วันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ดูคู่กรรมให้นึกถึง บทความนี้ "เหตุจากบุหรี่ม้วนเดียว"

จุดยุทธศาสตร์ที่บ้านโป่ง
หลัง จากเข้ายึดครองประเทศไทยเมื่อเช้ามืด ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ แล้ว กองทัพญี่ปุ่นก็ขยายผลมุ่งสู่พม่าเพื่อรุกต่อไปยังอินเดียขุมกำลังใหญ่ของ ฝ่ายอังกฤษด้วยการทุ่มเทสร้างทางรถไฟเพื่อขนย้ายทั้งกำลังพลและอาวุธ ยุทโธปกรณ์ที่จะรู้จักกันดีในเวลาต่อมาว่า “ทางรถไฟสายมรณะ”
บ้านโป่ง แห่งราชบุรีนับเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในฐานะฐานส่งกำลังบำรุงการสร้างทาง รถไฟสาย ไทย-พม่า เป็นที่ตั้งของกองพลทหารรถไฟที่ ๙ ของญี่ปุ่น ที่ซึ่งหนึ่งปีเศษหลังการยึดครองได้เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นเรื่องหนึ่งที่นี่ ส่งผลอย่างสำคัญต่ออารมณ์ความรู้สึกและเลือดรักชาติของคนไทย ความสัมพันธ์ที่เปราะบางอยู่แล้วระหว่าง ไทย-ญี่ปุ่นยิ่ง ทรุดหนักลงไปอีก

เหตุการณ์ที่หลายคนอาจไม่เคยทราบมาก่อน เหตุการณ์ที่แม้ได้รับทราบตอนนี้หลังผ่านไปแล้วกว่า ๖๐ ปีก็ยังอดไม่ได้ที่จะมีอารมณ์แค้นเคือง

เรื่องเกิดขึ้นที่วัดดอนตูม อำเภอบ้านโป่ง เมื่อตอน ๕ โมงเย็น ๑๘ ธันวาคม ๒๔๘๕ 


สาเหตุจากบุหรี่มวนเดียว
เหตุการณ์ เกิดขึ้นเมื่อสามเณร เพิ่ม สิริพิบูล วัย ๓๗ ปี ซึ่งกำลังเดินทางไปนมัสการเจ้าอาวาสวัดดอนตูมได้พบกับเชลยศึกผิวขาวระหว่าง ทาง เชลยศึกได้ขอบุหรี่จากสามเณรเพิ่ม และโดยไม่ได้คิดอะไร สามเณรเพิ่มก็ส่งบุหรี่ให้เชลยศึกฝรั่งคนนั้นด้วยความสงสารคอบุหรี่ด้วยกัน

ทหาร ญี่ปุ่นซึ่งไม่ทราบว่าโกรธเพราะเสียดายบุหรี่มวนนั้นเพราะตัวเองก็กำลังอยาก อยู่เหมือนกัน หรือจะเข้มงวดระเบียบกฎเกณฑ์อย่างไรก็ไม่ทราบได้ เห็นดังนั้นก็เกิดความโกรธแล้วตบหน้าสามเณรเพิ่มไป ๓ ทีซ้อน แบบป๊อกเด้ง จนกระทั่งสามเณรเพิ่มล้มคว่ำคาจีวรลงกับพื้น

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ต่อหน้าชาวบ้านแถวนั้น ชาวบ้านจึงช่วยกันพยุงท่านขึ้นแล้วพาตัวไปยังร้านค้าแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้ๆ กับวัดดอนตูม เอายาดมมาให้ดมพร้อมบีบนวดให้เลือดลมเดินจนรู้สึกตัว จากนั้นท่านก็เข้าไปในวัดปรากฏว่าทั้งเจ้าอาวาสและรองไม่อยู่ สามเณรเพิ่มจึงเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นสดๆร้อนๆให้กรรมกรไทยที่รับจ้าง สร้างทางรถไฟสายนี้ซึ่งพักอยู่ที่ศาลาวัดฟัง

กรรมกรไทยได้ยินดังนั้น เลือดรักชาติก็เดือดพล่านจึงรวมตัวกันได้ประมาณ ๒๐ คนพร้อมด้วยสามเณรเพิ่มพากันไปพบล่ามญี่ปุ่นชื่อนายคุเรแล้วเล่าให้ฟังว่า ทหารญี่ปุ่นตีพระไทย นายคุเรก็รับปากว่าจะติดต่อแจ้งให้ผู้ใหญ่ฝ่ายญี่ปุ่นทราบในวันรุ่งขึ้น และขอร้องให้คนไทยทั้ง ๒๐ กว่าคนนั้น ใจเย็นกลับไปก่อน คนไทยเห็นท่าทีเอาใจใส่ของล่ามเช่นนี้ก็ใจเย็นลงแล้วพากันกลับไปที่พักพร้อม สามเณรเพิ่มผู้เสียหาย

แต่เรื่องราวกลับไม่จบลงโดยง่าย..
.

