วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

สัมภาษณ์ : ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท “ผมถูกบังคับให้เป็นนายทุน”


วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ วิรพา อังกูรทัศนียรัตน์ : สัมภาษณ์ / บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ถ่ายภาพ





หากเอ่ยชื่อกลุ่มทุนในเมืองไทยที่กำลังเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง ปฏิเสธไม่ได้ว่า กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ผู้ประกอบธุรกิจประกอบชิ้นส่วนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ คือหนึ่งในนั้น

ใครจะรู้ว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้กุมบังเหียนอาณาจักรแห่งนี้เป็นเพียงคนหนุ่มวัย ๒๘ ปีที่เข้ามานั่งตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหาร ภายหลังจากสูญเสียคุณพ่อ--พัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้เป็นเสาหลักของครอบครัวไปเมื่อ ๕ ปีก่อน โดยมีคุณแม่ สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ดำรงตำแหน่งประธานบริษัท

ธนาธร หรือ เอก พาไทยซัมมิทกรุ๊ปทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุดของธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ ทำยอดขายสูงสุดถึง ๒๖,๐๐๐ ล้านบาท และยังขับเคลื่อนทุนไทยออกไปลงทุนนอกประเทศ โดยเฉพาะตลาดอาเซียนและอินโดจีน อาทิ อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และจีนเป็นลำดับต่อไป ด้วยวิสัยทัศน์ที่ว่า

“เราจะไม่ยอมเป็นบริษัทที่อยู่ในทุนนิยมหางแถว แต่ต้องการเป็นบริษัทที่สามารถใช้ประโยชน์จากทุนนิยม วันนี้ globalization มาเคาะประตูบ้านคุณแล้ว ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม คุณหลีกหนีไม่ได้”




ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า ชายหนุ่มสวมสูทผูกไทนั่งเก้าอี้ผู้บริหารแห่งอาณาจักรไทยซัมมิทกรุ๊ปในวันนี้ คือคนคนเดียวกับหนุ่มผมยาวมาดเซอร์ ที่ชอบสวมเสื้อผ้าฝ้ายสกรีน นุ่งกางเกงเล ใส่รองเท้าผ้าใบเก่าๆ สะพายกระเป๋าขาดๆ และสูบบุหรี่จัด ในวันนั้นใครๆ เรียกเขาว่า “แอ็กทิวิสต์ซ้ายจัด”

จากเด็กเที่ยวในกลุ่มไฮโซ เข้ามาเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยหวังจะเป็นนักแต่งรถ แต่ชีวิตพลิกผันให้เขาได้มาร่วมทีมกับเพื่อนนักกิจกรรมกลุ่มหนึ่งลงสมัครองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งอุปนายก อมธ. ในปี ๒๕๔๒

ชีวิตในรั้วธรรมศาสตร์พาเขาออกสู่โลกกว้าง เมื่อได้เข้ามาคลุกคลีกับเพื่อนนักกิจกรรมที่ตึกกิจฯ ก็ค้นพบว่าสเมล็ดพันธุ์แห่งความรักในความเป็นธรรมที่ตนมีอยู่ได้มีที่ทางที่จะเติบโตงอกงาม

ปี ๒๕๔๓ เอกได้รับการรับรองจากเพื่อนนักศึกษาให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย หลังจากนั้นเขาก็พาตัวเองไปฝังตัวอยู่ใน “ม็อบ” คนจนหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของสมัชชาคนจน กรรมกรไทยเกรียง เครือข่ายสลัม ๔ ภาค การประท้วงกรณีท่อก๊าซไทย-มาเลย์ เป็นต้น

ใครจะเชื่อว่า ทายาทนักธุรกิจใหญ่จะเคยปรากฏตัวขึ้นหน้า ๑ หนังสือพิมพ์หลายฉบับขณะเป็นกันชนให้ชาวบ้านสมัชชาคนจนที่ปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจระหว่างปีนทำเนียบเรียกร้องให้รัฐบาลชวน หลีกภัย เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล จนได้รับบาดเจ็บ

แม้ก่อนจะบินลัดฟ้าไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษเขายังนั่งอยู่ที่สลัมซึ่งกำลังถูกไล่รื้อ

ปี ๒๕๔๕ เอกกลับมาพร้อมใบปริญญาที่แม่วาดหวังไว้สสแต่เขาหาได้เดินตามเส้นทางธุรกิจของครอบครัวที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ กลับเลือกไปทำงานเอ็นจีโอเงินเดือน ๖,๐๐๐ กว่าบาท เพื่อพิสูจน์ความเชื่อของตน

กระทั่งชีวิตต้องเผชิญจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่เมื่อบิดาเสียชีวิต ในฐานะลูกชายคนโต ภาระหน้าที่ทั้งหมดจึงตกอยู่บนบ่าของเขา จากเอ็นจีโอนักกิจกรรมฝ่ายซ้าย ต้องเข้ามานั่งเก้าอี้ผู้บริหารเต็มตัว ปกครองพนักงาน ๑๔,๐๐๐ คนในอาณาจักรไทยซัมมิทกรุ๊ปสและขยายฐานการผลิตจน ณ วันนี้ กลุ่มบริษัทไทยซัมมิทกลายเป็นผู้นำในด้านการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ในอุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ อุตสาหกรรมประกอบรถจักรยานยนต์ เครื่องจักรกลทางการเกษตร และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ถึงวันนี้ ในยามที่ถอดเสื้อนอกออก เขาก็ยังคงแต่งตัวเซอร์ๆ ออกไปร่วมเดินขบวนอยู่บ่อยครั้งในฐานะประชาชนคนเล็กๆ ที่ต้องการแสดงสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมือง

ล่าสุด เอกเขียนบทความเรื่อง “ราชาแห่งทุนนิยม” ลงตีพิมพ์ในวารสาร ฟ้าเดียวกัน (ฉบับตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๔๙)—วารสารสำหรับคอการเมืองเข้มข้น เพื่อตีแผ่เบื้องหลังของ “วาณิชธนกิจ” องค์กรธุรกิจที่อยู่จุดบนสุดของระบบทุนนิยม

ลองมาฟังดูว่า อดีตนักกิจกรรมฝ่ายซ้ายที่กลายมาเป็นนายทุนเต็มตัว มองทุนนิยมอย่างไร ๕ ปีผ่านไป ความคิด มุมมอง และชีวิตของเขาเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

แม้จะบอกไม่ได้ทั้งหมดภายในเวลาเพียงชั่วโมงกว่าที่เขาปลีกตัวมาให้สัมภาษณ์ แต่ก็คงพอทำให้ได้เห็นตัวตนในบางมุมของเขา ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ผู้เป็นหลานแท้ๆ ของ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และมีเพื่อนร่วมโรงเรียนเก่าคนหนึ่งที่ชื่อ พานทองแท้ ชินวัตร




ช่วงวัยเด็กชีวิตเคยลำบากไหม
คุณพ่อคุณแม่สอนให้รู้จักความลำบากครับ ช่วงปิดเทอมคุณพ่อคุณแม่ก็จะส่งไปทำงาน ผมจำได้ว่าครั้งแรกที่เข้ามาในโรงงานเป็นช่วงปิดเทอมขึ้น ป. ๓ ผมก็นั่งทำงานในโรงงาน ทำหน้าที่นับเหล็ก คุณพ่อก็ทำงานอยู่ชั้น ๒ ตอนนั้นเขาให้ค่าแรงวันละ ๓๐ บาท ทำอยู่ได้ ๑ เดือน ผมยังจำได้แม่น คนที่ให้เงินเดือนผม วันนี้ผมมาเป็นนายเขา ยังนั่งอยู่ที่นี่เลย ต่อมาอายุประมาณ ๑๕-๑๖ คุณพ่อคุณแม่ก็ส่งผมไปอเมริกาทำงานล้างจาน แต่ถามว่าชีวิตเคยลำบากไหม ผมว่าก็ไม่เคยถึงขั้นต้องเลี้ยงตัวเองปากกัดตีนถีบ

คุณพ่อสร้างเนื้อสร้างตัวมาอย่างไร
ครอบครัวของผมเป็นจีนแต้จิ๋ว อากงอาม่ามาจากเมืองจีน ซัวเถา คุณพ่อเกิดที่เมืองไทย สมัยก่อนยากจน คุณพ่อเรียนจบแค่ ป. ๔ ก็มาขายก๋วยเตี๋ยวอยู่แถวเยาวราช ส่วนคุณแม่ขายกระเพาะปลาอยู่ฝั่งตรงข้าม สักพักต่อมา พี่ชายของพ่อก็เปิดโรงซ่อมเบาะมอเตอร์ไซค์ มอเตอร์ไซค์เพิ่งนำเข้ามาขายในเมืองไทยแรกๆ เมื่อประมาณ ๓๐-๔๐ ปีที่แล้ว กลางวันพ่อผมขายก๋วยเตี๋ยว กลางคืนก็มาซ่อมเบาะมอเตอร์ไซค์ คุณพ่อมีหัวทางค้าขาย หลังจากซ่อมเบาะมอเตอร์ไซค์ไปได้สักพักก็เริ่มเปลี่ยนมาทำเบาะมอเตอร์ไซค์ส่งขายโรงงาน พอทำเบาะมอเตอร์ไซค์ขายดีขึ้นเรื่อยๆ ก็เริ่มมาทำเบาะรถยนต์ หลังจากนั้นก็มาตั้งโรงงานที่นี่ (บริเวณถนนบางนา-ตราด) เมื่อปี ๒๕๒๐ ต่อมา จากทำเบาะเป็นหลักก็เริ่มขยายมาเป็นเหล็ก คืออะไหล่ของมอเตอร์ไซค์ พวกโครงมอเตอร์ไซค์ คอมอเตอร์ไซค์ หลังจากนั้นธุรกิจก็เติบโตมาตลอด คือธุรกิจชิ้นส่วนมอเตอร์ไซค์ ชิ้นส่วนรถยนต์ ยกเว้นเครื่องยนต์ จนมาถึงตอนนี้เราก็ยังทำอย่างเดิมอยู่ นั่นคือธุรกิจของเรา

รถยนต์และมอเตอร์ไซค์ทุกยี่ห้อที่ผลิตในเมืองไทย ต้องสั่งอะไหล่จากบริษัทนี้เลยหรือเปล่า
ผมคิดว่าทุกยี่ห้อที่มีโรงงานผลิตในเมืองไทยซื้อชิ้นส่วนอย่างน้อยหนึ่งชิ้นจากเรา เวลาจะสั่ง เขาก็ให้ดรอว์อิ้งหรือให้แบบมา เราก็ทำตามนั้นครับ

