสถาปนาฟือแรร์คือตัวเองเป็นประมุขแห่งรัฐ เป็นท่านผู้นำของประเทศ
ผู้คนจึงเรียกฮิตเลอร์ว่า “ท่านผู้นำ” เมื่อก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเต็มรูปแบบ ฮิตเลอร์ปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะจัดระเบียบโลกใหม่
โดยให้นาซีเยอรมนีมีอำนาจครอบงำเหนือยุโรปภาคพื้นทวีป เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว เขาจึงดำเนินนโยบายต่างประเทศ
ซึ่งประกาศเป้าหมายในการครอบครองเลอเบนสเราม์ ("พื้นที่อยู่อาศัย") สำหรับชาวอารยัน
เขาเป็นผู้นำการสร้างเสริมกำลังอาวุธขึ้นใหม่ และกองกำลังทางทหาร สร้างกองทัพยึดคืนแคว้นไรน์ และในปี 1936
ร่วมมือกับเผด็จการมุสโสลินีของอิตาลีบุกยึดออสเตรีย ชาติเกิดของตนเอง ตามด้วยเชโกสโลวะเกีย สำหรับเชโกฯ
นั้นบุกยากกว่าออสเตรีย เพราะมีฝรั่งเศสเป็นพันธมิตร ทางด้านอังกฤษจึงเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยแบ่งพื้นที่บางส่วนของเชโกฯ
ให้เยอรมัน แต่ภายหลังถูกฮิตเลอร์หักหลังเข้ายึดทั้งประเทศ ทำให้อังกฤษอับอายมาก ภายในระยะเวลาสามปีใต้การนำของฮิตเลอร์
กองทัพเยอรมันและพันธมิตรในยุโรปได้ครองครองดินแดนส่วนใหญ่ของยุโรปและแอฟริกาเหนือ
ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1939 ได้เข้าไปรุกรานโปแลนด์ อังกฤษกับฝรั่งเศสจึงประกาศไม่ยอมรับ อันนำไปสู่การปะทุของ
สงครามโลกครั้งที่สองในทวีปยุโรป ได้ญี่ปุ่นมาเป็นพันธมิตรรุกรานในภูมิภาคเอเชีย
กองทัพเยอรมันเคยบุกไปถึงโซเวียดอีกแค่ 22 ไมล์ก็จะถึงกรุงมอสโค แต่เนื่องจากสภาพอากาศและภูมิประเทศ
ทำให้หยุดแค่นั้น แล้วก็ต้องถอยกลับทั้งที่เคยตกลงที่จะไม่รุกรานกับสตาลินไว้แล้ว
สถานการณ์ค่อยพลิกผันเมื่อกองทัพแดงของโซเวียตเอาชนะกองทัพเยอรมันใน ค.ศ. 1945 นโยบายที่กระตุ้นด้วยการถือชาติพันธุ์
ของฮิตเลอร์ลงเอยด้วยการเสียชีวิตของผู้คนนับ 17 ล้านคน รวมชาวยิว 6 ล้านคนโดยประเมิน และชาวโรมานีอีก .5- 1.5 ล้านคน
ที่เป็นเป้าหมายในการล้างชาติโดยนาซี ในช่วงวันสุดท้ายของสงคราม ระหว่างยุทธการเบอร์ลินใน ค.ศ. 1945
ฮิตเลอร์แต่งงานกับเอวา บราวน์ และเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้ถูกจับกุมโดยกองทัพโซเวียต ทั้งสองทำอัตวินิบาตกรรม
เมื่อวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1945 โดยร่างของทั้งสองถูกเผา นี่คือประวัติย่อ ๆ ที่น่าจะได้รู้ก่อนที่จะดู
ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกถ่ายทอดผ่านทางเทราด์ ยุงเงอ เลขานุการของฮิตเลอร์เอง เธอมารับการคัดเลือกเป็นเลขาด้วยวัย 22 ปี