********************* 

ญี่ปุ่นไม่ยอมจบ
ไม่ทราบว่าของขึ้นหรืออย่างไร หรือเที่ยวไปบอกกันว่า ไฮ้...ตบพระไทยนี่มันมือจริงๆ...ข้าล่อไป ๓ ฉาดยังติดใจอยู่ พวกเราไปตบมันอีกไหม ปรากฏว่าพอตกเวลาประมาณ ๒ ทุ่ม ทหารญี่ปุ่นคนหนึ่งก็ถือไม้หน้า ๓ ขึ้นไปบนศาลาวัดดอนตูม เล่นเอากรรมกรไทยที่เพิ่งกลับมาจากการร้องเรียนตกใจกันยกใหญ่ แต่ก็ไม่มีใครหาเรื่องตอบโต้ทหารญี่ปุ่นของขึ้นคนนี้

แต่เรื่องกลับไม่จบลงแค่นั้น เมื่อเห็นว่า คนไทยไม่ตอแยด้วย ทหารญี่ปุ่นคนนั้นหายไปพักหนึ่งก็กลับมากับเพื่อนทหารญี่ปุ่นอีก ๒ คน คราวนี้นอกจากไม้หน้า ๓ แล้วยังมีปืนยาวแถมมาด้วย กรรมกรคนหนึ่งทนไม่ไหวเพราะหยามหน้ากันเกินไปจึงใช้อาวุธร้ายทันสมัยแบบอเนกประสงค์คือท่อนไม้ขนาดพองาม (อาจเป็นสากกระเบือ-บันทึกไม่ได้ระบุชัด ผมเดาเอาเอง) ปาเข้าใส่ทหารญี่ปุ่น แต่ไม่ถูกเนื่องจากไม่มีระบบนำวิถีที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

ฝ่ายทหารญี่ปุ่นเห็นดังนั้น จึงร้องเป็นภาษาญี่ปุ่นแล้วล่าถอยกลับไปด้วยหวาดเกรงอาวุธร้ายทันสมัยของกรรมกรไทย แต่อีกเพียง ๕ นาทีต่อมาก็กลับมากัน ๑๐ กว่าคน พอมาถึงศาลาวัดก็ยิงปืนเข้าใส่ คนไทยเห็นดังนั้นจึงต่างวิ่งหนีเอาชีวิตรอดพร้อมเสียงบ่นว่าอย่างนี้ไม่แฟร์ ทหารญี่ปุ่นเห็นเป็นต่อและไม่มีการโต้ตอบด้วยอาวุธใด ๆ ก็ยิ่งได้ใจจึงยิงปืนใส่และวิ่งกวดคนไทยไปรอบ ๆ บริเวณวัดนานนับชั่วโมง แต่ในที่สุดเมื่อตั้งสติได้และกำลังจะหมดแรงจึงนึกถึงวีรกรรมชาวบางระจันขึ้นมาได้ ฝ่ายไทยจึงหันกลับตั้งหลักแล้วพากันคว้าจอบเสียมที่พอหาได้เตรียมตัวเข้าประจัญบาน แบบเลือดทาแผ่นดิน

แต่เรื่องร้ายก็จบลงเมื่อร้อยตรี โยชิดะ นายทหารญี่ปุ่นพร้อมด้วยผู้บังคับกองตำรวจไทยและนายอำเภอบ้านโป่งเดินทางมาถึงและระงับเหตุลงได้ ท่ามกลางความฮึดฮัดของทหารญี่ปุ่นและคนไทยที่ถูกรังแก
เกียรติตำรวจของไทย เรื่องไม่จบลงแค่นั้น เพราะพอเวลาประมาณใกล้สองยาม ฝ่ายญี่ปุ่นก็ส่งทหารมาเพิ่มเติมจากกาญจนบุรีประมาณ ๔-๕ คันรถ ตรงไปยังวัดดอนตูม ๒ คัน และเลยไปที่ริมน้ำ ๑ คัน ส่วน ๒ คันสุดท้ายซึ่งเป็นรถบรรทุกคันหนึ่งกับรถนั่งอีกคันหนึ่งก็วิ่งตามกันมาแล้วหยุดลงที่หน้าสถานีตำรวจบ้านโป่ง

ทหารญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งถือปืนตรงไปยังสถานีตำรวจ อีกพวกหนึ่งขยายแถวยึดคันถนนตรงข้ามสถานีตำรวจ แล้วเริ่มยิงปืนเข้าใส่ทันที

เลือดตำรวจไทยใครจะยอมให้มาหยามกันถึงบ้าน ตำรวจบ้านโป่งก็ยิงสู้แบบถวายชีวิต การยิงต่อสู้กินเวลาช่วงสั้น ๆ แค่ประมาณ ๒-๓ นาที ฝ่ายญี่ปุ่นก็หยุดยิงแล้วร้องบันไซข่มขู่แต่กลับพากันล่าถอยไป