ถ้ามองย้อนกลับไป อะไรคือจุดที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่ประสบความสำเร็จ
ก่อนหน้านี้ธุรกิจที่บ้านจะใหญ่โตกำไรขาดทุนอย่างไรผมไม่ได้สนใจหรอก จนถึงวันนี้ให้มองกลับไปผมคิดว่า การที่บริษัทเราเติบโตมาได้คงเป็นเพราะว่าขณะนั้นในเมืองไทยไม่มีใครทำธุรกิจแบบที่เราทำ เราเป็นเจ้าแรกๆ ที่เริ่มทำโรงงานผลิตชิ้นส่วนมอเตอร์ไซค์ ในเวลานั้นตลาดมันยังไม่โต ก็ไม่มีคนสนใจเท่าไร ผมคิดว่าธุรกิจของเราเติบโตจากการที่เราเข้ามาในตลาดตั้งแต่ที่ตลาดยังไม่มีผู้เล่น พอตลาดเริ่มโตเราก็เติบโตไปพร้อมกับมัน ช่วงนั้นเมื่อประมาณ ๒๐ ปีที่แล้ว คนไทยเริ่มใช้มอเตอร์ไซค์กันมากขึ้นๆ ธุรกิจของเราซึ่งเข้ามาในตลาดตั้งแต่ที่ยังไม่มีใครทำ ก็เติบโตไปพร้อมกับการเจริญเติบโตของประเทศ การเติบโตของผู้บริโภค ยิ่งมีคนซื้อมอเตอร์ไซค์มากเท่าไรก็ทำให้เรายิ่งโตขึ้นเท่านั้น จนมาถึงจุดเปลี่ยนช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ คือเมื่อประมาณ ๑๕ ปีที่แล้วที่คนเริ่มหันมาซื้อรถยนต์มากขึ้น ก่อนหน้านั้นการซื้อรถยนต์มักกระจุกตัวอยู่เฉพาะในกรุงเทพฯ แต่ช่วงที่เศรษฐกิจบูมในยุครัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ตอนนั้นคนเริ่มมีกำลังซื้อมากขึ้น และเริ่มซื้อรถยนต์กันมากขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ดังนั้นจากธุรกิจชิ้นส่วนมอเตอร์ไซค์เราก็ขยับเข้ามาสู่ธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์ด้วย และพร้อมๆ กับที่เราเจริญเติบโตไปกับตลาด เราก็มี volume มีปริมาณการผลิตเยอะขึ้น ทำให้คนที่เข้ามาใหม่ในตลาดนี้แข่งขันกับเราค่อนข้างยาก

จะเรียกว่าไม่มีคู่แข่งเลยได้หรือไม่
เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้วครับ โลกเปลี่ยนไปแล้ว คู่แข่งเราเต็มไปหมดเลย เพียงแต่เดิม ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ คู่แข่งของไทยซัมมิทส่วนใหญ่เป็นบริษัทคนไทยซึ่งใหญ่มาก แต่พอเจอวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี ๒๕๔๐ แล้วไปไม่รอด ตอนนี้คู่แข่งส่วนใหญ่ของเราจึงเป็นบริษัทต่างชาติ

แล้วทำไมคุณพ่อถึงพาไทยซัมมิทกรุ๊ปไปรอดได้
ผมคิดว่าที่เราอยู่ได้เพราะว่าเราสามารถลดต้นทุนได้ คือเราไม่ได้ลงทุนใหญ่เกินตัว ตอนนั้นกระแสเงินสดของเราดีพอควร สายป่านเราก็พอมี สามารถจ่ายเงินให้แก่บริษัทคู่ค้าของเราได้ การดำเนินธุรกิจของเราจึงไม่สะดุด ช่วงนั้นใครลงทุนเกินตัว พอเจอภาระดอกเบี้ยเข้าไปเสร็จหมด ตัวอย่างที่ดีที่สุดก็อย่างยามาฮ่าหรือกลุ่มเคพีเอ็น พอลงทุนเยอะเพราะเชื่อว่าเศรษฐกิจจะโตขึ้น เงินกู้เงินสดมันอยู่ในการลงทุนทั้งหมด สายป่านมันก็ไม่ยาวแล้ว เมื่อไรที่สายป่านสั้น มันก็จะมีปัญหา

หลังจากผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาแล้ว เวลาเราไปเสนอราคาให้แก่ลูกค้า น้อยครั้งมากที่เราแข่งกับบริษัทคนไทย ส่วนใหญ่คู่แข่งของเราเป็นบริษัทจากญี่ปุ่น บริษัทอเมริกา บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งนั้นเลยที่เข้ามาในเมืองไทย จะพูดว่าเราไม่มีคู่แข่งมันเป็นภาพที่คนภายนอกมอง ผมคิดว่าตอนนี้คู่แข่งเราเต็มไปหมด เพราะว่าเราผลิตชิ้นส่วนจำนวนมากและหลากหลายชนิดด้วย ชิ้นส่วนนี้มีคู่แข่ง ๓-๔ เจ้า ชิ้นส่วนนี้อีก ๓-๔ เจ้า แต่ส่วนใหญ่เป็นคู่แข่งจากต่างชาติเข้ามา คู่แข่งที่เป็นคนไทยจริงๆ ผมคิดว่าเหลือน้อยมาก

ตอนวัยรุ่นเป็นเด็กเที่ยว อะไรคือจุดที่ทำให้หันมาสนใจทำกิจกรรม
ตอนผมเด็กๆ ผมเลือกฟังแต่เพลงของคาราบาว เพลงของคาราวานนะ รู้สึกอินกว่าเพลงวัยรุ่น ถึงจะเป็นเด็กเที่ยวแต่ผมคิดว่าสำนึกทางการเมืองผมมีอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่เจอคนไม่เจอพรรคพวกไม่เจอช่องทางให้ผมไปทำกิจกรรม จนกระทั่งเมื่อผมสอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม. ธรรมศาสตร์ได้ ผมมีโอกาสได้ไปค่าย ไปเข้าค่าย ๒ ครั้ง เพื่อนที่ไปด้วยกันก็มาชวนว่า เรามาทำกิจกรรมด้วยกันไหม ตอนนั้นผมรู้สึกว่ามันโดนนะ มันเป็นอะไรบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกอยากเข้ามาทำ เราก็ได้ร่วมทีมกับเพื่อนๆ กลุ่มหนึ่งลงสมัคร อมธ. (องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ตัวผมเองได้รับเลือกเป็นอุปนายก อมธ. ปี ๒๕๔๒ หลังจากเข้ามาทำกิจกรรมผมก็พบว่าเราต่างก็มีความคิดความอ่านแตกต่างกัน ขัดแย้งกันก็หลายเรื่อง แต่ผมคิดว่าวันนั้นเรามีสิ่งหนึ่งเหมือนกัน คือมีความรู้สึกอยากเห็นสังคมดีงาม เรามีจิตสำนึกตรงนี้เหมือนกัน แม้แต่ละคนจะคิดกันคนละอย่าง แต่เราเชื่อว่าด้วยความเป็นนักศึกษาเราสามารถทำอะไรบางอย่างได้

อีกประการหนึ่งคือ ตอนนั้นผมเริ่มรู้สึกท้อแท้กับการศึกษา ไม่อยากเรียนแล้ว รู้สึกว่าการศึกษามันเหลวแหลก การศึกษาทำให้คนเห็นแก่ตัว ณ วันนั้นก็รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ รู้สึกว่าการศึกษาทำให้เรามีมันสมองมีวิธีคิดแบบรับใช้ทุน การศึกษามันป้อนสิ่งที่เรียกว่ามาร์เกต ความเป็นตลาดนิยม ให้แก่วิธีคิดของเรา เราเชื่อว่าความรู้เป็นเรื่องจริง ปริญญาเป็นสิ่งหลอกลวง ไม่จำเป็นต้องมีปริญญาก็มีความรู้ได้ เป็นความรู้ที่เราสามารถแสวงหาเอง ไม่ต้องไปเรียนกับอาจารย์มหาวิทยาลัยก็ได้ สรุปแล้วเรารู้สึกว่าการศึกษามันรับใช้กลุ่มคนเพียงบางกลุ่ม วันนั้นก็ปฏิเสธการศึกษา

แล้วก่อนหน้านี้ตอนที่เลือกเรียนวิศวะมีเป้าหมายอะไรไหม
ตอนนั้นผมเป็นเด็กเที่ยว แล้วก็ขับรถเร็ว ด้วยความที่เราก็วัยรุ่น ชอบขับรถแข่ง ชอบแต่งรถ ตอนนั้นคิดเพียงว่าเป็นวิศวกรน่าจะดี ก็เลยเลือกเรียนวิศวะเครื่องกล แต่ในที่สุดก็แทบจะไม่ได้เข้าเรียนเลย




กับคุณพานทองแท้รู้จักกันดี
เราเรียนเตรียมอุดมศึกษามาด้วยกัน เขาเป็นรุ่นพี่ผมปีหนึ่ง หลังจากจบก็ไปเรียนต่อธรรมศาสตร์ด้วยกัน สมัยก่อนเป็นเพื่อนเที่ยวเพื่อนกินเหล้าด้วยกัน แต่ไม่ได้เจอกันหลายปีแล้ว

เพื่อนเที่ยวด้วยกันสมัยเป็นวัยรุ่นเขารู้สึกต่อต้านไหม
ผมเคยพยายามจะดึงเพื่อนในคณะมาทำกิจกรรมบ่อยๆ แต่ไม่เป็นผล ผมเข้าใจว่ามันมีวิธีคิดบางอย่างต่างกัน แต่ถามว่าขัดแย้งกันไหม เราไม่เคยทะเลาะกันเรื่องความเป็นตัวตนของผมหรือของเขา เขาไม่เคยปฏิเสธผม ผมก็ไม่เคยปฏิเสธพวกเขา เขาไม่เคยคิดว่าคุณไปทำกิจกรรมอย่างนี้คุณไม่ใช่เพื่อนผมแล้ว เขากลับเข้าใจด้วยซ้ำไป เอาเข้าจริงถ้าไม่มีเพื่อนๆ พวกนี้ผมเรียนไม่จบแน่นอน เพราะว่าผมไม่เคยเข้าเรียนเลย ผมไม่เคยอ่านหนังสือเรียน ติวกันจริงๆ ก็สองคืนสุดท้ายก่อนสอบ

