วันอังคารที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2553

สังคมไทยเกิดอาการวิปริตอาเพศรอวันแตกหักถึงขั้น‘กลียุค’!

“ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ” นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์การเมืองและอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหนึ่งในนักวิชาการที่กล้าพูด กล้าวิจารณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมไทย โดยเฉพาะเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่กลายเป็นหลุมดำที่ฉุดให้บ้านเมืองต้องดำดิ่งสู่เหวนรก พร้อมๆกับเหตุการณ์นองเลือด “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ที่ยากจะเกิดการปรองดองสมานฉันท์ แต่จะรอวันแตกหักและการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรง

4 ปีการทำรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549

ถ้ามองย้อนกลับไป 4 ปีการรัฐประหารรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ต้องบอกว่าเป็นเหตุการณ์ที่น่าเสียใจและส่งผลเสียมากกว่าผลดีกับประเทศชาติ ผมคิดว่าน่าเสียดายที่ไม่สามารถใช้กลไกในแง่ของประชาธิปไตยกับในแง่ของ กฎหมายจัดการกับปัญหา เราใช้กำลังอาวุธ ใช้กองกำลังทหารมาจัดการกับปัญหาทางการเมือง อันนี้เป็นส่วนที่ผมคิดว่าน่าเสียดายและเสียใจ

เรามีรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่ชนะอย่างถล่มทลายของพรรคไทยรักไทยที่นำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ จากนั้นก็มาเกิดวิกฤตอย่างที่เห็น เป็นวิกฤตตั้งแต่ปี 2547 ที่เกิดขบวนการโค่นล้ม พ.ต.ท.ทักษิณ เกิดขบวนการม็อบเสื้อเหลือง เกิดขบวนการอ้างและอิงสถาบันพระมหากษัตริย์ในการกำจัดศัตรูทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมากต่อสังคมไทย อันนี้ผมคิดว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญมาก แล้วก็จบลงด้วยเหตุการณ์รัฐประหาร

แปลว่าพัฒนาการทางการเมืองของไทยซึ่งล้มลุกคลุกคลานตลอดเวลา 100 ปี ผมคิดว่าตอนนี้ก็ยังล้มลุกคลุกคลานต่อไปไม่จบสิ้น แล้วดูเหมือนอีกด้านหนึ่งถอยหลัง และอีกด้านหนึ่งก็จมดิ่งลงไปอยู่ในหลุมดำ ผมมองว่าเป็นหลุมดำทางการเมือง เป็นสิ่งที่ผมมองจากประวัติศาสตร์ช่วงยาวๆของสังคมการเมืองไทยในช่วงประมาณ 100 ปีที่ผ่านมาที่ทั้งถอยหลังและตกต่ำลงลึกไปพร้อมๆกัน

ประเด็นต่อมาผมมองว่าเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นรัฐประหารที่อาจเรียกได้ว่าล้มเหลวมากที่สุดก็เป็นได้ เพราะทำให้สังคมเกิดความขัดแย้ง เกิดความแตกแยกอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของไทย ผมมองว่าเป็นรัฐประหารที่ล้มเหลวที่สุด ถ้ามองว่ายึดอำนาจปี 2549 แล้วเราก็มีรัฐบาลชั่วคราวของกลุ่มขิงแก่ ก็พูดได้ว่าไม่มีอะไรดีขึ้นอย่างที่คาดหวังกันว่าถ้าได้คนดี คนอาวุโสเข้ามาแล้วจะทำให้อะไรดีขึ้น ปรากฏว่าไม่ใช่

ประชาธิปไตยที่น่าละอาย

สิ่งที่ตามมาในปี 2550 คือมีรัฐธรรมนูญขึ้นมาเป็นฉบับที่ 18 แล้วเป็นรัฐธรรมนูญซึ่งผมมองว่าเอื้ออำนวยต่อการรักษาอำนาจของกลุ่มคนที่ เป็นอนุรักษ์นิยมกับกลุ่มคนที่เป็นชนชั้นสูงของบ้านเมือง เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเป็นฉบับที่เป็นประชาธิปไตยน้อยกว่ารัฐ ธรรมนูญฉบับปี 2540 และน้อยกว่าฉบับปี 2517 อาจเรียกว่ามีการหมกเม็ดก็ได้ คือแอบซ่อนอะไรๆไว้เยอะมาก

