วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ครึ่งทศวรรษไฟใต้ สงครามชิงมวลชน หรือ สงครามชิงงบฯ ?

วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11425 มติชนรายวัน

ครึ่ง ทศวรรษกับเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางอำเภอใน จ.สงขลา นับแต่เหตุปล้นปืนที่ค่ายกองพันทหารพัฒนาที่ 4 บ้านปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อ 4 มกราคม 2547 จนถึงวันนี้

สถานการณ์ยังอยู่ในระดับรุนแรง?!

โดยระยะเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ผันผวนแล้วแต่โอกาสของแต่ละฝ่าย

ห้วงที่ตำรวจ-ทหารเปิดยุทธการรุกไล่ ปิดล้อม จับกุมแนวร่วมปฏิบัติการ หรือที่เรียกกันในนาม อาร์เคเค สถานการณ์จะนิ่ง!

" กลุ่มขบวนการต่างๆ พยายามหาช่องโอกาสที่จะตอบโต้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เลือกเป้าหมายที่บ่งบอกถึงอำนาจรัฐได้มากที่สุด เพื่อประโยชน์ทางด้านสงครามข่าวสารของเขา เพื่อเป็นผลงานแสดงต่อผู้ที่สนับสนุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ...เราต้องยอมรับความจริงว่า ทั้งทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองยังไม่สามารถอุดช่องโอกาสต่างๆ ได้ครบหมด เพราะมันเป็นสงครามประชาชน เขาเปลี่ยนยุทธวิธีจากการรบในป่า เป็นกองกำลังมาอยู่ในเมือง

"คืออยู่ติดกับประชาชน แอบซ่อนอยู่หลังประชาชน ซึ่งบางส่วนเราแยกแยะออก บางส่วนยังแยกแยะไม่ออก และเราก็ยังไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน ในการช่วยแยกแยะ

"เรา กำลังต่อสู้กับคนร้ายที่ทำผิดกฎหมาย มีขีดความสามารถ มีระบบ แบบแผน ที่เน้นการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ต่างจากอาชญากรรมทั่วไป เป็นอาชญากรรมพิเศษ" พล.ต.ท.พีระ พุ่มพิเชฏฐ์ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผบช.ศชต.) อธิบายถึงภาพรวมสถานการณ์ทั่วไปที่เกิดขึ้น

จากเหตุการณ์ปล้นปืน ฆ่าทหารที่ค่ายปิเหล็ง และอีกหลายเหตุการณ์ สื่อความหมายให้ถอดรหัสในเชิงสัญลักษณ์ รากเหง้าประวัติศาสตร์ การเมือง ขับไล่อำนาจรัฐพ้นชุมชนหมู่บ้าน ยึดมวลชน และยึดพื้นที่สื่อได้ยาวนาน

สอดรับแผนบันได 7 ขั้น ที่เป้าสูงสุดคือ แบ่งแยกดินแดน!!??

จาก ข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ระบุว่า นับแต่ปี 2547 จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2552 เกิดเหตุความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้แล้ว 9,687 เหตุ เป็นการยิงมากที่สุด 5,071 เหตุ ระเบิด 1,574 เหตุ วางเพลิง 1,396 เหตุ มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เหล่านี้ 3,513 คน เป็นประชาชน 3,078 คน ตำรวจ 223 นาย ทหาร 222 นาย มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 6,220 คน

มีครูเสียชีวิตจากเหตุไม่สงบ 92 คน ขณะที่อีก 96 คน ได้รับบาดเจ็บ พระภิกษุ-สามเณร มรณภาพ 5 รูปบาดเจ็บ 15 รูป!

