วันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ตื่นดั่งกระต่ายป่า (นักลงทุนมักใช้สัญชาตญาณสัตว์ป่า)

Global Vision : ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ austin_manason@yahoo.co.uk กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2554

บนรถจี๊ปท่องป่าซาฟารี บนประภาคาร ณ แหลมแห่งความหวัง หรือจะบนยอดภูเขาโต๊ะในเคปทาวน์ก็ตาม ธรรมชาติและสรรพสัตว์ที่อยู่เบื้องหน้าทำให้จิตผู้เขียนประหวัดไปถึงกระต่ายป่าตัวน้อย

สาเหตุที่กระต่ายน้อยอยู่ในใจผู้เขียนนั้น เป็นเพราะถือหนังสือเรื่อง Animal Spirit: How Human Psychology Drives Economy หรือ “สัญชาตญาณสัตว์ป่า: ปัจจัยทางจิตวิทยาที่กำหนดทิศทางเศรษฐกิจ” ติดมืออยู่ตลอดเวลา โดยหนังสือเล่มนี้เขียนโดย 2 นักเศรษฐศาสตร์แถวหน้าของโลกอย่าง จอร์จ อเคอร์ลอฟ และ โรเบิร์ต ชิลเลอร์

หนังสือดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการดึงเศรษฐศาสตร์กลับไปสู่จุดเริ่มต้นของสังคมศาสตร์ด้านนี้ กล่าวคือเป็นการใช้หลักจิตวิทยามาอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เป็นการวิเคราะห์พฤติกรรมทางเศรษฐกิจผ่านปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งสามารถอธิบายได้ด้วยโมเดลทางสถิติเป็นหลัก

โมเดลเหล่านั้นตั้งอยู่บนสมมติฐานหลักที่ว่า มนุษย์ใช้เหตุผลในการตัดสินใจ (Rational Expectation) โดยละเลยสิ่งที่ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ บิดาเศรษฐศาสตร์มหภาคยุคใหม่ เคยกล่าวไว้ว่ามนุษย์ใช้ “สัญชาตญาณสัตว์ป่า” ในการตัดสินใจเชิงเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะด้านการลงทุนต่างๆ

ตัวอย่างที่เห็นง่ายสุดของ “สัญชาตญาณสัตว์ป่า” ในการลงทุนคือกระแส “กระต่ายตื่นตูม” นั่นคือ เมื่อใดที่ผู้คนมีความเชื่อมั่นมาก (เกินไป) ว่า ราคาสินทรัพย์หนึ่งๆ จะพุ่งสูงขึ้น ก็จะเข้าลงทุน/ซื้อสินทรัพย์นั้นๆ ซึ่งจะทำให้ราคาสินทรัพย์เหล่านั้นพุ่งสูงขึ้นจริงๆ และยิ่งทำให้ผู้คนแห่เข้าไปซื้อตามกันอีก (ตามศัพท์เศรษฐศาสตร์เรียกว่า Herding Behavior หรือ พฤติกรรมฝูงสัตว์) จนเกิดภาวะฟองสบู่ อันเป็นภาวะที่ราคาพุ่งขึ้นเกินปัจจัยพื้นฐาน

ในทางกลับกัน หากผู้คนเกิดความตื่นกลัวในภาวะฟองสบู่ และแห่ขายสินทรัพย์แล้วนั้น ก็จะทำให้ราคาตกต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานมาก หรือเกิดภาวะฟองสบู่แตกได้

ภาวะดังกล่าวขัดกับหลักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ที่เชื่อว่าคนมีเหตุมีผล และใช้เหตุผลเข้ามาตัดสินใจในการลงทุน ฉะนั้นราคาสินทรัพย์ไม่ว่าจะในเวลาใดๆ ถือเป็นราคาที่สมเหตุสมผลเสมอ (เพราะถ้าราคาเกินความสมเหตุสมผลหรือเกิดฟองสบู่ขึ้น คงไม่มีใครซื้อ) ซึ่งหากเป็นจริง ก็จะไม่เกิดภาวะฟองสบู่ขึ้นมาเลย

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว เรารู้กันดีว่าภาวะฟองสบู่นั้นมีอยู่จริง หาไม่แล้ว จะเกิดภาวะวิกฤติ ที่เกิดจากฟองสบู่แตกขึ้นมาได้อย่างไร