เพราะปรากฏว่า นายทหารญี่ปุ่นตายไป ๑ และพลทหารตายไป ๔ ...สมน้ำหน้ามัน



เมื่อสู้ตำรวจไทยไม่ได้ 

ทหารญี่ปุ่นจึงใช้วิธีกวาดต้อนจับกุมกรรมกรไทยทั้งชายและหญิงรวมทั้งเด็กซึ่งไม่มีทางสู้ไป ๓๑ คน (สู้มันยาก เพราะสากกระเบือถูกขว้างหมดคลังแสงไปแต่แรกแล้ว) นอกจากนั้น รอบ ๆ วัดยังมีซากศพคนไทยนอนตายเกลื่อนอยู่ ๗-๘ ศพ เท่านั้นยังไม่พอ ทหารญี่ปุ่นยังจับกุมพระไปทั้งวัดเพื่อสอบสวนจนถึงตี ๓ ของเช้าวันใหม่และได้ปล่อยตัวออกมาเมื่อตอน ๖ โมงเช้า เว้นสามเณรเพิ่มรูปเดียวที่ยังถูกกักขังอยู่ ส่วนกรรมกรไทยทั้งหมดนั้นถูกกักขังไว้จนถึงวันที่ ๒๔ ธันวาคมจนเสร็จสิ้นการสอบสวนแล้วจึงได้ปล่อยตัวไป ๒๐ คน แต่ก็ยังกั๊กกักตัวไว้อีก ๑๑ คน

ส่วนตัวสามเณรเพิ่มผู้เคราะห์ร้ายเพราะบุหรี่มวนเดียวเป็นเหตุนั้นได้ถูกส่งตัวให้ฝ่ายไทยควบคุมเองตามคำขอ...
 *****************
บานปลาย
ช่วงเวลาปลายปี ๒๔๘๕ นั้น นอกจากการใช้เชลยศึกฝรั่งในการสร้างทางรถไฟสายไทย-พม่าดังเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้ว ยังมีการว่าจ้างกรรมกรไทยให้ไปร่วมสร้างทางรถไฟสายนี้ด้วยเป็นจำนวนหลายหมื่นคน กรรมกรไทยจึงนับเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งต่อความสำเร็จ

เหตุการณ์ที่บ้านโป่งครั้งนี้เป็นที่รับทราบกันอย่างรวดเร็วในหมู่กรรมกรไทยและคนไทยทั่วไป ดังนั้น ในวันที่ ๒๑ ธันวาคม หลังเกิดเหตุเพียงไม่กี่วัน กรรมกรไทยบ้านโป่งที่ทำงานให้ญี่ปุ่นก็พากันหลบหนีไปประมาณ ๕๐๐ คน จนไม่เหลือกรรมกรไทยเลยแม้แต่คนเดียว ญี่ปุ่นจึงเริ่มหนักใจเพราะทางโตเกียวก็เร่งรัดให้สร้างทางรถไฟสายสำคัญนี้ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ไฮ้...ช้าจะถูกคว้านท้องไม่รู้ด้วยนะโว้ย

ความบาดหมางอย่างรุนแรงครั้งนี้ทำให้เกิดข่าวลือกันในหมู่ทหารญี่ปุ่นว่า กองทัพไทยได้ชุมนุมกันที่นครปฐม เพื่อเตรียมตอบโต้ล้างแค้นแทนคนไทย ร้อยตรี อิริเอะ นายทหารติดต่อฝ่ายญี่ปุ่นจึงได้เข้าพบและกล่าวต่อ พันโท หม่อมเจ้า พิสิฐดิศพงศ์ ดิศกุล ผู้แทนฝ่ายทหารไทย ซึ่งมีบันทึกไว้ว่า

“ประเทศไทยต้องการรบกับประเทศญี่ปุ่นเช่นนั้นหรือ ถ้าหากประสงค์เช่นนั้น ญี่ปุ่นก็จะได้เตรียมรบ”

น่าสวนด้วยหมัดตรงจริงไหมครับ ?

พันโท หม่อมเจ้า พิสิฐดิศพงศ์ ดิศกุล พยายามใจเย็น นับหนึ่งถึงสิบ นึกถึงประเทศชาติแล้วตอบไปว่า

“ฝ่ายไทยไม่มีความประสงค์เช่นนั้น ประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก มีกำลังเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จะไปสู้รบกับประเทศญี่ปุ่นอันเป็นเสมือนพี่ชายได้อย่างไร เพื่อให้บริสุทธิใจอยากจะไปดูด้วยกันก็ไม่ขัดข้อง” เจอะลิ้นการทูตเข้าแบบนี้ญี่ปุ่นจอมโอหังก็พูดไม่ออก ในที่สุดก็ตกลงกันว่าจะส่งนายทหารญี่ปุ่นไปตรวจพื้นที่นครปฐม ซึ่งเมื่อไปตรวจก็หน้าแตก ยอมรับว่าไม่เป็นความจริง ไม่มีทหารไทยชุมนุมสักหน่อย