แต่สิ่งที่ผมคิดว่าน่าเกลียดมากๆคือ ส.ว.สรรหา ผมคิดว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมในแง่ของประชาธิปไตย ถือเป็นความน่าละอายของคนที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นมา และเป็นการหมกเม็ดเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตัวเองที่จะได้รับการสรรหา โดยไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งเพื่อเข้ามาดำรงตำแหน่ง เป็นจุดที่เลวร้ายมากๆในแง่ของรัฐธรรมนูญปี 2550

ผมมองว่าปี 2549 เป็นการถอยหลัง เป็นการตกต่ำลงดิ่ง ปี 2550 ทั้งรัฐบาลขิงแก่ก็ดี ทั้งรัฐธรรมนูญก็ดี ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น แล้วก็ตามมาด้วยการเลือกตั้งและมีรัฐบาลที่นำโดยนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่ง 2 รัฐบาลนี้พูดง่ายๆว่าแม้จะมีการร่างรัฐธรรมนูญไว้เพื่อกำจัดอำนาจของฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้นจึงต้องใช้ม็อบการเมืองเสื้อสีเหลืองมาดำเนินการ ซึ่งผมคิดว่าจุดนี้เป็นจุดที่ผมมองว่าเป็นการสร้างสิ่งที่เรียกว่าสภาพของ ความเป็นอนาธิปไตยขึ้นมา มันไม่ใช่ประชาธิปไตย ถึงแม้ว่าทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็น คมช .ที่ทำรัฐประหารจะอ้างว่าเป็นประชาธิปไตยซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ตาม หรือฝ่ายม็อบสีเหลืองเรียกตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตยอะไรก็ตาม

ตุลาการธิปไตย-ตุลาการภิวัฒน์

อันนี้ตรงกับสิ่งที่ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ พูดเอาไว้ก็คือทำให้เกิดสภาพที่เป็นอนาธิปไตย เมื่อเกิดสภาพนี้แล้วก็เกิดการยึดอำนาจที่ทำให้ไม่เป็นประชาธิปไตย โดยทั้งฝ่าย คมช. และม็อบสีเหลือง ผมคิดว่าเมื่อเป็นอย่างนั้นแล้วก็นำมาสู่การผลักดันให้เกิดกระบวนการตุลาการ ธิปไตย บางคนอาจเรียกเป็น “ตุลาการภิวัฒน์” เอากระบวนการตุลาการและกฎหมายมาแก้ปัญหา

แต่ผมคิดว่าศัพท์ที่ถูกต้องของฝ่ายนิติศาสตร์กลุ่มที่ทวนกระแสนี้ควร เรียกว่าเป็น “ตุลาการธิปไตย” คืออำนาจสูงสุดอยู่ที่ฝ่ายตุลาการ ฝ่ายนักกฎหมาย เมื่อกำจัดรัฐบาลนายสมัครและรัฐบาลนายสมชายได้ก็มาถึงการมีรัฐบาลชุดของนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เป็นผลต่อเนื่องให้ม็อบสีแดงเติบโตอย่างรวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ แล้วก็นำมาซึ่งวิกฤตการณ์และความปั่นป่วนของบ้านเมืองต่อมาอย่างที่เห็น อย่างเหตุการณ์สงกรานต์เลือดปี 2552 หรือเหตุการณ์เมษา-พฤษภาอำมหิตปี 2553 เพราะฉะนั้นแปลว่าปี 2549 ที่ทำรัฐประหารยึดอำนาจ ปี 2550 มีรัฐธรรมนูญ ต่อมาก็มีการเลือกตั้ง ปี 2551 นั้นเกิดสภาพอนาธิปไตย

สงกรานต์เลือดถึงเมษา-พฤษภาอำมหิต

ปี 2552 เกิดสงกรานต์เลือด ปี 2553 เกิดเมษา-พฤษภาอำมหิตอะไรทำนองนี้ เราก็มาอยู่ตรงนี้ ถ้ามองในแง่ประวัติศาสตร์ในช่วง 4 ปีมีแต่เลวร้ายลงทุกที ไม่ใช่ถอยหลังอย่างเดียว แต่ดำดิ่งลงไปในหลุมดำทางการเมือง ซึ่งดูดทุกอย่างลงไปหมด รวมทั้งการปลุกกระแสเรื่องปราสาทพระวิหาร เหมือนกับไปสะกิดแผลเก่าให้หนองแตกและเลือดไหล ทั้งๆที่น่าจะจบไปแล้วตามคำพิพากษาของศาลในปี 2505 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และยูเนสโกก็ขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกปี 2551 ที่ประเทศแคนาดา

