จาก ศิลปวัฒนธรรม
วันที่ 01 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 26 ฉบับที่ 09
ปี ๒๕๔๘ นี้นับเป็นปีสำคัญสำหรับวงวรรณกรรมไทย เนื่องจากเป็นวาระครบรอบ ๑๐๐ ปีเกิดของนักเขียนไทยหลายคนที่มีผลงานสำคัญฝากไว้เป็นมรดกทางวรรณศิลป์ของ ไทย หนึ่งในนักเขียนนี้คือไม้ เมืองเดิม อันเป็นนามปากกาของก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา ผู้มีผลงานเรื่องสั้นและนวนิยายรวมกว่า ๓๐ เรื่อง๑ ที่รู้จักกันดี อาทิ แผลเก่า บางระจัน ขุนศึก
ไม้ เมืองเดิม เกิดเมื่อ ๑๖ มิถุนายน ๒๔๔๘ (ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเส็ง) สืบเชื้อสายมาจากราชสกุล "พึ่งบุญ" ซึ่งมีพระองค์เจ้าชายไกรสร (กรมหลวงรักษ์รณเรศ) พระโอรสองค์ที่ ๓๓ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ ๑) เป็นต้นสกุล๒ บุคคลสำคัญในวงศ์สกุลนี้มีอาทิ เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) มหาดเล็กคู่พระทัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖)
แม้ ไม้ เมืองเดิม จะเป็นนักประพันธ์เพียงระยะเวลาสั้น (ประมาณ ๘ ปี) กล่าวคือ นับจากผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์เรื่องแรก คือแผลเก่า ในปี ๒๔๗๙ จนถึงผลงานสุดท้ายเรื่องขุนศึก๓ ที่แต่งจนถึงเมื่อเสียชีวิต (ด้วยโรคพิษสุราเรื้อรัง) ในปี ๒๔๘๕ แต่นักอ่านชาวไทยก็ได้เห็นความสามารถ ยอมรับและจดจำไม้ เมืองเดิม ไว้ในฐานะนักประพันธ์เอกผู้มี "สำนวนลูกทุ่ง" (หรือสำนวนไพร่)
ผลงานของไม้ เมืองเดิม ทั้งนวนิยายและเรื่องสั้น อาจจำแนกแนวเรื่องได้เป็น ๓ กลุ่ม๔ คือ ๑. แนวชีวิตลูกทุ่ง ซึ่งเป็นผลงานส่วนใหญ่ อาทิ แผลเก่า ชายสามโบสถ์ หนามยอก หนามบ่ง ค่าน้ำนม เรือเพลง-เรือเร่ ๒. แนวชีวิตลูกทะเล อาทิ โป๊ะล่ม ลมตะเภา สินในน้ำ และ ๓. แนวอิงประวัติศาสตร์ อาทิ ข้าหลวงเดิม ทหารเอกพระบัณฑูร บางระจัน หมื่นซ่อง ขุนศึก
โครงเรื่องและเนื้อเรื่องของนวนิยายที่เป็น เอกลักษณ์ของไม้ เมืองเดิม คือเรื่องแนวชิงรักหักสวาทของชายหนุ่มเลือดนักสู้ใจ "นักเลง" ผู้มักถูกข่มเหงแย่งหญิงคนรักซึ่งเป็นสาวสวยประจำถิ่น โดยผู้มีทรัพย์สินหรืออำนาจ (ลูกกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน) ความโดดเด่นของไม้ เมืองเดิม นั้นอยู่ที่ภาษา ซึ่งมีสำนวนโวหารแปลก ตรงไปตรงมาและจริงใจในเรื่องแนวลูกทุ่งบ้านนา แต่เมื่อเป็นแนวย้อนยุคอิงประวัติศาสตร์ ก็ใช้ภาษาได้อย่างมีชั้นเชิงคมคาย บทสนทนาในนวนิยายหลายเรื่องมักยั่วยิ้มผู้อ่านแม้ในยุคปัจจุบันได้อย่างไม่ ล้าสมัย (อาทิ บ้านนอกเข้ากรุง ข้าเก่า โป๊ะล่ม)
ที่มาของนักเขียนไทย "สามัญชน"
