อันภูมิประเทศนั้น มีพื้นที่สะดวก มีพื้นที่ซับซ้อน มีพื้นที่ประจัน มีพื้นที่เล็กแคบ มีพื้นที่คับขัน มีพื้นที่ห่างไกล
เราไปก็ได้ เขามาก็ได้ เรียกว่าสะดวก พื้นที่สะดวกเยี่ยงนี้พึงยึดที่สูงโล่งแจ้งก่อน รักษาเส้นทางเสบียง ก็รบจักชนะ
ไปได้ แต่ถอยกลับยาก เรียกว่าซับซ้อน พื้นที่ซับซ้อนเยี่ยงนี้การข้าศึกไม่ระวัง ออกตีชนะ หากข้าศึกเตรียมพร้อม ออกตีไม่ชนะ อยากกลับก็ลำบาง ไม่เป็นผลดี
เราออกตีไม่ดี เขาออกตีก็ไม่ดี เรียกว่าประจัน พื้นที่ประจันเยี่ยงนี้ แม้สภาพข้าศึกเป็นประโยชน์แก่เรา เราก็ไม่ออกตี พึงนำทัพแสร้งถอย ให้ข้าศึกรุกไล่มากึ่งหนึ่ง จึงหวนเข้าตี เป็นผลดี
พื้นที่เล็กแคบ เราพึงยึดก่อน วางกำลังหนาแน่นรอคอย ข้าศึกหากข้าศึกยึดก่อนว่างกำลังหนาแน่นอย่าเข้าตี หากกำลังข้าศึกเบาบางก็จงเข้าตี
พื้นที่คับขัน เราพึงยึดก่อน เลือกที่สูงโล่งแจ้งรอคอยข้าศึก หากข้าศึกยึดก่อน ให้ถอยเสีย อย่ารบด้วย
พื้นที่ห่างไกล กำลังก้ำกึ่ง ยากจักท้ารบ ฝืนรบไม่เป็นผลดี
หกประการนี้ คือหลักแห่งการใช้ภูมิประเทศ เป็นหน้าที่สำคัญของแม่ทัพ จักไม่พินิจพิเคราะห์มิได้
ฉะนั้น ความปราชัยของกองทัพ จึงมีที่เตลิดหนี มีที่หย่อนยาน มีที่ล่มจม มีที่พังทลาย มีที่ปั่นป่วน มีที่ยับเยิน หกประการนี้ มิใช้ภัยจากฟ้า เป็นความผิดของแม่ทัพ
กำลังก่ำกึ่ง กลับเอาหนึ่งไปรบสิบ ทัพจึงเตลิดหนี
ไพร่พลแข้งแกร่งแต่นายกองอ่อน ทัพจึงหย่อนยาน
นายกองแข็งแต่ไพร่พลอ่อน ทัพจึงล่มจม
ขุนพลฉุนเฉียวไม่ฟังบัญชา เผชิญศึกก็โทสะออกรบพลการ แม่ทัพไม่รู้ความสามารถของขุนพล ทัพจึงพังทลาย
แม่ทัพอ่อนแอไม่เข้มงวด การฝึกอบรมไม่จะแจ้ง นายกองและไพร่พลมิรู้ที่จะปฏิบัติ การจัดกำลังก็สับสน ทัพจึงปั่นป่วน
แม่ทัพคาดคะเนข้าศึกมิได้ เอาน้อยรบมาก เอาอ่อนตีแข็งไพร่พลมิเฟ้นที่กล้า ทัพจึงยับเยิน
หกประการนี้ คือหนทางแห่งความปราชัย เป็นหน้าที่สำคัญของแม่ทัพ จึงไม่พินิจพิเคราะห์มิได้
อันลักษณะภูมิประเทศนั้น คือสิ่งช่วยการศึก การคาดคะเนข้าศึกเพื่อชิงชัย การพิจารณาพื้นที่คับขันอันตรายหรือไกลใกล้จึงเป็นคุณสมบัติของแม่ทัพเอก ผู้รู้สิ่งเหล่านี้ออกรบจักชนะ ผู้ไม่รู้สิ่งเหล่านี้ออกรบจักแพ้
ฉะนั้น เมื่อวิถีการรบจักชนะ แม้เจ้านายห้ามรบ ก็พึงรบ เมื่อวิธีการรบจักไม่ชนะ แม้เจ้านายให้รบ ก็มิพึงรบ ฉะนั้น รุกไม่แสวงหาชื่อเสียง ถอยไม่หลบเลี่ยงอาญา มุ่งปกป้องซึ่งทวยราษฎร์ เอื้อประโยชน์แด่เจ้านาย นับเป็นดวงมณีของชาติ
ใส่ใจไพร่พลดุจทารก จักร่วมลุยห้วยเหว ใส่ใจไพร่พลดุจบุตรรัก ก็จักร่วมเป็นรวมตาย ถนอมแต่ใช้ไม่ได้ รักแต่สั่งไม่ได้ ผิดแต่คุมไม่ได้ ก็จักประดุจเด็กดื้อถือเอาแต่ใจ ใช้การมิได้
