ดู ๆ มันเป็นเรื่องแปลก สำหรับที่ไม่ค่อยทราบประวัติความเป็นมา
ญี่ปุ่น บุกจีน ทำซะ.... นะครับ เค้าบาดหมางกันมาหลาย ศัตวรรษแล้ว
กับ ฟิลิปิน ก็ย่อยยับพอกัน...
แต่กลับไทย ทำมัย ค่อนข้างประณี ประนอมและให้ความอดกลั่นมาก ๆ
ทั้ง ๆ ที่จะหักเอาเสีย ก็ไม่ได้ยากส์ลำบากอะไร
ต้องย้อนกลับไปดู ความสัมพันธ์ระหว่าง ไทย - ญี่ปุ่น
นี้คือบทความ เล็ก ๆ เพี่ยงส่วนหนึ่ง ยังมีอีกหลายส่วนด้วยกัน
เช่น ไทย งดออกเสียงประนาม ญี่ปุ่น ในกรณี บุกแมนจูเลีย
********************************************
จากบทความ โดย สรศัลย์ แพ่งสภา
สาวความยืดซักนิดคงไม่กระไร ในสงครามโลกครั้งที่ 1 เยอรมันของไกเซอร์จมธรณีไปตามระเบียบแต่แล้วสามารถลุกขึ้นฮึ่ดฮั่ดฟึ่ดฟั่ดได้อีก คราวนี้มาในมาดเผด็จการเต็มตัว จอมเผด็จการหรือท่านผู้นำ หรือ ฟือเรอห์ คือ "อดอล์ฟ ฮิตเล่อร์" หนวดกระจุก พาพรรคนาซีปลุกอินทรีย์เหล็กเยอรมัน ขึ้นมาแผ่ปีกผงาดวาดลวดลาย ฟาดหัวฟาดหางหนักขึ้นเป็นลำดับราว พ.ศ. 2475 ศัตรูคู่ศึกเหล่าที่เคยร่วมงานสหบาทา พากันหนาว ๆ ร้อน ๆ
สหายสนิทมิตรคู่ใจของฮิตเล่อร์ ที่มีตำแหน่งเป็นรองฟือเรอห์ด้วยนั้น ชื่อ "แฮร์มันน์ วิลเฮล์ม เกอริ่ง" โลกรู้เขาในชื่อ "จอมพล เกอริ่ง ขุนศึกลุฟวัฟเฟ่" กองทัพอากาศเยอรมันที่สำแดงเดชเผายุโรป ซะเกือบครึ่งทวีป เป็นหัวหอกเปิดสงครามสายฟ้าแลบ (Blitzkreig) และก็เค้าคนนี้แหละเป็นต้นตำรับ กระเบือบิน ยุทธการขีปนาวุธไงล่ะครับ ปล่อยจรวด วี-1 วี-2 ถล่มเกาะอังกฤษ เล่นเอาวิ่งหัวซุกหัวซุนแทบเป็นบ้าเป็นหลัง
เมื่อเกอริ่งได้ยศจอมพลหรือจอมพลอากาศนี่น่ะ กองทัพเยอรมันมีอยู่หลายจอมพลแล้ว อย่างเช่น จอมพล บลอมแบร็ก แบร์นาดี ฟอนพริตซ ไคเตล และอื่น ๆ ต่อมาก็เพิ่ม "รอมเมล" จิ้งจอกทะเลทราย ต่อแถวเข้ามา ว่ากันตามหลักสากล ยศจอมพลถือว่าเป็นเกียรติสูงสุดของกองทัพ ลงเป็นจอมพล ก็จอมพลเท่ากันละ ไม่มีใหญ่เล็กกว่ากัน นอกจากอาวุโส เกอริ่งรู้ทิศทางทำงานถูกเส้นใหญ่ท่านผู้นำ ฮิตเล่อร์ขนาดหนัก ถึงขั้นนอนละเมอหรือเปล่าไม่รู้ได้ ฟือเรอห์เกลอกันอยากสมนาคุณให้จุใจ แต่ยศศักดิ์อัครฐานก็ตันบ้องตื้อซะแล้วที่ยศจอมพล เอาไงดีหว่า ผู้นำเผด็จการนาซีซะอย่าง ต้องซ่าได้ ตั้งยศจอมพลขึ้นอีกขั้นซิวะ ให้มันใหญ่เหนือจอมพลทั้งหลายทั้งปวงประดามี ใครจะทำไม ว่าแล้วฮิตเล่อร์ก็ประกาศตั้งยศ "จอมพลแห่งไร้ช" หรือ "จอมพลแห่งอาณาจักรไร้ชที่ 2" ข้างผมน่ะคิดว่าเรียกว่า "จอมพลแห่งจอมพล" เข้าไส้กว่า แต่จะให้เก๋เท่เข้าท่าเข้ายุคสมัยละก็ เกอริ่งคงจะชอบอันนี้มากกว่า "จอมพล (พิเศษ) แฮร์มันน์ เกอริ่ง" ยังไงๆ "พิเศษ" ก็แพงกว่าธรรมดา