วรรณกรรม ไทยแต่อดีตมีขนบการสร้างสรรค์มาจาก ๒ แหล่งสำคัญ คือ วัง (พระมหากษัตริย์-ราชสำนัก) และวัด (พระภิกษุผู้ได้ร่ำเรียนหนังสือ) สองสถาบันหลักที่อบรมบ่มเพาะปัญญาชนให้แก่สังคมไทย แต่นับจากปี ๒๔๒๗ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งโรงเรียนแห่งแรกสำหรับราษฎร (โรงเรียนวัดมหรรณพาราม)๕ และทรงพัฒนาระบบการศึกษาของปวงชนต่อมาจนมีกระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการ) ในปี ๒๔๓๑ และพระราชบัญญัติประถมศึกษา ในปี ๒๔๖๔ (สมัยรัชกาลที่ ๖) คนไทยทั่วไปก็มีโอกาสได้รับการศึกษาตามแนวอารยประเทศอย่างกว้างขวาง ทำให้มีปัญญาชนเพิ่มจำนวนมากขึ้น สามารถใช้ศาสตร์และศิลป์สร้างสรรค์งานวรรณกรรมได้อย่างแพร่หลาย
ไม้ เมืองเดิม ซึ่งเกิดในปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ และร่วมสมัยกับนักเขียนปัญญาชนรุ่นใหม่ อาทิ กลุ่มสุภาพบุรุษ ซึ่งนำโดย ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) ได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนจนจบขั้นสุดท้ายที่โรงเรียนมัธยมวัดราชบพิธ ในปี ๒๔๖๗ (อายุ ๑๙ ปี) จากนั้นก็เข้ารับราชการกรมบัญชาการกลางมหาดเล็ก (สมัยรัชกาลที่ ๖) จนถึงปี ๒๔๖๙ ได้หันไปทำงานอิสระ และท่องเที่ยวไปตามจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะในภาคกลาง อาทิ อยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ราชบุรี ประสบการณ์จากช่วงเวลานี้ได้มาเป็นฉากสถานที่ในอมตนิยายส่วนใหญ่ของไม้ เมืองเดิม ซึ่งเริ่มจับอาชีพนักเขียนในปี ๒๔๗๘
ทศวรรษ ๒๔๗๐ (สมัยรัชกาลที่ ๗) เป็นช่วงเวลาแปรเปลี่ยนที่สำคัญในสังคมไทย ทั้งด้านเศรษฐกิจที่ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตทางการเงินการคลัง และด้านการเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในปี ๒๔๗๕ อย่างไรก็ตามสำหรับวงวรรณกรรมกลับเป็นยุคที่ "...การประพันธ์และการหนังสือพิมพ์ได้ลงหลักปักฐานที่มั่นคงแข็งแรง... นวนิยายได้พัฒนาขึ้นทั้งรูปแบบและเนื้อหา มีความประณีตและงดงามในฝีมือการประพันธ์ เนื้อหามีการสะท้อนภาพชีวิตและสังคมในเชิงวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้าง สรรค์..."๖
การแทรกตัวขึ้นเป็นนักเขียนให้เป็นที่รู้จักและต้อนรับ ของนักอ่านในช่วงที่ไม้ เมืองเดิม หันมาเป็นนักประพันธ์นั้น นับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะยุคนั้นนักเขียนฝีมือดีที่ครองใจนักอ่านมีอยู่แล้วมากมาย อาทิ ศรีบูรพา ดอกไม้สด ม.จ.อากาศดำเกิง๗ ยาขอบ (โชติ แพร่พันธ์) แม่อนงค์ (มาลัย ชูพินิจ) อย่างไรก็ตามไม้ เมืองเดิม ก็ได้กำหนดแนวงานเขียนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน และร่วมครองใจนักอ่านได้ตราบจนชีวิตอำลาโลกไปในปี ๒๔๘๕ (รวมอายุ ๓๗ ปี)
"แผลเก่า" บทเริ่มจินตนิยาย
ฉายความแปรเปลี่ยนของสังคมไทย
ไม้ เมืองเดิม ก็คล้ายกับนักเขียนจำนวนมากที่ผลงานเรื่องแรกๆ (ได้แก่ เรือโยงเหนือ ห้องเช่าเบอร์ ๑๓ และชาววัง) ไม่ได้รับความสนใจทั้งจากสำนักพิมพ์และผู้อ่าน จนทำให้ทดท้อต่ออาชีพ แต่เพราะมีปิยมิตรคือ เหม เวชกร (พ.ศ. ๒๔๔๖-๒๕๑๒) ได้ช่วยจุดประกายจินตนาการ และเป็นผู้พิมพ์เรื่องแรกให้ (ในนาม "หนังสือคณะเหม") อมตนิยายเรื่องแผลเก่า และนักเขียนนามปากกา ไม้ เมืองเดิม จึงได้เป็นที่รู้จักและประทับใจนักอ่านมาถึงปัจจุบัน