รู้ไพร่พลเรารบได้ แต่ไม่รู้ข้าศึกตีไม่ได้ ชนะกึ่งเดียว รู้ข้าศึกตีได้ แต่ไม่รู้ไพร่พลเรารบไม่ได้ ชนะกึ่งเดียว รู้ข้าศึกตีได้แต่ไม่รู้ภูมิประเทศรบไม่ได้ ชนะกึ่งเดียว ฉะนั้น ผู้รอบรู้การศึกจักเคลื่อนไหวได้ไม่หลง จักทำการได้ไม่อับจน ฉะนั้นจึงกล่าวว่า รู้เขารู้เรา จักชนะมิพ่าย รู้ฟ้ารู้ดิน จักชนะมิสิ้น ิ
บทวิเคราะห์
ในบทนี้ ซุนวูได้อรรถธิบายถึงความสำคัญของการใช้ภูมิประเทศและหลักการปฏิบัติการของ กองทัพในเงื่อนไขภูมิประเทศต่างๆ ซุนวูได้อธิบายความเกี่ยวพันอย่างแน่นแฟ้นระหว่างภูมิประเทศกับการรบในแง่ มุมที่แตกต่างกัน เน้นว่า แม่ทัพจะต้องให้ความสำคัญแก่การค้นคว้าภูมิประเทศในการทำศึกของตน เขาชี้ว่า “อันลักษณะภูมิประเทศนั้น คือสิ่งช่วยการศึก” และกล่าวอีกว่า “รู้เรา รู้เรา จักชนะมิพ่าย รู้ฟ้ารู้ดิน จักชนะมิสิ้น” การอรรถาธิบายเหล่านี้ ได้ประมวลไว้ซึ่งหลักการทั่วไปในการชี้นำสงครามอันมีคุณค่าอย่างสำคัญ
ซุนวูได้อรรถาธิบายสภาพ 6 ประการแห่งความปราชัยของกองทัพ อันสืบเนื่องมาจากการบัญชาของแม่ทัพไม่ถูกต้องเหมาะสม และได้ชี้ว่า มูลเหตุที่ก่อให้เกิดความปราชัยเหล่านี้ “มิใช้ภัยจากฟ้า” หากแต่เป็น “ความผิดของแม่ทัพ” ด้วยเหตุนี้ เขาจึงได้เน้นให้แม่ทัพเข้าใจความรับผิดชอบอันใหญ่หลวงของตนในกระบวนการแห่งการรบอย่างลึกซึ้ง ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องถือการช่วงชิงชัยชนะของสงความอย่างมีเป้าหมาย ขอแต่ให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ขั้นมูลฐานของเจ้านายตนและทวยราษฎร์ของเจ้านาย ก็จะต้อง “รุกไม่แสวงหาชื่อเสียง ถอยไม่หลบเลี่ยงอาญา” ดำเนินไปตามโอกาสอำนวยให้อย่างสุดความสามารถ
ในบทนี้ ซุนวูยังได้เสนอทัศนะ้ “ใส่ใจไพร่พลดุจบุตรรัก” ซึ่งความคิดดังนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ในกระบวนการที่กลุ่มผลประโยชน์ใหม่ คือชนชั้นเจ้าที่ดินที่เกิดใหม่ต่อต้านกับกลุ่มผลประโยชน์เก่าคือชนชั้นเจ้าทาสในอดีตนั้น จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกำลังของมวลชน แม้ซุนวูจะได้เน้นว่ามีจุดประสงค์ เพี่ยงเพื่อให้ไพร่พล "จักร่วมลุยห้วยเหว" "จักร่่วมเป็นร่วมตาย" ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วก็เพื่อให้ไปตายแทนพวกชนชั้นเจ้าที่ดินที่เกิดใหม่ แต่เมื่อเทียบกับสภาพที่ชนชั้นเจ้าทาสทำทารุณกรรมต่อเหล่าไพร่พลตามความพอใจแล้ว ก็นับเป็นความก้าวหน้าก้าวหนึ่ง
นั้นยังได้เน้นความเรียกร้องต่อไพร่พลอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษอย่า “ถนอม” และ “รัก” จนเกินเหตุ เพื่อมิให้กองทัพถูกโอ๋จนกลายเป็น “เด็กดื้อถือแต่ใจ” ถึงเวลาเข้าก็รบไม่ได้ เขาเสนอให้จะต้องประสาน “รัก” เข้ากับ “เข้มงวด” ประสน “รางวัล” เข้ากับ “ลงโทษ” ซึงจุดนี้ก็นับเป็นลักษณะพิเศษร่วมกันของความคิดปกครองทหารของนักการทหารที่ชื่อสมัยโบราณอันมากหลาย รวมทั้งตัวซุนวูด้วย
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น