ดังนั้น ความเข้าใจถึง “สัญชาตญาณสัตว์ป่า” จึงเป็นส่วนเติมเต็มให้กับความเข้าใจในเศรษฐศาสตร์ และความเป็นไปของเศรษฐกิจมากขึ้น เช่น สาเหตุที่ทำให้การว่างงานสูง หรือเศรษฐกิจซึมยาวหลังเกิดวิกฤติ รวมถึง วิธีการป้องกัน หรือพลิกฟื้นเศรษฐกิจ หลังวิกฤติ

ก่อนจะเข้าใจถึงความเป็นไปของเศรษฐกิจให้มากขึ้น ก็จำเป็นต้องเข้าใจถึงสัญชาตญาณสัตว์ป่าในตัวมนุษย์อย่างถ่องแท้ก่อน

ขณะที่เคนส์พูดถึงสัญชาตญาณสัตว์ป่าในตัวมนุษย์อย่างกว้างๆ ว่าเป็นกระแสความ “ตื่นตูม” ในการลงทุน แต่อเคอร์ลอฟ และชิลเลอร์ กลับกำหนดลงไปว่า นอกจากภาวะตื่นตูมที่เกิดจากความเชื่อมั่นที่มากหรือน้อยเกินไปแล้วนั้น สัญชาตญาณสัตว์ป่ายังมีองค์ประกอบอีก 4 ประการได้แก่ จิตอกุศล (Corruption and Bad Faith) ความยุติธรรม (Fairness) เงินลวงตา (Money Illusion) และเรื่องราว (Stories)

ในส่วนของจิตอกุศลนั้น หาใช่ความคิดที่นำไปสู่การกระทำที่ผิดกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่อาจเป็นความคิดที่จะทำการใดๆ ด้วยเจตนาที่หลบเลี่ยง หรือปกปิดพฤติกรรมอันไม่ถูกต้อง

พฤติกรรมดังกล่าว มักมาพร้อมกับภาวะฟองสบู่ เนื่องจากนักธุรกิจ นักลงทุน หรือผู้ที่มีจิตอกุศล ต้องการได้ผลประโยชน์จากการลงทุนนั้นๆ ให้มากที่สุด ซึ่งภาวะฟองสบู่บวกกับพฤติกรรมที่เกิดจากจิตอกุศล มักนำไปสู่วิกฤติในที่สุด

ตัวอย่างของพฤติกรรมเหล่านี้ มองเห็นได้จากวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐ 3 ครั้งหลังสุด ได้แก่ ในช่วงปี 2534 ปี 2544 และล่าสุดปี 2551

วิกฤติสถาบันการเงินสหรัฐในปี 2534 (ที่เรียกว่า Saving and Loan Crisis) นั้น เกิดจากการที่ ทางการสหรัฐตั้งสถาบันประกันเงินฝากขึ้นมา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียเงินฝาก หากเกิดกรณีสถาบันการเงินล้มขึ้นมา

แต่การเคลื่อนไหวข้างต้น กลับกระตุ้นให้สถาบันการเงินขนาดเล็กของสหรัฐมีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง (Moral Hazard) มากขึ้น โดยลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างพันธบัตรขยะ (Junk Bond) และนำไปสู่วิกฤติในที่สุด

ส่วนในปี 2544 นั้น สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ตลาดวอลล์สตรีทตกต่ำมาก และลามไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจนั้น คือ การล่มสลายของเอนรอน (Enron) หนึ่งในห้าบริษัทด้านพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในโลก ผลจากการตกแต่ง และใช้เทคนิคทางบัญชี เพื่อให้เกิดรายได้เกินจริงในอนาคต จนทำให้บริษัทล้มละลายในที่สุด

ขณะวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ครั้งหลังสุด เกิดจากความคิดอันแยบยลของบรรดา “วิศวกรทางการเงิน” จากสถาบันการเงินต่างๆ ที่ต้องการหลบเลี่ยงมาตรการของทางการ ซึ่งกำหนดให้สถาบันการเงินเหล่านี้ถือสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ (วัดจากอันดับเครดิตที่ดี เช่น AAA เป็นต้น) จึงเล่นแร่แปรธาตุ โดยนำสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ต่างๆ มา “พูล” รวมกันเป็นก้อน และออกตราสารหนี้ ที่ใช้สินเชื่อเหล่านี้เป็นตัวค้ำประกัน