ระหว่างทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง ขัดแย้งกับทางบ้านมากไหม โดยเฉพาะช่วงที่เป็นข่าวหลังจากถูกตีหน้าทำเนียบพร้อมกับชาวบ้านสมัชชาคนจน
ตอนนั้นปี ๒๕๔๓ สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ชาวบ้านมาชุมนุมล้อมทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล คืนนั้นเป็นวันมาฆบูชา หลังจากที่ชาวบ้านเดินเวียนเทียนที่วัดเบญจมบพิตร พอกลับมาที่ชุมนุม ชาวบ้านก็วิ่งไปเอาบันไดพาดปีนกำแพงเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลได้สำเร็จ คืนนั้นชาวบ้านส่วนหนึ่งอยู่ข้างใน อีกส่วนชุมนุมอยู่หน้าทำเนียบ พอเช้าวันรุ่งขึ้น พวกเรานักศึกษาก็เอาข้าวเอาน้ำไปส่ง และจะข้ามไปสมทบ เพื่อนผมก็กำลังปีนรั้ว ท้ายที่สุดเข้าใจว่ามีคำสั่งลงมาให้ตำรวจสลายการชุมนุม ผมอยู่แถวหน้ากับเยาวชนกลุ่มปากมูล ก็โดนตีเข้าที่ขา ขยับไม่ได้เลย ผมกับน้องเยาวชนเราล้มอยู่ด้วยกัน แล้วแนวรั้วเหล็กกั้นมันหล่นลงมาทับเราสองคน ตำรวจก็เหยียบขึ้นมาบนเหล็กแล้วก็ตี ตอนนั้นโชคดีที่ไม่ถูกจับ ถ้าถูกจับคงเป็นเรื่องใหญ่ เพราะวันนั้นบังเอิญตอนที่เรานั่งชุมนุมกันอยู่ ช่างภาพก็ไปถ่ายภาพ ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้นแม่เห็นรูปผมในหนังสือพิมพ์ ท่านก็ส่งคนเข้ามาตามหาผมทั่วม็อบ พอกลับบ้านเราก็ทะเลาะกัน ช่วงนั้นผมกับคุณพ่อคุณแม่ทะเลาะกันบ่อยมากเรื่องว่าผมจะใช้ชีวิตยังไง จนเรารู้สึกว่าเราจะมีชีวิตต่อไปอย่างนี้เรื่อยๆ ต้องทะเลาะต่อไปเรื่อยๆ หรือ ไม่เฉพาะกับคุณพ่อคุณแม่ เวลาเจอใครในครอบครัวก็โดนเขาถากถางตลอด ว่าเป็นพวกโน้น ไม่ใช่พวกเรา ถากถางบ้าง ต่อว่าบ้าง บอกให้กลับใจบ้าง บางคนก็ว่าโดนเขาหลอกไม่รู้ตัว ต่างชาติซื้อแกนนำไปหมดแล้ว ให้มาก่อความวุ่นวาย แล้วก็เอานักศึกษาโง่ๆ อย่างเราไปทำงาน เราก็โดนอย่างนี้มาตลอด โดยเฉพาะกรณีโครงการก่อสร้างท่อก๊าซไทย-มาเลย์ ทะเลาะกับคุณอา (สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) บ่อยมาก เพราะตอนนั้นคุณอาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ปรกติผมกับคุณอาไม่ค่อยเจอกัน จะเจอกันตามงานครอบครัว งานเช็งเม้ง ไหว้อากง เจอกันทีไรก็ทะเลาะกันทุกที เวลานั้นมีการจัดประชาพิจารณ์ท่อก๊าซและชาวบ้านต่อต้านด้วย เราก็ทะเลาะกันตลอด

แล้วในที่สุดทำไมถึงตัดสินใจไปเรียนต่อจนจบ
คือคณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ ที่ผมเรียนนั้น ตามหลักสูตรต้องเรียนที่เมืองไทย ๒ ปี และอีก ๒ ปีกว่าไปเรียนที่มหาวิทยาลัยนอตติงแฮม ประเทศอังกฤษ ผมบอกแม่ว่าผมไม่ไปแล้วนะ ผมจะอยู่ที่นี่ เพราะตอนนั้นหลังจากทำ อมธ. ผมก็ไปทำกิจกรรมร่วมกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ได้รับเลือกเป็นรองเลขาธิการ สนนท. ปี ๒๕๔๓ ตอนนั้นก็รู้สึกว่ามีพันธสัญญาร่วมกันกับเพื่อนอยู่ ผมก็ต่อรองแม่ว่าผมขอทำงาน สนนท. จนจบวาระนี้ก่อน ปีหน้าค่อยไป พอคุณแม่รู้ก็เสียใจ ผมก็ทะเลาะกับคุณพ่อคุณแม่ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วผมเป็นคนที่รักแม่มาก ไม่อยากให้แม่เสียใจ ไม่อยากเห็นแม่ร้องไห้ สุดท้ายผมอยู่ในวาระได้ครึ่งเทอมก็ตัดสินใจไปเรียนต่อที่อังกฤษ คืนก่อนไปเรานั่งร้องไห้กับเพื่อนๆ สักพักพรรคพวกโทรศัพท์มาบอกว่าทหารจะเข้าไปไล่ที่เผาสลัม ผมยังจำได้จนถึงทุกวันนี้ เรานั่งกินเหล้ากันอยู่ที่พัทยาก็รีบกลับมาตอนเช้า ก่อนจะไปอังกฤษผมยังไปนั่งอยู่ที่สลัมเลย ไปพูดคุยไปช่วยเหลือชาวบ้าน พอตกเย็นวันนั้นก็บินไปอังกฤษ

มองย้อนกลับไปช่วงเวลานั้นไม่กลัวหรือ หรือว่าความเป็นหนุ่มสาวมันแรงมาก
ต้องยอมรับว่าตอนนั้นเรามองโลกค่อนข้างแคบ เราคิดว่าการต่อสู้ที่อยู่ตรงหน้า ถ้าชนะมันจะทำการเปลี่ยนแปลงโลกได้ ซึ่งจริงๆ แล้วมันอาจจะไม่สุดโต่งขนาดนั้น แต่เราคิดว่าสิ่งที่เราทำมันมีความหมาย และเราก็ทำมันอย่างเต็มที่ มันเป็นอารมณ์นั้นมากกว่า ณ วันนั้นเราคิดอย่างนั้นจริงๆ ว่า เราจะเปลี่ยนแปลงสังคมเราต้องเป็นเอ็นจีโอนะ เราต้องทำงาน ไม่ ครป. (คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย) ก็ FOP (กลุ่มเพื่อนประชาชน) เท่านั้น ซึ่งวันนี้มันไม่ใช่ และก็โชคดีด้วยที่ทุกวันนี้ไม่ได้อยู่ ครป. (หัวเราะ) พอเราถอยออกมาเรารู้สึกว่า ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนคุณก็ทำได้ มันเป็นบทบาทที่เราทุกคนสามารถเล่นได้ พูดอีกอย่างก็คือโลกของเรามันกว้างขึ้น

แล้วหันมาสนใจแนวทางมาร์กซิสต์เมื่อไร
ถ้าเริ่มศึกษาจริงๆ จังๆ ก็ตอนเรียนอยู่ที่อังกฤษครับ แต่ก่อนหน้านั้นผมก็ identify ตัวเองกับกลุ่มคนชั้นล่างมากกว่าที่ผมจะ identify ตัวเองกับกลุ่มคนชั้นบน แม้พื้นเพผมจะมาจากกลุ่มคนมีฐานะก็ตาม พอไปอยู่ที่อังกฤษเราได้เรียนรู้ได้ศึกษามากขึ้น มันทำให้เราโตขึ้นทางความคิดความเชื่อ อันที่จริงผมรู้สึกว่ามีช่องว่างบางอย่างที่มันกว้างมากระหว่างก่อนผมไปอังกฤษกับหลังจากผมกลับจากอังกฤษ ก่อนไปนั้นเราทำกิจกรรมอย่างเดียว เราแทบจะไม่เคยศึกษาทฤษฎี พอไปอยู่อังกฤษผมก็ไม่ได้เรียนเหมือนเดิมนะ ผมจบมาได้เพราะการเรียนที่อังกฤษมันค่อนข้างง่าย สามารถอ่านเองได้ ผมก็ไม่เคยเข้าเรียน แต่ผมอ่านหนังสือเยอะมาก ตอนผมอยู่ที่ธรรมศาสตร์ ผมอ่านหนังสือแนวแสวงหา ฉันจึงมาหาความหมาย ของ วิทยากร เชียงกูล หนังสือของ ติช นัท ฮันห์ ศุ บุญเลี้ยง อะไรประมาณนั้น แต่พอไปอยู่อังกฤษ ผมเริ่มอ่านแนวเศรษฐศาสตร์การเมือง ผมอ่านงานของเลนินชิ้นแรกตอนผมอยู่อังกฤษ ตอนอยู่เมืองไทยผมไม่เคยอ่านเลย มาร์กซ์พออ่านมาบ้าง แต่ก็ไม่ลึกซึ้ง ไปได้ยินชื่อพวกนี้ก็เวลานั่งเถียงกัน เพื่อนๆ ก็จะอ้างทฤษฎีมาร์กซ์บ้างเลนินบ้าง เราก็ได้แต่นั่งฟังเถียงไม่ออกเพราะไม่รู้จัก ผมเพิ่งได้อ่านงานของมาร์กซ์ของเลนินตอนอยู่ที่อังกฤษทั้งนั้นเลย แล้วตอนอยู่ที่โน่นผมยังไปสมัครเข้ากลุ่มที่อาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์ เคยอยู่มาก่อน คือ SWP-Socialist Worker Party เป็นองค์กรจัดตั้งใหญ่ องค์กรจัดตั้งระดับนักศึกษาเรียกว่า SWSS-Socialist Worker Student Society เป็นชมรมที่ค่อนข้างซ้ายซึ่งมีอยู่ชมรมเดียวในอังกฤษ ผมก็ไปเข้าชมรมนี้ ร่วมทำกิจกรรมกับพวกเขา รณรงค์แจกแผ่นพับ จัดงานวันเมย์เดย์ ฯลฯ ก็เป็นประสบการณ์อีกด้านหนึ่งที่ได้เรียนรู้

หลังจากกลับจากอังกฤษ เหตุใดจึงมาทำงานเป็นเอ็นจีโอในกลุ่มเพื่อนประชาชน (FOP)
หลังจากเรียนจบผมมีทางเลือกในชีวิตอยู่สองทาง คือหนึ่ง ผมเรียนต่อ จริงๆ ตอนผมเรียนวิศวะที่อังกฤษ ผมไปเข้าเรียนวิชาสำหรับนักศึกษาปริญญาโทบ่อยกว่าอีก คือผมไปขอเข้าเรียนวิชา critical theory ของ School of Frankfurt พวก ฌากส์ แดริดา แนวคิดโพสต์โมเดิร์น ผมก็บอกกับอาจารย์ที่สอนว่า ผมจะมาสมัครเรียนนะ แม้ผมจะไม่ได้มีแบ็กกราวนด์ทางสังคมศาสตร์ แต่ผมอยากมาเรียน ตั้งใจว่าจะเรียน critical theory เพราะว่าตอนนั้น ย้อนหลังกลับไปประมาณ ๕-๖ ปี โพสต์โมเดิร์นมาแรงมากในทางวิชาการ พอเรียนจบวิศวะก็สมัครปริญญาโท และก็ได้รับเลือกแล้วด้วย ระหว่างที่สมัครเรียนต่อก็บังเอิญว่าได้งานที่ไนจีเรีย เป็นเอ็นจีโอทางด้านเยาวชน-นักศึกษา งานที่ไนจีเรียเป็นงานที่เราอยากไปทำ เราคิดว่าไนจีเรียเป็นประเทศที่น่าสนใจ เพราะเป็นประเทศที่มีการใช้ความรุนแรงในสังคมสูงมาก อีกทั้งเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสมาก่อน

ตอนนั้นคิดอยู่สองทางว่าจะเรียนต่อหรือไปไนจีเรียดี ท้ายที่สุดก็ตัดสินใจไปไนจีเรีย ผมก็โทร. กลับบ้าน บอกแม่ว่า ตกลงปริญญาโทเขารับแล้วนะ และก็ได้งานที่ไนจีเรีย แต่ผมจะไปทำงานที่ไนจีเรียนะ คือตอนนั้นความเป็นตัวของตัวเองสูงมาก เราไปไหนไม่เคยขออนุญาตพ่อแม่ เราบอกเฉยๆ พอสัปดาห์ต่อมา คุณแม่ก็โทร. มาบอกว่า ช่วยกลับบ้านเถอะ คุณพ่อไม่สบาย ตอนนั้นก็คิดอยู่นาน จริงๆ ก็เสียดายนะ แต่เป็นห่วงคุณพ่อมากกว่า ก็ตัดสินใจกลับ