และ นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2552 เจ้าหน้าที่รัฐมีการตั้งจุดสกัดตรวจค้น และยึดรถยนต์ต้องสงสัย 12,562 คัน รถจักรยานยนต์ 40,300 คัน ปิดล้อมตรวจค้น 4,957 ครั้ง

นอกจากนี้ นับแต่ปี 2547 มีการสอบสวนคดีอาญา 54,007 คดี เป็นคดีความมั่นคง 6,559 คดี รู้ตัวผู้กระทำผิด 1,478 คดี ออกหมายจับกุมไปแล้ว 6,902 หมาย จับไปแล้ว 3,809 หมาย

มีการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน นับแต่ปี 2548 ควบคุมตัว 1,719 คน ส่งดำเนินคดี 364 คน

ขณะ ที่นับแต่ปี 2547 คดีมีการพิพากษาในชั้นศาล 175 คดี ศาลลงโทษ 114 คดี จำเลย 184 คน แยกเป็นประหารชีวิต 17 คน จำคุกตลอดชีวิต 41 คน จำคุก 50 ปีลงมา 126 คน

ขณะเดียวกันสามารถยึดปืนจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้ 316 กระบอก เป็นปืนเอ็ม 16 รวม 89 กระบอก เอชเค 12 กระบอก เอเค 47 รวม 47 กระบอก

และ สามารถพิสูจน์ทราบเครือข่ายกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้ 9,715 คน เป็น อูลามา 281 คน แกนนำ 195 คน อาร์เคเค 1,917 คน และแนวร่วม 5,033 คน

สามารถ ตรวจพิสูจน์อาวุธปืนที่ใช้ก่อเหตุได้ถึง 3,452 กระบอก ในจำนวนนี้มีการใช้ยิงซ้ำ 515 กระบอก ฐานข้อมูลลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องสงสัยก่อเหตุในพื้นที่ถึง 4,799 ตัวอย่าง

เหล่า นี้เป็นสถิติข้อมูลปฏิบัติการของตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชาย แดนภาคใต้ ที่ใช้หลักฐานพยานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ เข้าสืบสวนสอบสวน แกะรอยต่อจิ๊กซอว์ ด้วยความเสียสละและทำงานอย่างหนักตลอดกว่า 5 ปี

แต่ กระนั้นตลอดหลายปีที่ผ่านมาก็มีความพยายามเข้าแทรกแซงของหน่วยอื่น ที่ต้องการแย่งชิงผลงาน มากกว่าช่วยเหลือกันทำงาน ท่ามกลางสถานการณ์ไม่สงบที่เกิดอย่างต่อเนื่อง?!

และแล้ววันที่ 8 มิถุนายน 2552 ก็เกิดเหตุสุดสลดครั้งใหญ่ขึ้นอีกครั้ง เมื่อคนร้ายบุกกราดยิงมัสยิดอัลฟรุกอน บ้านไอปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ขณะพี่น้องมุสลิมประกอบพิธีละหมาดทำให้มีผู้เสียชีวิต 11 ศพ บาดเจ็บอีกจำนวนมาก

ซึ่ง 11 ศพในมัสยิดยังมีข้อกังขาว่าแท้จริงเป็นฝีมือใคร กลุ่มใดกันแน่ เป็นการก่อการร้ายของโจรใต้ที่เปิดปฏิบัติการแรงจริงหรือ?

หรือเป็นฝีมือของคนกลุ่มอื่นที่มีวัตถุประสงค์แอบแฝง?

เป็นเรื่องที่น่าคิดและต้องติดตาม?

เพราะ เหตุร้ายครั้งนี้กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญ ที่ทำให้ไฟใต้โหมกระพือขึ้นมาอีกครั้ง โดยมีชีวิตครู พระ คนแก่ ทหาร ตำรวจ ผู้ปฏิบัติ ตกเป็นเหยื่อ

อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์นี้ยังปลุกให้ทุกองคาพยพออกมาเคลื่อนไหวที่ละม้ายคล้าย "เกม" และมีการตั้งคำถามที่บางมุมสะท้อนให้เห็นถึงความหวาดระแวงกันเอง

" สถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น กลุ่มผู้ก่อเหตุพยายามปรับแผนการปฏิบัติเพื่อยกระดับของเหตุ ดึงมวลชนกลับคืน ให้ประชาชนหวาดกลัว โดยอาศัยเงื่อนไขจากเหตุที่มัสยิดครั้งนี้ โดยคนร้ายมุ่งทำร้ายประชาชนทุกกลุ่ม และเจ้าหน้าที่ เพื่อสร้างความหวาดกลัว" ตำรวจวิเคราะห์สถานการณ์

ขณะที่ภาคการเมือง "นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" นายรัฐมนตรี ออกมาปักธงใช้การเมืองนำการทหาร พร้อมโยนหินถามทางที่จะผุดสำนักงานบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สบ.ชต.)