ผมมองว่าโดยรวมแล้วทั้งในแง่ของการเมืองภายใน ความขัดแย้งระหว่างม็อบสีเหลืองกับม็อบสีแดง ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายอำมาตย์กับฝ่ายไพร่ ทำให้เห็นว่า 4 ปีที่ผ่านมาเป็นสถานการณ์ที่น่าวิตกมาก เราก็มาถึงจุดตรงนี้ ณ เวลานี้

รอการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง

คำถามก็คือเมื่อเลวร้ายอย่างนี้ แตกแยกกันอย่างนี้ แล้วเราจะปฏิรูป จะปรองดอง จะสมานฉันท์ หรือจะเกี๊ยะเซียะกันได้ไหม ผมคิดว่ายากมากๆ คือผมมองว่าด้านหนึ่งการเมืองที่เราเห็นเป็นการเมืองของตัวแทนหรือนอมินี คนที่ออกมาเล่นไม่ใช่ตัวจริง เป็นตัวแทนทั้งหมด ดังนั้น เมื่อเป็นตัวแทนก็ไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้

ประเด็นที่ 2 เป็นการเมืองที่เป็นเกมรอ ผมคิดว่าเป็นการรอวันที่จะแตกหัก ตอนนี้สถานการณ์อึมครึม ผู้คนมีความวิตกกังวลมากๆ ผมยกตัวอย่างงานวิจัยของต่างประเทศบอกว่าคนไทยในระดับชั้นกลางกับชั้นสูงมี ปัญหาใหญ่คือความวิตกกังวล คือไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จริงๆแล้วก็หวั่นวิตกกับอนาคต มนุษย์จะมีปัญหามากถ้าไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ก็จะเกิดความวิตกกังวลผิดปรกติ กลายเป็นปัญหาด้านจิตใจและจิตวิทยา

ทำให้ส่งผลต่อไปคือไม่กล้าเผชิญหน้ากับความจริงและไม่กล้าพูดความจริง ทำให้ต้องพูดเท็จ ต้องโฆษณาชวนเชื่อ ประชาสัมพันธ์กันอย่างหนักหน่วง ซึ่งเป็นสิ่งที่กำลังเห็นอยู่ในปัจจุบัน แล้วก็อาจจะก้าวเลยไปอีกในแง่ที่เราพูดถึงการปฏิรูป การปรองดอง สมานฉันท์ เกี๊ยะเซียะ ที่เห็นชัดๆคือชุดของคุณอานันท์ ปันยารชุน ชุดของ นพ.ประเวศ วะสี ชุดของคุณคณิต ณ นคร และชุดของอาจารย์สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ผมคิดว่าอาจไม่มีอะไรเลยในแง่ของการปฏิรูปหรือการปรองดอง

เพราะเอาเข้าจริงๆผู้ที่มีอิทธิพลทางการเมืองตัวจริงก็ไม่ได้ออกมาเล่น อย่างที่ผมใช้คำว่าเป็นตัวแทน แล้วในแง่ของผู้ที่ออกมาเล่นก็เห็นๆกัน ม่ว่าจะเป็นผู้นำของพรรคต่างๆทั้งรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน สิ่งที่ขาดก็คือเจตจำนงทางการเมืองที่จะปฏิรูป ที่จะปรองดอง แต่ละฝ่ายเล่นเกมตัวแทนมากกว่า โดยเฉพาะเล่นเกมเพื่อการรอเวลาสำคัญที่จะเกิดขึ้น เกิดการระเบิดและการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง ผมว่าสภาพแบบนี้ทำให้คนแบบเราๆท่านๆวิตกกังวลและเกิดความเครียดไปหมด