อย่างน้อย 3 บาท ปริมาณและคุณภาพก็งั้นๆ แหละครับ – แฮ่ม แต่ก็สำคัญอยู่ละ สำหรับคำว่า "พิเศษ" ในวงเล็บ ..ตูนี้มิใช่จอมพลธรรมดานะเฟ้ย จะบอกให้
นักเรียนนายทหารไทย ต้องออกจากเยอรมัน ตามคำสั่งกระทรวงกลาโหม เมื่อเยอรมันเปิดสงคราม ภายหลังเราประกาศสงครามกับเยอรมัน สิ้นยุคของราชวงศ์โฮเฮนโซลเลิร์น ขาดการติดต่อกันไป ชั่วระยะเวลาหนึ่ง เมื่ออาณาจักรไร้ช ที่ 2 ตั้งตัวติด ไทยกับเยอรมันก็เปิดสัมพันธไมตรีกันใหม่ นาซีฮิตเล่อร์เริ่มเขย่าโลก ไทยส่งนักเรียนออกไปศึกษาที่เยอรมันอีก
กลุ่มแรกไปประมาณ พ.ศ. 2471-72 เรียนด้านนิติศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ในจำนวนนี้ มี ฯพณฯ ดร. ประกอบ หุตะสิงห์ องค์มนตรี ศ.ดร. หยุด แสงอุทัย พล.ท. อัมพร ศรีไชยยันต์ ล้วนปริญญาเอกทางนิติศาสตร์ทั้งนั้น ทางวิทยาศาสตร์ก็มี ดร. จ่าง รัตนะรัต และอีกหลาย ๆ ท่าน ฯพณฯ ดร. ประกอบ เล่าว่า เคยพบ แฮร์มันน์ เกอริ่ง หลายครั้งในงานเลี้ยงรับรองที่สถานทูตไทย ตอนนั้นยังมียศเพียงระดับนายพล ยังไม่ขึ้นถึงจอมพล หรือจอมแห่งจอมพล ที่ถือคทางาช้าง ทั้งดุ้นสลักเสลาวิจิตร เมื่อพบกันครั้งแรกรู้ว่าเป็นคนไทยก็ดีใจ ครั้งหลัง ๆ ต่อมาพอเจอหน้าเป็นปราดเข้ามาทั้งที่ขณะนั้น เกอริ่ง ใหญ่โตคับเยอรมันจนเกือบกระฉอกออกไปนอกบ้านอยู่แล้วส่วน ดร.ประกอบ กับคนอื่นเป็นเพียงนักเรียนมหาวิทยาลัย
เกอริ่ง ชอบพอรับนับถือคนไทยสนิทใจ ว่ามีนิสัยใจคอโอบอ้อมมีความเป็นเพื่อนแท้ เป็นนักกีฬาและนักสู้ มักจะพูดถึงและถามถึงชื่อเหล่านี้ – พจน์ - น้อม - ชิต – เจริญ - สอาด - ปริ้นซ์นิล - ปริ้นซ์ตรี - ดิ่น - เทพ - จะอะไรซะอีกล่ะครับ เค้ารุ่นเดียวรุ่นใกล้เคียงกัน พ.ศ. 2451-53 เกอริ่ง ถือว่าเป็นเพื่อนสนิท ตอนเรียนสำเร็จบางคนก็อยู่แถวเดียวกันเมื่อเข้าเฝ้ารับพระราโชวาท ไกเซอร์ วิลเฮล์ม ที่ลานพระราชวัง กรุงเบอร์ลิน นักเรียนนายร้อยเยอรมันรุ่นไกเซอร์กลับมาเป็นใหญ่เป็นโต บางคนดังทะลุฟ้าเมื่อ พ.ศ. 2475