จากนั้นก็ให้บริษัทจัดอันดับเครดิต เช่นมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส และเอส แอนด์ พี ตีตราว่าตราสารดังกล่าว มีอันดับความน่าเชื่อระดับ AAA เพื่อจะได้นำตราสารเหล่านี้มาขายทำกำไรอีกต่อหนึ่ง และตราสารประเภทนี้ ก็กลายเป็นต้นกำเนิดวิกฤติซับไพร์ม เพราะเมื่อฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตก ปัญหาก็ลามไปถึงภาคการเงิน ผ่านตราสารเหล่านี้

สำหรับสัญชาตญาณสัตว์ป่า 2 ตัวหลังนั้น อเคอร์ลอฟ และชิลเลอร์มองว่าการผสมผสานระหว่าง 2 ปัจจัยนี้ ทำให้อัตราการว่างงานพุ่งสูง หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ และลดลงยาก

“ความยุติธรรม” ตัวแรกนั้น เป็นพื้นฐานสำคัญด้านการตัดสินใจ โดยมองว่า ในการตัดสินใจทางธุรกิจแต่ละครั้งนั้น มนุษย์ไม่ได้ใช้เหตุผล 100% แต่จะใช้ความรู้สึกร่วมด้วย และจะคิดว่าทางเลือกแต่ละข้อนั้น “คุ้ม” หรือ “แฟร์” หรือไม่

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น แม่บ้านที่ตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคแต่ละครั้งนั้น นอกจากจะเปรียบเทียบราคาของแต่ละยี่ห้อแล้ว บางครั้งปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ตัดสินใจเลือกซื้อแต่ละยี่ห้อนั้น ก็คือ ของแถมหรือของกำนัลต่างๆ โดยลืมคิดไปว่า ในการตั้งราคาแต่ละครั้ง ผู้ผลิตได้คำนวณราคาของแถมรวมไปด้วยแล้ว

ในส่วนของภาวะ “เงินลวงตา” หรือ Money Illusion นั้น ได้แก่ การที่ผู้คนมักลืม ที่จะนำเรื่องการเปลี่ยนแปลงของราคาในอนาคต (ซึ่งก็คือเงินเฟ้อนั่นเอง) มาเป็นปัจจัยร่วมในการตัดสินใจด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากภาวะเงินเฟ้อในขณะนั้นสูงไม่มากนัก

พฤติกรรมดังกล่าว เป็นสาเหตุให้ผู้คนบางประเภทชอบที่จะลงทุนในพันธบัตรหรือหุ้นกู้ หรือแม้กระทั่งฝากออมทรัพย์ที่ให้ดอกเบี้ยต่ำเตี้ย โดยลืมคิดไปว่าอาจขาดทุนเมื่อคำนวณเงินเฟ้อรวมด้วย

ภาวะ “เงินลวงตา” ยังสามารถอธิบายถึงสาเหตุที่นักการเมือง ที่ครองอำนาจอยู่นั้น มัก “ลด แลก แจก แถม” ผ่านนโยบายต่างๆ ก่อนการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการขึ้นค่าจ้าง เงินเดือน รวมถึงนโยบาย “ประชาวิวัฒน์” ต่างๆ ซึ่งจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อขึ้นในระยะสั้น เพราะนโยบายดังกล่าว จะทำให้มีเงินในระบบมากขึ้น แต่ข้าวของต่างๆ ไม่ได้เพิ่มตามไปด้วย

ในระยะสั้น ผู้คนจะถูก “เงินลวงตา” ไปว่าร่ำรวยขึ้น (เพราะได้เงินมากขึ้น) จึงใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นเกินกว่าความเป็นจริง และทำให้อัตราว่างงานต่ำกว่าความเป็นจริง (นักเศรษฐศาสตร์เรียกความสัมพันธ์ผกผันระยะสั้นระหว่างเงินเฟ้อและการว่างงานนี้ว่า Phillip Curve)