บทบาททหารหรือกองทัพ

ต้องยอมรับว่าทหารหรือกองทัพยุ่งเกี่ยวกับการเมืองมาโดยตลอด ยุ่งมาประมาณ 100 ปีแล้ว ซึ่งทหารพยายามจะยึดอำนาจและมีบทบาททางการเมืองตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ 6 ที่เรียกว่ากบฏ ร.ศ.130 ซึ่งพวกเรามักมองแค่การปฏิวัติเมื่อปี 2475 แต่ความจริงมันกลับไปตั้งแต่ปี 2454-2455 กบฏ ร.ศ.130 ที่ในช่วงแรกอาจพูดได้ว่าผู้นำรุ่นใหม่ของทหารยังมีความคิดในแง่ของ ประชาธิปไตยสูงมากๆ และในความพยายามของกลุ่มยังเติร์กที่เรียกว่ากบฏ ร.ศ.130 นั้นสาระสำคัญก็อยู่ที่ความเป็นประชาธิปไตย รวมทั้งกลุ่มทหารบกและทหารเรือที่ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475

คนอย่างพระยาพหลพลพยุหเสนา หลวงพิบูลสงคราม หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ หลวงศุภชลาศัย คนเหล่านี้มีความคิดทางการเมืองในแง่ของความเป็นประชาธิปไตย และมีส่วนอย่างยิ่งในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและจำกัดอำนาจของพระมหา กษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่หลังจากนั้นแล้วไม่ใช่ ผมคิดว่าหลังจากรัฐประหารปี 2490 ของจอมพลผิน ชุณหะวัณ ถือว่าทหารประชาธิปไตยหายากมาก

กลายเป็นสถาบัน เป็นกลุ่มผลประโยชน์ และต้องการรักษาสถานะของตัวเองไว้มากกว่าทหารสมัยกบฏ ร.ศ.130 หรือทหารรุ่นปฏิวัติ 2475 ผมคิดว่าทหารนับตั้งแต่ปี 2490 เป็นต้นมาเป็นกลุ่มที่กลายเป็นสถาบันที่มีอำนาจในสังคมสูงมากและต้องการ รักษาสถานะอันนี้ไว้ เพราะฉะนั้นพวกนี้จะไม่แฮปปี้ต่อระบอบประชาธิปไตย ไม่แฮปปี้ต่อการเลือกตั้ง ไม่แฮปปี้กับนักการเมือง จะเห็นว่ามีความพยายามที่จะยึดอำนาจตลอดเวลา ถ้ายึดอำนาจสำเร็จก็เรียกว่าปฏิวัติหรือปฏิรูป แต่ถ้าไม่สำเร็จก็กลายเป็นกบฏไป

มันกลายเป็นอย่างที่เราเห็น คือถ้าดูการเมืองไทยในช่วงเกือบ 100 ปีที่ผ่านมา เรามีปฏิวัติรัฐประหารที่สำเร็จหรือไม่สำเร็จ 3-4 ปีครั้งหนึ่ง และเราก็มีรัฐธรรมนูญที่ใช้ 3-4 ปีต่อ 1 ฉบับ จนประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรัฐธรรมนูญมากที่สุดในโลก คือมีแล้วถึง 18 ฉบับ และผมเชื่อว่าฉบับที่ 19 คงจะตามมาถ้าดูจากประวัติศาสตร์การเมืองยาวๆ มองกลับไปสัก 100 ปี มันเดินมาอย่างนี้ ก็จะต้องเดินไปอย่างนี้ถ้าไม่แก้ปัญหาที่เป็นรากฐาน แต่ขณะนี้ทหารจะยังไม่ยึดอำนาจเพราะน่าจะพอใจกับการมีตัวแทนอย่างรัฐบาลชุด ปัจจุบัน

4 เดือน “พฤษภาอำมหิต”

เหตุการณ์ความรุนแรง “พฤษภาอำมหิต” ที่ครบรอบ 4 เดือน ผมมองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นตราบาปและรอยด่างต่อไป ผมคิดว่าเรื่องนี้คงไม่จบและจะอยู่ต่อไปอีกยาวนาน ขึ้นอยู่กับการเมืองในระดับบนจะเป็นอย่างไร ตอนนี้การเมืองระดับบนถูกคุมอยู่เรื่องนี้ก็ดูเบลอๆ ผมว่าคนจำนวนไม่น้อยก็หวังว่าถ้าเวลายืดนานออกไปคนก็จะลืม เหมือนเหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภา 35 แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่าปัจจุบันจะเป็นเหมือนที่ผ่านมาหรือไม่ เพราะความแตกแยก ความร้าวฉานมันลงลึกมากๆ