เธอได้รับการเลือกจากฮิตเล่อร์ ผู้นำที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกให้เป็นเลขาคนสนิทในปี 1942 และทำงานให้ฮิตเลอร์ 2 ปีกว่า
จนถึงวาระสุดท้ายของฮิตเลอร์ ช่วงแรกของภาพยนตร์เป็นเรื่องราวที่พยายามถ่ายทอดความเป็นตัวตนของฮิตเลอร์
เขามีสุนัขที่รักและให้ความสำคัญกับสุนัขตัวนี้ พูดจาหวานและมีจิตวิทยาในการใช้และโน้มน้าวผู้อื่น เรื่องราวช่วงแรก ๆ
ฮิตเลอร์ก็เป็นผู้นำปกติทั่วไป ง่าย ๆ ไม่มีพิธีรีตองมาก ที่สำคัญคือเขาสร้างความประทับใจกับคนทำงานระดับล่าง ๆ แม่ครัว
เลขา ทหารชั้นผู้น้อย ด้วยการจำชื่อ ชมเชย ให้เกียรติ แต่จะโวยวายและด่าทอกับพวกทหารชั้นผู้ใหญ่ นายพล ผมดูแล้วคิดว่านี่
กระมังที่ทำให้คนเยอรมันชื่นชมในตัวเขา อยู่กับมวลชน เป็นคนติดดิน รักชาติ เป็นนักปลุกระดม มีอารมณ์อ่อนไหว
ทำให้คนเทใจให้เขาแบบหมดหัวใจ มันแตกต่างจากการได้รับรู้จากภาพยนตร์ที่ทำโดยฮอลลีวู้ดที่เขาดูจะชั่วร้ายเกินจริง
ผมจึงได้ถึงบางอ้อว่าทำไมคนเยอรมันสมัยนั้นจึงยอมให้เขาเป็นผู้นำ ผมพบผู้นำหลายคนในองค์กรที่เป็นแบบนี้
ได้ใจมวลชนด้วยการอัดผู้บริหาร อัดพวกหัวหน้า พนักงานระดับล่าง ๆ จะสะใจมาก แล้วก็สร้างลัทธิชาตินิยมได้ง่ายที่สุด
แต่สุดท้ายก็ไปไม่ค่อยรอด เพราะเราจะแยกผู้บริหารออกจากพนักงานไม่ได้ มันต้องทำงานร่วมกัน ต้องมีสมอง แขนขา
และองค์ประกอบอื่น ๆ ที่เกื้อหนุนกัน ความแตกต่างของคน หน้าที่และมุมมอง ย่อมแตกต่างกันเป็นเรื่องธรรมดา
ว่ากันว่าฮิตเลอร์ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ กินผัก อยู่อย่างเรียบง่าย แต่ความคิดสุดโต่ง ต้องการสร้างความยิ่งใหญ่
ด้วยการครอบครองโลก เขาสนใจด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี สร้างจักรวรรดินิยม ลัทธิความเชื่อของเขาคือ
เชื่อว่าเผ่าอารยันของคนเยอรมันเป็นชนเผ่าพันธุ์ชั้นสูง เขาไม่ชอบพวกเร่ร่อน ชนชั้นต่ำ อ่อนแอ พวกที่หนีมาซุกแผ่นดินของคนอื่น
และนี่อาจจะเป็นที่มาของการรังเกียจและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์พวกยิว พวกสลาฟ และโรมาเนีย ซึ่งฮิตเลอร์
(รวมทั้งสตาลินและผู้นำอีกหลายคนสมัยนั้น) ถือว่าเป็นพวกชั้นต่ำ ในภาพยนตร์เราจะได้ยินคำพูดจากปากฮิตเลอร์ว่าต้องการกำจัด
พวกยิวแบบเปิดเผย ภูมิใจที่ได้ทำลายเผ่าพันธุ์นี้ ตามจริงไม่ใช่จ้องจะทำลายเฉพาะพวกนี้เท่านั้น ฮิตเลอร์ยังเชื่อว่าชาติพันธุ์ที่อ่อนแอ
ก็ไม่สมควรที่จะมีชีวิตเพื่อสืบตระกูลด้วย ฉากที่นายพลขอให้ฮิตเลอร์คิดถึงคนเยอรมันที่ต้องเสี่ยงต่อการทำลายของทหารโซเวียต
คิดถึงชีวิตของพลเรือน เด็ก ผู้หญิง โดยขอให้อพยพนั้น ฮิตเลอร์ตอบว่าถ้าคนที่ต่ำ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ก็สมควรที่เขาต้องตาย