เกอริ่งเคยมีจดหมายติดต่อกับเพื่อนเก่าในเมืองไทย เชื่อว่าเป็นเช่นนั้น เพราะในพ.ศ. 2478 ได้เห็นจดหมายของ เกอริ่ง ส่งผ่านสถานทูตเยอรมันประจำประเทศไทยถึง พระอินทร์สรศัลย์ (นายสอาด - บิดาของผู้เขียน) ถามสารทุกข์สุกดิบ และว่าถ้าจะส่งลูกชายซักคนไปเข้าโรงเรียน นายร้อย ก็จะรับจัดการทุกอย่างให้ในเยอรมัน เกอริ่งน่าจะเขียนถึง พลตรีพระศักดาพลรักษ์ ด้วยเป็นอย่างยิ่ง สองท่านนี้สนิทสนมกันมากทีเดียวไม่เขียนมาก็เกินไปละ ทำไมเรอะครับ เดี๋ยวจะว่าให้ฟัง
ผู้ที่ได้รับยศนายทหารเยอรมัน เมื่อกลับมาเมืองไทยแล้วทางเยอรมันยังถือว่าเป็นนายทหารนอกกอง สังกัดหน่วยที่เคยประจำอยู่ คนไทยกลุ่มที่ ขเด็ทเกอริ่ง เอ่ยถึงนั้นมีหลายท่าน มีความสามารถ พิเศษดีเด่นระดับทีมโรงเรียน - ฟุตบอลล์ ยิมนาสติก ขี่ม้า ฟันดาบ ยุคนั้น "ขเด็ทพจน์" (พล.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา) "ขเด็ทเทพ" (พ.อ. พระยาทรงสุรเดช) "ขเด็ทชิต" (พ.อ.พระยาสุรเดชรณชิต) เก่งทางฟันดาบทั้ง เซเบอร์ (SABRE หรือ SABER) และ เอเป้ (EPEE)
เซเบอร์เป็นดาบประเภทใบดาบเล็กมีคม ฟันเอาเซเป็นแผลเบ้อได้ด้วย นอกจากแทงทะลุพุง ใบดาบ สบัดไหวแบบสปริงได้เล็กน้อย โกร่งดาบโค้งหุ้มมือ กติกาการดวลจำกัดให้แทงฟันเป้าเฉพาะลำตัว คู่ต่อสู้เพียงจากระดับเอวสูงขึ้นไปได้เพียงไหล่
เอเป้ ใบดาบเล็กเรียวปลายแหลมใช้แทงอย่างเดียว ไม่มีคม ใบดาบไหวตัวแบบสปริงได้มาก โกร่งดาบทรงกะลา แทงคู่ต่อสู้ได้ไม่จำกัดเป้าหมาย
รู้อยู่แค่นี้ละครับ ผมน่ะเป็นแต่ชักดาบ ไม่เคยฟัน กติกายุคนี้เป็นไงมั่งไม่ทราบจริงๆ ดาบฝึกมันก็ ดาบฝึก จะให้ทั้งแหลมทั้งคมแบบของจริงไงไหว ตานี้คนเยอรมันที่เป็นทหารพระเจ้าจักรพรรดิ น่ะต้องกล้าหาญ ยิ่งมีเครื่องหมายแสดงความกล้าหาญด้วยก็ยิ่งเป็นที่นับถือ กรณีนี้จึงเกิดค่านิยม ในอันจะสร้างแผลจากการต่อสู้ให้ปรากฏแก่สายตาผู้พบเห็นเอาไว้อวดว่า ข้านี่ละวุ้ย นักสู้บู๊แหลก มาแล้ว ยิ่งแผลจากการดวลดาบอยู่ในตำแหน่งที่เห็นได้จะ ๆ ซ่ากรี๊ดอย่าบอกใครเชียว อีสาวขอเดินเคียงทีเดียวละ ขเด็ทบางกลุ่มก็อยากกร่างเหมียนกัลล์