พอกลับมาอยู่เมืองไทย ผมก็ย้ายออกมาอยู่นอกบ้าน มาทำงานที่ FOP เพราะตอนนั้นเราคิดว่าเราอยากเป็นเอ็นจีโอ เราอยากเห็นสังคมเปลี่ยนแปลง แต่ก็ยังไม่ทันได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ทำงานอยู่ได้ครึ่งปี คุณพ่อก็เสียชีวิต ผมมีพี่น้อง ๕ คน พี่สาวแต่งงานแล้ว ผมเป็นคนที่ ๒ คนที่ ๓ เรียนอยู่ญี่ปุ่น คนที่ ๔ เรียนอยู่อังกฤษ น้องชายคนเล็กก็เพิ่ง ๑๐ ขวบ ตอนคุณพ่อเสียชีวิต ที่บ้านเหลือกันอยู่ ๒ คน คือแม่กับน้องชายคนเล็ก ตอนนั้นก็ชั่งใจ ความรู้สึกเหมือนตอนที่ไปอังกฤษเลย คือ มันต้องเลือกระหว่างสิ่งที่ตัวเองอยากทำกับความสุขในสิ่งที่แม่อยากให้เราทำ ผมไม่อยากเห็นแม่ร้องไห้ แม่บอกว่าธุรกิจแบบนี้มันเป็นอุตสาหกรรมหนัก แล้วจะให้ท่านมาลุยเองก็คงไม่ไหว ดังนั้นถึงเวลาที่เราต้องมาทำแล้วนะ ท้ายที่สุดผมต้องตัดสินใจกลับไปอยู่บ้านและรับช่วงต่อกิจการของครอบครัวต่อจากพ่อ

อยากให้ลองวิเคราะห์จุดดีจุดด้อยของนักธุรกิจและเอ็นจีโอ ในฐานะที่เคยเป็นมาทั้งสองอย่าง
ผมคิดว่าทั้งสองอย่างมันมีสิ่งที่เหมือนกันประการหนึ่งคือ เมื่อขึ้นไปสู่จุดที่เรียกว่าอำนาจ ผมรู้สึกว่าอำนาจเป็นสิ่งเสพติดมาก เมื่อก่อนผมไม่เคยเข้าใจคำว่า Power corrupts เลย จนมาวันนี้ผมถึงเข้าใจ ณ วันนี้ผมเป็นเด็ก แต่มีอำนาจเยอะ คนที่เข้ามาประจบ คนที่ต้องการหาผลประโยชน์จากเรามีนับไม่ถ้วน แล้วถ้าเกิดเราหลงกับคำเยินยอ หลงละเมอไปกับสิ่งมายาต่างๆ เหล่านี้ แน่นอน เราจะกลายเป็นคนบ้าอำนาจ เราจะลืมในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ แต่ก่อนเราไม่เคยเชื่อเลย ไม่เคยรู้สึกว่าเงินมันกินคน พอมานั่งอยู่ตรงนี้ถึงรู้ว่ามันมีจริงนะ คือถ้าวันนี้ไม่เตือนสติตัวเอง ไม่คิดทบทวนตลอดเวลา ก็เสร็จแน่ ทุกวันนี้ผมยังเจอเพื่อนที่ทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองคล้ายๆ กันเดือนละครั้ง นั่งกินเหล้าด้วยกัน เดือนละครั้งสำหรับผมมันมีความหมายมาก ความหมายในแง่ที่ว่ามันดึงผม มันเตือนสติผมได้ ว่าในโลกนี้ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีงาม ผมรู้สึกว่าถ้าเราไม่คิดทบทวนตัวเองอยู่ตลอดเวลา ไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้ เป็นใครใครก็หลุด อำนาจเงิน อำนาจการปกครอง มันเป็นสิ่งที่ยุ่งเหยิงซับซ้อน มันน่ากลัวจริงๆ เพราะฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจเวลานักการเมืองที่เป็นคนดีเข้าไปในสภา เจอสภาวะแบบนี้ ถ้าไม่แข็งแรงไม่เข้มแข็งในทางจิตใจจริงๆ เสร็จหมด นี่คือสิ่งที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ ที่นั่งอยู่ตรงนี้

สำหรับเอ็นจีโอผมรู้สึกว่าตรงนี้ก็เหมือนกันนะ พอเริ่มเป็นเอ็นจีโอที่มีอำนาจขึ้นมาก็ตกอยู่ในสถานะเดียวกับผม เมื่อคุณกลายเป็นเอ็นจีโอที่มีอำนาจ เอ็นจีโอที่สื่อยกย่องว่าเป็นตัวแทนเอ็นจีโอประเทศไทย เป็นตัวแทนประชาชน คุณก็จะเกิดความลุ่มหลง เกิดภาพลักษณ์อะไรบางอย่าง ถ้าเกิดว่าคุณลุ่มหลง คุณเสพติดกับภาพลักษณ์แบบนี้ ผมว่าเสร็จ ณ วันนี้ผมยังต้องเตือนตัวเองตลอดเวลา เป็นเรื่องสำคัญมากว่าเราจะสามารถยึดมั่นในสิ่งที่ตัวเองเชื่อได้มากแค่ไหน มันต้องทบทวน อย่าไปลุ่มหลงกับอำนาจหรือมายา

โดยพื้นฐานดูเหมือนว่าเป็นมาร์กซิสต์ แต่วันหนึ่งเมื่อมาทำธุรกิจของพ่อที่เป็นแนวทางแบบทุนนิยมเลย ชีวิตขัดแย้งมากไหมครับ
ตั้งแต่สมัยที่ทำกิจกรรม ผมถูกสอนจากรุ่นพี่ตลอดว่า คุณต้องอ่านหนังสือพิมพ์อย่างน้อยวันละ ๒ ฉบับ คือเราต้องมีวินัยเหล็ก การอ่านหนังสือพิมพ์ การวิเคราะห์ข่าว การสรุปบทเรียนทางการเมือง วิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมือง การเคลื่อนไหวทางการเมือง การวิเคราะห์สังคม วิเคราะห์ทุนนิยม ผมกลับรู้สึกว่าตรงนี้มีส่วนช่วยวิธีการมองโลกของผม พอผมมาทำธุรกิจ กระบวนการวิเคราะห์ทุนนิยม กระบวนการวิเคราะห์สังคม มันใช้ได้กับชีวิตจริง ผมยกตัวอย่าง การที่ไทยซัมมิทไปลงทุนที่อินเดียเป็นไอเดียเริ่มต้นของผม ณ วันที่ผมเริ่มเข้ามาทำงานที่นี่ การมีไอเดียเริ่มต้นที่จะต่อสู้กับโลกาภิวัตน์ในฐานะทุนชาติก็มาจากกระบวนการวิเคราะห์สังคม การวิเคราะห์โลกาภิวัตน์แบบเดียวกัน นั่นคือ เราเชื่อว่าทุนที่จะอยู่ได้ในการแข่งขันในกระแสโลกาภิวัตน์ คือกลุ่มทุนก้าวหน้าที่มีเทคโนโลยีและมีเครือข่ายครอบคลุมทั่วโลก สามารถเคลื่อนย้ายเงินทุนและแรงงานได้อย่างเสรีไปในที่ที่มีผลตอบแทนสูงกว่าและค่าแรงต่ำกว่า ดังนั้น เมื่อเผชิญหน้ากับทุนข้ามชาติที่ลุกขึ้นเอาเปรียบ ทุนชาติมีทางเลือก ๓ ประการ คือ หนึ่ง สยบยอมต่อทุนข้ามชาติ สอง ให้รัฐบาลออกมาตรการปกป้องตัวเองหรือสร้างวาทกรรมชาตินิยม หรือสาม พัฒนาจากทุนชาติให้กลายเป็นทุนข้ามชาติเหมือนกัน บริษัททุกบริษัทมีความจำเป็นต้องไต่บันไดโลกาภิวัตน์ จากสิ่งที่เรียกว่า national champion ให้กลายเป็น global player การที่เราพยายามขยายการลงทุนออกไปนอกประเทศก็มาจากฐานวิธีคิดแบบนี้ ดังนั้นกระบวนการวิเคราะห์สังคมที่เราได้เรียนรู้มาตั้งแต่สมัยยังทำกิจกรรมจึงไม่สูญเปล่า มันช่วยให้เราวิเคราะห์เศรษฐกิจหรือมองอะไรได้ลึกพอสมควร

ณ วันนี้ผมยังเชื่อในสังคมนิยม แต่ผมคิดว่าวิธีการบางอย่างของมาร์กซิสต์มันใช้ไม่ได้แล้ว เพราะว่าสังคมมันเปลี่ยนไปแล้ว ถามว่าขัดแย้งกับตัวเองไหม ถ้าเปลี่ยนคำถามว่า ขณะที่ในสังคมเรามีคนที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคมกับมีนักธุรกิจด้วยนั้น ถามว่ามันขัดแย้งกันไหม สำหรับผม ในระดับหนึ่งผมคิดว่าขัดแย้ง ผมยกตัวอย่างเมื่อ ๒ ปีที่แล้ว ผมปิดโรงงานไปโรงงานหนึ่ง คนงานประมาณ ๗๐๐ คน เป็นครั้งแรกที่ผมปิดโรงงานเลย์ออฟคนงาน

เพราะขาดทุน ?
ไม่ใช่เพราะขาดทุนครับ แต่เพราะว่าจากการประเมินแล้ว ถ้าเปลี่ยนแปลงธุรกิจ ปิดโรงงานไป มันจะให้ productivity ที่ดีกว่า ถามว่าในฐานะผู้บริหารองค์กรทางธุรกิจ คุณรู้ว่าทำอย่างนี้แล้วบริษัทมีกำไรมากกว่า คุณไม่ทำคุณผิดไหม ถ้าผมทำอย่างนี้แล้วผมสามารถลดต้นทุนให้บริษัทได้ ผมไม่ทำ ผมผิดจรรยาบรรณนักธุรกิจ แต่เมื่อผมเลือกที่จะทำ ผมก็ผิดความเป็นมนุษย์ เพราะว่าคนงานที่ทำงานอยู่ในโรงงานนั้นเป็นคนงานเก่าแก่ที่ทำงานในบริษัทมา ๑๐ กว่าปีทั้งนั้น พอปิดโรงงานเรียบร้อยผมขึ้นรถแล้วร้องไห้ เป็นครั้งแรกที่ผมร้องไห้กับการทำงาน ผมรู้สึกว่ามันเจ็บปวด แต่ในฐานะนักธุรกิจมันต้องทำ ในแง่นี้ผมรู้สึกว่าต้องขัดแย้งกันอยู่ระหว่างศีลธรรมของความเป็นมนุษย์กับจรรยาบรรณนักธุรกิจ นักธุรกิจไม่ต้องเป็นคนใจดี ยกตัวอย่างขณะที่ปัจจุบันมีคน ๑๐ คนสามารถผลิตสิ่งนี้ได้ ถ้าผมคิดว่า ๘ คนสามารถผลิตได้ ผมก็เอาอีก ๒ คนออกไป มันไม่เกี่ยวกับเรื่องศีลธรรม ว่า ๒ คนที่ออกไปนั้นจะมีลูกเรียนหนังสืออยู่หรือเปล่า แต่มันเกี่ยวกับว่าในการผลิตของชิ้นนี้ผมต้องการแค่ ๘ คน ไม่ใช่ ๑๐ คน มันก็มีความขัดแย้งในแง่ศีลธรรม