กลับมายังเหตุการณ์เจ็บตายจากเหตุการณ์ที่วัดดอนตูม ในวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๔๘๕ นั่นเอง ก็มีการประชุมร่วม ไทย-ญี่ปุ่น ขึ้น ฝ่ายญี่ปุ่นยืนยันนอนยันว่า ฝ่ายไทยเป็นฝ่ายเริ่มยิงปืนก่อน ฝ่ายไทยแม้จะรู้ข้อเท็จจริงอยู่เต็มอกแต่ก็จำเป็นต้องอดกลั้นไม่งัดหลักฐานพยานมายันกันให้แตกหักไปข้างหนึ่ง และได้ส่ง พลโท จรูญ เสรีเริงฤทธิ์ เป็นหัวหน้าคณะไปขอขมาผู้บัญชาการกองพลก่อสร้างทางรถไฟญี่ปุ่นในวันที่ ๒๒ ธันวาคม (ด้วยความจำใจ)

“บากายาโร่”
หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้คนไทยเกลียดชังญี่ปุนมากขึ้นทบเท่าทวีคูณ อังศุมาลินก็คงต่อว่าโกโบริไปไม่น้อย แต่คุณป้าทมยันตีไม่ได้เขียนไว้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บ้านโป่งและกาญจนบุรี ซึ่งเป็นฐานก่อสร้างทางรถไฟ สถานการณ์ฝ่ายญี่ปุ่นเลวร้ายลงไปเรื่อย ๆ ที่บ้านโป่งหาคนไทยไปเป็นกรรมกรสร้างทางรถไฟให้ญี่ปุ่นไม่ได้เลย นอกจากนั้นน็อตบังคับหัวรางรถไฟก็ถูกขโมยหายไปแบบจับมือใครดมไม่ได้ถึงประมาณ ๘๐๐ ดอก ยังความภาคภูมิใจแก่กลุ่มวีรชนนิรนามที่จะได้รับขนานนามในภายหลังว่า “พยัคฆ์ร้ายไทยถีบ” เป็นอย่างยิ่ง

ที่กาญจนบุรี ตำรวจไทยเอาปืนขู่ค้นตัวทหารญี่ปุ่นที่เดิมมาตามทางอย่างไม่เกรงกลัว

ทหารญี่ปุ่นไม่ได้รับความสะดวกในการซื้อหาอาหารทั้งในตลาดและทั่ว ๆ ไป

เดินสวนคนไทยเมื่อใดก็ถูกตะโกนใส่ว่า “บากายาโร่” ซึ่งแปลเป็นไทยว่า “ไอ้บ้า”

ทหารญี่ปุ่นช่วงนั้นไปไหนมาไหนต้องติดอาวุธไว้ป้องกันตัวเอง

ที่ กรุงเทพทหารญี่ปุ่นถึงกับต้องขุดสนามเพลาะบริเวณโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเท นถวายและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ญี่ปุ่นยึดไว้เป็นกองบัญชาการ

เมื่อมีงานสโมสรสันนิบาตซึ่งจัดโดยฝ่ายไทย ทหารญี่ปุ่นก็ไม่กล้ามาร่วมงานตามคำเชิญแม้แต่คนเดียว

คราวหน้าจะเล่าต่อ โดยเฉพาะสามเณรเพิ่มที่ฝ่ายญี่ปุ่นขู่มาว่าต้องประหารชีวิตสถานเดียวเท่านั้น

บุหรี่มวนเดียวเนี่ยนะ...
 


************* 

“รบแพ้...เครียด กินเหล้า” แล้วทะลึ่งไปตบพระ
เหตุการณ์ที่สามเณรเพิ่มถูกทหารญี่ปุ่นตบหน้าที่วัดดอนตูม บ้านโป่ง เมื่อ ๑๘ ธันวาคม ๒๔๘๕ หลังจากที่ญี่ปุ่นเข้าประจำการในประเทศไทยได้ ๑ ปีเต็ม บานปลายจนกลายเป็นความไม่พอใจของคนไทยทั่วทั้งประเทศที่ได้รับข่าว ซึ่งยังดีที่สมัยนั้นยังไม่มีโทรศัพท์มือถือ ไม่มีอีเมล์ ไม่มีเอสเอ็มเอส ไม่มีทวิตเตอร์ ฯลฯ ไม่อย่างนั้น เรื่องคงบานปลายไปมากกว่านี้

บันทึกตอนหนึ่งของกองบัญชาการทหารสูงสุดไทยสะท้อนภาพอย่างชัดเจนว่า

“หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ท่าทีของคนไทยที่มีต่อญี่ปุ่นในบ้านโป่งและกาญจนบุรีที่เป็นฐานก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมไทยกับพม่าเลวร้ายลงไปมาก ที่บ้านโป่งนั้นหากรรมกรไทยมาทำงานให้ไม่ได้ น็อตบังคับหัวรางต่อของทางรถไฟถูกขโมยไปประมาณ ๘๐๐ ดอก ที่กาญจนบุรีนั้น ตำรวจไทยเอาปืนขู่ค้นตัวทหารญี่ปุ่นที่เดินมาตามทาง