ความเมตตา กรุณา สงสารกับคนพวกนี้ เป็นความอ่อนแอ ผู้เข้มแข็งต้องกำจัดผู้อ่อนแอ ขยี้ศัตรูที่ต่างเผ่าพันธุ์ ลิงยังฆ่าลิง
คนละเผ่าพันธุ์ คนเราต้องเป็นมากกว่านั้น ฉากนี้ทำให้ผมสะดุดใจจุกในคอ
ยุคสมัยแห่งลัทธิชาตินิยมทำให้คนเขาคิดเตลิดไปถึงเพียงนั้น ค่านิยมแบบนี้คงแผ่ซ่านไปทุกหนแห่ง
สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จึงเกิดขึ้นหลาย ๆ ครั้งในยุคนั้น ผมนึกถึงผู้นำยุคที่ใช้ Power ของ อ.นพพล ที่ใช้บรรยายในหลักสูตร
Leadership อย่างนโปเลียน เจงกีสข่าน อเลกซานเดอร์ ฯลฯ ฮิตเลอร์เป็นช่วงข้อต่อที่หลงยุคและใช้วิธีเดิม ๆ
ทั้งที่โลกกำลังเปลี่ยนกรอบความคิดใหม่
เรื่องราวเข้มข้นมากขึ้น เมื่อฮิตเลอร์และผู้ใกล้ชิดอยู่ในบังเกอร์ของกรุงเบอร์ลิน เป็นช่วงที่ทหารโซเวียต
หรือกองทัพแดง กำลังบุกเข้ามาและล้อมเมืองไว้ในระยะ 12 กม. และเริ่มระดมยิงปืนใหญ่อย่างหนัก เรื่องราวเป็นช่วง 10 วัน
สุดท้ายก่อนฮิตเลอร์เสียชีวิต หรือ 17 วันสุดท้ายก่อนที่เยอรมันจะยอมแพ้ต่อกองทัพแดง ท่ามกลางตึกรามบ้านช่องที่ถูกทำลาย
แทบจะเหลือแต่ซากไปทั้งเมือง นายทหารข้างกายฮิตเลอร์ กำลังยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
พวกเขาพยายามโน้มน้าวเกลี้ยกล่อมให้ท่านผู้นำหนีไปตั้งหลักหรือยอมจำนนหรือเจรจา แต่ฮิตเลอร์กลับพยายามสั่งการ
ด้วยความหวังลม ๆ แล้ง ๆ ว่า ให้ทหารกองนั้นกองนี้ยกกำลังมาโอบตีกองทัพข้าศึกทั้งที่แม่ทัพเหล่านั้นเอาตัวเองยังแทบไม่รอด
ทำให้บรรดานายพลเริ่มตีตัวออกห่าง เช่น จอมพลแห่งไรช์ แฮร์มาน เกอริง แม่ทัพอากาศ และรองนายกรัฐมนตรี
กดดันให้ ฮิตเลอร์ ตั้งตนเป็นผู้นำแทนเพื่อไปเจรจากับกองทัพแดง อัลเบิร์ต สเปียร์ (Albert Speer) สถาปนิกคู่ใจ
และรัฐมนตรีสรรพาวุธ ปฏิเสธคำสั่งที่จะให้ทำลายทรัพยากรต่าง ๆ ของเยอรมันเพื่อไม่ให้ข้าศึกใช้ประโยชน์ ไฮน์ริช ฮิมเลอร์
หัวหน้าหน่วยเอสเอส หนีไปหากองทัพสัมพันธมิตรตะวันตก เป็นต้น
แต่ฮิตเลอร์ไม่สนใจชีวิต เขาไม่สนใจความเป็นจริงที่กำลังเกิดขึ้น เขาไม่คิดว่าจะแพ้ แม้ว่าเกือบทุกคนจะมองเห็นชะตากรรม
ที่กำลังมาถึง เขาเหมือนคนเสียสติ ใครที่คิดจะถอยหรือเสนอให้ยุติหรือเจรจาจะถูกตำหนิ ฮิตเลอร์จะเรียกพวกนั้นมาด่า
ด้วยเหตุผลที่หนักหนา เช่น อ้ายคนทรยศ หักหลัง ขายชาติ ฯลฯ ฮิตเลอร์โกรธรองนายกกอลินที่จะขอดูแลราชการแทน
เขาสบถว่า เป็นคนเลวทราม บัดซบ ข่มขู่ จะสั่งประหาร “ผมมีเหตุผลที่พอเพียง คนทรยศ คิดจะยึดอำนาจ ผมจะปลด
จะประหาร” มันเป็นคำที่ใช้ในการปลุกระดม ใช้อารมณ์ คุณเคยเห็นผู้นำที่บ้าอำนาจแบบนี้หรือไม่?
