วันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2553

บทที่ 5 พลานุภาพ

อันการปกครองไพร่พลมาก ให้เสมือนหนึ่งปกครองไพร่พลน้อย ก็ด้วยการจัดกำลังพล การบัญชาไพร่พลมาก ให้เหมือนหนึ่งบัญชาไพร่พลน้อย ก็ด้วยการจัดอาณัติสัญญาน ไพร่พลสามทัพมิพ่ายเมื่อสู้ข้าศึก ก็ด้วยการรบสามัญและพิสดาร การรุกรบข้าศึก ประหนึ่งเอาหินทุ่มไข่ ก็ด้วยการแข็งตีอ่อน

อันการรบนั้น สู้ศึกด้วยรบสามัญ ชนะด้วยรบพิสดาร ฉะนันผู้สันทัดการรบพิสดาร จักไร้สิ้นสุดดุจฟ้าดิน จักมิเหือดแห้งดุจสายน้ำ จักหยุดหรือหวนรบดุจเดือนตะวัน จักตายหรือกลับฟื้นดุจฤดูกาล เสียงมีเพียงห้า ห้าเสียงพลิกผัน จึงฟังมิรู้เบื่อ สีมีเพียงห้า ห้าสีพลิกผัน จึงดูมิรู้หน่าย รสมีเพียงห้า ห้ารสผลิกผัน จึงลิ้มมิรู้จาง สถานะศึก มีเพียงสามัญ และพิสดาร สามัญและพิสดารพลิกผันจึงเห็นมิรู้จบ สามัญและพิสดารพัวพันหันเหียน ดุจวงกลมที่มิมีจุดเริ่มต้น จักมีที่สิ้นสุดได้ไฉน

ความแรงของกระแสน้ำไหลเชียว สามารถพัดหินลอย เคลื่อนนี้คือพลานุภาพ ความเร็วยามเหยี่ยวบินโฉบ สามารถพิชิตส้ำสัตว์ นี้คือช่วงระยะ เหตุนี้ผู้สันทัดการรบ จึงมีพลานุภาพเหี้ยมหาญ มีช่วงระยะสั้น พลานุภาพเหมือนหนึ่งเหนี่ยวน้าวเกาทัณฑ์ช่วงระยะเหมือนหนึ่งปล่อยเกาทัณฑ์สู่เป้า

การรบจัดซับซ้อนสับสน แม้อลหม่านก็มิควรระส่ำระสาย การรบจักชลมุนวุ่นวาย หากขบวนทัพเป็นระเบียบก็จะมิพ่าย

ความวุ่นวายเกิดจากความเรียบร้อย ความขลาดกลัวเกิดจากความกล้าหาญ ความอ่อนแอเกิดจากความเข้มแข็ง จักเรียบร้อยหรอือวุ่นวาย อยู่ทีการจัดกำลังพล จักกล้าหาญหรือขลาดกลัว อยู่ที่พลานุภาพ จักอ่อนแอหรือเข้มแข็ง อยู่ที่รูปลักษณ์การรบ

ฉะนั้น ผู้สันทัดการเคลื่อนทัพข้าศึก พึงสร้างรูปลักษณ์ให้ข้าศึกต้องคล้อยตาม พึงวางเหยื่อล่อ ให้ข้าศึกรีบฉวย ให้หวั่นไหวด้วยผลประโยชน์ จึงพิชิตด้วยกำลัง

ฉะนั้น ผู้สันทัดการรบ พึงแสวงหาจากพลานุภาพ มิพึงเรียกร้อยจากผู้อื่น จึงจะสามารถเลือกเฟ้นคนซึ่งใช้พลานุภาพเป็น ผู้ใช้พลานุภาพจักประหนึ่งรุนท่อนซุงและก้อนหิน ธรรมชาติขอท่อนซุงและก้อนหิน อยู่ที่ราบก็นิ่ง อยู่ที่ลาดก็เคลื่อน ที่เป็นเหลี่ยมก็หยุดที่กลมเกลี้ยงก็กลิ้ง พลานุภาพของผู้สันทัดการรบ จึงประดุจผลักหินกลมลงจากภูเขาสูงแปดพันเซียะ นี้ก็คือพลานุภาพ
บทวิเคราะห์

