วันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

พระเอกของการลงทุนในปี 2553

Money pro : วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ CFPTM กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2554

ปี 2553 ที่ผ่านไป ถือว่าเป็นปีที่ดีของการลงทุนในหลายๆ ประเภท ซึ่งแม้ว่าจะมีความผันผวนอยู่บ้าง แต่ก็เป็นความผันผวนที่เห็นแนวโน้มค่อนข้างชัดเจน ต่อเนื่องมาจากปี 2552 ซึ่งเป็นปีที่ดีที่สุดของการลงทุนในรอบกว่าสิบปี เนื่องจากตลาดฟื้นขึ้นมาจากภาวะตกต่ำในปี 2551

การลงทุนในปี 2554 นี้จะเป็นปีที่ยากที่สุดปีหนึ่ง เพราะจะมีความผันผวนสูง คาดว่าจะสูงกว่าปีที่แล้วด้วยซ้ำไป และแนวโน้มไม่ชัดเจน

จากการรวบรวมของ Merrill Lynch ในปี 2553 กลุ่มของสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐสูงที่สุดคือ ทองคำ โดยให้ผลตอบแทน 29.5% ถัดมาเป็นกองทุนอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trusts หรือ REITs) โดยให้ผลตอบแทน 27.58% ตามมาด้วย การลงทุนในหุ้นในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market Equity) ให้ผลตอบแทน 18.88% และการลงทุนในโภคภัณฑ์ ให้ผลตอบแทน 17.6%

ส่วนหุ้นสหรัฐอเมริกาให้ผลตอบแทน 15.06% พันธบัตรของตลาดเกิดใหม่ ให้ผลตอบแทน 12.5% พันธบัตรของตลาดพัฒนาแล้ว ให้ผลตอบแทน 10.52% หุ้นของตลาดพัฒนาแล้ว ได้ผลตอบแทน 7.75% และพันธบัตรของสหรัฐให้ผลตอบแทนน้อยที่สุด คือได้ผลตอบแทนเพียง 6.43%
ถ้ามาดูในรายละเอียด จะเห็นว่าหุ้นไทยเรา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มหุ้นในตลาดเกิดใหม่นั้น ไม่แพ้ใครเลยค่ะ ผลตอบแทนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET) ในรูปของเงินบาท เท่ากับ 40.6% ในขณะที่หากคิดเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนถึง 50.44% ในปี 2553
นอกจากนี้ ตลาดตราสารหนี้และพันธบัตรไทยยังให้ผลตอบแทนถึง 15.59% ในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ให้ผลตอบแทน 5.76% ในรูปของเงินบาท

เห็นผลตอบแทนนี้แล้ว ท่านคงจะพอเดาได้ใช่ไหมคะว่า ทำไมนักลงทุนต่างประเทศมียอดขายสุทธิในช่วงสัปดาห์ที่แล้วสูงเหลือเกิน โดยเฉพาะในวันศุกร์ และไม่ได้ขายเฉพาะตลาดไทยแต่ขายตลาดเอเชียทั้งหมดด้วย โดยสรุปแล้วการลงทุนในทุกกลุ่มสินทรัพย์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาให้ผลตอบแทนเป็นบวกทั้งหมด ซึ่งนักลงทุนทั้งหลายก็คงจะรู้สึกดี มีความสุข และกระเป๋าที่เคยแฟบลงไปเมื่อปี 2551 ก็กลับตุงขึ้นมาอีก

ในปี 2551 มีกลุ่มสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกเพียง 2 กลุ่ม คือ พันธบัตรของตลาดพัฒนาแล้ว ได้ผลตอบแทน 8.5% และพันธบัตรของสหรัฐ ให้ผลตอบแทน 6.2% นอกนั้นให้ผลขาดทุนหมด ที่ขาดทุนน้อยหน่อยก็คือ พันธบัตรในตลาดเกิดใหม่ ขาดทุนไป 10.2% และขาดทุนมากที่สุดคือ หุ้นในตลาดเกิดใหม่ ขาดทุน 53.3% ในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ

การที่ผลตอบแทนขึ้นบ้างลงบ้าง มีความผันผวน ถือเป็นความเสี่ยง เพราะเป็นความไม่แน่นอน เราสามารถวัดค่าความผันผวนนี้ได้ โดยหากมีความผันผวนสูง เราก็เรียกว่ามีความเสี่ยงสูง หากมีความผันผวนต่ำ เราก็เรียกว่าเสี่ยงต่ำ

เพราะฉะนั้น เวลาลงทุน เราจะดูแต่ผลตอบแทนอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูค่าความผันผวนหรือความเสี่ยงด้วยค่ะ

ข้อมูลที่รวบรวมมาจากบลูมเบิร์กแสดงให้เห็นว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา น้ำมันให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 13.1% ต่อปี แต่มีความผันผวนมากที่สุด คือมีค่าความผันผวนถึง 32.3% ต่อปี ในขณะที่หุ้นในตลาดละตินอเมริกัน ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด คือ เฉลี่ยปีละ 21.4% แต่มีค่าความผันผวนรองลงมา คือ 28.9%