ความบ้าคลั่งของฮิตเลอร์ยิ่งทำให้คนตายมากขึ้น ฮิตเลอร์ไม่ฟังความเห็นที่แตกต่าง คนที่เห็นแตกต่างก็ไม่กล้าพูด
เมื่อพูดแล้วก็จะเป็นคนทรยศ
ที่น่ากลัวอีกอย่างคือ ในช่วงกำลังคับขันอย่างสุดขีด เจ้าพวกเอสเอสทหารที่จงรักภักดีจะแต่งชุดเอี่ยมอ่อง
คนพวกนี้ยังวางอำนาจเป็นศาลเตี้ยยิงคนที่ตนเห็นว่า "หนีทหาร" หรือ "ทรยศ" ไม่มีวินัย คนแก่ พลเมืองถูกยิงทิ้งเพราะขัดคำสั่ง
มันเหมือนพวกลิ่วล้อของผู้นำที่บ้าอำนาจในองค์กรต่าง ๆ พวกนี้เชื่อผู้นำจนไม่รู้จักแยกแยะชั่วดี ตามืดตามัว
สุดท้ายเมื่อสู้ทัพรัสเซียไม่ได้จริง ๆ ไอ้พวกนี้ก็ต้องฆ่าตัวตายอย่างอัปยศ
ความบ้าคลั่ง ไร้สติดูหนักข้อยิ่งขึ้นเมื่อฮิตเลอร์สั่งว่าทหารเกณฑ์ที่ขาดอาวุธ ไร้ทักษะ ก็ต้องไปรบ เน้นกระตุ้น ปลุกเร้า สร้างศรัทธา
เหมือนสั่งคนให้ไปตายนั่นเอง เพราะรู้ว่าไม่พร้อม Bruno Ganz แสดงบทนี้ได้ดีอย่างเหลือหลาย ทั้งสีหน้าที่เคร่งเครียดตลอดเวลา
มือที่สั่นเพราะโรคพาร์กินสัน และคำด่าที่สบถพรั่งพรูออกมามันได้อารมณ์และอินเข้าไปในภาพยนตร์เลยทีเดียว
(มีคนนำมาใส่ ซับ นรก จนเป็นเรื่องสนุกแพร่กระจายไปในโลกไซเบอร์) มันเหมือนได้ดูฮิตเลอร์จริง ๆ
มากกว่าเป็นนักแสดงเสียอีก
มีบทเรียนสำหรับคนเป็นผู้นำอยู่เรื่องหนึ่งที่เราน่าพิจารณา ในภาวการณ์ที่วิกฤต ฮิตเลอร์ไม่ต้องการฟังคำทัดทานใด ๆ
เหมือนผู้นำที่บ้าอำนาจ คิดว่าจะอยู่ค้ำฟ้า เหมือนคนที่บ้าและไม่อยู่ในโลกแห่งความจริงแล้ว ผู้ตามเกือบทั้งหมดกลับไม่กล้า
ที่จะแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา เพราะการแสดงความเห็นแบบนี้จะทำให้ตัวเองเป็นคนไม่จงรักภักดี สิ่งนี้สุ่มเสี่ยง
ต่อความเสียหายขององค์กรอย่างยิ่ง ผู้นำต้องตั้งสติ เปิดใจให้กว้าง ผมชอบที่นายพลคนหนึ่งบอกฮิตเลอร์ว่า
“ผมเพิกเฉย ฝ่าฝืน แต่ยังภักดีต่อผู้นำไม่เสื่อมคลาย” มันหมายถึงว่า ผู้ที่มีความเห็นต่างกัน ไม่ได้หมายความไม่รัก ไม่ภักดี
ผมคิดว่ามันเป็นการสะท้อนภาพได้ดีมาก เพราะผู้นำส่วนใหญ่จะชื่นชอบคนที่เห็นด้วยกับตน แต่เมื่อมีใครไม่ให้ด้วย
ก็จะเหมารวมว่าไม่รัก ไม่เคารพ ซึ่งมันเป็นคนละเรื่อง ผู้นำบางคนซ้ำร้ายหนักยิ่งขึ้นคือ ต้องการกำจัดคนพวกนี้
สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผู้นำพึงระวังอย่างยิ่ง ไม่เช่นนั้นเราจะผลักและเหมารวมคนอื่น ๆ ที่เคารพแต่มีความเห็นต่างออกจากเราไปจนหม เราจะเหลือแต่พวก “ใช่ครับพี่ ดีครับผม เหมาะสมแล้วครับนาย” ล้อมกายตลอดเวลา องต์กรเราจะสร้างสรรค์ได้อย่างไร ผู้นำต้องรับความแตกต่างให้ได้
ขณะที่ดู ผมก็มีคำถามในใจว่าก็ในเมื่อฮิตเลอร์เลวร้ายมาก ทำไมจึงมีคนมาร่วมสนับสนุนเขา เด็ก ๆ อยากเดินหน้าสู่สมรภูมิ เอาชีวิตเข้าแลกเพื่อปกป้องเขา เหมือนบินลาเดน ที่ทำให้คนยอมพลีชีพ ทำคาร์บอมบ์ ขับเครื่องบินชนตึกเวิร์ดเทรดเพื่ออุดมการณ์ของเขา เครื่องบินกามิกาเซ่ของทหารญี่ปุ่นที่พลีชีพ ลัทธิโอมชีรีเคียว ลัทธิเผาตัวตายเพื่อผู้นำเพื่อความเชื่อ ฯลฯ แล้วก็พบว่าพวกนี้จะมีหน่วยงานโฆษณาชวนเชื่อที่ใส่ข้อมูลต่าง ๆ มีเด็กมากมายที่ได้รับการอบรมและล้างสมองเป็นทหารยุวชนเอสเอส เด็ก ๆจะถวายชีวิตเพื่อผู้นำ เพื่อนาซี วิธีการที่เขาใช้ก็คือการชมเชย สร้างสัญลักษณ์ ให้เหรียญกล้าหาญ ทำให้พวกเขาภูมิใจ เป็นคนสำคัญ ฮิตเลอร์ก็เคยได้รับสิ่งนี้ เขาจึงรู้ว่ามันสร้างแรงบันดาลใจ สร้างความฮึกเฮิม ฮิตเลอร์ยังรู้ว่าคนเราต้องการการยอมรับและการเป็นคนสำคัญ เขาจึงต้องให้คนระดับล่าง ๆ เข้าถึงได้ง่าย ไปติดเหรียญ ไปตรวจทหาร แม้แต่แม่ครัวคนทำอาหาร ฮิตเลอร์ก็ชื่นชมพวกเขาแม้วินาทีสุดท้ายก่อนที่ฮิตเลอร์จะกินยาพิษ เขาก็ยังทานข้าวมื้อสุดท้ายอย่างเรียบง่าย และชมเชยคนทำอาหารว่าทำได้อร่อย นี่คงเป็นจุดเด่นที่สุดของฮิตเลอร์ที่เราจะได้ดูจากภาพยนตร์ เขาเน้นเสมอว่า ประวัติศาสตร์จะจารึกชื่อของเธอ เธอจะได้เป็นวีระบุรุษ ประวัติศาสตร์จะขอสดุดีเธอ เด็ก ๆ เดินหน้าเข้าหาลูกกระสุนและความตาย เพราะการกระตุ้นเร้า ผมคิดว่านี่คือจุดเด่นที่สุดของฮิตเลอร์ ผู้นำระดับสูงที่ “จ้องจับถูก” กับพนักงานระดับล่าง ๆ อำนาจมันจะสูงมาก จนหลายคนยอมพลีชีพให้ได้
ขณะเดียวกันจุดบอดที่สุดก็คือเหรียญอีกด้านของเขา ฮิตเลอร์จะใช้ความรู้สึกหรือฟิลลิ่งอย่างมากในการประณาม ด่าคนทรยศ ดูหมิ่นศักดิ์ศรี ขี้ขลาด สวะ ไร้ศักดิ์ศรี ดูถูก สั่งปลดพวกทหารระดับสูง ๆเขาทำเหมือนที่สตาลินทำ เพื่อแสดงถึงอำนาจที่ตัวเองมี นี่แหละที่เขาบอกว่าฮิตเลอร์สุดโต่งไม่ขวาก็ซ้าย ไม่ชนะก็ตาย ไม่มีทางสายกลาง พวกนี้จะหลงว่าตัวเองเก่ง เหนือกว่าคนอื่นๆ จะโอ้อวดว่าตัวเองยึดยุโรปได้ด้วยสมองของคน ๆ เดียว แต่พอพ่ายแพ้จะมีแต่ข้ออ้างโยนความผิดให้ผู้อื่น บอกว่าถูกหักหลัง ถูกหลอก