เรื่องแผลเก่า นั้นมีลักษณะเป็นจินตนิยาย (คิดแต่งขึ้น/imaginative) ผสมผสานกับแนวสมจริง (realistic) เนื้อเรื่องหลักเป็นความรักของหนุ่มบ้านนาทุ่งบางกะปิ ผู้มีหัวใจซื่อต่อสาวบ้านข้างนาเคียง แต่มีอุปสรรคที่พ่อของหนุ่มสาวเป็นศัตรูกัน และมีชายมือที่ ๓ คิดอุบายพรากความรัก โดยยุยงพ่อของหญิงสาวให้ขายนางเป็น "ทาส" ไปอยู่บางกอก ทำให้อารยธรรมของเมืองหลวงเปลี่ยนแปรจิตใจนางให้ลืมรักเดิม
ตามความ จริงแล้ว ยุคที่แต่งแผลเก่านั้น ประเทศไทยไม่มีทาสแล้ว๘ แต่ไม้ เมืองเดิม ใช้เรื่องการขายนางเอก (เรียม) เป็นทาส อาจด้วยมุ่งหมายให้เรื่องเป็นทำนอง "ย้อนยุค" สะท้อนถึงความยากจนของชาวนาที่ต้องขายลูกเพื่อรายได้ แต่ขณะเดียวกันไม้ เมืองเดิม ก็ยกประเด็นการแพร่ขยายของอารยธรรม "สมัยใหม่" จากเมืองกรุง (ในยุคที่แต่งเรื่อง) สู่สังคมชนบท ซึ่งผู้แต่งเห็นว่าเป็นภัยคุกคาม "บ้านนา" ที่ชีวิตมีความเรียบง่าย เปี่ยมด้วยน้ำใสใจจริง ตัวอย่างตอนหนึ่งจากเรื่องแผลเก่า๙ ดังนี้
"...แม้ ธรรมชาติของบางกะปิจะสร้างขวัญมาให้เป็นคนโง่ แต่ธรรมชาติไหวพริบในตัวผู้ชายของเจ้าขวัญก็มีอยู่ มันจับตาดูเรียมแล้วก็ก้มดูตัวมันเอง มันรู้แล้วว่าเจ้าเรียมกำลังแปรไปเป็นอื่น เพราะบางกอกเมืองใกล้นี่เอง..." (หน้า ๓๙)
"...เจ้าขวัญผู้อาภัพที่เกิดมาเป็นชาวนา เพราะเจ้าขวัญขาดอารยธรรม ส่วนเรียมกำลังอาบความเจริญรุ่งเรืองของพระนคร เธอจึงรังเกียจและหลีกลี้ [เจ้าขวัญ] มาเสีย..." (หน้า ๔๘)
เรื่อง แผลเก่าสร้างความประทับใจแก่ผู้อ่าน เพราะเป็นเรื่องรักโศกที่จบด้วยความตายของตัวละครเอกทั้งชายและหญิง (ทำนองโรมิโอ-จูเลียต) ประกอบกับเนื้อเรื่องแนว "ลูกทุ่ง" ที่แปลกสำหรับผู้อ่านลูกกรุง และต่างจากแนวของนักเขียนร่วมสมัยคนอื่นๆ ความนิยมที่แผลเก่าได้รับทำให้ไม้ เมืองเดิม ยึดแนวเรื่อง "ลูกทุ่งบ้านนา" เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเสนอผลงานต่อมาในแนวนี้อีกจำนวนมาก
ความ ชื่นชมหลงใหลชีวิตท้องทุ่งบ้านนา ปรากฏอยู่อย่างชัดเจนในงานของไม้ เมืองเดิม พร้อมกันนั้นก็มีความระแวงแคลงใจต่ออารยธรรมสมัยใหม่ ที่ทั้งแผ่ขยายและดึงดูดให้ชาวบ้านนาลุ่มหลงและเปลี่ยนแปลงตนให้ทัดหน้า เทียมตาชาวกรุงอยู่ด้วย ในเรื่องแสนแสบ๑๐ นวนิยายที่แต่งภายหลังเรื่องแผลเก่า แต่คงใช้ฉากสถานที่แถบทุ่งบางกะปิเช่นเดิม สะท้อนประเด็นการรุกบ้านนาของอารยธรรมเมืองกรุงไว้ ดังตัวอย่างตอนหนึ่งว่า
"...แล้วกลาง เดือนยี่ก็มาถึง...งานเกี่ยวในปีนี้ออกจะครึกครื้นผิดเคย...เจ้าช้อยเจ้า โปรยเจ้าเทียม ซึ่งแต่ก่อนทุกปีเคยสวมงอบจับเคียวลงมือเอง แต่ปีนี้กลับแต่งตัวสวยจนจำกันไม่ได้ว่าเป็นคนบ้านนา พร้อมด้วยนายชวนกับเพื่อนกรุงเทพฯ อีก ๒ คนที่สมัครใจมาเที่ยว...