ญี่ปุ่นไม่ได้รับความสะดวกในการซื้ออาหาร คนไทยชอบตะโกนใส่ทหารญี่ปุ่นว่า “บากายาโร่”(ไอ้บ้า) ส่วนทหารญี่ปุ่นเวลาไปไหนก็ต้องติดอาวุธเพื่อป้องกันเหตุที่ไม่คาดฝัน ที่กรุงเทพฯนั้น ทหารญี่ปุ่นได้ทำการขุดสนามเพลาะบริเวณโรงเรียนอาชีวะแถวปทุมวันและบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทหารญี่ปุ่นปฏิเสธการรับเชิญไปงานสโมสรสันนิบาตทั้งหมด”

ขณะที่ฝ่ายญี่ปุ่นกลับไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นฝ่ายผิด แล้วพยายามกดดันไทยทุกวิถีทาง คงเห็นว่าไทยไม่มีทางสู้

จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้นคณะหนึ่งเมื่อ ๒๘ ธันวาคม ๒๔๘๕ ประกอบด้วย ตำรวจและนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ๕ ท่าน และได้ประณามพฤติกรรมที่ “หยิ่งยโส”และการใช้กำลังอย่างไร้เหตุผลของทหารญี่ปุ่นว่า

“การที่ทะเลาะกันนั้น ตามเสียงมาจากญี่ปุ่นฝ่ายเดียวอย่างท่านว่า มีการตบหน้า ชักดาบขู่ เมาเข้าไปแล้วพาลเกเรต่าง ๆ ถ้าเขาทำให้หายไปได้คงจะไม่มีเรื่องอะไร”

ครับ...เรื่องนี้ก็มาจากเหล้านั่นเอง แต่จะเหมาความผิดไปให้เครื่องดื่มที่ชาวเราจำนวนไม่น้อยต่างให้ความนิยม ดื่มมาแต่ไหนแต่ไรมีแต่ความสนุกสนานเฮฮา เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา การเมืองไม่ยุ่ง การมุ้งไม่เกี่ยว เอาแต่เมาลูกเดียว ไม่เกี่ยวข้องใคร...เอิ๊ก..ไม่เคยมีเรื่องกับใครก็คงไม่เป็นธรรมนัก อย่างเช่นกรณีนี้ ช่วงปลายปี ๒๔๘๕ ญี่ปุ่นเริ่มเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำตั้งแต่แพ้อเมริกาอย่างหมดรูปเมื่อต้นปีที่ยุทธภูมิมิดเวย์ ทั้งโตเกียวก็กดดันเร่งรัดให้สร้างทางรถไฟเข้าพม่าให้เสร็จโดยเร็วอย่างนี้ทหารญี่ปุ่นไม่เครียดได้อย่างไร

จึงไม่ใช่“จน...เครียด...กินเหล้า”อย่างสมัยนี้ แต่เป็น “รบแพ้...เครียด...กินเหล้า”แล้วทะลึ่งไปตบหน้าเณรเข้าต่างหาก เรื่องถึงเกิด...จึงไม่สมควรโทษเหล้าให้คนรุ่นหลังอย่างชาวเราให้เพิ่มความหมั่นไส้ขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่ง

ลีลาหลวงอดุลย์
วันเดียวกับที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม จัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงนั้นเอง พลตำรวจเอก อดุลย์ อดุลย์เดชจรัส “นายพลตาดุ”อธิบดีกรมตำรวจ ก็อาศัยอำนาจตาม “กฎหมายป้องกันประเทศ พ.ศ.๒๔๘๔” มีคำสั่งให้ “ชาวต่างชาติ”ออกไปเสียจากอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี และจังหวัดกาญจนบุรีเสีย “ชั่วระยะหนึ่ง”ก่อน ยกเว้น “ผู้ที่เข้าทำงานตามคำสั่งของทางราชการและผู้ที่ทางราชการว่าจ้างมาทำงาน”

อาจารย์ โยชิกาวา โทชิฮารุ เจ้าของผลงานค้นคว้า “ทางรถไฟสายไทย-พม่า ในสงครามมหาเอเชียบูรพา” ให้ความเห็นต่อคำสั่งฉบับนี้ว่า

“เราอาจสันนิษฐานว่า ตามคำสั่งขับคนต่างชาติออกจากพื้นที่นั้นเป็นการป้องกันการทำจารกรรมและการก่อวินาศกรรมโดยจารชนต่างชาติ แต่ก็มีการปล่อยให้ทหารญี่ปุ่น เชลยศึกสัมพันธมิตร ชาวจีนโพ้นทะเล กรรมกรชาวเอเชียเข้ามาในบริเวณนี้อยู่เนืองๆ กลายเป็นบริเวณที่มีชาวต่างชาติเข้ามาพำนักอยู่หลายหมื่นคน บางคนก็ไปเป็นกรรมกรรับจ้างก่อสร้าง เป็นสภาพที่ผู้คนจะปลอมแปลงเข้ามาได้ง่ายมาก ฉะนั้น คำสั่งขับชาวต่างชาติจึงเป็นคำสั่งที่แปลกประหลาดอยู่ไม่น้อย”