แต่มีอย่างหนึ่งที่เราสามารถทำได้โดยไม่รู้สึกขัดแย้ง คือ ไม่ว่าจะเป็นสังคมนิยม ทุนนิยม อะไรก็แล้วแต่ ผมคิดว่าคนต้องมีงานทำและต้องได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า นี่เป็นปรัชญาการทำงานของผม และเป็นปรัชญาการทำงานของบริษัทนี้เลย คือ ให้ผลตอบแทนแก่พนักงานของเราสูงกว่าค่าเฉลี่ยผลตอบแทนที่บริษัทอุตสาหกรรมประเภทเดียวกันจ่าย พูดง่ายๆ ว่าให้มากกว่าที่เขาไปทำงานที่บริษัทอื่น เพราะเราอยากจะให้คนของเรามีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นั่นคือปรัชญาของเรา

โดยส่วนตัวแล้วฝันถึงสังคมแบบไหน
ถ้าผมสามารถฝันเห็นว่าสังคมในอนาคตเป็นแบบไหนได้ มีโมเดลแบบไหนได้ ผมคิดว่าผมคงไกลกว่ามาร์กซ์แล้วนะ ผมไม่คิดไปถึงขั้นว่าสังคมจะต้องเป็นอย่างไหน เอาง่ายๆ ถามว่าในสังคมอุดมคติเรามีตลาดหุ้นหรือไม่มี เพราะว่าเวลาเราพูดถึงตลาดหุ้น แง่หนึ่งมันเป็นสัญลักษณ์ของระบบทุนนิยม ผมคิดว่า สังคม ณ วันนี้ เราไม่สามารถหลีกหนีการแลกเปลี่ยนสินค้าและเงินตราได้ ประเด็นคือคุณสามารถคิดโมเดลการค้าระหว่างประเทศแบบใหม่ออกไหม ผมยอมรับว่าวันนี้ผมคิดไม่ออก และผมก็ยังไม่เคยเห็นใครที่สามารถนำเสนอโมเดลแบบนี้ออกได้ แต่สำหรับผมชัดเจนว่า โมเดลการค้าระหว่างประเทศที่เราต้องการไม่ใช่ทุนนิยมแบบเสรีนิยมแน่นอน

ส่วนโมเดลสังคมในอุดมคติเป็นแบบไหน ณ วันนี้ผมยังคิดไม่ออก แต่ผมคิดว่าเราค่อยๆ สร้างได้ โดยพื้นฐานความคิดทางอุดมการณ์ต้องมาก่อน ผมเชื่อในอุดมการณ์การปฏิวัติฝรั่งเศส คือ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ สิ่งแรกสุดที่ต้องปลูกฝังให้ได้เลยก็คือว่า คนทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ของชาวนาหรือกรรมกร พื้นฐานที่สุดของการต่อสู้คือว่า คุณเชื่อหรือเปล่าว่าคุณเกิดมาบนโลกคุณมีสิทธิเท่าเทียมกันกับคนอื่น ผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นพื้นฐานซึ่งเราสามารถค่อยๆ สร้างได้ ถ้าเราสร้างพื้นฐานและสร้างความเชื่ออย่างนี้ได้ ผมคิดว่าสังคมที่เราต้องการมันก็เกิดขึ้นได้

เชื่อไหมว่าทุนนิยมอเมริกาจะล่มสลายลง
ในความคิดของผม ถ้าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้มันต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับโลกด้วยซ้ำไป คือตอนนี้ระบบเศรษฐกิจมันกลายเป็นระบบโลกไปแล้ว เรากำลังพูดถึง global government เรากำลังพูดถึงรัฐบาลโลก หรืออย่างน้อยที่สุดรัฐบาลใน EU ซึ่งถึงแม้จะล้มไปแต่มีความพยายามร่างรัฐธรรมนูญที่จะรวม EU ให้กลายเป็นรัฐรัฐเดียว ผมคิดว่าอนาคตถ้าเกิดการลุกขึ้นสู้และเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเชิงโครงสร้าง เวลาพูดถึงโครงสร้างผมกำลังหมายถึงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและกลไกในการสะสมทุน ผมคิดว่าถ้าจะเปลี่ยนกลไกนี้ การปฏิวัติครั้งต่อไปต้องเป็นการปฏิวัติระดับโลก เราต้องจินตนาการถึงการปฏิวัติระดับโลก ว่านี่คือ globalism นี่คือ internationalism การต่อสู้เพื่อสังคมที่มีสิทธิเท่าเทียมกัน เสมอภาคกัน และมีภราดรภาพ มันไม่สามารถต่อสู้ให้ได้มาในประเทศประเทศเดียว เพราะวันนี้ทุนนิยมมันกลายเป็น global คู่ต่อสู้ของคุณมีลักษณะเป็น global คุณจะล้มมันได้คุณต้องเป็น global ในแง่นี้ internationalism หรือว่าความเป็นสากลของอุดมการณ์จึงสำคัญ



แต่ไม่ได้หมายความว่ากลับไปเป็นสังคมนิยม

ถ้านิยามสังคมนิยมว่าเป็นการวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลาง ผมไม่แน่ใจว่ามันจะทำได้ไหมในระดับโลก คือเอาเข้าจริงๆ ทฤษฎีสังคมนิยมทั่วไป ไม่ว่ามาร์กซิสต์ ฝ่ายซ้ายหรือ พคท. เก่าทั่วไป มันมีสองขั้น หนึ่งคือ ยึดอำนาจรัฐ ซึ่งโดยมากใช้อาวุธ หรือมีอีกสายหนึ่งที่บอกว่ายึดอำนาจรัฐโดยรัฐสภาก็ได้ แต่ขั้นแรกพื้นฐานเหมือนกันคือยึดอำนาจรัฐ สอง แปรอำนาจรัฐให้เป็นเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ คือใช้อำนาจรัฐนั้นสร้างสังคมนิยม ประเด็นคือผมยังคิดว่า หนึ่ง ประชาชนต้องมีอำนาจในมือ ผมเชื่อในการเปลี่ยนแปลง และผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องมีสเต็ปแรก แต่สเต็ปที่ ๒ ที่จะทำอะไรต่อไปนั้น ผมยังไม่เจอใครที่จะเสนอ global model ว่าเราอยากจะให้มีกฎกติกาการใช้ชีวิตบนโลกร่วมกันยังไง มีการพยายามจะเสนออย่างเช่น โลกยุคหลังบรรษัท หนังสือเล่มนี้ก็พยายามเสนอไอเดียเป็นโมเดลว่า ถ้าเกิดว่าเราไม่เอาทุนนิยมเราจะเอาอะไร มีการเสนอการจัดการในเชิงท้องถิ่นอะไรต่างๆ ก็เป็นความพยายามหนึ่งที่จะเสนอทางเลือก เพียงแต่วันนี้ผมไม่สามารถฟันธงได้ว่า โมเดลสังคมแบบในอุดมคติมันเป็นโมเดลอะไร

แสดงว่าไม่เชื่อว่าทุนนิยมจะล่มสลายด้วยตัวของมันเอง
ผมไม่เชื่อว่าทุนนิยมจะล่มสลายด้วยตัวมันเอง ผมเชื่อว่าทุนนิยมจะล่มสลายด้วยการต่อสู้ของประชาชน ถ้าปล่อยมันไปเฉยๆ โดยที่เราไม่ลุกขึ้นสู้ เราไม่จัดตั้ง ทุนนิยมมันก็ไม่ล่มสลายลงเองหรอก อย่าลืมว่าทุนนิยมในตัวมันเองมันก็มีวิวัฒนาการ ทุนนิยมไม่ใช่ static ไม่ใช่อะไรที่นิ่ง มันมีพลวัตของมันตลอดเวลา ผมยกตัวอย่างง่ายๆ เลยนะครับ การเมืองไทยช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงรัฐบาลทักษิณ ถ้าเกิดว่าภาคประชาชนไทย ถ้ามันมีจริงนะครับ ทำงานเย็น (งานจัดตั้งทางความคิด) มากพอ ผมว่าตรงนั้นเป็นเงื่อนไขที่ดีที่สุดที่จะตั้งพรรคการเมือง แม้แต่เวลานี้ก็ยังอยู่ในช่วงตั้งพรรคการเมืองด้วยซ้ำ แต่ที่ผ่านมาเราไม่ได้ทำงานจัดตั้งทางความคิดเลย พอสถานการณ์สุกงอม เราเองต่างหากที่ไม่สุกงอม ไม่สามารถใช้สถานการณ์ให้เป็นประโยชน์ได้ ยกตัวอย่าง สมมุติว่าเราทำงานเรื่องพรรคของประชาชนมาก่อนหน้านี้ ผมคิดว่าวันนี้มันจะกลายเป็นตัวเลือกที่ดี แต่ท้ายที่สุด ในสถานการณ์ที่คนกำลังต้องการพรรคแบบนี้ เรากลับไม่มีพรรคแบบนี้อยู่ในเมืองไทย ขณะเดียวกันในระดับโลก ผมเชื่อว่าก็มีสถานการณ์อย่างนี้เหมือนกัน แล้วผมไม่คิดว่าเราคิดถึงการเปลี่ยนแปลงแบบวันเดียวจบ วันเดียวทุกประเทศจับอาวุธยึดอำนาจ แต่มันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ต้องใช้เวลาและต้องสร้างฐานกำลัง ผมพูดถึงรูปแบบการจัดตั้งระยะยาว แล้วก็ค่อยๆ สร้าง