เมื่อ เหล้าล่วงลำคอ...เพลงเกี่ยวก็เริ่มประ ที่ไม่สันทัดก็หันเข้าหาเพลงฉ่อย แต่ทั้งคอเพลงเกี่ยวและเพลงฉ่อย บางครั้งต้องหยุดชะงักเอียงหูฟังเพลงสากลของนายชวนกับเพื่อน เจ้าโปรยเจ้าช้อยและพ่อเทียมรู้สึกปลื้ม มีหน้ามีตาที่ได้ร่วมอยู่กับวงเพลงสากลและฝรั่ง แล้วมองชายมาทางพวกแสนแสบด้วยกัน เป็นเชิงว่าเพลงเกี่ยวมันพ้นสมัย ถึงเพลงฉ่อยก็เป็นโบราณบ้านนอก ที่ไม่น่าจะมาร้องคู่กับเพลงสากลเสียกระมัง..." (หน้า ๓๙๐-๓๙๑)
ไม้ เมืองเดิม แสดงจุดยืนสนับสนุนชีวิตเรียบง่ายของชนบทไทย และเตือนภัยความลวงหลอกของชาวเมืองหลวงไว้อย่างชัดเจนในนวนิยายแทรกอารมณ์ ขันเรื่องบ้านนอกเข้ากรุง๑๑ (หรือไปบางกอก) "คนบ้านนอก" ของไม้ เมืองเดิม ใช่จะเป็นคนโง่งม หรือถูกหลอกลวงได้ง่ายๆ แม้จะเป็นคนตรงคนซื่อ แต่ก็เป็นคนจริงไม่เกรงใครอยู่ด้วย ดังที่อ้ายนิ่ง (พระเอก) บอกเจ้าเตือน (นางเอกผู้หลงเมืองกรุง) ว่า
"...อ้ายนิ่งนะกลัวหรอกที่บางกอก ด้วยถนนหนทางและทางการอื่นๆ ที่เป็นสติปัญญา และไม่รู้ธรรมเนียมเจ้าธรรมเนียมนาย แต่เกิดเรื่องนี้ไม่กลัว ที่ไผ่พันมือ [อยุธยา] ก็ได้เห็นเรื่องมันเกิดมาแล้วนักหนาละเตือนเอ๋ย" (หน้า ๙๙)
"ลูกทุ่งบ้านนา" อารมณ์โหยหาอดีตของ ไม้ เมืองเดิม
จาก แนวเรื่องถนัดทั้ง ๓ แบบ (ชีวิตลูกทุ่ง ลูกทะเล และอิงประวัติศาสตร์) อาจสรุปได้ว่า ไม้ เมืองเดิม เป็นนักเขียนที่มีความ "โหยหาอดีต" (nostalgia) กล่าวคือ มีความรู้สึกผูกพันและอาลัยในเหตุการณ์และเรื่องราวที่ผ่านไป โดยเฉพาะในด้านที่งดงาม รุ่งเรือง ทัศนะที่ไม้ เมืองเดิม นำเสนอผ่านจินตนิยายส่วนใหญ่ของตน มักชี้ถึงความเรียบง่ายของชีวิตชาวชนบทที่พึ่งพาและสัมพันธ์กับธรรมชาติเป็น หลัก ไม่ต้องแข่งขันหรือมุ่งแต่แสวงหาเงินทองอย่างในยุคปัจจุบัน ดังตัวอย่างตอนหนึ่งจากเรื่องหนามยอก หนามบ่ง๑๒
"...พอเช้าขึ้นก็จับ ม้าหลังเปล่าห้อเสียพักใหญ่พอเหงื่อตก ไม่ก็ขึ้นหลังวัวหรือควายเปลี่ยวตะโพงดูฤทธิ์ เมื่อตะวันสายก็เทียมเกวียนเข้าป่าเข็นฟืนร้องรำทำเพลงอย่างสนุกใจตลอดทาง ตกเย็นมาจับกลุ่มกันที่ลานซ้อมลานนวดว่าเพลงฉ่อยและเกี่ยวข้าวแก้ กัน...เมื่อฝนแล้งที่วัดมีงาน ลูกสาวบ้านทุ่งนาแต่งตัวกันสวยๆ กูก็ประแป้งแต่งตัวด้วยมหาระรวยแล้วคาดประเจียดแขนแพรแดงสองไหล่ ออกเที่ยวงานวัดหาลูกป่าลูกทุ่งเสพพอสบายอารมณ์..." (หน้า ๒๘)
ศาสนา และประเพณีเป็นสื่อสำคัญที่ผูกพันชาวชนบทไว้ด้วยกัน ทำให้หนุ่มสาวมีโอกาสพบปะรู้จักและรักใคร่กัน สงกรานต์ หรือเทศกาลปีใหม่ของชาวบ้านนาในอดีต เป็นวาระแห่งความรื่นเริง ซึ่งไม้ เมืองเดิม มักกล่าวถึงในนวนิยายหลายเรื่อง และได้สะท้อนถึงวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไทยไว้ด้วย ดังในเรื่องสาวชะโงก-เสือข้าม๑๓