ถูกทรยศ ไม่เคยรับผิดจากผลพวงของตัวเองเลย ใครได้เรียนเรื่อง IF Model จากหลักสูตรของเราจะเห็นได้ชัดว่าฮิตเลอร์ใช้สัญชาตญาณตรงนี้มากที่สุด ซ้ำร้ายกว่านั้นเขายังเรียกพวกนายทหารมาด่าเสียงลั่นห้อง และเมื่อเขาเข้าตาจน เขาบอกว่ายอมระเบิดสมองตัวเอง ทุกอย่างจบ แพ้ราบคาบ อยากทำอะไรก็เชิญ อารมณ์แปรปรวน ผู้นำที่ไม่รู้จักการยอมรับ ปล่อยให้คนข้างหลังตกอยู่ในวงล้อมที่ไม่รู้ว่าชีวิตจะเป็นอย่างไร เขาไม่สนใจชีวิตของผู้ที่ร่วมชะตากรรมกับเขา ไม่รับผิดชอบ ไม่สนใจว่าจะมีคนตายเท่าไร มันเป็นการไร้ความกรุณา ไร้ซึ่งมนุษยธรรม ไม่สนใจมโนธรรม
ตอน
ที่ฮิตเลอร์มีพฤติกรรมที่เชื่อมั่นจนหลงตัวเอง เพี้ยน ใครที่ไม่ทำตามใจ เขา จะตะโกนใส่หน้าทำให้ผมคิดถึงผู้นำหลายคนที่คุมอารมณ์ไม่ได้ยามคับขัน
ผู้นำที่บ้าคลั่งแบบนี้ ขว้างของลงพื้น ทุบโต๊ะ ด่ากราด
จนพนักงานเงียบหัวหด ไม่กล้าแม้จะจับกลุ่มคุยกัน
ผมได้เห็นมาหลายครั้ง แดเนียล โคลแมน ผู้เขียนเรื่อง EQ
คงให้คะแนนสอบตกแก่ฮิตเลอร์ และความผิดที่หนักยิ่งขึ้นคือ เมื่อทหาร
โซเวียตบุกเข้ามา ฮิตเลอร์คิดจะทำลายรางรถไฟ แหล่งน้ำ เมือง พูดง่าย ๆ
คือเผาเมืองทิ้งไม่ให้ศัตรูได้ครอบครอง เป็นการคิดแบบ Lose-Lose
คือแพ้กับแพ้ ดีแต่อัลเบิร์ต สเปียร์ปฏิเสธที่จะทำ ถึงตรงนี้ก็นึกได้
แต่ว่าในอดีตที่พม่าชนะแล้วก็เผาเมืองเรา เพราะกลัวจะฟื้นฟูได้ แค่นี้เราก็
เกลียดเขามาก แต่ฮิตเลอร์กลับคิดเผาบ้านเมืองตัวเอง ยอมตาย “ถ้าอ่อนแอก็
ต้องตาย คนฉลาดเท่านั้นจึงสมควรอยู่รอด” ฮิตเลอร์มีมุมมองด้านเดียวสุดโต่ง
จริง ๆ
หรือการแสดงอำนาจด้วยการสั่งยิงทิ้งนายพลที่ไม่เชื่อ ฝ่าฝืนคำสั่ง หรือการ
สั่งว่ากระสุนหมด ห้ามยอมแพ้ ตายก็ตาย ไม่จำนน ทั้งที่เหตุการณ์ในช่วงสุด
ท้ายที่รู้ว่าแพ้แน่นอน เขาไม่สนใจชีวิตคนอื่น ๆ
ไม่รู้ว่าคนอื่นจะเป็นอย่างไร มัน
ไม่อยู่ในสถานการณ์ที่จะปลุกขวัญกำลังใจแบบนั้นอีกแล้ว ฮิตเลอร์ใช้อารมณ์นำ
เหตุผลในช่วงวิกฤต มันทำให้ผมมานั่งทบทวนถึงการต่อสู้ทางการเมืองอย่างเอา
เป็นเอาตาย ที่หลายครั้งก็จบด้วยชีวิตของผู้บริสุทธิ์
นี่แหละที่ทำให้คำว่ารัฐบุรุษกับทรราชย์ มันต่างกันแค่เส้นบาง ๆ
ความกล้าหาญกับความบ้าบิ่น ความมุ่งมั่นกับความงมงาย ความรักชาติกับการ
คลั่งชาติ มันเป็นอะไรที่ใกล้กันมาก แต่ผลลัพธ์ต่างกันอย่างมหาศาล พวกผู้นำ
