วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ล๊อตเตอรี่ ธุรกิจหมื่นล้านเข้ากระเป๋าใครจ๊ะ...คิดออกจะได้ตาสว่างกันน๊า...

โก่งราคาลอตเตอรี่ บี้หวยออนไลน์ หมื่นล้านเข้ากระเป๋าใคร?

ใน สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความโดยยืนยันว่าการพิมพ์สลาก 2 ตัว 3 ตัว ด้วยเครื่องอัตโนมัติหรือหวยออนไลน์ได้ สำนักงาน (สนง.) สลากกินแบ่งรัฐบาล สามารถทำได้ไม่ถือเป็นการผิดกฎหมาย ขณะนี้จึงเหลืออยู่ว่าผลการศึกษาผลกระทบทางสังคม ที่คณะกรรมการ (บอร์ด ) สนง.สลากฯ ได้มอบหมายให้ รศ.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้ว่าจ้างให้มหาวิทยาลัยราชภัฏ สวนดุสิต ไปศึกษาต่อจะสรุปอย่างไร ก่อนที่บอร์ด สนง.สลากฯจะตัดสินเดินหน้าหวยออนไลน์หรือไม่

หากจะว่าไปแล้ว ทั้งในเรื่องกฎหมาย และผลการศึกษา เป็นเรื่องเดิม ๆ ที่ทำการศึกษามาไม่รู้กี่รอบในรัฐบาลที่ผ่านมา และสนง.สลากฯ ก็มีคำตอบอยู่แล้ว จึงหาใช่ตัวชี้ขาดที่จะนำไปสู่การตัดสินใจ ของรัฐบาลชุดนี้ว่าจะเดินหน้าหวย ออนไลน์หรือไม่ แต่การเตะถ่วงนานวันโดยปล่อยให้มีการขายสลากกิน แบ่งรัฐบาลราคาแพงกว่าที่กำหนด ก็ยิ่งเพิ่มความเคลือบแคลงของกระแสสังคมที่มองว่า เพราะผลประโยชน์มหาศาล นี่กระมัง คือสาเหตุที่ขวางการเกิดของหวยออนไลน์ ?


*จัดสรรรายได้


รายได้จากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลตามราคาหน้าสลากฉบับละ 40 บาท/คู่ละ 80 บาท ได้ถูกแบ่งเป็น

1)เงินรางวัล 60% หรือฉบับละ 24 บาท/คู่ละ 48 บาท

2)รายได้เข้าแผ่นดินไม่น้อยกว่า 28% หรือฉบับละ 11.20 บาท/คู่ละ 22.40 บาท

3)รายได้ที่เหลืออีก 12 % กำหนดเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายในการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล แบ่งเป็น

.....3.1 ส่วนลดที่ให้กับผู้ค้า 8% หรือฉบับละ 3.2 บาท/ตกคู่ละ 6.4 บาท ( กรณีนี้สนง.สลากฯจะมีรายได้ส่วนต่าง 4% (12-8%หรือ 1.6 บาทต่อฉบับและ 3.20 บาทต่อคู่ )

.....3.2 ส่วนลดให้กับองค์กรช่วยจำหน่าย 2% หรือฉบับละ 0.80 บาท/คู่ละ 1.6 บาท (สนง.สลากฯได้รายได้ส่วนต่าง 10%หรือ 4 บาทต่อฉบับ ,8 บาทต่อคู่ ) หน่วยงานดังกล่าวได้แก่ กระทรวงการคลัง /กระทรวงมหาดไทย /องค์กรการกุศล/สมาคม/นิติบุคคล/มูลนิธิ และ

.....3.3 เป็นค่าใช้จ่ายของสนง.สลาก ฯ 2%หรือฉบับ 0.80 บาท/คู่ละ 1.60 บาท


ดัง นั้นสลากที่จำหน่าย 46 ล้านฉบับ ฉบับละ 40 บาทต่อ จึงมีมูลค่ารวมต่องวดถึง 1,840 ล้านบาทและเป็นรายได้ต่อปีถึง 44,160 ล้านบาท จำนวนนี้ต้องนำส่งรัฐ 28% ปีละ 12,365 ล้านบาท ,เงินผู้ซื้อ (ถูกรางวัล) 26,496 ล้านบาท และตัวแทนจำหน่ายหรือผู้ค้าอีกปีละ 3,533 ล้านบาท


*กำไรส่วนเกิน22,080 ล้าน


แต่ หากผู้ค้า บวกเกินโดยจำหน่ายถึงคู่ละ 100 บาท ( +20 บาท ) กำไรส่วนเกินต่อเดือนจะมากถึง 920 ล้านบาท หรือต่อปีละ 11,040 ล้านบาท และในกรณีที่จำหน่ายเกินราคาถึงคู่ละ 120 บาท กำไรส่วนเกินจะเบิ้ล 2 เท่าตัว คือต่อเดือนละ 1,840 ล้านบาท และต่อปี 22,080 ล้านบาท เมื่อบวกกำไรปกติ ( 3,533 ล้านบาท ) จะสูงถึง 25,613 ล้านบาท