"...แม่สงกรานต์ที่ข้ามมาจาก สาวชะโงกนุ่งผ้าลายห่มแพรจีบทับเสื้อชั้นในนั้น ข้างเคียงก็ล้วนเพื่อนสาวงามๆ...แต่ละคนถือดอกไม้ถือขันหัวใจระทึก ตาก็จับอยู่แถวคนหนุ่ม...ผีสงกรานต์อยู่รอบนอกนั้นก็ใช่น้อย แล้วเสียงฝูงผีก็โห่ร้องเร่งให้เอาน้ำสาดกันเปียกเสียเร็วๆ จะได้เข้าผสมรอย
...ต่างคนต่างสาดวิ่งไล่วิ่งหนีเสียงกิ๊กก๊ากและหวีดว้ายของพวก ผู้หญิง และเป็นสิ่งที่แปลกที่ถึงว่าฝ่ายหญิงจะเสียเชิง หรือพลั้งเผลอตัวประการไร ชายจะได้เปรียบถนัดมือประการไร ก็ไม่มีใครจะคิดบังอาจซัดน้ำให้เปียกถนัดไม่..." (หน้า ๔๑-๔๒)
ใน ส่วนนวนิยายแนวอิงประวัติศาสตร์ ประเด็นหลักที่ไม้ เมืองเดิม เน้นคือ ความกล้าหาญ รักชาติของชายไทยเลือดนักสู้ ที่พร้อมสละชีพเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ไม้ เมืองเดิม มักเลือกฉากเวลาช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา (ก่อนเสียกรุงในปี ๒๓๑๐) พระเอกของเรื่องมักได้สู้รบกับข้าศึกของแผ่นดิน แสดงฝีมือความเก่งกล้าสามารถ และสุดท้ายได้ครองรักกับสาวงามเป็นรางวัลตอบแทน ตัวอย่างเนื้อเรื่องปลุกเลือดรักชาติของชายไทย เช่นในเรื่องสำเภาล่ม๑๔
"...ลูก เอ๋ยเอ็งรักพ่อก็ต้องรักเมือง แม่เอ็งอยู่ในหลุมดินยังกลบหน้า ฝ่าตีนศึกที่มันจะมาย่ำแผ่นดินนั่น **ต้องนึกว่าตีนมันเหยียบอยู่เหนือหน้าแม่ปู่ย่า...ไปเถอะอ้ายรัก ลูกย่านสัมพนีเขาไม่ตายกันที่อื่นนอกจากกลางศึก..." (หน้า ๕๐)
ด้วย แนวเรื่องย้อนยุคอิงประวัติศาสตร์เช่นนี้ ไม้ เมืองเดิม สามารถสะท้อนจิตใจความเสียสละเพื่อส่วนรวม อันเป็นเกียรติและความภาคภูมิใจของชายชาตรีได้ ซึ่งในแนวเรื่องอื่นแสดงออกได้ยาก อนึ่งยุคที่ไม้ เมืองเดิม เขียนนวนิยายแนวถนัดของตนนี้ เป็นช่วงเวลาที่โลกและประเทศไทย๑๕ อยู่ในภาวะสงครามโลกครั้งที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๘๒-๒๔๘๘) นี้ อาจเป็นอีกเหตุผลที่ไม้ เมืองเดิม พาผู้อ่านหวนหาอดีตหลีกหนีสภาพความเป็นจริงที่ผู้คนหวาดกลัวภัยสงครามไปสู่ เรื่องราวชีวิตบ้านทุ่งนาป่าทะเลและเรื่องในประวัติศาสตร์เพื่อช่วยปลุกปลอบ ใจ
"นักเลง" บทวิพากษ์สังคมลูกทุ่งไทย
ประเด็น เรื่อง "นักเลง" นับเป็นจุดเด่นของนวนิยายของไม้ เมืองเดิม โดยโครงเรื่องของนวนิยายส่วนใหญ่มักเป็นทำนองเดียวกัน คือ ตัวละครเอก (protagonist) เป็นพระเอก มีอายุประมาณ ๒๖ ปีขึ้นไป มีเอกลักษณ์เป็นคนจริง ใจ "นักเลง" เก่งกาจในการต่อสู้ หัวใจซื่อ รักจริง มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ เป็นนักเลงในความหมายของคนจริง-คนกล้า ที่ไม่ข่มเหงใครก่อน แต่จะยืนหยัดต่อสู้กับคนพาลที่มีอำนาจของบ้านเมืองในมือ หรืออำนาจเงินที่มักได้จากการคดโกง เอาเปรียบผู้ที่ด้อยกว่า
ตัวอย่าง บุคลิกความเก่งกล้าสามารถที่เป็นแบบฉบับ "พระเอก" ของไม้ เมืองเดิม เช่น เจ้าธง ในเรื่อง หนามยอก หนามบ่ง
