คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "มองมุมใหม่"
วันที่ 6 พฤษภาคม 2553 01:00
หากจะวิเคราะห์ตัวละครเด่นในสมรภูมิความขัดแย้งระหว่างฝ่ายรัฐบาล
กับคนเสื้อแดงที่กรีธาทัพออกมายึดจุดศูนย์ดุล (Centers of Gravity) แล้ว
บางคนอาจยกให้กับบุคคล ที่มีบทบาทสูงทั้งสองฝ่าย อาทิเช่น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สุเทพ เทือกสุบรรณ
จตุพร พรหมพันธุ์ หรือณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หรืออาจยกให้เงื้อมมือเบื้องหลังบุคคลหน้าฉากเหล่านี้เป็นตัวเด่น
บางคนอาจยกให้ระเบิด M-79 ที่สร้างความน่าสะพรึงกลัวในสังคมได้หลากหลายวาระ รวมตั้งทำให้
บูรพาพยัคฆ์ต้องถึงจุดผกผัน (Culmination) ในคืนวันที่ 10 เมษายน อย่างไม่คาดคิด เหตุการณ์
การสลายฝูงชนในคืนนั้น ก็เป็นหนึ่งในฉากเด่นของศึกความขัดแย้ง แต่เมื่อวิเคราะห์ถึงสิ่งที่สำคัญที่สุด
ในการต่อสู้กันครั้งนี้ ขอยกให้ ปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operation-IO) เป็นตัวประกอบที่ถึง
จะโดดเด่นเป็นรอง แต่มีความสำคัญที่สุดของสงครามกลางกรุงครั้งนี้
ทั้งนี้ เนื่องจากคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายระดมใช้ IO ในการต่อสู้อย่างต่อเนื่อง โดยเป็นกำลังรบที่ขาดไม่ได้
ต้องใช้จริงโดยไม่หยุดหย่อน การใช้ปฏิบัติการอื่นนั้นยังมีวันพัก จนทำให้ทั้งสองฝ่ายอยู่ในสภาวะ
ตรึงเสียมาก แต่การมุ่งทำการเพื่อชนะใจมวลชน สร้างความชอบธรรมให้ฝ่ายตนเอง และก่อภาพลบ
ให้ฝ่ายตรงข้ามเป็นปรากฏการณ์ที่ชะงักชะลอไม่ได้ การต่อสู้ชนิดนี้เป็นเรื่องจำเป็นในสงครามอสมมาตร
(Asymmetric warfare) เสียยิ่งกว่าการเอาชนะกันด้วยกำลัง ซึ่งถึงจบศึกในยุทธบริเวณก็อาจเป็นรอง
ในเฟสของการยุทธถัดไปอยู่ดี หากโดนตราหน้าว่าเป็นฝ่ายผิด
ข่าวสารถือเป็นพลังอำนาจชนิดหนึ่ง ใครครองน่านอากาศตรงนี้ได้ก็ได้เปรียบในการยุทธ
เพราะข่าวสารเหมือนกระสุนที่พุ่งออกจากปืนของสื่อ เข้าไปทะลวงจิตใจของผู้รับสาร เข้าไปมี
ผลกระทบต่อระบบความคิดอ่านและกระบวนการตัดสินใจของผู้รับสารอย่างรุนแรง เมื่อจิตใจของ
ผู้รับสื่อมีอาการเป๋ จากข่าวสารที่จงใจจัดตั้งจากการปฏิบัติการข่าวสารแล้ว ก็จะส่งผ่านการดำเนินการ
จากจิตใจมายังกายภาพต่อไป ตอนนี้ทั้งรัฐและเสื้อแดงจึงระดมสรรพกำลังด้านนี้ถล่มเข้าใส่กัน
เพื่อหวังให้อาการกายภาพของผู้รับเอนเอียงมาเป็นคุณต่อตน โดยวัตถุประสงค์หลักที่มุ่งกระทำ
ต่อเป้าหมายฝ่ายตรงข้าม ก็คือ รัฐบาลอยากให้เสื้อแดงใจฝ่อเลิกชุมนุม ส่วนฝ่ายเสื้อแดงก็อยากให้
รัฐบาลถอดใจยกธงขาว แต่ขณะเดียวกัน ก็มุ่งทำ I0 ต่อมวลชนฝ่ายเดียวกัน และต่อประชาคมโลก
ไปพร้อมกันด้วย
เท่าที่เห็น ทั้งรัฐบาลและแกนนำเสื้อแดงได้ใช้การปฏิบัติครบทุกองค์ประกอบ (Component)
ซึ่งก็พยายามทำให้เนียน จนผู้รับสารอาจนึกไม่ถึงว่าตัวเองกำลังโดนกล่อมด้วย IO อยู่
อาทิเช่น การที่รัฐบาลย้ำอยู่ตลอดเวลาว่าทหารเป็นผู้สูญเสีย ฝ่ายตรงข้ามมีโจรเข้าทำร้ายทหาร
และประชาชนเมื่อคืนวันที่ 10 มีการใช้สื่อสารมวลชนในมือโหมตีทั้งการแถลง การวิเคราะห์