“อย่างไรก็ตาม คำสั่งนี้มีผลกระทบต่อการก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมไทย-พม่า อยู่พอสมควร ก่อนอื่นคือพ่อค้าเชื้อสายจีนได้ย้ายไปค้าขายที่อื่นไม่มาบริเวณนี้อีก ทำให้การจับจ่ายซื้อหาสินค้าของทหารญี่ปุ่นไม่สะดวก นอกจากนั้น กรรมกรเชื้อสายจีน สัญชาติจีน แต่ละคนที่ว่าจ้างมาทำงานในประเทศไทยต้องไปรายงานตัวที่โรงพักเป็นประจำ ไม่สามารถมาทำงานที่เขตการก่อสร้างอีก แต่ทว่ากงสุลอิตาลีได้ขออนุญาตเป็นกรณีพิเศษ ให้บาทหลวง ๑๒ คน แม่ชี ๑๑ คนได้ทำการเผยแพร่ศาสนาในอำเภอบ้านโป่ง และให้เจ้าหน้าที่อีก ๔ คนที่ได้พำนักอยู่ในกาญจนบุรีเพื่อศาสนกิจนั้นได้รับอนุญาตจากฝ่ายไทย “

อาจารย์โทชิฮารุ “ฟันธง”ว่า

“ฉะนั้น ความตั้งใจจริงของอธิบดีกรมตำรวจที่ออกคำสั่งขับคนต่างชาตินั้น แท้จริงเป็นการประท้วงโดยทางอ้อมที่จะให้ทหารญี่ปุ่นที่โอหังซึ่งแสดงออก ด้วยการตบตีพระไทยและมีท่าทีบังคับให้มีการก่อสร้างทางรถไฟโดยพลการ ออกไปจากพื้นที่นั่นเอง”
 

************* 

นากามูระ “ผู้บัญชาการชาวพุทธ”
ฝ่ายญี่ปุ่นซึ่งนอกจากจะยืนยันว่าตัวเองไม่ผิด พระที่เอาหน้ามาขวางมือต่างหากที่ผิด(ผมว่าเอง)ยืนยันข้อเสนอให้ทางการไทยประหารชีวิตทหารและกรรมกรที่เป็นนักโทษฉกรรจ์ ๒ คนเพราะเป็นฝ่ายเริ่มยิงปืนก่อนจนทำให้แพทย์และทหารญี่ปุ่นตาย แต่การสอบสวนของฝ่ายไทยกลับตรงข้าม

เรื่องที่ผมนำมาเล่าตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุจนกระทั่งมีการบาดเจ็บล้ม ตายนี้มาจากผลการค้นคว้าทางวิชาการของ อาจารย์ โทชิฮารุ ซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่นยืน ยันชัดเจนว่า ญี่ปุ่นนั่นแหละเป็นฝ่ายผิด “รบแพ้...เครียด...กินเหล้า”แล้วทะลึ่งไปตบพระ (อันนี้ผมก็ว่าเอง)

เรื่องที่บ้านโป่งครั้งนี้ถูกรายงานไปถึงโตเกียว ทำให้นายกรัฐมนตรีโตโจ ฮิเดกิ เป็นห่วงมากเพราะจะส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อการสร้างทางรถไฟสายยุทธศาสตร์เชื่อมไทยกับพม่า ดังนั้น ท่านจึงส่ง พลโท นากามูระ อาเกโต ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนายทหารสายพิราบ มีเหตุมีผล มีลักษณะประนีประนอม (ภายหลังได้รับความรักจากฝ่ายไทยจนได้รับสมญาว่า “ผู้บัญชาการชาวพุทธ”)ให้มาเป็นผู้บัญชาการทหารญี่ปุ่นประจำประเทศไทย พร้อมกำชับให้เร่งแก้ปัญหานี้ให้ได้โดยเร็ว นายพลนากามูระเอาหัวโขกพื้นรับคำสั่งอย่างแข็งขันพร้อมเสียงตอบรับดังลั่นว่า...ไฮ้ (อันนี้ผมก็ว่าเองอีกนั่นแหละ)

ก่อนนายพลนากามูระจะเดินทางมาประจำการในไทย ท่านก็เข้าพบและได้รับคำตักเตือนจาก ฯพณฯ ดิเรก ชัยนาม ทูตไทยประจำกรุงโตเกียวว่า การตบหน้าคนของทหารญี่ปุ่นครั้งนี้เป็นจุดบอดสำคัญของความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นทีเดียว เพราะคนไทยถือว่าการถูกตบหน้าเป็นการลบหลู่เกียรติยศอย่างมหาศาล เป็นเรื่องน่ากลัว น่าอัปยศ และป่าเถื่อน คนไทยถือมาก จะสู้ตายทีเดียว

ท่านทูตย้ำเรื่องนี้เพราะท่านเข้าใจดีว่า สำหรับคนญี่ปุ่นแล้วการตบหน้าเป็นเรื่องธรรมดา และเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันเสมอในหมู่ทหารญี่ปุ่น ถือเป็นการทำโทษและตักเตือน