"...เจ้า ธงเป็นคนสนุกชอบตลกคะนอง แต่ยามโมโหมันดื้อและดุดันเยี่ยงกระทิงเถื่อน ทั้งฝีไม้ลายมือก็ขยันไม่มีตัวจับ เจ้าธงนั้นซื่อสัตย์ของมันมีประจำกับใจอยู่ ไม่ชอบรังควานใครให้เดือดร้อน และเป็นขี้สงสารผู้ทุกข์ มันจึงมีคนรักมากกว่าคนชัง..." (หน้า ๔)
การ ที่ไม้ เมืองเดิม เขียนนวนิยายส่วนใหญ่ให้มีโครงเรื่องซ้ำกัน หากพิจารณาถึงบริบทงานเขียนร่วมสมัยของนักประพันธ์อื่นๆ แล้ว อาจสรุปได้ว่า ไม้ เมืองเดิม รักษาโครงเรื่องหลักไว้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และสู้นักเขียนอื่นด้วยฝีมือการประพันธ์ด้านสำนวนภาษาเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามจุดเด่นที่เห็นได้ชัดเจนจนน่าสะดุดใจว่าเป็นประเด็นที่ไม้ เมืองเดิม คงต้องการสื่อสะท้อนให้ผู้อ่านรับรู้ คือเรื่องราวความไม่เป็นธรรมในสังคมชนบทไทย
ยุคที่ไม้ เมืองเดิม สร้างสรรค์จินตนิยายของตนนั้น สังคมเมืองหลวงของไทยเจริญเฟื่องฟูด้วยการศึกษาและระบอบการปกครองแบบใหม่ แต่ส่วนบ้านนาป่าทะเลยุคนั้นยังไกลปืนเที่ยง มีเรื่องราวการข่มเหง เอารัดเอาเปรียบกันอยู่ทั่วไป วิธีเดียวที่จะยืนหยัดอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี คือการต่อสู้ด้วยหัวใจ "นักเลง" จนกว่าจะตายอย่างนักเลงสิ้นชื่อ
"นักเลง" ในยุคและเรื่องของไม้ เมืองเดิม มีความหมายตรงข้ามกับปัจจุบันที่หมายถึงคนพาล เอาเปรียบ ข่มเหงรังแกผู้อื่น พระเอก "นักเลง" ในงานส่วนใหญ่ของไม้ เมืองเดิม เป็นตัวแทนของชาวบ้านที่ทำมาหากินด้วยความเพียรและความสามารถ แต่มักเป็นเหยื่อของความไม่เป็นธรรมในสังคมที่นับถือเงิน ซึ่งมักทำให้มีอำนาจด้วย เป็นใหญ่ กำนัน หรือผู้ใหญ่บ้านในสังคมชนบทอาจข่มเหงกล่าวโทษชาวนาสามัญชนว่าทำผิด ลักขโมย หรือเป็นโจรปล้นฆ่าผู้อื่นได้อย่างที่ผู้ถูกกล่าวหายากจะโต้แย้งให้พ้นภัย ตัวอย่างเรื่องที่สะท้อนประเด็นนี้ อาทิ หนามยอก หนามบ่ง ชายสามโบสถ์ เสือทุ่ง แสนแสบ
ความขัดแย้งหลักที่ไม้ เมืองเดิม ใช้ในนวนิยายเกือบทุกเรื่องคือ การชิงรักหักสวาท ระหว่างพระเอกคนยากแต่เก่งกล้ามีฝีมือ กับผู้ร้ายรวยที่มีอำนาจเงินและพรรคพวก เพื่อแย่งสาวงามผู้ที่มักมีใจให้พระเอก เข้าทำนอง "ขุนช้าง ขุนแผน แย่งนางวันทอง" สุดท้ายตอนจบของเรื่องมีทั้งที่จบสุข (พระเอกได้ครองหญิงคนรัก หรือตัวแทน) และจบเศร้า (ทั้งพระเอกและนางเอกตาย) ในจำนวนเรื่องที่ก้ำกึ่งกัน
โดยปกติไม้ เมืองเดิม มักบรรยายเรื่องไปตามลำดับเหตุการณ์จากต้นจนจบ ไม่นิยมแทรกข้อคิดสอนใจ คงทำหน้าที่เพียงเสนอเรื่องให้ผู้อ่านพิจารณาตามแนวคิดของแต่ละคน สำหรับนักอ่านยุคปัจจุบันอาจเห็นลักษณะพระเอก "นักเลง" บางอย่างของไม้ เมืองเดิม แปลกและผิดไปจากเกณฑ์ปัจจุบัน เช่น เรื่องการร้องไห้ (เรื่องผู้ชายร้องไห้ไม่ได้นี้ เกิดขึ้นในสังคมไทยแต่เมื่อไร และเพราะเหตุใดเป็นเรื่องชวนสงสัย พร้อมกันนั้นเรื่องความเก่งกล้า ใจนักเลง อย่างพระเอกของไม้ เมืองเดิม ได้เปลี่ยนหรือหายไปด้วยหรือไม่ คงต้องสำรวจศึกษากันต่อไปจากวรรณกรรมของนักเขียนปัจจุบัน)