คณะอยากซ่าเค้าเล่นกันยังงี้ครับ ขึ้นแรกไปกะลิ้มกะเหลี่ยกระซิบขอครูฝึกขออนุญาต จะฟันกัน ด้วยความกระสันอยากได้แผลโก้ๆ หรือจะเพราะเป็นคู่อริเหม็นหน้าอยากฟาดกันให้เห็นดำเห็นแดง ก็ไม่ชัด ครูฝึกคนไหนบ๊อง ๆ มีอุดมคติเดียวกันก็มักสนับสนุนสนองตัณหา เอาเล้ย – พระเดชพระคุณจะช่วยดูต้นทางให้ เป็นกรรมการให้- ดวลกันแบบนี้ต้องใช้ดาบเอเป้โดยใช้หน้ากากเปิด หน้ากากฝึก
ฟันดาบปกติเป็นลวดเหล็กตะแกรงถี่คลุมตลอดใบหน้า ส่วนหน้ากากเปิดนี่ป้องกันเฉพาะตาจมูกปาก เปิดโล่งตั้งแต่โหนกแก้มลงมา ส่วนดาบที่ใช้ก็ตัดปุ่มกลมที่ปลายออก คงมีคมพอเฉี่ยวเนื้อหนังเป็นแผล ได้เลือดสมใจ ถึงจะเป็นดาบกึ่งจริง อันตรายมันก็กึ่งจริงเหมือนกัน ฉะนั้นกติกาการดวลต้องเข้มงวด มีพี่เลี้ยงฝ่ายละ 2 คน เอาไว้ช่วยทำแผลหรือคอยฉุดคอยรั้งเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดนฟาดหน้าแหก
เกิดยั๊วซี้ดีเดือดเลือดพล่านไม่ยอมลดดาบตามสัญญาณห้าม
สมัยนั้นฝึกฟันดาบในสนามโล่ง ไม่ใช่ในโรงพละ ไม่มีสายผูกเอวจำกัดระยะรุกไล่ ทั้งสองฝ่ายยืน ในท่ายกดาบเคารพ กรรมการบอก "ฟัน" ก็เข้าประดาบทันที ผู้ช่วยกรรมการหรือจะว่ากรรมการจับเวลา ก็ได้ นับช้าจาก 1 ถึง 15 ก็คงประมาณ 15 วินาที บอก "หยุดฟัน" ต้องหยุด แล้วถอยไปยืนในตำแหน่ง เดิมในท่ายกดาบเคารพ กรรมการบอก "ฟัน" ใหม่ จะประดาบกันซักกี่รอบก็ได้ตามใจโก๋ นอกจาก
ใครโดนเข้าเลือดอาบ ก็หยุดโดยปริยาย
เยอรมันเล่นได้ไทยก็เล่นด้วย กลุ่มที่ ขเด็ทเกอริ่ง เอ่ยชื่อมานั่นน่ะ เอากับเขาทั้งนั้น ฝีมือขึ้นแนวหน้าซะด้วย เอเซียอีกชาติหนึ่งที่เยอรมันรับเข้าเรียนนายร้อยก็ คือ ญี่ปุ่น แกเข้ามาป้วนเปี้ยนอยู่ด้วย ชื่อ "ฮิเดกิ โตโจ" ชอบประดาบกับ ขเด็ทเกอริ่งและกลุ่มไทย เล่นกับ "ขเด็ท พจน์" และ "ขเด็ท น้อม" แบบยืดเยื้อ เรียกว่าคุ้นกันดีมาก
ที่ว่าแต่แรกว่า เจ้าคุณพหลฯ และ เจ้าคุณทรงฯ สหายสนิท มีฝีมือในเชิงดาบทั้งคู่นั้น เมื่อกลับมา เมืองไทยแล้วก็ไม่ได้ทิ้งกีฬาที่รักนี้ ยังพบปะซ้อมมือกันเป็นประจำ ข้อนี้ผมรู้ดี เพราะเคยเห็น แม้ชั้นยศท่านจะขึ้นไปถึงพันเอกแล้วก็ยังเล่นกันอยู่ในบางโอกาส บางครั้งในกลุ่มนักเรียนเยอรมัน เกิดขัดคอกัน เจ้าคุณพหลฯ มักจะพูดเคยปากสำหรับเพื่อนใกล้ชิดอย่างเจ้าคุณทรงฯ
"ยังงี้มาฟันกับข้าดีกว่าวะ"