ท่านนายพลนากามูระจึงเดินทางมาไทยด้วยภาระสำคัญเรื่องนี้อีกเรื่องหนึ่ง นอกเหนือจากปัญหาทางด้านการรบที่ยิ่งทวีความยากลำบากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการสร้างทางรถไฟไทย-พม่า

เลือดข้นกว่าน้ำ
ไม่ว่าจะเป็นเพราะ “เลือดข้นกว่าน้ำ”หรือเชื่อถือในรายงานของฝ่ายตน แต่ถึงที่สุดแล้วท่าทีของทหารญี่ปุ่นภายใต้การนำของนายพลนากามูระก็ยังคงแข็งกร้าวไม่เปลี่ยนแปลง พันเอก ไชย ประทีปเสน ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะประสานงานกับญี่ปุ่น มีรายงานลง ๒๙ เมษายน ๒๔๘๖ ว่า

“ อนึ่ง มีทางที่จะช่วยเหลืออยู่ก็คือ ไม่ให้คนพวกนี้ต้องถูกประหารชีวิต เพราะกฎหมายของเราไม่อำนวย และแม้ว่าจะถูกตัดสินจำขังถึงตลอดชีวิตก็ตาม สภาพการจำขังหรือระยะเวลาย่อมอยู่ที่เรา และโยงถึงโชคชะตาของประเทศที่เกี่ยวข้องกับญี่ปุ่น”

จอมพล ป.พิบูลสงคราม เห็นชอบและแทงเรื่องกลับไปเมื่อ ๑ พฤษภาคม ๒๔๘๖ว่า

“ทราบแล้ว ให้เอามาขึ้นศาลทหารที่กรุงเทพฯ ขอให้ไม่ประหาร เพราะเข้าใจผิด เวลาค่ำคืน”

พันเอก ไชย ประทีปะเสนพบกับนายพลนากามูระเมื่อ ๔ พฤษภาคม ๒๔๘๖ และได้บันทึกความคิดเห็นของฝ่ายญี่ปุ่นไว้ ๙ ข้อด้วยกัน ข้อแรกคือ “เกี่ยวกับโทษประหารของสามเณรเพิ่มกับกรรมกรนั้น หากใช้วิธีการลงโทษแบบไทยโดยศาลทหารไทยนั้น ก็จะมีผลต่ออธิปไตยของไทย”
ส่วนอีก ๘ ข้อนั้นก็เป็นเรื่องการอยากให้สร้างทางรถไฟเข้าพม่าผ่านคอคอดกระเพิ่มขึ้น รวมทั้งการขอให้ฝ่ายไทยเพิ่มการสนับสนุนฝ่ายญี่ปุ่นให้มากยิ่งขึ้น

นอกจากนั้นกองทัพใหญ่แห่งภาคพื้นทิศใต้ของญี่ปุ่นซึ่งตั้งอยู่ที่สิงคโปร์ยังได้เรียกร้องให้ฝ่ายไทย “ชดใช้ค่าเสียหาย ๘ หมื่นบาทแก่ครอบครัวชาวญี่ปุ่นที่เสียชีวิต”อีกต่างหาก

เอากะยุ่นซี...

ทำไมญี่ปุ่นแข็งกร้าว
อาจารย์โทชิฮารุให้ความเห็นต่อท่าทีกดดันไม่หยุดหย่อนของทหารญี่ปุ่นครั้งนี้ว่า

“สาเหตุ ที่ทหารญี่ปุ่นด้ำการเรียกร้องสิ่งต่าง ๆ อย่างแข็งกร้าวนั้นก็ด้วยได้คำนึง ถึงฐานะของกองพลทหารรถไหที่กำลังก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมไทย-พม่า ทหารญี่ปุ่นจะใช้เกียรติเป็นเดิมพันในการสร้างทางรถไฟให้แล้วเสร็จ จึงข่มขู่ไทยไว้แต่เนิ่น ๆ ไม่ให้แทรกแซงก้าวก่าย”

“ทหารญี่ปุ่นทั้งขู่ทั้งปลอบฝ่ายไทยก็เพื่อให้ได้มีสภาพแวดล้อมที่ดีให้ทหารญี่ปุ่นได้ประจำการอยู่ในประเทศไทยโดยไม่มีปัญหา และทหารญี่ปุ่นก็ได้เรียกร้องให้มีการก่อสร้างทางรถไฟข้ามคอคอดกระเป็นงานใหม่อีกชิ้นหนึ่ง”

ส่วนสามเณรเพิ่ม กรรมกร ๑ คน กับพลทหารอีก ๑ คน ที่มีส่วนเกี่ยวพันกับเหตุการณ์ที่บ้านโป่งนั้น ถูกนำศาลขึ้นศาลทหารที่กรุงเทพฯเมื่อ ๑๐ มิถุนายน ๒๔๘๖

ศาลทหารไทยตัดสินว่า...