พระเอกผู้ เก่งกล้ามีฝีมือเลื่องลือไปทั้งบางของไม้ เมืองเดิม มักร้องไห้หลั่งน้ำตา แม้ต่อหน้าหญิงคนรัก แต่ลักษณะนี้ใช่ว่าเป็นเพราะความอ่อนแอน่าเยาะหยันสำหรับชายชาตรี แต่กลับเป็นการแสดงถึงจิตใจที่อ่อนโยน มีความเมตตาสงสารต่อผู้อื่น ไม่ใช่คนจิตใจหยาบกระด้าง (ตัวผู้ร้ายของไม้ เมืองเดิม จะไม่มีบทร้องไห้เลย และบ่อยครั้งที่ฉุดคร่าทำร้ายผู้หญิง ในขณะที่พระเอกจะต่อสู้เพื่อปกป้อง)
ใน นวนิยายหลายเรื่อง พระเอกของไม้ เมืองเดิม ต้องกลายเป็นโจร หรือเสือปล้น ไม่อาจดำเนินชีวิตหาเลี้ยงชีพอย่างปกติสุขได้ ส่วนใหญ่เพราะต้องหนีภัยจากผู้ใช้อำนาจในทางพาล (ใส่ร้ายป้ายความผิดเพื่อกำจัดให้พ้นทาง) แต่ในบางเรื่อง ไม้ เมืองเดิม ก็สะท้อนปัญหาสังคมของชาวบ้านนาไว้ว่า เป็นเพราะความอดอยากยากจน (เพราะถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้มีอำนาจเงิน) จึงทำให้บางคนต้องเอาตัวรอดด้วยมิจฉาชีพ ตัวอย่างเช่นจากเรื่องชายสามโบสถ์๑๖
"...พี่ก็เป็นคนสิ้นตัวแท้เพลา นี้ พี่ต้องปล้นเขากิน พี่แย้งยื้อข้าวปลาอาหารเขาบางอื่น บ้านสร้างอดเหลือหลาย เมื่อส่งพ่อแกเหลือแล้ว พวกพ้องเราก็ได้จ่ายแจกกันพอเลี้ยงดูลูกเมียเท่านั้น พี่ชั่วแล้วเพราะชีวิตพ่อแกจำเป็น พวกพ้องและลูกเมียมันตาดำๆ ต้องอดก็เหลือจะดูดาย แต่ใช่ว่าใจจะคิดประพฤติชั่วตลอดไปหรอก..." (หน้า ๑๖๐)
ชนบทในนวนิยายของไม้ เมืองเดิม เป็นสังคมที่ผู้มีอำนาจ (กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน) มีบทบาทนำและสามารถเอารัดเอาเปรียบชาวบ้านที่มีความรู้น้อย และไม่มีกำลังสมัครพรรคพวก โดยส่วนใหญ่ผู้มีอำนาจเหล่านั้นมักเป็นอดีต "นักเลง" (คนมีฝีมือในการต่อสู้) หรือโจรกลับใจที่เลิกมิจฉาชีพเมื่อแก่ตัว ด้วยบารมีและฝีมือแต่หนหลังจึงทำให้ได้เป็นผู้นำชุมชน
เรื่องราวของ "นักเลง" ในสังคมชนบทของไม้ เมืองเดิม มีส่วนสะท้อนถึง "ระเบียบสังคม" (social orders) พื้นบ้านในเรื่องเกณฑ์การอยู่ร่วมกันของคนแต่ละถิ่น ในยุคที่อำนาจบ้านเมืองยังดูแลปกครองประชาชนไม่ทั่วถึง ถิ่นนักเลงแต่ละที่ย่อมเป็นที่คร้ามเกรงของคนต่างถิ่น การคบหาหรือเป็นคนเก่งมีฝีมือเป็นเรื่องจำเป็นของคนในชนบท ทั้งนี้เพื่อยามที่มีภัย พรรคพวกเพื่อนฝูงจะได้ช่วยเหลือร่วมแรงกันต้านภัย ดังตัวอย่างเหตุผลความคิดของเจ้าไผ่ ในเรื่องสาวชะโงก-เสือข้าม
"...ที่เจ้าลูกผู้ใหญ่บ้านจะเลิกงดเสียไม่ได้ก็เรื่องเพื่อน เรื่องนักเลงที่ยากจะยอมให้ใครอื่นมาก้ำเกินลบหลู่...