ม็อบหลายคนรู้จุดตรงนี้ จึงนำสิ่งนี้มากระตุ้นเร้า ทำให้ผู้ที่มาร่วม
ประท้วงเป็นคนรักชาติ รักแผ่นดิน อาศัยความอ่อนไหวแบบนี้มาใช้เป็นเครื่อง
มือในการต่อสู้มาทุกยุคทุกสมัย และเมื่อเจอผู้นำที่ไม่รู้วิธีบริหารความขัด
แย้ง ความสูญเสียที่มากเกินควรก็เกิดขึ้นได้เสมอ
อีกฉากในภาพยนตร์คือ เอวา บราวน์ ผู้หญิงที่รักและซื่อสัตย์ต่อท่านผู้นำจนวาระสุดท้าย แม้ระเบิดจะลงตูมตูม เธอไม่ยี่หระต่อสงครามนัก เอาแต่ดื่มกิน สนุกสนาน จัดงานปาร์ตี้ สร้างบรรยากาศเหมือนไม่มีอะไรน่ากลัว แต่ลึกๆเอง เธอก็เหมือนจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่อาจเพราะเธอเชื่อใจและซื่อสัตย์ต่อฮิตเลอร์ ผู้
นำที่หลงตัวเองก็มักจะได้ผู้ตามหรือคนข้างกายที่ไม่ได้ช่วยอะไรมากไปกว่าการ
เดินตามอย่างซื่อสัตย์ ไม่ได้มุมมองอะไรใหม่ และเมื่อพลาดก็จะพลาดอย่าง
มหันต์ ฮิตเลอร์ได้แต่งงานกับเธอในช่วงสุดท้าย ซึ่งทั้งคู่ถือว่าเป็นเผ่า
อารยันเหมือนกัน
เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเชื่อในเรื่องเผ่าพันธุ์จนถึงวินาทีสุดท้าย
ทั้งคู่ยอมฆ่าตัวตายเคียงข้างกันร์ด้วยการกินยาพิษ แล้วยิงปืนกรอกปาก แล้วสั่งให้ทหารคนสนิทเผาร่างของเขาไม่ให้เหลือซาก เพื่อไม่ให้มีใครเอาศพของเขาไปใช้ในเชิงผลประโยชน์จากสงคราม ในวันที่ 30 เมษายน และเยอรมันได้ยอมจำนนต่อ กองทัพแดง ในวันที่ 7 พฤษภาคม 1945 (พ.ศ.2488) มันเป็นภาพที่ทำให้คิดถึงวาระสุดท้ายของผู้นำอย่างบินลาเดน ซัดดัม กัดดาฟี จุดจบของผู้นำแบบนี้มักไม่สวยงาม
ภาพที่คนไข้นั่งรอคอยความช่วยเหลือหลังการจากไปของฮิตเลอร์ คนที่อ่อนแอในความหมายของฮิตเลอร์ เขา
ต้องการการรักษา ฮิตเลอร์ไม่ได้เห็นคนในมิตินี้เลย
ไม่มีเครื่องมือแพทย์ ไม่มีการอพยพ ไม่มีการช่วยเหลือ
มีแต่อุดมการณ์คลั่งชาติ เขาละทิ้งความเห็นอกเห็นใจพลเมืองของเขา เขาเห็น
แก่ตัวอย่างร้ายกาจ มองแต่เป้าหมายของตัวเอง ผมนึกถึงผู้นำในองค์กรที่มอง
แต่ยอด มองแต่กำไร อะไร ๆ ก็ KPI ไม่ได้คำนึงว่าคนของเขาจะเป็นเช่นไร
ผมจึงไม่ค่อยเห็นด้วยกับการที่บอกว่าเป้าหมายสำคัญ
100% ส่วนวิธีการไม่ต้องสนใจ ทุกครั้งที่ได้ฟังผู้นำหรือวิทยากรที่เน้นแบบ
นี้ ผมก็รู้สึกตะขิดตะขวงใจทุกครั้ง เหมือนเวลาที่ผมบรรยายที่มีนัก HRD
มานั่งประเมินแค่ว่าบรรยายครบตาม Topic ไหม บรรยายทุกสไลด์ไหม
