วันพุธที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2552

หุ้นกู้เอกชนมีทั้งดีและร้าย อีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ

ยาวหน่อย แต่น่าสนใจครับ

การเลือกลงทุนในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ถือว่ายากลำบากมาก โดยเฉพาะการลงทุนเพื่อให้ได้รับได้ผลตอบแทนที่ดีนั้น แทบจะทำให้นักลงทุนหมดกำลังใจ แล้วหันมาถือครองเงินสดไว้กับตัวมากขึ้น แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังหน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้กลับมีสิ่งที่น่าสนใจปรากฏ ขึ้น นั่นคือ “หุ้นกู้เอกชน” ซึ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากในระดับหนึ่ง เนื่องจากว่าอัตราผลตอบแทนที่ได้รับนั้น ล่อตาล่อใจนักลงทุนมาก แม้ว่าจะรู้ว่าหุ้นกู้เอกชนนั้นมีความเสี่ยงในการจ่ายเงินคืนก็ตาม

หลังจากที่ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลง จนแทบจะติดดิน บรรดาผู้จัดการกองทุนต่างๆได้พยายามหาโปรดักส์ใหม่ๆที่สามารถให้ผลตอบแทน คุ้มค่าให้กับนักลงทุนแทน แต่ทั้งนี้ การสร้างผลตอบแทนที่ดีนั้นย่อมมาควบคู่กับความเสี่ยงของการลงทุนด้วย โดยขณะนี้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.)ได้เน้นลงทุนหุ้นกู้เอกชนมาก ยิ่งขึ้น เนื่องจากมองว่าสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล

โดยเมื่อวันที่ 14 มกราคม ที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง R/P 1 วัน ลงเหลือ 2.00% จากเดิม 2.75% ทำให้ตลาดพันธบัตรตอบรับการปรับตัวลดลงของ R/P เช่นเดียวกัน โดยข้อมูล ณ วันที่ 23 มกราคม 2551 พบว่าผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุคงเหลือ 1 ปี ลดลงมาอยู่ที่ 1.77%

สำหรับหุ้นกู้เอกชนออก หมายถึง ตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทเอกชน ซึ่งบริษัทเอกชนที่ออกหุ้นกู้นั้นมีความต้องการเม็ดเงินเพื่อใช้ในการลงทุน หรือเพื่อใช้เพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจของบริษัท ส่วนผู้ที่ซื้อหุ้นกู้ดังกล่าวจะได้รับผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาล
ทั้งนี้ สาเหตุหนึ่งที่บีบให้บริษัทจัดการลงทุนต่างๆหันมาลงทุนในหุ้นกู้เอกชน เพราะช่วงที่ผ่านมาการลงทุนในตลาดหุ้น และตลาดตราสารแห่งหนี้ ให้ผลตอบแทนที่น้อยลง ดังนั้นเพื่อดึงดูดนักลงทุนให้กับมาลงทุนในอุตสาหกรรมกองทุนรวมอีกครั้ง เพื่อเพิ่มยอดสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ(เอยูเอ็ม)ให้กับบลจ. จึงได้มีจัดตั้งกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในหุ้นกู้เอกชนมากขึ้น เนื่องจากบลจ.เหล่านี้ มองว่าเมื่อลงทุนไปแล้วนอกจากจะเพิ่มเอยูเอ็มให้แก่บลจ.ยังสามารถเพิ่มผลตอบ แทนและความมั่นใจให้นักลงทุนอีกด้วย
ขณะเดียวกัน ผู้จัดการกองทุน ได้ให้ข้อแนะนำในการเลือกลงทุนในหุ้นกู้เอกชนว่า นักลงทุนจะต้องดูที่การจัดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทนั้นๆว่าอยู่ใน อันดับที่เท่าไร ซึ่งอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทที่นักลงทุนสามารถเข้าไปลงทุนได้จะ ต้องอยู่ที่ BBB- ขึ้นไป แต่ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงของการลงทุนนักลงทุนจะเน้นลงทุนในบริษัทที่ได้รับเครดิต ตั้งแต่ A- ขึ้นไป จนถึงAAA+
"การลงทุนทั่วไปนักลงทุนส่วนใหญ่จะไม่เลือกลงทุนในบริษัทที่มีการจัดอันดับ อยู่ที่BBB- เพราะกลัวว่าหากไปลงทุนกับบริษัทเหล่านั้น แล้ววันใดก็วันหนึ่งบริษัท BBB- ทั้งหลาย เกิดได้ลดการจัดอันดับลงไปเหลือเพียงBBB หรือต่ำกว่านี้ จะต้องรีบขายหุ้นกู้ที่ถือครองออกไปทันที และการขายครั้งนี้จะไม่สามารถสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้เลย จึงทำให้ความเสี่ยงที่ได้รับเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการของบริษัทหุ้นกู้ก็ถือว่ามีความน่าสนใจมากที่เดียว ซึ่งหากว่าบริษัทเหล่านี้บริหารจัดการไม่ดี ก็จะถูกลดอันดับเครดิตลงแล้ว อีกทั้งความเสี่ยงในการสูญเสียเงินต้นก็จะมากขึ้นตามไปด้วย" วรรธนะ วงศ์สีนิล ประธานเจ้าหน้าที่เจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ฟิลลิป