การวิเคราะห์ทุนนิยมเอื้อประโยชน์แก่การทำธุรกิจอย่างไร
ผมคิดว่าทุนนิยมสอนเราว่าเราต้องใหญ่ถึงจะอยู่ได้ ตอนที่ผมเข้ามาทำงาน เรามีโรงงานอยู่ที่มาเลเซีย แล้วพอมาดูที่อินเดีย ประเทศนี้มีประชากรราว ๑,๑๐๐ ล้านคน เราวิเคราะห์ว่าตลาดที่อินเดียมันใหญ่มาก ถ้าเราไม่เข้าไปลงทุนตอนนี้แล้วปล่อยให้เขาโต ผมคิดว่ามีโอกาสสูงมากที่สินค้าจากจีน อินเดีย จะมาตีเราภายใน ๕ ปี ๑๐ ปีหลังจากนี้ เราตัดสินใจเข้าไปลงทุนที่อินเดียปี ๒๕๔๖ วิธีคิดของเราตอนนั้นก็คือ เราจำเป็นจะต้องขยายฐานการผลิต เราจำเป็นจะต้องใช้ความสามารถทางด้านเทคโนโลยี ใช้ทรัพยากรที่เรามีอยู่ในมือให้เป็นประโยชน์ มันเหมือนเอาไข่วางไว้ในประเทศไทยประเทศเดียว ถ้าเศรษฐกิจไทยพัง โอกาสที่ไข่จะแตกทั้งตะกร้าก็มีสูง ดังนั้นมันจึงเป็นการกระจายความเสี่ยง ๕ ปีที่ผ่านมาเราบอกตัวเองตลอดว่า ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนวิธีคิด ว่าไทยซัมมิทไม่ใช่บริษัทคนไทยที่ operate ในประเทศไทยอีกต่อไปแล้ว ไทยซัมมิทคือบริษัทคนไทยที่เป็น regional company คือบริษัทระดับภูมิภาคที่จะก้าวออกไปแข่งขันกับบริษัทอื่นได้ในกระแสโลกาภิวัตน์ เพราะฉะนั้นเราถึงทุ่มทุนลงทุนในอินเดีย เราถึงก่อตั้ง R&D หรือหน่วยงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเราเองขึ้นมา เราถึงต้องพัฒนาตัวเอง เพราะเราเชื่อว่าถ้าเรายังคิดว่าเราเป็นบริษัทคนไทย เราไม่ขยายออกไปต่างประเทศ อีกไม่นานสักวันหนึ่งเราก็จะเป็นเหมือนบริษัทคนไทยก่อนๆ หน้าเราที่เคยใหญ่แต่ไม่มีศักยภาพเป็นของตัวเอง ผมยกตัวอย่าง เราคงจำกันได้ แต่ก่อนมาสด้าเราเรียกว่าอะไรครับ เราเรียกว่า สุโกศล มาสด้า นิสสันก็คือพรประภา ตอนนี้พวกนี้หายไปหมดแล้วจากอุตสาหกรรมรถยนต์ในเมืองไทย โดนต่างชาติกลืนไปหมดแข่งขันไม่ได้ เราบอกว่าเราไม่ต้องการอย่างนั้น เราต้องการแข่งขันได้ เราต้องการเป็นตัวแทนของบริษัทคนไทยที่เข้าไปแข่งขันได้ในเวทีโลก นั่นคือวิธีคิดของเราช่วง ๓-๔ ปีที่ผ่านมา แล้วเราก็ทำอย่างที่เราคิด เราบอกว่าเราจะไปลงทุนที่อินเดียเราก็ไป เราบอกว่าเราจะไปลงทุนที่อินโดนีเซีย โรงงานของเราที่อินโดนีเซียกำลังจะเริ่มในอีก ๒ เดือนข้างหน้า โรงงานในเวียดนามของเราน่าจะเริ่มได้ภายในปีนี้ หลังจากนั้นเราก็จะไปจีนต่อ นั่นคือวิธีคิดของเรา เพราะเราเชื่อว่าถ้าเราอยู่ในเมืองไทยอย่างเดียว เราตาย ทำอย่างไรให้บริษัทอยู่รอดได้ และการจะอยู่รอดได้มันต้องแข่งขันได้

ธุรกิจของคุณเป็นธุรกิจที่รัฐบาลชุดที่แล้วให้การสนับสนุนมาก ตามนโยบายที่จะให้ประเทศไทยเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชีย ส่งออกให้มากที่สุด ขณะที่รัฐบาลชุดนี้ดูเหมือนจะมีนโยบายสวนทางกัน มองจุดเปลี่ยนตรงนี้อย่างไร
กลับมาที่ business model เมื่อกี้ ว่าคุณจะเอาโมเดลแบบไหนในโลกนี้ คำถามง่ายๆ เลย คุณเอาส่งออกไหม ในประเทศไทย เฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์อย่างเดียวมีคนงาน ๕ แสนคน ถ้าคุณไม่เอาส่งออก อุตสาหกรรมทางนี้มันก็จบ ดีไม่ดีงานครึ่งหนึ่งในประเทศไทยหายไปเลย แต่ถ้าคุณเอาส่งออก คุณต้องเพิ่มศักยภาพของตัวเอง ต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วย ผลิตภัณฑ์ที่เราส่งออกไปอเมริกาจีน เกาหลี ไต้หวัน อินเดีย ทุกคนก็อยากจะส่งออกผลิตภัณฑ์นี้ไปที่อเมริกาทั้งนั้น ผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้เมื่อไปถึงอเมริกาแล้วเขาก็ต้องดูว่าคุณภาพ ต้นทุน และราคาของประเทศไหนดีกว่ากัน ในแง่นี้คุณจะต้องลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน คุณอยู่เฉยไม่ได้ ขณะที่เศรษฐกิจพอเพียงกำลังบอกว่าคุณต้องมีศีลธรรมในการทำธุรกิจนะ คุณต้องอย่าโลภนะ คุณต้องอย่ายิ่งใหญ่ คุณต้องพอเพียงนะ ซึ่งผมคิดว่ามันไม่สอดคล้องกับสภาพธุรกิจ แม้แต่สยามซีเมนต์เองซึ่งเป็นบริษัทแรกๆ ที่ออกมาขานรับนโยบายว่า สยามซีเมนต์จะเป็นเศรษฐกิจพอเพียง คุณลองไปเปิดดูหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อเร็วๆ นี้ สยามซีเมนต์ประกาศว่าปีนี้จะลงทุน ๗ หมื่นล้าน มันหมายความว่าอย่างไร คุณบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงแล้วคุณลงทุน ๗ หมื่นล้าน แม้แต่งบประมาณรัฐบาลที่แถลงออกมา สำหรับปีงบประมาณนี้อยู่ที่ ๑.๕ ล้านล้านบาท ขณะที่รายได้ของรัฐคือ ๑.๓ ล้านล้านบาท ผมถามว่าคุณรณรงค์เศรษฐกิจพอเพียง ทำไมคุณถึงใช้นโยบายขาดดุล ทำไมคุณถึงไม่ใช้นโยบายเกินดุล ณ วันนี้ผมถามว่าใครสามารถออกมานิยามเศรษฐกิจพอเพียงได้บ้างว่าเศรษฐกิจพอเพียงในกรอบของคุณคืออะไร วันนี้ใครพูดอะไรดี คุณตีขลุมหมดเลยว่าคือเศรษฐกิจพอเพียง แต่ในแง่รูปธรรมมันขัดกัน

เฉพาะนโยบายที่ประกาศออกมากับการดำเนินนโยบายในทางปฏิบัติจริงก็สวนทางกันแล้ว ผมคิดว่าในความเป็นจริงแล้วเศรษฐกิจพอเพียง อย่างน้อยที่สุดในทางธุรกิจมันพอเพียงไม่ได้ มันต้องเติบโต ผมไม่เคยเห็นบริษัทไหนไม่เติบโตแล้วไม่เจ๊ง

ถ้านิยามว่าเศรษฐกิจพอเพียงคือการพึ่งตนเองได้ และสร้างภูมิคุ้มกันในธุรกิจของตัวเอง ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้เพิ่มการลงทุน
ผมคิดว่ามีนักวิชาการคนหนึ่ง คือคุณศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ พูดไว้ชัด คือทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง หรือแม้แต่กระแสชุมชนนิยม มันมีรากฐานอย่างหนึ่งคือ ข้างในมันดี และข้างนอกมันเลว อะไรก็ตามที่มันเลวมันมาจากข้างนอกหมด เราอยู่ข้างในเราก็ดีกันอยู่แล้ว โดยที่เราลืมไปอย่างหนึ่งว่า มันเป็นเพียงมายาคติที่ถูกสร้างขึ้นมา เวลาเราพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง พูดถึงชุมชนนิยม หรือแม้แต่ในประเทศไทย เราบอกว่าเราไม่เปิดเสรีเพราะเรารู้สึกว่าอะไรก็ตามที่มาจากข้างนอกมันสร้างกิเลส มันสร้างความโลภ มันเอาอะไรต่างๆ ที่ไม่ดีในเชิงจริยธรรมในเชิงศีลธรรมเข้ามา แล้วเราก็พยายามปลูกฝังความคิดแบบชาตินิยมขึ้นมา แท้จริงแล้วการชูเรื่องชาตินิยมก็เพียงเพราะคุณต้องการปกป้องทุนชาติ เพราะคุณรู้สึกว่าถ้าปล่อยให้ต่างชาติเข้ามาคุณเสียประโยชน์ เพราะคุณแข่งขันสู้บริษัทยักษ์ใหญ่พวกนี้ไม่ได้ ถามว่าเศรษฐกิจพอเพียง คุณปิดประเทศหรือเปล่า ถ้าคุณไม่ปิดประเทศ บริษัทยักษ์ใหญ่พวกนี้เข้ามา ผมถามว่าคุณแข่งขันสู้เขาได้หรือเปล่า ดูธุรกิจใหญ่ๆ ของไทย วันนี้เหลือธุรกิจอะไรบ้างที่ยังเป็นของคนไทย ที่ยังเป็นของทุนชาติอยู่ ผมรู้สึกว่าเหลือไม่เยอะ เครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ต้องพูดถึง รถยนต์ไม่มีแล้วที่เป็นของคนไทย ธนาคารแต่ละแห่งไม่มากก็น้อยมีผู้ถือหุ้นเป็นต่างชาติ แม้แต่ธุรกิจโทรศัพท์มือถือทุกวันนี้ผู้เล่นก็เป็นต่างชาติทั้งหมด ผมกำลังบอกว่ากระแสพวกนี้มันมีส่วนหนึ่งเกิดจากความคิดแบบทุนชาติที่พยายามปลุกกระแสชุมชนนิยม กระแสอนุรักษ์ท้องถิ่นขึ้นมา เพื่อที่จะใช้กระแสนี้ปกป้องธุรกิจของตัวเอง เพราะฉะนั้นในแง่นี้ชาตินิยมจึงเป็นเครื่องมือของนายทุนระดับหนึ่ง ถ้าถามผมเป็นนายทุนผมชอบไหม ชาตินิยม ชูเลยใช้ของไทย คุณผลิตรถยนต์คุณต้องซื้อของจากบริษัทคนไทย ผมแฮปปี้ แต่ถามว่าท้ายที่สุดใครล่ะได้กำไร ทุนชาติและทุนต่างชาติก็ได้กำไรเหมือนกัน การสะสมทุนก็กระจุกตัวอยู่แค่กลุ่มคนระดับสูงบางกลุ่มเหมือนกัน ถามว่าแล้วทุนชาติกับทุนต่างชาติต่างกันอย่างไร ไม่ต่างกัน เพียงแต่เรามีมายาคติ ท้ายที่สุดเศรษฐกิจพอเพียงก็เป็นวาทกรรมแบบหนึ่งเท่านั้นเอง

มองกลับไปที่รัฐบาลทักษิณที่ผ่านมา ทำไมธุรกิจของคุณถึงต้องมีระยะห่างจากรัฐบาลทักษิณ
ผมคิดว่ารัฐบาลไหนเราก็เคลียร์นะ อย่างน้อยที่สุดตั้งแต่ผมเข้าทำงานมา ๕ ปีให้หลัง เราไม่เคยเดินไปบอกรัฐบาลว่าคุณต้องทำอย่างโน้นทำอย่างนี้ให้เรา ผมคิดว่าธุรกิจของเราค่อนข้างรักษาระยะห่าง รัฐบาลที่ขึ้นมาเราก็ไม่ได้สนิทกับรัฐบาลไหนเป็นพิเศษ ภาพที่คนทั่วไปมองอาจดูเหมือนว่าเราสนิทกับรัฐบาลทักษิณเป็นพิเศษเพราะว่ามีคุณอา (สุริยะ จึง-รุ่งเรืองกิจ) อยู่ในรัฐบาล แต่ถ้าถามว่ามีการล็อบบีเชิงนโยบายเพื่อบริษัทไหม ผมยืนยันได้ว่าไม่มี ธุรกิจของเราเสรีที่สุดแล้ว เพราะฉะนั้นถามว่าเรารักษาระยะห่างกับรัฐบาลทักษิณไหม ผมคิดว่าเราไม่ได้มองว่าคุณอามีสายสัมพันธ์อยู่ในรัฐบาล แล้วจะให้รัฐบาลออกนโยบายเพื่อช่วยเหลือบริษัทเรา อันนี้เราไม่เคยมี