เลิกตรงเวลาไหม วิธีการนำเข้าสู่โหมดเนื้อเรื่องก็สำคัญ ศิลปะการดึงให้คนมี
ส่วนร่วม การได้รับเนื้อหาที่ตรึงใจและการสัมผัสได้ถึงใจก็สำคัญมาก ผมจึง
คิดว่าเราต้องสนใจวิธีการด้วยเช่นกัน ผู้นำแบบฮิตเลอร์น่าจะให้ภาพที่ชัดเจน
ในเรื่องนี้
ภาพยนตร์ยังพาเราไปรู้จักกับ ดร.โจเซฟ กอบเบิลส์ รัฐมนตรีกระทรวงโฆษณาชวนเชื่อ ผู้ที่จงรักภักดีต่อฮิตเลอร์ ในช่วงท้าย ๆ นางกอบเบิลส์ (กระตุ้นกันจนนาทีสุดท้าย) ทั้งคู่เชื่อ
ในลัทธิสังคมนิยมนาซีอย่างสุดหัวใจและเชื่อมั่นในท่านผู้นำ
เราจะได้เห็นฉากที่แสนรันทดของครอบครัวที่ยอมสังเวยชีวิตลูก ๆ ทั้ง 5 คน
เพราะความบ้าลัทธิของพ่อแม่ ภรรยาของเขาก็ได้รับการติดเหรียญที่แสดงว่าเป็นแม่ที่กล้าหาญที่สุดจากฮิตเลอร์อีก นางกอบเบิลส์ตัดสิน
ใจให้ลูกทั้งหมดกินยาพิษ ด้วยคิดว่าลูกจะไม่มีความสุขเพราะลัทธินาซีได้ล่ม
สลายแล้ว ภาพที่แม่คนหนึ่งยัดยาพิษเข้าไปในปากของลูกตัวเอง มันเป็นภาพที่
หดหู่จนผมต้องลุกนั่งทีเดียว ก่อนที่ทั้งคู่จะฆ่าตัวตายตามฮิตเลอร์ มันเป็นช่วงที่รัดทดที่สุด เธอลืม
พื้นฐานของการมีชีวิต ลืมมโนสำนึก ไม่รู้จักการแยกแยะ เชื่อและสดุดีในอิจฉ
ริยะภาพของผู้นำขอตายตาม ทั้ง ๆ ที่เด็ก ๆ
ต้องการมีชีวิตอยู่ และไร้เดียงสาเกินกว่าจะมารับเคราะห์กรรมเช่นนี้
ภาพท้าย ๆ เราจะได้เห็นการดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดของเทราด์ ยุงเงอ เธอ
ได้จูงมือเด็กคนหนึ่งรวบรวมกำลังใจทั้งหมดเดินฝ่าออกจากแถวทหารของรัสเซีย
ที่สามารถยิงเธอตายได้ทุกเมื่อ เธอเลือกจะเสี่ยงเพื่อจะมีชีวิตอยู่ต่อไป
ภาพที่เธอปั่นจักรยานมันได้อารมณ์ถึงคำว่าอิสรภาพ หนีออกจากสงครามที่ขัด
แย้งรุนแรง ขณะที่อีกพวกกลับตัดสินใจที่จะตายตามฮิตเลอร์ ชีวิตสองด้านที่
เราน่าจะคิดได้เอง
เมื่อดูจบ ผมก็บอกตัวเองว่านี่เป็นภาพยนตร์ที่มีคุณค่าที่สุดในรอบหลาย ๆ ปีที่ผมได้ดู เวลา 2
ชั่วโมง 20 นาที
เป็นเวลาที่สุดคุ้มค่าและไม่ลุกไปไหนเลย มันได้ข้อคิด ได้อารมณ์ ได้เข้า
ใจ และตอบคำถามหลายอย่างที่อยู่ในใจ อยากให้ผู้นำได้ดีและวิเคราะห์ร่วมกับ
ผู้อื่น ดูสิว่าบางครั้งเราเป็นแบบนี้ไหม ให้ความสำคัญกับอะไรที่มากเกินไป
ไหม อย่าลืมว่ารัฐบุรุษกับทรราชย์นั้นต่างกันแค่เส้นบาง ๆ
เท่านั้นเอง.
-----------------------------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น