ดังนั้น การเลือกหุ้นกู้นั้น ส่วนมากจะเลือกลงทุนในบริษัทที่มีการจัดอันดับตั้ง แต่ AA- ขึ้นไปจนถึงAAA+ เพราะถึงแม้ว่าบริษัทเหล่านี้จะได้ลดอันดับความน่าเชื่อถือลงแต่ก็จะยังอยู่ ในอันดับที่ถือว่ามีความสามารถในการจ่ายเงินคืนเงินต้นได้ นอกจากว่าบริษัทจะล้มละลายแล้วไม่มีเงินจ่ายคืนให้แก่นักลงทุน อันนี้ถือว่าสำคัญสำหรับนักลงทุนเป็นอย่างมาก

ส่วนในมุมมองของผู้จัดการกองทุนนั้น จะมีการคัดเลือกหุ้นกู้เอกชนที่จะลงทุน โดยจะต้องคำนึงถึงผลตอบแทนที่จะได้รับและศักภาพของบริษัทเหล่านั้น ว่ามีศักยภาพในการบริหารจัดการและการจ่ายเงินคืนมากน้อยแค่ไหน อีกทั้งจะต้องศึกษาถึงรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆประกอบด้วย อาทิเช่น ผลการดำเนินงานย้อนหลังทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมไปถึงสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน

บางครั้งการเลือกลงทุนในหุ้นกู้เอกชนของบลจ.อื่นๆจะมีความแตกต่างกันใน เรื่องของการยอมรับความเสี่ยงในการลงทุนเนื่องจาก หากเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง แน่นอนผลตอบแทนที่จะได้รับย่อมสูงตามไปด้วย แต่ถ้าหากความเสี่ยงในการลงทุนต่ำผลตอบแทนที่ได้ก็ต่ำ ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์การเลือกลงทุนของแต่ละบริษัท

นอกจากนี้ ในส่วนของข้อมูลการออกหุ้นกู้เอกชนนั้น พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมาได้มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายแห่งทำการเสนอขาย หุ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังมีอีกหลายบริษัทเตรียมที่จะเสนอขายหุ้นกู้ภายในปีนี้เช่นกัน อาทิ บมจ. เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด มีแผนออกหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 1.5 พันล้านบาท แต่ขอรอดูภาวะตลาดให้เหมาะสมก่อน ด้านพฤกษา เรียลแอสเตท ได้ออกขายหุ้นกู้ 1,000 ล้านบาทอายุ 3ปี เช่นเดียวกับ บมจ.เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ฯ ที่จะเสนอขายในวงเงิน 1,000 ล้านบาท รวมถึง เหมราชพัฒนาที่ดิน วงเงิน 2-3 พันล้านบาท คาดจะเสนอขายภายในช่วงต้นปี ช.การช่าง เตรียมเปิดขาย 3-5 ก.พ. วงเงิน 2,500ล้านบาท และโรงแรมเซ็นทรัลพลาซ่า จะเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นในเดือนเมษายนนี้เพื่ออนุมัติในวงเงิน 3,500 -4,000 ล้านบาท

ส่วนกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ทิสโก้จะเสนอขายอีกด้วยวงเงิน 2,000 ล้านบาทในไตรมาส2 หลังจากต้นเดือนมกราคมได้เสนอขายไปแล้ว 2,000 ล้านบาท ขณะที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยามีแผนออกล็อตใหญ่ 10,000 ล้านบาท นอกจากนี้บรรดาโบรกเกอร์เชื่อว่าจะมีธนาคารออกหุ้นกู้เพิ่มอีก เช่น ธนชาต นครหลวงไทย ทหารไทย เป็นต้น

ด้านกลุ่มพลังงานพบว่า ไทยออยล์มีแผนออกหุ้นกู้วงเงิน 5,000 ล้านบาทภายในไตรมาสนี้ เช่นเดียวกับ ปตท.ผลิตและสำรวจปิโตรเลียมที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษา แต่ก่อนหน้านี้ ปตท.เคมิคอล ได้เสนอขายไปแล้วเมื่อช่วงต้นธันวาคม วงเงิน12,000 ล้านบาท

ขณะที่กลุ่มอื่นๆ การบินไทย เสนอขายรวม 4 ชุดวงเงิน 4,790 ล้านบาท บมจ.น้ำประปาไทย จำกัดจะออกหุ้นกู้ล็อตแรก 1.5 พันล้านบาท จากที่ได้รับอนุมัติทั้ง 7.5 พันล้านบาท แอดวานซ์ อินโฟเซอร์วิส เสนอขาย 2 ชุดวงเงินรวม7,500 ล้านบาท ร.พ.เกษมราษฎร์ เตรียมออกขายหุ้นกู้ 3,000 ล้านบาทอายุ10ปี ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ ถือเป็นข้อมูลที่น่าสนใจ เพื่อใช้ในการตัดสินใจเลือกลงทุนในหุ้นกู้เอกชน ส่วนจะชื่นชอบถือเก็บหุ้นกู้เหล่านี้มากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่แต่ละบุคคลต่อ ไป

http:manager.co.th/MutualFund/ViewNews.aspx?NewsID=9520000009792

จากคุณ : ขอบฟ้าบูรพา - [ 28 ม.ค. 52 14:29:18 ]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น