ธุรกิจคุณสุริยะคืออะไรครับ
ธุรกิจของเขาทำพวก audio system อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ส่งพวกโซนี พานาโซนิค ฯลฯ กลุ่มบริษัทของเขาชื่อ SEC-Summit Electronic Components

ทำไมภาพลักษณ์ภายนอกกลายเป็นว่าเขาเป็นคนดูแลธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์
ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน อาจจะเป็นว่าครอบครัวเราเติบโตมาจากธุรกิจนี้ทำให้ภาพลักษณ์เป็นอย่างนั้น แต่ถามว่าคุณสุริยะเกี่ยวข้องกับการบริหารงานที่นี่ไหม ในทางเศรษฐกิจและในทางการบริหารไม่เกี่ยวข้องเลย ไม่มีหุ้นแม้แต่หุ้นเดียวตั้งแต่แรกเลย โดยส่วนตัวผมก็ไม่สนิทกับคุณอาอยู่แล้ว เจอกันครั้งหลังสุดก็ ๖-๗ เดือนที่แล้วตามงานครอบครัวทั่วไป จริงๆ แล้วคนอื่นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ผมทำงานได้สบายใจกว่าอีก คือนอกจากผมทำงานบริหารที่นี่ ผมยังมีตำแหน่งทางสังคม คือผมเป็นเลขาธิการของสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ก็ต้องมีคุยกับรัฐบาลในเรื่องต่างๆ สมัยที่คุณอายังเป็นรัฐมนตรีอยู่ ในแง่หนึ่งมันทำให้เราคุยกับรัฐบาลได้ไม่เต็มที่

แล้วข้อครหาที่บอกว่ารัฐบาลชุดทักษิณทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์เจริญรุ่งเรืองมาก
รัฐบาลไหนก็ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์รุ่งเรือง แม้แต่รัฐบาลนี้หรือรัฐบาลหน้าขึ้นมา อุตสาหกรรมรถยนต์ก็จะยังได้รับการส่งเสริมอยู่ เพราะอุตสาหกรรมรถยนต์เป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่เป็นอันดับ ๒ ของประเทศ คุณไม่สามารถขึ้นมาแล้วบอกว่าไม่เอาอุตสาหกรรมรถยนต์ หรือจะไม่ให้ประโยชน์กับบริษัทรถยนต์ ณ วันนี้ผมคิดว่าโตโยต้าพูดอะไรรัฐบาลฟัง เพราะเขากลัวว่าพวกนี้จะย้ายฐานการลงทุนไปที่อื่น







สังคมตั้งข้อสงสัยมากกรณีการซื้อหุ้นเนชั่น ทำไมอยู่ดี ๆ คุณแม่ของคุณถึงเข้าไปซื้อหุ้นเนชั่น
เรื่องนี้ไม่มีอะไรซับซ้อนเลยครับ คือพี่สาวผมแต่งงาน คนที่พี่สาวผมแต่งงานด้วยคือหลานชายของคุณธนาชัย ธีรพัฒนวงศ์ [ประธานบริษัทเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)] คุณธนาชัยเข้ามาคุยกับคุณแม่ว่าอยากให้ครอบครัวปรองดองกัน นั่นคือจุดแรกที่เราเข้าไปซื้อหุ้น ผมคิดว่าไม่มีอะไรซับซ้อน คือไม่มีเหตุผลเชิงธุรกิจ คุณแม่ไม่ได้ต้องการซื้อหุ้นเนชั่นเพื่อเข้าไปยึดครองหรือเพื่อทำกำไร และตั้งแต่วันที่ซื้อจนถึงวันนี้ มันไม่เคยมีอยู่ในหัวของคนในครอบครัวเราเลยว่าจะซื้อเพื่อทำกำไรหรือเพื่อเข้าไปยึดครอง คืออย่างนี้ครับ ผมคิดว่าสื่อไม่ใช่ธุรกิจที่อยู่ๆ คุณจะเข้าไปเทกโอเวอร์ เข้าไปบริหารง่ายๆ ผมคิดว่าด้วยความเป็นสื่อ อย่างแรกที่สุดคุณจะต้องมีภาพลักษณ์อะไรบางอย่างในการที่จะเข้าไปบริหารสื่อได้ และเรารู้อยู่แล้วว่าด้วยภาพลักษณ์ด้วยนามสกุลของเรา เราไม่สามารถเข้าไปได้ เราไม่ได้คิดว่าจะซื้อเพื่อเข้าไปยึดครอง ทั้งหมดนั้นเป็นความเข้าใจผิดของคนอื่น

ตั้งเป้าหมายในการทำธุรกิจอย่างไรครับ
ถ้าอยู่ตรงนี้ก็ต้องทำให้บริษัทนี้มันดีที่สุด ผมคิดว่าผมไปอยู่ตรงไหนทำงานที่ไหนก็ทำงานเต็มที่ ไม่เคยคิดว่าจะเข้ามาที่นี่ทำเล่นๆ ผมคิดว่าก็จะทำให้ดีที่สุด แต่ผมก็มีเป้าหมายส่วนตัวในชีวิต อาชีพนี้คงไม่ใช่อาชีพสุดท้ายของผมแน่นอน แต่ขณะที่ทำอยู่ตรงนี้ก็ต้องทำให้บริษัทมันเจริญก้าวหน้าถึงที่สุด

คิดอย่างไรกับรัฐประหาร ๑๙ กันยายน
ตั้งแต่ผมเกิดมา ผมไม่เคยรู้สึกอึดอัดใจครั้งไหนเท่าช่วงเวลาปัจจุบัน รู้สึกอึดอัด โกรธ แล้วก็สมเพชตัวเอง สมเพชสังคมไทยด้วย ที่ปล่อยให้เหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น แน่นอนที่สุด จุดยืนของผมชัดเจน คือผมไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร เพราะเราเชื่อว่าไม่มีประชาธิปไตยที่ออกมาจากปากกระบอกปืน แล้วผมก็รู้สึกหงุดหงิดมากที่ในที่สุดมันก็เกิดขึ้นจนได้ ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์พฤษภา ๓๕ เรามีอารมณ์ แต่ตอนนั้นเรายังเด็ก ยังไร้เดียงสาทางการเมือง เราจึงไม่รู้สึกอึดอัดเท่าไร แต่วันนี้ผมรู้สึกอึดอัดกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ เรารู้สึกโกรธกับการกระทำของคนบางกลุ่มที่ใช้อำนาจล้มล้างรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ ที่เป็นของประชาชน

แล้วรู้สึกอย่างไรที่เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ปัญญาชน แม้กระทั่ง เอ็นจีโอแตกกันมากที่สุด
ผมคิดว่าเหตุการณ์นี้มันก็พิสูจน์จุดยืนพิสูจน์ความเชื่อ ว่าจริงๆ สิ่งที่คุณเชื่อคืออะไร แล้วก็พิสูจน์จุดยืนด้วยว่า เวลาที่คุณบอกว่าคุณเป็นนักประชาธิปไตย ในความหมายของคุณมันคืออะไร แล้วผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ มันตอกย้ำลักษณะของสังคมไทย ในเรื่องความเป็นอำมาตย์ ความเป็นศักดินา มันตอกย้ำว่าสังคมไทยมีลักษณะแบบนั้นอยู่จริง

อยากจะเล่นการเมืองหรือเปล่าครับ
ผมคิดว่าผมเล่นถ้าจำเป็น ถ้ามีสถานการณ์ เพราะในท้ายที่สุดแล้วเราปฏิเสธการเมืองไม่ได้ คุณบอกว่าคุณจะสร้างประเทศสีเขียว สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองมันเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าคุณจะทำอะไรมันเกี่ยวข้องกับความเป็นรัฐเกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งหมด คุณจะทำอะไรก็ตามในที่สุดมันก็โยงไปที่รัฐ มันต้องขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐ เพราะว่าเราอยู่ในสังคมประชาธิปไตยแบบตัวแทน แม้แต่คุณต่อสู้เรื่องโรคเอดส์คุณยังชุมนุมหน้ารัฐสภาเลย ผมจึงคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องสำคัญมาก แต่ถ้าถาม ณ วันนี้ผมยังไม่มีความคิดที่จะเล่นการเมือง แต่ก็ไม่ปฏิเสธ จริงๆ แล้วผมรู้สึกว่าเราสามารถแสดงความเชื่อหรือทำกิจกรรมทางการเมืองต่างกันได้ ถ้าผมจะทำกิจกรรมการเมืองอะไรสักอย่าง ผมคิดว่ามันมาจากจิตสำนึกและก็มาจากความเชื่อของตัวเองโดยบริสุทธิ์ โดยที่ปราศจากอิทธิพลของญาติพี่น้อง ปราศจากอิทธิพลของนักการเมืองใดๆ แต่จะทำไปด้วยความเชื่อและความศรัทธาที่ตัวเองมีอยู่ นั่นเป็นจุดยืนของผม

นับจากครั้งที่ทำงานกับชาวบ้านมาจนถึงวันนี้ ยังเชื่อในการเมืองบนท้องถนนอยู่หรือเปล่า
ผมคิดว่าต้องย้อนกลับไปที่ความเชื่อเรื่องประชาธิปไตย ในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน คุณเลือกใครสักคนให้เข้ามาทำนโยบายแทนตัวคุณ แล้ววันหนึ่งเขาไม่ทำตามคุณ คุณก็ต้องเตือนนักการเมืองพวกนี้บ้างว่าสิ่งที่คุณต้องการคืออะไร ที่สำคัญผมคิดว่าประชาธิปไตยมันไม่ได้อยู่ที่การไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่มันอยู่ที่ช่วงเวลาระหว่างการใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนั้นกับการใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งต่อไปมากกว่า ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องเตือนนักการเมืองรวมถึงทหารด้วยว่า ท้ายที่สุดสิทธิและอำนาจการปกครองมันเป็นของประชาชน เพราะฉะนั้นถ้าเราจำเป็นต้องเตือนก็จำเป็นต้องใช้สิ่งที่เรียกว่า การเมืองบนท้องถนน ในการตักเตือน ขับไล่พวกที่ไม่ทำตามเจตนารมณ์ของผู้ที่เลือกเขาเข้ามา

เป็นคนชอบอ่านหนังสือมากใช่ไหม ถึงขนาดอยากทำร้านหนังสือ
ใช่ครับ ผมคิดว่าเพื่อนๆ ที่ทำกิจกรรมด้วยกันแหละสอนผม ตั้งแต่ ม. ๓ ผมอ่าน อกาธา คริสตี จบทุกเล่ม ผมอ่านหนังสือมาตลอด เพียงแต่ว่าหนังสือที่อ่านส่วนใหญ่ก่อนหน้าที่จะทำกิจกรรมเป็นหนังสือตลาด หนังสือแปล นิยาย วรรณกรรม แต่ว่าไม่เคยอ่านหนังสือที่มีกลิ่นอายทางการเมืองหรือปลุกจิตวิญญาณ มาได้อ่านตอนเข้ามาทำกิจกรรม