ผมไม่คิดว่าจะได้เห็นผลการสอบสวนคดี 91 ศพ หรือแม้กระทั่งคำขอโทษและการแสดงความรับผิดชอบของรัฐบาล เพราะเกมของราชการไทยคือการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษา และจะตั้งอนุกรรมการหลายๆชุดเพื่อศึกษา ถ้าผลการศึกษาออกมาก็จะส่งรายงานเข้ามาแล้วเก็บขึ้นหิ้งแล้วก็จบ ผมคิดว่าไม่มีผล อันนี้เป็นวิธีการปฏิบัติที่ฝ่ายราชการทำมาเป็นเวลานานมากแล้ว

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์พฤษภาอำมหิตคงไม่เสียชีวิตแบบสูญเปล่า เพียงแต่จะเรียกร้องจากคณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งไม่ได้ ต้องไปเรียกร้องที่อื่น

ผมสงสัยว่าคนที่มีอำนาจอยู่เชื่อว่าตัวเองทำถูกอย่างจริงใจหรือ เรื่องที่จะขอโทษหรือแสดงความรับผิดชอบจึงไม่มี ผมเข้าใจว่าเขาคงคิดว่าสิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่ถูกต้องมากๆจึงทำให้ปฏิรูปไม่ ได้ ปรองดองไม่ได้ เกี๊ยะเซียะไม่ได้ ในอนาคตข้างหน้าจึงมีแต่รอวันแตกหัก และเท่าที่ผมประเมินเหตุการณ์ที่จะแตกหักในอนาคตจะมีความรุนแรงกว่าเหตุ การณ์พฤษภาอำมหิต

ผมอยากให้กลับไปดูเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยานั้นพยากรณ์ได้ถูกต้องที่ สุด ทำให้เห็นภาพอะไรต่างๆได้ดีกว่า เกิดอาการวิปริตอาเพศไปหมด และจะรุนแรงอย่างที่เรียกว่า “กลียุค” นั่นเอง

สังคมไทยได้บทเรียนอะไร

เหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่กำลังจะครบรอบ 4 ปี ให้บทเรียนว่าเราไม่เรียนจากประวัติศาสตร์หรือไม่เรียนอะไรจากความผิดพลาด เลย ผมคิดว่าเราไม่เคยเรียนจากความผิดพลาดของเหตุการณ์ 14 ตุลา เราไม่เคยเรียนความผิดพลาดของเหตุการณ์ 6 ตุลา เราไม่เคยเรียนจากเหตุการณ์พฤษภาเลือด 2535 และผมรับรองว่าเราก็จะไม่เรียนความผิดจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภาอำมหิตนี้ เหมือนกัน เพราะวิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาการที่ตกต่ำที่สุดในประเทศไทย ในมหาวิทยาลัยต่างๆแทบไม่มีใครอยากเรียนวิชานี้

ทางออกของวิกฤตการเมือง

1.จะต้องปฏิรูปและปรองดองกับกลุ่มคนทุกชนชั้น ทุกระดับ 2.ทำให้รัฐธรรมนูญเป็นของประเทศสยามสำหรับทุกคน ไม่หมกเม็ดสำหรับกลุ่มบางกลุ่ม 3.ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันสูงสุด เป็นสถาบันกลางที่เป็นที่เคารพสักการะบูชาของประชาชนทั้งประเทศ ไม่ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเอาไปอ้างไปอิงเพื่อประโยชน์ของกลุ่มตัวเอง และ 4.สถาบันทหาร ตำรวจ พลเรือน และตุลาการ จะต้องเป็นกลาง ไม่ใช่เข้ามากุมอำนาจเพื่อประโยชน์ของสถาบันของตัวเอง เรียกว่าต้องมีชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชนด้วย

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 277 วันที่ 18 – 24 กันยายน พ.ศ. 2553 หน้า
16 คอลัมน์ ฟังจากปาก โดย กิตติพิชญ์ ยิ่งวรการสุข

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น