ก็แค่นั้น –ไม่มีอะไร เพราะเป็นความเคยชินของท่านทั้งสอง เมื่อมาร่วมกันเป็นหัวหน้าคณะราษฎร เปลี่ยนการปกครองสำเร็จ ทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น ความเห็นขัดแย้งก็ต้องมี เถียงกันไปมา เจ้าคุณพหลฯ ก็ยังคงเคยปากอย่างเดิม
"ยังงี้มาฟันกับข้าดีกว่าวะ"
ไม่มีอะไรอยู่ดี คงมีแต่เสียงพูด แต่ผมได้เคยอ่านหลายบทความที่กล่าวถึงความขัดแย้งระหว่าง "พระยาพหลฯ กับ พระยาทรงฯ" ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ว่า โต้เถียงรุนแรงถึงขึ้นคว้าดาบไทยไล่ฟันกันรอบบ้าน อะไรไฉนจะขนาดนั้น
กีฬาอีกประเภทหนึ่งที่มีน้อยคนชอบเล่น คือลูกตุ้มเหล็ก เป็นลูกเหล็กกลมแบบกระสุนปืนใหญ่โบราณ มีหูสำหรับจับหนึ่งหู ใช้แกว่ง – เหวี่ยง – โยน – รับ - หรืออะไรก็แล้วแต่ เป็นอุปกรณ์กายบริหาร น้ำหนักมาตรฐาน 7.5 กับ 10.0 กิโลกรัม เล่นคนเดียวก็ได้ ด้วยวิธีโยนรับ หรือเหวี่ยง หรือยก คณะกร่างหาวิธีผาดแผลงจนได้ไม่ต้องห่วง ใช้นิ้วกลางนิ้วเดียวเกี่ยวหูลูกตุ้มเหล็กยกขึ้นยืนตรง – เหยียดแขนตรงขนานพื้น ใครทนอยู่นานที่สุดก็ชนะ หรือจะใช้วิธียกขึ้นลงนับจำนวนครั้งก็ไม่เกี่ยง ให้สนุกกว่านั้นก็โยนรับสลับไปมาระหว่างสองคน รับด้วยนิ้วกลางนิ้วเดียวเกี่ยวหูให้อยู่แล้วพยุงขึ้น เหยียดแขนตรงขนานพื้น เรื่องนี้ ขเด็ทพจน์ บ่เคยยั่น สู้ยิบตาจนนิ้วซ้นมือบวมด้วยลูกเหล็กน้ำหนัก 10.0 กก. ไม่เคยแพ้ใครตัวใหญ่ตัวเล็ก จนเป็นที่เลื่องลือ
บุรุษผู้แก้เซ็งแบบเขย่าโลก ด้วยการเปิด "ไดโตเอะเซนโซะ" สงครามมหาเอเชียบูรพา พาฉิบหายวายวอดกันทั่วรวมทั้งตัวเอง นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่ประกาศสงครามชื่อ "พลเอก โตโจ" นั้นมิใช่ใครอื่น - ก็ "ขเด็ท ฮิเดกิ โตโจ" ที่ว่ามาเมื่อกี้นี่แหละ
พล.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นผู้แทนรัฐบาลไทย ไปเยี่ยมญี่ปุ่นเป็นทาง ราชการ พล.อ. ฮิเดกิ โตโจ เป็นนายรัฐมนตรี ดังไปทั้งโลก พล.ต. พระศักดาพลรักษ์ เป็นทูตฝ่ายทหารบก ประจำกรุงโตเกียว
เกลอเก่าเจอกัน – ขเด็ทพจน์ – ขเด็ทโตโจ - ขเด็ทน้อม สะดวกโยธิน ใช้ภาษาเยอรมันเป็นภาษากลางยศสูงขึ้นเท่าไหร่สังขารก็ถอยโรยลงเท่านั้น เจ้าคุณพหลฯ ขณะนั้นมีโรคหืดประจำตัว เมื่อมีโอกาส พบกันเป็นการส่วนตัวก็อดรื้อฟื้นความหลังครั้งเบอร์ลินไม่ได้ ขเด็ทโตโจ ท้ายกลูกเหล็กขึ้นมาอีก10.0 กิโลกรัมเท่าเดิม ขเด็ทพจน์เจ้าเก่ามีรึจะยอมแพ้ สู้แค่กระดูกนิ้วกลางเคลื่อน ข้อมือด้วยหรือเปล่าไม่รู้ รู้แต่ไม่แพ้ครับ แต่ก็ร้องถึงหมอ ข่าวนี้ดังอีก – พระยาพหลฯ ไม่ยอมเสียเชิง งานนี้ ขเด็ทเกอริ่ง มาร่วมวงอีกซักคนก็จะดี ขเด็ทน้อม คงหายเหงา พล.