สามเณรเพิ่มมีความผิดฐานติดต่อ กับเชลย ยุยงกรรมกรให้ต่อสู้กับทหารญี่ปุ่น ส่วนกรรมกรนั้นเสพสุราจนมึนเมาในวันเกิดเหตุ ชักชวนกรรมกรคนอื่นๆจับอาวุธเข้ากลุ้มรุมทำร้ายทหารญี่ปุ่นจนเป็นเหตุให้ ทหารญี่ปุ่นถึงแก่ความตายและบาดเจ็บสาหัส และที่เป็นพลทหารนั้นมีเจตนาร้ายใช้ปืนสั้นเป็นศาสตราวุธยิงทหารญี่ปุ่นซึ่ง มาติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สถานีตำรวจบ้านโป่งถึงแก่ความตาย เป็นเหตุให้ตำรวจไทยกับทหารญี่ปุ่นเกิดเข้าใจผิดจนถึงได้ยิงต่อสู้กัน เป็นผลให้นายทหารและพลทหารญี่ปุ่นถึงแก่ความตายรวม ๕ คน บาดเจ็บสาหัส ๓ คน ฝ่ายไทยบาดเจ็บ ๑ คน

จากนั้น ในวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๘๖ ศาลทหารกรุงเทพก็ได้พิพากษาวางโทษประหารชีวิตสามเณรเพิ่มที่เป็นจำเลยที่ 1 แต่จำเลยให้การสารภาพไม่ต่อสู้คดีอย่างใด ทั้งปรากฎว่าเคยเป็นคนที่มีโรคจิตและไม่รู้หนังสือ...ลดโทษให้จำคุกตลอดชีวิต

สำหรับจำเลยที่เป็นกรรมกรนั้นเนื่องจากไร้การศึกษาแต่ก็ยึดมั่นในพุทธศาสนา ทั้งปกติเป็นคนชอบเสพสุราเวลาเย็น เป็นเหตุทำให้ก่อคดีขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ จึงให้จำคุกตลอดชีวิต ส่วนจำเลยที่เป็นทหารนั้น มีความผิดฐานทำการฉ่าคนตายเพื่อป้องกันตัวเกินกว่าเหตุให้จำคุก 10 ปี

เรื่องทั้งหมดนี้ ถ้าเป็นนวนิยาย รับรองว่าคนอ่านต้องร้องโอ๊ยด้วยความเจ็บหลัง เพราะถูกหักมุมอย่างแรงตอนจบ และเท่านั้นยังไม่พอ...

รัฐบาลไทยได้ตกลงมอบเงินชดเชย 80,000 บาทแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตตามคำเรียกร้องของกอทัพใหญ่แห่งภาคพื้นทิศใต้ของญี่ปุ่น และไทยเสนอจะมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์เพื่อสดุดีผู้เสียชีวิตอีกด้วย แต่ต่อมาฝ่ายญี่ปุ่ก็ได้บริจาคเงิน 80,000 บาทคืนให้ฝ่ายไทย เงินนี้จะจ่ายให้กับครอบครัวของคนไทยที่เสียชีวิตเมื่อคราวต่อสู้กับญี่ปุ่นเมื่อแรกเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา

อาจารย์โยชิกาวาสรุปท้ายแบบไม่ไว้หน้าคนญี่ปุ่นด้วยกันเองว่า...

“เหตุการณ์บ้านโป่งที่ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ก็ได้รับการแก้ไขให้ลุล่วงไปหลังจากพยายามมา 1 ปี สำหรับทหารญี่ปุ่นแล้ว เหตุการณ์บ้านโป่งอาจจะเป็นโอกาสหรือบทเรียนที่ช่วยให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่โอหังและหยิ่งยโสก็ได้ แต่สำหรับคนไทยแล้วได้ลิ้มรสพฤติกรรมที่หยิ่งยโสและความแข็งกร้าวของทหารญี่ปุ่นที่มาในมาดผู้ยึดครอง มีความไม่พอใจญี่ปุ่นซึ่งเป็นพันธมิตรของตน”

น่าเสียดายที่ไม่มีบันทึกว่าถึงที่สุดแล้วสามเณรเพิ่มและคณะที่ถูกตัดสินจำคุกนั้น ที่สุดแล้วเป็นอย่างไร...

รับฟังเรื่องที่บ้านโป่งจบลงแล้ว คงเห็นใจอังศุมาลินนะครับ ที่ตั้งแง่ตั้งงอนใส่โกโบริเสียจนน่าหมั่นไส้



หมายเหตุ...

คน ญี่ปุ่น อาจจะ งง ทำมัยมันจะอะไรมากมายขนาดนั้น

ก็ พระ นะไม่ใ่ช่คนทั่วไป 

พวกเราชาวพุทธ เถรวาท ตั้งแต่ ไพร่ ยัน พระเจ้าแผ่นดิน

ก็ยังต้อง เคารพพระ... แล้วพวกญี่ปุ่นเป็นใครที่ไหน มาตบเอา ๆ 













.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น