ซุนวูให้ความสำคัญแก่ “การใช้พลานุภาพ” เป็นอันมาก “พลานุภาพ” ที่เขาพูดถึง หมายถึงการขยายสมรรถนะการบัญชาของแม่ทัพอย่างเต็มที่ ถือพลังอันแท้จริงทางการทหารของตนเป็นรากฐาน สร้างสถานะอันมีพลังฮึกห้าว ซึ่งสามารถกดความฮึกห้าวข้าศึกลงไปได้ เขาเห็นว่าภายใต้สภานะเช่นนี้ ไพร่พลก็จะห้าวหาญสุดจะเปรียบ พลังสู้รบของกองทัพ ก็จะได้รับการแสดงออกอย่างเต็มที่ ดุจดั่งน้ำเชี่ยวพัดหินลอยเคลื่อน กลิ้งหินกลมลงจากเขาสูง 8,000 เซียะฉะนั้น

ซุนวูเล็งเห็นถึงความสำคัญของ “สามัญและพิสดาร” เช่นกันโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ “พิสดาร” เขากล่าวว่า “อันการรบนั้นสู้ศึกด้วยรบสามัญ ชนะด้วยรบพิสดาร” ซึ่งก็หมายความว่าการรบนั้นที่สำคัญอาศัยเอาชนะด้วยการรบพิสดาร ซุนวูเห็นว่า “สถานะศึกมีเพียงสามัญและพิสดาร” ซึงความสัมพันธ์ระหว่าง “สามัญ” กับ “พิสดาร” ก็พัวพันหันเหียนซึ่งกันและกัน “พิสดาร” อาจแปรเปลี่ยนเป็น “สามัญ” "สามัญ" ก็อาจแปรเปลี่ยนเป็น "พิสดาร" ได้ ดังที่ว่า "สามัญและพิสดารผลิกผัน จึงเห็นมิรู้จบ" เขาเห็นว่า แม่ทัพผู้มีสติปัญญา สามารถเปลี่ยนแปลงวิธีการรบเป็นพิสดารหรือสามัญได้ ตามสภาพการเปลี่่ยนแปลงของสถานการณ์ศึกเหมือนดั่ง “จักไม่รู้สิ้นสุดดุจฟ้าดินจึงมิเหือดแห่งดุจสายน้ำ” มักจะสันทัดในการใช้วิธีรบพิสดาร ตีข้าศึกให้พ่ายไป

เพื่อที่จะสร้างพลานุภาพและใช้พลานุภาพ ซุนวูเน้นว่าจะต้อง “เผยรูปลักษณ์” “เคลื่อนทัพข้าศึก” เขาเห็นว่า นี่ก็คือมาตรการสำคัญในการบรรลุ “เอาชนะด้วยการรบพิสดาร” เขากล่าวว่า “ผู้สันทัดการรบ พึงสร้างรูปลักษณ์ ให้ข้าศึกต้องคล้อยตาม พึงวางเหยื่อล่า ให้ข้าศึกรีบฉวยให้หวั่นไหวด้วยผลประโยชน์ จึงพิชิตด้วยกำลัง”

เหมาเจ๋อตงเคยให้การประเมินยอมรับในปัญหาการเผยรูปลักษณ์นี้ได้เคยชี้ไว้ในจุลสาร “ปัญหายุทธศาสตร์ในสงครามปฎิวัติของจีน” ว่า “เราสามารถที่จะสร้างความผิดพลาดของข้าศึกขึ้นมาได้ด้วยน้ำมือของเราเอง ทำนองที่ซุนวูกล่าวไว้ว่า “การเผยรูปลักษณ์” ( การเผยรูปลักษณ์ทางตะวันออกแต่เข้าตีทางตะวันตก ก็คือสิ่งที่เรียกว่า “สงเสียงบูรพาฝ่าตีประจิม” นั้นเอง )"

ในขณะที่ซุนวูอรรถาธิบายการใช้การพลิกผันของสามัญและพิสดารนั้น ได้เผยให้เห็นความคิดวิภาษวิธีแบบง่ายๆ ของเขาอย่างเด่นชัด ทัศนะสามัญและพิสดารพัวพันซึ่งกันและกัน สามัญและพิสดารแปรเปลี่ยนหันเหียนของซุนวูนี้ มิใช้แต่จะมีคุณค่าอันใหญ่หลวงทางด้านประวัติวิชาการทหารเท่านั้น ในประวัติปรัชญาก็มีฐานะสำคัญที่แน่นอนในระดับหนึ่งอยู่ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี เนื่องจากการจำกัดของยุคสมัย ในสายตาของซุนวู การพัฒนาเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งในโลก เป็นเพียงการ “หยุดกลับหวนคือ” “ตายกลับหวนฟื้น” “ดุจวงกลมที่ไม่มิมีจุดเริ่มต้น” เท่านั้น มองไม่เห็นว่า สรรพสิ่งได้พัฒนาก้าวหน้าสูงขึ้นไปโดยหมุนเป็นเกลียวดุจก้นหอยฉะนั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น