ต. พระศักดาพลรักษ์ ติดอยู่ที่ญี่ปุ่น จนตลอดสงคราม พร้อมด้วยคุณหญิงและบุตรสาวเล็ก ๆ 2 คน ความเป็นอยู่ในช่วงนั้นแสน จะลำบากยากเข็ญ ขาดแคลนไปเสียทุกอย่าง
ขเด็ทพจน์ เป็น พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ใหญ่ที่เมืองไทย
ขเด็ทโตโจ เป็นพลเอก เป็นนายกรัฐมนตรี ใหญ่ที่ญี่ปุ่น
ขเด็ทเกอริ่ง ใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่มในอาณาจักรไร้ช ที่ 2 เป็นถึงจอมแห่งจอมพล
หรือจะว่าเป็นจอมพลที่สุดก็คงได้
ขเด็ทเกอริ่ง เป็นคนร่างใหญ่ชอบเล่นอะไรผาดโผนเสี่ยงเจ็บตัว กับเพื่อนกับฝูงก็เล่นรุนแรง นักเรียนไทยตัวเล็กเสียเปรียบ หมอฟัดเอาหนัก ๆ แก้ไม่ตก อีกอย่างคือ ชอบแอบเอาถุงเท้าเพื่อนไปซ่อนแต่งเครื่องแบบไม่ทันก็วุ่นเท่านั้น ถ้าไม่ซ่อนก็เอาไปชุบน้ำให้มันชื้น หนาวยังงั้นคนสวมยิ้มไม่ออกแน่ ขเด็ทเกอริ่ง ขี้โอ่ชอบแต่งกายหรูหราหาเฟอร์นิเจอร์หวือหวามาประดับฝังสมองว่าจะเป็นวีรบุรุษ ฝันแต่ กางเขนเหล็กขึ้นสูงสุด บุญมาวาสนาส่งให้เป็นใหญ่จนได้ในยุคนาซี เครื่องแบบจอมพลของ ขเด็ทเกอริ่ง แกออกแบบของแกเองโดยเฉพาะ เพริดสะใจโก๋ คทางี้เป็นงาช้างทั้งแท่ง สลักเสลาวิจิตร มีความเป็นอยู่โอ่อ่าอยู่ดีกินดีไม่เปลี่ยนแปลง
ที่ว่า ขเด็ทเกอริ่ง ตัวใหญ่เล่นแรงจนดูเหมือนจงใจรังแก ฟาดฟันกันในสนามฝึกละก็พอได้ แต่นี่หมอสนุก ไม่เลือกเวลา บ่อยจนนักเรียนไทยโมโห ขเด็ทเกอริ่ง ถือว่าเป็นการหยอกล้อฐานะเพื่อนสนิท ตานี้ก็หนามบ่งซิครับ แหย่กันท่าไหนไม่รู้เรื่องเล่นหนัก ๆ หรือ เรื่องถุงเท้า ขเด็ทน้อม อัดมวยไทย พลั่กเข้าให้ ตามด้วยขวาตรงเต็มปาก โคนนิ้วกลางซนฟันเป็นแผลเบ้อ ตัวใหญ่เท่าใหญ่ไม่เกี่ยง
เกอริ่งฟันหักครับ
จอมแห่งจอมพล แฮร์มันน์ วิลเฮล์ม เกอริ่ง ผู้บัญชาการกองทัพอากาศลูฟวัฟเฟ่ ถูกถอนฟัน ทันตแพทย์ก็คือ ขเด็ทน้อม - น้อม ศรีรัตน์ - พลตรี พระศักดาพลรักษ์
ผมถึงได้ว่า ขเด็จเกอริ่ง จำชื่อเกลอเก่าไทยได้แม่น
*******************************
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น