หรือ กระทั่งการชงให้ตั้ง "เขตปกครองพิเศษ" ของ "พรรคมาตุภูมิ" ที่มีแนวคิดอิงรากศัพท์ชื่อตั้งพรรคมาจาก "Mother land party" ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของอดีต ส.ส.ชายแดนใต้ อดีตกลุ่มวาดะห์!?

โดยมี การตั้งคำถามจากหลายฝ่ายถึงความคุ้มค่า ของงบประมาณรัฐนับแสนล้านที่ทุ่มลงในพื้นที่ตลอด 5 ปี ซึ่งไม่นับรวมงบฯลับ และงบฯเฉียด 2 หมื่นล้าน ที่กำลังจะส่งลงไปในช่องงบประมาณประจำปี 2553 หรือไม่?

และเงินนับแสนล้านบาทในรอบ 5 ปี หลายพันล้านบาทในทุกๆ ปีที่ส่งถึงมือผู้บังคับบัญชาหน่วยงานรัฐต่างๆ ในพื้นที่ นั้นถูกจัดสรรอย่างไรเปิดเผยได้หรือไม่?

ที่สำคัญมีการประเมินผลสัมฤทธิ์หรือเปล่า?

สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ที่ตามมาหลังไฟใต้ปะทุที่ไอปาแย และสะท้อนถึงสายสนกลใน การเดินเกม แย่งชิงกันในหลายมิติ

ว่าเรากำลังรบกับโจรร้ายที่ก่อความไม่สงบในชายแดนใต้ หรือกำลังรบกันเพื่อแย่งชิงเศษส่วนแบ่งงบประมาณจากการดับไฟใต้กันแน่...!?

เมื่อ ลองปะติดปะต่อก็อดที่จะสงสัยถึงความจริงใจของผู้ใหญ่ในบ้านในเมืองนี้ กับการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้?!

หากถามประชาชนคนพื้นที่ ว่าเห็นใครจริงใจในการแก้ปัญหาบ้าง คงตอบกันลำบากวัดกันยาก

แต่ ที่ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่สัมผัสคือภาพเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติทั้งหลาย ครูประชาบาล ลูกจ้าง อบต. นายสิบตำรวจ พลทหาร อาสาทหารพราน ตำรวจสายสืบ ตชด. ทหารมวลชนสัมพันธ์ ชุดคุ้มครองครู ดูแลพระ ฯลฯ เหล่านี้ยังคงปฏิบัติงานตามหน้าที่ ตามคำสั่ง อุดมการณ์ อย่างไม่ลดละ เสียสละและเสี่ยงอย่างสูง

ทั้งนี้ทั้งนั้น เป็นสิ่งน่าละอายหากแต่นาย ผู้บังคับบัญชา ผู้มีอำนาจ และผู้ทรงเกียรติทั้งหลาย ใช้พื้นที่ชายแดนใต้นี้เป็นเวทีต่อรอง เพื่อผลประโยชน์ส่วนตนบางอย่าง

โดยไม่ยี่หระต่อความสงบสุขของคนไทยในพื้นที่?

หาก ผู้มีอำนาจ-หน้าที่ ทั้งหลายเป็นเช่นนี้ ทุกองคาพยพ ยังไม่จริงใจ ต่อปรัชญาพระราชทานที่ว่า "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" ยังไม่รวมใจเป็นเนื้อเดียวกัน ท่ามกลางการต่อสู้กับโจรขบวนการ คู่ต่อสู้ที่แหลมคม แข็งแกร่ง และมากด้วยศรัทธา

สันติสุขแดนใต้ ก็ไกลเกินกว่าจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์?!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น