หุ้นของตลาดเกิดใหม่โดยรวม ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 15.9% ต่อปี และมีค่าความผันผวน 24.8% ทองคำให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 18% และมีค่าความผันผวน 16.7% หุ้นทั่วโลกให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 3.2% ในขณะที่มีค่าความผันผวนเฉลี่ย 17.6% และตั๋วเงินคลังของสหรัฐให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 2.4% ต่อปี โดยมีค่าความผันผวนน้อยที่สุดคือ 0.5%

ตลาดหุ้นไทย ใน 10 ปีที่ผ่านมา ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 21.78% มีค่าความผันผวน 19.12% ในขณะที่ค่าความผันผวนเฉลี่ยของพันธบัตรรัฐบาลไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 3.05%

การศึกษาถึงผลตอบแทนและค่าความผันผวนในอดีต ช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถวางแผนการลงทุน เพื่อประมาณการผลตอบแทน และค่าความผันผวนที่ผู้ลงทุนต้องเผชิญ โดยผู้ลงทุนสามารถนำมาทดสอบความรู้สึกได้ว่า รับได้หรือไม่

และค่าความผันผวนนี่เอง เป็นสาเหตุของคำเตือนที่ว่า “การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง” และ “ผลตอบแทนในอดีตไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันผลตอบแทนในอนาคต”

พบกันใหม่วันจันทร์หน้าค่ะ

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

อย่าลืมนะครับในตลาดเก็งกำไร จะไม่มีอะไรที่ขึ้นไปทีเดียวโดยไม่มีการหยุดพักปรับฐาน เวลาลงก็ไม่มีอะไรที่ลงอย่างเดียวแต่จะต้องมีการดีดตัวกลับเป็นช่วงๆ

การเก็งกำไรเมื่อมีกำไรจะมีนักลงทุนกลุ่มนึงเทขายทำกำไรเป็นช่วงๆ ยิ่งเมื่อสิ้นปีปฎิทินนักลงทุนจำนวนมากจะดูภาพรวมของการลงทุน อะไรที่ขึ้นมาแรงในปีที่ผ่านมาจะถูกขายออกไป อะไรที่น่าจะอนาคตดีแต่ยังไม่ขึ้นมากก็จะรีบเข้าซื้อ(เช่นโลหะเงินผมมองว่าน่าสนใจมาก) สรุปคือมีการปรับพอร์ทการลงทุนขายตัวที่กำไรมากไปซื้อตัวที่เขาสนใจ
เปิดปีใหม่มาตลาดหุ้นไทยไปได้สวยแค่1-2วัน หลังจากนั้นปรับฐานลงน่าจะเกิดจากนักลงทุนกลุ่ม1เทขายทำกำไร ช่วงนี้แรงเทขายต่างชาติเบาแล้วต่างชาติอีกกลุ่มที่มองว่าตลาดหุ้นเอเซียยังไปอีกไกลเริ่มเข้าซื้อแล้ว คงต้องดูอีกที ส่วนตัวผมมองว่าในช่วง3เดือนต่อไปตลาดหุ้นน่าจะพุ่งแรง
SPDRน่าจะเป็นกองทุนของสหรัฐที่เข้าซื้อทองตามการแรงซื้อหรือขายของนักลงทุนที่ลงทุนผ่านเขา(เดานะครับ ไม่เคยตามที่ไปที่มาของSPDRเลย) การลงทุนในสหรัฐจะพบว่าทองคำกำไรสูงสุด นักลงทุนจำนวนมากมองทองเป็นแค่สินค้าตัวนึง คนจำนวนน้อยมากมองทองทะลุแบบคุณNEXT นักเก็งกำไรหาจังหวะขายทองเพื่อไปเก็งกำไรตัวอื่น(ปีที่แล้วทองกำไรสูงสุด ปีนี้น่าจะกำไรไม่มากหรืออาจจะปรับฐานลงก็ได้) แต่ในโลกของการลงทุนมีอยู่หลายครั้งที่ปีนี้ขึ้นแรงมากแต่ปีต่อไปขึ้นแรงกว่าอีกก็เป็นไปได้
SPDRขายทองออกไม่น้อยเลย แต่ราคาลงไม่เท่าไหร่แถมบางครั้งยังเด้งสู้ด้วย แรงขายมากแต่ราคาไม่ลงแสดงว่ามีคนอีกกลุ่มซุ่มซื้ออยู่ ภาวะตลาดแบบนี้ผมมองว่าเป็นผลดีต่อทองครับ เมื่อแรงขายทองหมดผมมองว่าทองจะทะยานขึ้นแรงครับ ส่วนตัวผมมองว่าทองต้องขึ้นแรงก่อนสิ้นเดือนเมษาครับ
ใครที่มองต่างช่วยแนะนำด้วยครับ ยิ่งมองต่างยิ่งได้ความรู้ครับ
ส่วนเรื่องการเร่งปิดSของขาใหญ่มีส่วนมั้ยผมมองภาพส่วนนี้ไม่ออกครับ
แก้ไขโดย ส้มโอมือ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น