แต่เมื่อหลังเลือกตั้งไปแล้ว ผู้คนจะเริ่มตระหนักว่าถูกหลอก เพราะที่ร่ำรวยขึ้นเป็นเพียงแค่ “เงิน” ที่ถูกปั๊มให้เพิ่มขึ้น ขณะที่ผลิตผลทางเศรษฐกิจไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในอนาคต แต่เศรษฐกิจจะกลับมาตกต่ำอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี หากมองในมุมตรงกันข้าม การผสมผสานของสองปัจจัย ก็เป็นส่วนสำคัญทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ รวมถึงอัตราว่างงานที่สูงและลดลงยาก อาทิเช่น กรณีของสหรัฐ เนื่องจากการที่ผู้คนมีภาวะ “เงินลวงตา” ว่า แม้เศรษฐกิจจะตกต่ำลง (ซึ่งทำให้เกิดภาวะเงินฝืดหรือเงินเฟ้อเป็นลบ) แต่เงินเดือนหรือค่าจ้างที่ได้ ไม่ควรจะลดลงตามไปด้วย และหากนายจ้างคิดจะลดเงินเดือน ก็ถือว่า “ไม่แฟร์” กับลูกจ้าง และจะทำการประท้วงหรือ “สไตรค์” ซึ่งเป็นสาเหตุให้เงินเดือนรวมถึงค่าจ้างต่างๆ ลดลงยาก

เมื่อค่าจ้างลดลงยากแล้ว นายจ้างจึงมักจะ “เลิกจ้าง” หรือปลดคนงานส่วนเกินออก และเลือกเฉพาะพนักงานที่มีประสิทธิภาพสูง โดยให้เงินเดือนเท่าเดิมแทน ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายด้านค่าจ้างโดยรวมลดลง แม้จะไม่ต้องลดเงินเดือนพนักงานทั้งหมดก็ตาม

นอกจากนี้ เมื่อปลดคนงานออกแล้ว การที่จะจ้างงานใหม่เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวก็ทำได้ยาก เพราะจะต้องมีการฟื้นฟูทักษะในการทำงานใหม่ ซึ่งกินเวลานาน ทำให้อัตราว่างงานจึงยังอยู่ในระดับสูงและลดลงยาก แม้ว่าเศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวแล้วก็ตาม

เมื่อเข้าใจถึงสัญชาตญาณสัตว์ป่าทั้ง 5 ตัวแล้ว คำถามถึงมาตรการป้องกัน และแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจ จึงสามารถอธิบายในบริบทสัญชาตญาณสัตว์ป่าได้ไม่ยาก โดยสามารถอธิบายรากเหง้าแห่งวิกฤติครั้งนี้ได้ดังนี้

ในขั้นแรก ความเชื่อมั่นที่มากเกินไป นำไปสู่ภาวะฟองสบู่ในตลาดอสังหาฯ สหรัฐ ซึ่งเมื่อรวมกับจิตอกุศลที่ทำให้เกิดตราสารอนุพันธ์ทางการเงิน ยิ่งทำให้ฟองสบู่ลุกลามจากภาคอสังหาฯ สู่ภาคการเงินยิ่งขึ้น และเมื่อฟองสบู่อสังหาฯ แตก ก็ทำให้ความเชื่อมั่นตกต่ำลง จนเกิดวิกฤติการเงิน และลามสู่ภาคเศรษฐกิจจริงในที่สุด

ยิ่งกว่านั้น ความรู้สึก “ไม่แฟร์” และภาวะเงินลวงตา ก็ยิ่งทำให้การว่างงานสูงและเศรษฐกิจตกต่ำยาวนาน

ดังนั้น หนทางป้องกันและแก้ไขวิกฤติ ในส่วนของภาวะฟองสบู่ ที่ธนาคารกลางจะต้องทำในอนาคต คือต้องรีบขึ้นดอกเบี้ย หรือออกมาตรการคุมเข้มภาคเศรษฐกิจใดๆ ที่ส่งสัญญาณถึงการเกิดภาวะฟองสบู่ อย่างเช่น ที่ธนาคารกลางจีน และไทย ออกมาตรการคุมเข้มด้านอสังหาฯ มากขึ้น หลังตรวจพบสัญญาณของการเกิดภาวะฟองสบู่