หลายๆ คนมีหนังสือที่เปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนโลก เปลี่ยนทัศนคติในการใช้ชีวิต
ถ้าวิธีคิดทางการเมืองก็มี แต่ว่าถึงขั้นเปลี่ยนชีวิตในเชิงการใช้ชีวิตคงไม่ได้มาจากหนังสือ หนังสือที่ผมชอบที่สุด ณ วันนั้นคือ รัฐกับการปฏิวัติ ของ วี.ไอ. เลนิน หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมเข้าใจฝ่ายซ้ายได้ดี หนังสือในดวงใจก็มีอีกหลายเล่ม เช่นของ แจ็ก ลอนดอน หรือของ อิมมานูเอล วอลเลนสไตน์ พี่น้องคารามาซอฟ, ฤทธิ์มีดสั้น ก็เป็นหนึ่งในหนังสือในดวงใจ ตัวละครอย่าง รพินทร์ ไพรวัลย์ ใน เพชรพระอุมา ก็เป็นตัวละครที่ผมชื่นชอบ แด่หนุ่มสาว ของกฤษณมูรติ ก็เป็นหนังสือที่ผมชอบ ผมคิดว่ามันเป็นไปตามวัยมากกว่า แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้อ่านเพราะไม่ค่อยมีเวลา ทุกวันนี้ตื่นเช้ามาต้องอ่านหนังสือพิมพ์ นั่นเป็นสิ่งที่เราถูกสอนมาตั้งแต่สมัยทำกิจกรรม

มีใครเป็นต้นแบบในการใช้ชีวิตไหม
ผมคิดว่าเพื่อนๆ ที่ทำกิจกรรมด้วยกันมาก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าวิถีการใช้ชีวิตที่ควรจะเป็นมันเป็นอย่างไร ถ้าถามว่ามีโรลโมเดลไหม ผมคิดว่าไม่มีนะ แต่มีหลายคนที่ผมได้รับอิทธิพลจากเขา คือผมยังรู้สึกขอบคุณเพื่อนผมที่ทำกิจกรรมด้วยกันมาหลายๆ คน ผมรู้สึกว่าถ้าผมไม่ได้พบกับพวกเขาเหล่านี้ ผมก็คงจะเป็นลูกของนายทุนคนหนึ่งเท่านั้นเอง ถ้าย้อนเวลากลับไปแล้วต้องเลือก ผมก็ยังเลือกเส้นทางนี้อยู่ ผมรู้สึกว่าการใช้ชีวิตอย่างมีอุดมการณ์มันทำให้ชีวิตมีความหมาย แล้วการได้คบเพื่อนๆ กลุ่มนี้เป็นอะไรที่ผมรู้สึกซาบซึ้ง และก็ขอบคุณที่ทำให้เรามาเจอกัน

บอกได้ไหมว่า แม้ว่าจะเป็นนายทุนแล้วแต่อุดมการณ์ยังไม่เปลี่ยน
ผมไม่อยากพูดอย่างนั้น มันดูโอเวอร์ไปหน่อย มันเหมือนกับเราเป็นคนยิ่งใหญ่ จริงๆ มันก็เป็นความเชื่อ เป็นพันธสัญญาระหว่างกันฉันมิตรมากกว่า ว่าเรารู้ว่าคุณทำอะไรอยู่ คุณรู้ว่าผมทำอะไรอยู่ อย่าไปพูดอย่างนั้นให้มันใหญ่โตดีกว่า

มองย้อนกลับไป ช่วงไหนเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิต
ผมคิดว่าช่วงที่ผมทำกิจกรรม ถึงแม้มันจะเป็นช่วงที่เบื่อเพราะทะเลาะกับเพื่อนบ่อย แต่เราได้ทุ่มเทกับอะไรบางอย่าง ช่วงนั้นเป็นช่วงที่สนุกที่สุดกับการใช้ชีวิต

แต่ก็มีหลายคนปรามาสว่ามาทำกิจกรรมเพื่อความเท่ ตอนนั้นรู้สึกอย่างไร
มีคนปรามาสเยอะ ตอนทำกิจกรรม มีคนพูดถึงเรื่องนี้เยอะ แต่ถามว่าโกรธไหม ไม่โกรธนะ ผมคิดว่ามันเป็นมายาคติแบบที่เรารู้สึกว่าสังคมคนจนมันเป็นสังคมโรแมนติก ผมรู้สึกว่ามันมีความคิดนี้อยู่ว่า คุณเข้ามาทำกิจกรรมเพียงเพื่อต้องการที่จะสนองความใคร่ของคนชั้นกลางในตัวคุณเองเท่านั้น แต่สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือ ไม่ว่าวันนั้นหรือวันนี้ผมเห็นเด็กขายพวงมาลัยที่อายุเท่าน้องชายผม ผมก็รู้สึกว่ามันเป็นสังคมที่อยุติธรรมอยู่ดี ไม่ว่าวันนั้นหรือวันนี้ผมก็ยังรู้สึกว่าสังคมมันไม่ยุติธรรมและผมรับไม่ได้ เพียงแต่ว่าวันนั้นเรามีเวลาว่างเยอะ เรามีเพื่อนๆ ที่ทำร่วมกัน ณ วันนั้นเพื่อนๆ ของเราก็ทำงานอย่างนี้ได้เพราะว่าเพื่อนๆ ของเราไม่ต้องหาเลี้ยงชีพเอง ไม่ต้องตอบสนองปากท้องของตัวเอง แต่พอเพื่อนของเราต้องตอบสนองปากท้องของตัวเองก่อนแล้ว ทุกคนต่างก็ไปข้างหน้ามากขึ้น แต่ว่าเราคุยกันอยู่ทุกครั้งที่เจอกัน ทุกครั้งที่ผมเจอเพื่อนๆ ที่ทำกิจกรรม เราคุยกันเรื่องการเมือง เรื่องสังคม เรื่องการเปลี่ยนแปลง ผมคิดว่าเรายังเชื่อเหมือนเดิมอยู่ว่าเราทุกคนมีภาระหน้าที่ที่จะต้องทำให้สังคมมันเท่าเทียม ถามว่าผมพอใจไหมที่มีคนระดับผมอยู่ ขณะที่มีเด็กขายพวงมาลัยอยู่ในสังคมด้วย ผมรู้สึกว่าผมไม่พอใจ ไม่ว่าจะเป็นวันนั้นหรือวันนี้ก็ตาม

หากคุณพ่อไม่เสียชีวิตก่อน ชีวิตของคุณจะเป็นอย่างไร
ผมคงไม่ได้มานั่งตรงนี้ มันเป็นอุบัติเหตุครับ แต่ผมไม่เสียใจนะ ผมมาทำตรงนี้ทำให้ผมเข้าใจความเป็นธุรกิจ ทำให้ผมเข้าใจทุนนิยมมากกว่าตอนที่ผมทำงานเอ็นจีโอ และถ้าพ่อผมยังอยู่ บวกลบคูณหารแล้วคงไม่ได้กลับมาที่นี่แน่นอน ก็คงยังอยู่ในแนวทางภาคประชาชนต่อไป

14 ความคิดเห็น:

  1. เรียกพี่เอกละกันนะคับ ไม่รุว่ามีโอกาสเข้ามาอ่านได้งัยเหมือนกันคับ ผมก็ไม่ค่อยจะได้นั่งอ่านอะไรนานๆแบบนี้ แต่บอกได้คำเดีวคับ รุ้สึกดีมากๆคับ พี่เอกมีความคิดเปนตัวตนของตัวเองดีมากคับ เข้าใจง่าย ตรงไปตรงมาดี ขนาดผมไม่ได้เปนญาตพี่น้องกับพี่เอก แต่ลึกๆรุ้สึกภูมิใจในตัวพี่จิงๆ สุดยอดมากคับพี่ เจ๋งจิงๆ สุ้ๆคับ(:

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ13 สิงหาคม 2560 เวลา 08:50

    ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

    ตอบลบ
  3. จะรอคุณมาเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ในอนาคต

    ตอบลบ
  4. ประเทศไทยอยากได้ นายกฯ ที่ฉลาดรอบรู้จริงจัง มีประสพการร์ทั้งด้านธุรกิจ การเมืองการปกครองแบบนี้ละคุณ หวังจะเป็นหนึ่งน้ำดีที่จะเป็นพลังเปลี่ยนแปลงสังคมไทยในอนาคต อยาหมดกำลังใจท้อถอยไปเสียก่อน หนทางอีกยาวไกล

    ตอบลบ
  5. เหมือนสตีฟจ้อบ หรือ บิลเกรตเลย ผู้ผืดหวังกับระบบการศึกษา!แต่สมองอีกซีกของคุณอย่างกับนักปราชญ์!!

    ตอบลบ
  6. ไม่รู้ว่าหลงมางานได้งัย แต่..ขอบคุณครับขออนุญาตแบ่งปันให้เพื่อนๆผมอ่านะคับ

    ตอบลบ
  7. ปกติจะเป็นคนที่อ่านผ่านๆไป แต่ไม่รู้ว่าเราอ่านอะไรนานๆอย่างนี้ได้งัย ขอบคุณมากๆนะคะ คุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ วิรพา อังกูรทัศนียรัตน์ : สัมภาษณ์ / บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ถ่ายภาพ และทีมงานทุกคนที่ทำให้เราได้รู้มุมมองหนึ่งของคุณธนากร จึงรุ่งเรืองกิจ

    ตอบลบ
  8. ปกติจะเป็นคนที่อ่านผ่านๆไป แต่ไม่รู้ว่าเราอ่านอะไรนานๆอย่างนี้ได้งัย ขอบคุณมากๆนะคะ คุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ วิรพา อังกูรทัศนียรัตน์ : สัมภาษณ์ / บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ถ่ายภาพ และทีมงานทุกคนที่ทำให้เราได้รู้มุมมองหนึ่งของคุณธนากร จึงรุ่งเรืองกิจ

    ตอบลบ
  9. ทึ่งในความเป็นคนหนุ่ม เป็นนายทุนหนุ่ม นักธุรกิจหนุ่ม ที่อุดมการณ์เพื่อสังคมที่ดียังอยู่ครบ และประเมินตนเองกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์เสมอ
    ขอชื่นชมอย่างจริงใจ

    ตอบลบ
  10. เราต้องการคนรุ่นใหม่แบบนี้ รู้สึกมีความหวัง

    ตอบลบ
  11. ขอบคุณคุณวันชัยและคณะที่นำมาเผยแพร่ ขอบคุณคุณธนาธรที่สร้างความหวังให้กับคนอายุเจ็ดสิบอย่างผมว่ายังมีคนทำธุรกิจรุ่นใหม่ที่ยอมรับความเท่าเทียมของคนไทย
    ประสงค์ สุวรรณพานิช

    ตอบลบ
  12. วิสัยทัศน์น่าสนใจมาก เสียดายเพิ่งมาได้อ่านตอนปี60 แต่ว่าก็ได้อรรถรสไปอีกแบบ

    ตอบลบ
  13. I came here cuz i am Khun Eak friend on Facebook, i following him for a while by outsource not FB but when he accept me as friend made me impressed more , Next youngest PM in Thailand , i believe that.

    ตอบลบ
  14. บทสัมภาษณ์ปี 53 ก่อนเหตุการณ์ พค.53 ไม่กี่วันเลยจริงๆ
    เพิ่งได้อ่านปี 60 สิ่งที่เขาทำอยู่ตอนนี้ เพิ่มเติมคือ การผจญภัยท้าตายของเขา นับถือๆ

    ตอบลบ