... "ทุกวันนี้ทั้งพ่อและข้าก็มีศัตรู ก็ต้องคบเขา [เพื่อนฝูง] ไว้มั่ง"..." (หน้า ๑๓-๑๔ และ ๑๗)
การ เคารพเจ้าถิ่น ไม่ข้ามถิ่น ไม่ลบหรือย้อนรอย "นักเลง" กัน เป็นเรื่องสำคัญในชนบทไทย ที่คนในยุคของ ไม้ เมืองเดิม ต้องรู้กาลเทศะ และถือปฏิบัติให้ถูกต้องตามเกณฑ์ จึงจะมีชีวิตรอดปลอดภัย และอยู่อย่างสุขสงบได้
"สาวงาม" เป้าหมายความรักของไม้ เมืองเดิม
ตัว ละครนางเอกของไม้ เมืองเดิม มักเป็นสาวงามอายุย่าง ๑๖ (ไม่เกิน ๒๐ ปี) ไม่มีบทบาทสำคัญต่อเนื้อเรื่องนัก นอกจากเป็นเสมือนรางวัลตอบแทนความเก่งกล้าสามารถของพระเอกในเรื่อง แม้ไม้ เมืองเดิม จะให้น้ำหนักน้อยแก่ตัวละครหญิง แต่จุดที่มักเน้นคือความสวยที่นับเป็นเครื่องเชิดหน้าชูตาแก่ชายที่เป็นเจ้า ของ (สวยขนาดต้องแย่งชิง เอาเถิดเจ้าล่อกันระหว่างพระเอกกับผู้ร้าย) ตัวอย่างความชื่นชมผู้หญิงสวยในทัศนะของไม้ เมืองเดิม เช่นในเรื่องหนามยอก หนามบ่ง
"...อีสาวอ้ายหนุ่มบ้านไร่เอ๋ย **จะมีเมียมีผัวกันทั้งทีก็ดูให้มันงามสมเหมือนเจ้าแววกับกูนี่เถอะ อ้ายทรัพย์อื่นนั่นมันพอหาหรอกพี่น้องข้า แต่เมียงามรักผัวน่ะ **ก็น่าจะตายแล้วเกิดใหม่ก็คงไม่ได้ยัง**..." (หน้า ๕๓)
นอกจากความ สวยที่รูปร่างหน้าตาแล้ว ไม้ เมืองเดิม ยังให้ค่ายกย่องในความประพฤติและจิตใจที่ดีงามของผู้หญิงด้วย การรักนวลสงวนตัวไม่เห็นแก่ทรัพย์สินเงินทอง แต่ยึดมั่นในน้ำใจรักที่แท้จริง เป็นสิ่งที่ไม้ เมืองเดิม กำหนดให้เป็นอุดมคติที่สาวงาม (นางเอก) ควรประพฤติ ดังแบบฉบับของสาวลำภู ในเรื่องสำเภาล่ม
"ถ้าข้าเป็นเมียลูกท่านนายก็คงเป็นคนเก้าคนสิบ และต้องทำงานเหนื่อยเท่าเป็นทาสอยู่ตามเดิม เมื่อคิดสนุกเขาก็มาหาอย่างเป็นนาย ข้าถึงขออยู่เป็นทาสเขาแต่ตัวส่วนข้างนอก หากยามจนถึงจะมีผัวทาสสกุลเหมือนกัน ก็ยังได้เป็นผัวเมียที่ไม่ต้องไปคิดเกรงว่า ผัวเขาเป็นนายมีวาสนาเหนือ พอเป็นคู่ปรึกษาหารือคัดค้างกันได้" (หน้า ๕-๖)
"ลำภูเอ๋ย ข้าขอบใจเอ็งนัก เอ็งไม่ละเมิดคำพ่อคำแม่เลย หากเอ็งจะมีผัวเศรษฐีได้เสียกันเอง และข้าก็หายินดีไม่...ทองของเศรษฐีสักลำเรือมันก็ซื้อหน้าพ่อแม่ สู้เชือกมงคลผูกมือเส้นเดียวไม่ได้" (หน้า ๑๘๘)
ในมุมมองของไม้ เมืองเดิม นั้น ความดีงามของผู้หญิงสำคัญอยู่ที่ช่วยเชิดหน้าชูตาบุพการีและคู่ชีวิต ข้อนี้ดูเป็นภารกิจที่ฝากฝังแก่ลูกผู้หญิงมาทุกยุคทุกสมัย
ความส่งท้าย
นับ จากไม้ เมืองเดิม เสนอผลงานเรื่องแรกสู่ผู้อ่านชาวไทยจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาราว ๗๐ ปีแล้ว ความคิดความประทับใจเกี่ยวกับ "นักเลง" (ที่ไม่ใช่ผู้ร้าย) ในท้องทุ่งบ้านนาที่ไม้ เมืองเดิม เสนอไว้ นับวันจะเป็นแต่ภาพความหลังที่เลือนหายไปทุกขณะ
จินตนิยายของไม้ เมืองเดิม ที่บันทึกคุณค่าและความงามของวันวาร คงกลายเป็นประวัติศาสตร์ทางสังคมและวรรณศิลป์ไทย ที่คนในอนาคตคงฉงนสนเท่ห์ว่าเรื่องราวเหล่านี้เคยมีจริงหรือ?
Technorati Tags: ไม้ เมืองเดิม
สวัสดีครับ อยากติดต่อขอลง ลิ้งด้านข้างหน่อยครับไม่ทราบว่าคิดยังไงราคาเท่าไรครับ ลิ้งคำว่า "ดูบอลสด ดูบอลออนไลน์ฟรี" ของเว็บ http://live.ballnaja.com ครับ
ตอบลบ