ส่วนพฤติกรรมจิตอกุศลนั้น ทางการจำเป็นต้องคุมเข้มการตรวจสอบทางการเงินให้มากขึ้น ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ มีส่วนทำให้รัฐบาลสหรัฐออกกฎหมาย “ยกเครื่อง” และ “คุมเข้ม” ภาคการเงินขนานใหญ่ไปเมื่อปีที่แล้ว รวมถึง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่คุมเข้มภาคการเงินมากขึ้นหลังวิกฤติปี 2540

สำหรับเรื่องของการขาดความเชื่อมั่น หลังเกิดภาวะฟองสบู่แตกนั้น สิ่งแรกสุดที่ทางการต้องแก้ไขคือการเข้า “ห้ามเลือด” เนื่องจากเมื่อตลาดขาดความเชื่อมั่นแล้ว ภาคการเงินจะเป็นอุตสาหกรรมที่แรกที่เจอกับผลกระทบ อันจะทำให้ตลาดการเงินติดขัด สถาบันการเงินไม่ปล่อยกู้ระหว่างกัน และลูกค้า จนทำให้เกิดภาวะสินเชื่อตึงตัว (Credit Crunch) ขึ้นมา

ดังนั้น ทางการจึงต้องอัดฉีดเม็ดเงินอย่างไม่จำกัดจำนวนในระยะสั้น ซึ่งเป็นเหตุผลของการทำนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ครั้งแรก รวมไปถึงการที่กระทรวงการคลังสหรัฐ ในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช อัดฉีดเงินเพิ่มทุนให้กับสถาบันการเงินต่างๆ ผ่านกองทุนทีเออาร์พี (Trouble Asset Relieve Program) หลังเลแมน บราเดอร์ส ล้มละลาย

ในส่วนของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ยาวนานที่เกิดจาก “เงินลวงตา” และ “ไม่แฟร์” ซึ่งทำให้การว่างงานสูงนั้น สิ่งที่ทางการสหรัฐทำได้คือการอัดฉีดเงินเข้าไปอีก (ผ่านมาตรการคิวอี 2) ในความพยายามที่จะทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และเริ่มจับจ่ายมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การผลิต และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น

จะเห็นได้ว่า มาตรการป้องกันและแก้ไขวิกฤติทั้ง 4 ประการ เป็นการแก้ปัญหาในส่วนของ “สัญชาตญาณสัตว์ป่า” ซึ่งหากจะวัดกันตามเนื้อผ้าแล้ว ก็ถือได้ว่าเป็นการป้องกันและแก้ไขที่ตรงจุด เพราะแก้ที่สาเหตุประการหนึ่ง ที่ทำให้เกิดวิกฤติ

แต่หากพิจารณาภาพรวมแล้ว จะเห็นได้ว่าทางการสหรัฐ ยังไม่ได้แก้วิกฤติที่ “ปัจจัยพื้นฐาน” เลย ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจประเทศ ลดการบริโภคที่ฟุ้งเฟ้อ และหันมาเก็บออม รวมถึงสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ที่เกื้อหนุนให้เกิดการผลิตมากขึ้น เพราะนโยบายที่ผ่านมานั้น เป็นเพียงการสร้างฟองสบู่ใหม่ เพื่อกลบฟองสบู่เก่าเท่านั้น

ดังนั้น หากสหรัฐจะแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ก็จะใช้วิธีการแก้ไขแบบ “สัญชาตญาณสัตว์ป่า” แต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องแก้ที่ปัจจัยพื้นฐานด้วย

กล่าวโดยสรุป ก็คือ แม้ “สัญชาตญาณสัตว์ป่า” จะทำให้เราเข้าใจความเป็นไปของโลกเศรษฐกิจได้ดียิ่งขึ้น แต่หากต้องการเข้าใจถึงต้นเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจอย่างถ่องแท้ รวมถึงดำเนินการป้องกันและแก้ไขได้อย่างถูกจุด ก็จำเป็นต้องนำปัจจัยทางจิตวิทยา อย่างสัญชาตญาณสัตว์ป่า
และปัจจัยพื้นฐานมาผสมผสานกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น