ภาพข่าว ฯลฯ นั้น เป็นปฏิบัติการจิตวิทยา (Psychological Operation-Psyop) ที่หวังให้
คนขวัญอ่อน ตื่นกลัวไม่กล้าร่วมชุมนุม สุจริตชนต่อต้านการใช้ความรุนแรง
โดยเชื่อว่าอีกฝ่าย คือ ผู้ละเมิดความสงบของบ้านเมือง และนานาชาติสนับสนุน
การป้องกันเหตุการณ์ ภายภาคหน้าของรัฐที่อาจต้องใช้ความรุนแรงบ้าง
ในด้านการลวงทางทหาร (Military deception-MILDEC) มีตัวอย่างจากการที่ฝ่ายเสื้อแดงกระจายข่าวว่า
จะไปปิดถนนสีลม เป็นการลวงให้กำลังของฝ่ายรัฐออกมาปิดสีลมเสียก่อน ผลคือสีลมตกอยู่ในสภาพที่
ฝ่ายเสื้อแดงต้องการโดยมิพักต้องให้กำลังฝ่ายเสื้อแดงไปปิด ในด้านการรักษาความปลอดภัย
ในการปฏิบัติการ (Operations security-Opsec) ก็มีตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือ การเคลื่อนกำลังของ
ฝ่ายเสื้อแดงไปปิดย่านราชประสงค์โดยไม่แลบข่าวออกมาก่อน การที่รัฐเตรียมตัวไม่ทัน ส่งผลให้
ส่งกำลังไปขัดขวางไม่ทัน เมื่อเสื้อแดงเข้ามั่นในที่ตั้งแล้ว ก็เป็นการยากที่รัฐจะเข้าไปเอาเสื้อแดงออกมา
ในด้านสงครามอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Warfare-EW) เป็นการรบกันโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
รัฐบาลสั่งบล็อกความถี่วิทยุโทรทัศน์ของฝ่ายเสื้อแดงได้อย่างประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง
การที่ดาวเทียมและเคเบิลทีวียังส่งผ่านรายการพีเพิลชาแนลเป็นวงกว้างไม่ได้ ย่อมกระทบต่อ
การสื่อสารระหว่างผู้ชุมนุมพอสมควร แต่รัฐบาลกลับไม่เหนือกว่าในปฏิบัติการ
เครือข่ายคอมพิวเตอร์ (Computer Network Operation-CNO) เพราะต่อให้
ไล่ปิดเว็บโน้นเว็บนี้ แต่ก็ตัดการเผยแพร่ข่าวสารของฝ่ายเสื้อแดงผ่านทาง
ช่องทางที่เปิดใหม่ทุกวันไม่ได้ โดยเฉพาะในต่างประเทศที่เนื้อหา
ไปถึงไหนถึงไหนกันแล้ว
ยังมีองค์ประกอบสนับสนุน IO อีก 5 ประการ คือ การประกันข่าวสาร (Information Insurance)
การต่อต้านข่าวกรอง (Counterintelligence) การรักษาความปลอดภัยวัตถุ (Physical Security)
การโจมตีทางวัตถุ (Physical Attack) และภาพถ่ายการรบ (Combat Camera)
ตลอดจนมีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องอีก 3 ประการ คือ การประชาสัมพันธ์ (Public Affairs)
การปฏิบัติการระหว่างพลเรือนกับทหาร (Civil-Military Operations) และการสนับสนุนทางทหาร
ต่อการทูตสาธารณะ (Defense Support To Public Diplomacy) เชื่อว่าเมื่อท่านผู้อ่านรู้ชื่อของ
แขนงขีดความสามารถเหล่านี้แล้ว ก็คงพอนึกออกว่าการปฏิบัติใดบ้างของรัฐบาลและเสื้อแดง
ที่เป็นปฏิบัติการ IO แม้ว่าคนใช้จะปฏิเสธอย่างแข็งขันว่าเขาไม่ได้ทำ IO นะ
การยอมลงให้กันไม่ได้ ทำให้คู่ขัดแย้งเร่งทำ IO หนักขึ้น ความชอบธรรมที่ได้จะเป็นเพียง
ความชอบธรรมจำลอง (Relative Legitimacy) ที่ได้ใจเฉพาะมวลชนฝ่ายตนเอง ขณะที่บรรยากาศ
โดยรวมของสังคมเต็มไปด้วยความเกลียดชังกัน หากเป็นเช่นนี้ต่อไปคงเดาฉากไคลแมกซ์
ต่อไปได้ไม่ยาก
--------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น