ปัญหา ของสลากเกินราคา เป็นวงจรที่เกิดขึ้นอีกครั้งหลังปลายปี 2549 ที่รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประกาศยกเลิกหวยบนดิน ( เลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว ) จากสลากที่จำหน่ายปกติคู่ละ 80 บาท ได้ปรับเป็น 110-120 บาท ไม่เว้นแม้แต่แผงสลากหน้ากองสนง.สลากฯที่ขายกันโจ้ง ๆ กระทั่งผู้อำนวยการ "นายวันชัย สุระกุล " ผู้อำนายการสนง.สลากฯ ยังยอมรับว่า อดีตขายกันคู่ละ 95 บาทก็ยังแพงแล้วแต่วันนี้แพงยิ่งกว่า


" สาเหตุของสลากเกินราคา เป็นปัญหาจากปริมาณความต้องการซื้อหรือดีมานด์ในตลาดมีมากจริง เพราะหลังปลายปี 2549 เป็นต้นมารัฐบาลไม่ได้จัดพิมพ์สลากเพิ่ม ประกอบกับคนไม่นิยมซื้อหวยเถื่อนหรือใต้ดิน เพราะถูกเอาเปรียบ จึงเป็นแรงสนับสนุนกำลังซื้อของสลากปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมาจากตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการจัดสรรสลาก แต่ไม่ได้จำหน่ายสลากเอง กลับไปขายต่อให้กับนายทุน ทำให้สามารถนำไปรวมชุด เรียกราคาได้สูงกว่าที่กำหนดไว้มาก"


แนวทางที่ สนง.สลาก ฯสามารถดำเนินการบ้างในขณะนี้ โดยการประกาศร่นวันจำหน่ายเพื่อดัดหลังให้ผู้ค้ามีเวลาน้อย เพื่อให้ยากต่อการนำมารวมเลขชุด เช่นเดิมกำหนดให้ต้องซื้อ "ก่อน-หลังวันออก"สำหรับงวดถัดไป 2 วัน เช่น งวดถัดไปออก 1 ส.ค. 2552 ผู้ค้าต้องมาซื้อสลากตั้งแต่วันที่ 14 , 15 ก.ค. 2552 และ 17 , 18 ก.ค. 2552 ของงวด 16 ก.ค.นี้ ก็ให้เปลี่ยนเป็น "ซื้อก่อนวันออก 1 วันและหลังวันออก 3 วัน" กล่าวคืองวดถัดไปคือ 1 ส.ค. 2552 ผู้ค้าให้มาซื้อสลากได้ ในวันที่ 15 และ วันที่ 17,18,และ 19 ของงวดวันที่ 16 ก.ค. 2552 นี้


แต่ไม่ได้ผล ! เพราะกลับเป็นเหตุให้สลากมีราคายิ่งแพงขึ้น เนื่องจากผู้ค้าต้องมีค่าใช้จ่ายการบริหารคนเพิ่ม จากการนำสลาก ซึ่งกระจายมารวมชุดในช่วงเวลาที่จำกัด


รวมถึงนโยบาย จัดพิมพ์สลากเพิ่มจาก 46 ล้านฉบับต่องวดในปัจจุบันเป็น 60 ล้านฉบับ พร้อมกระจายรางวัลที่ 1 เป็น 23 ครั้ง เพื่อป้องกันการนำสลากมาขายรวมชุดโก่งราคา แต่ทั้ง 2 วิธีการหลังยังไม่มีบทสรุป


นายวันชัยเคยกล่าวว่า ตนเองมั่นใจว่าหากสลากพิมพ์เพิ่มเป็น 60 ล้านฉบับหรือ 70 ล้านฉบับจะฉุดราคาลงมาเท่าราคาหน้าสลากที่ 80 บาทหรือต่ำกว่า เพราะดูจากสถานการณ์ปี 2548 ช่วงหวยบนดินเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว ได้รับความนิยมมาก มียอดจำหน่ายสูงสุดต่องวดถึง 3,000 ล้านบาท ราคาสลากก็ถูกดัมพ์จนเหลือ 3 ใบ 100 บาท แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาล ว่าจะมีนโยบายจัดพิมพ์สลากเพิ่มหรือไม่เพราะกระแสสังคมส่วนหนึ่ง ยังมองเป็นการมอมเมาประชาชน


ผลประโยชน์มหาศาลตกกับใคร ?


อย่าง ไรก็ดี ตัวแทนผู้จำหน่ายสลาก เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ " ว่าการพิมพ์สลากเพิ่ม ไม่ใช่แนวทางแก้ที่ต้นเหตุ เพราะในอดีตที่ผ่านมาทุกครั้งที่สลากจำหน่ายเกินราคา ก็ไม่พ้นที่รัฐบาลจะแก้โดยการพิมพ์สลากเพิ่ม จนเป็นวงจรที่แก้กันไม่รู้จบ ขณะที่ตอสำคัญของปัญหา อยู่ที่ระบบการจัดการจำหน่ายหรือโควตา แม้ว่าในรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดย นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งกำกับสนง.สลาก ฯจะสั่งรื้อระบบจัดสรร ที่ผูกขาดอยู่กับผู้ค้ารายใหญ่ ( 5 เสือ )มากถึง 5 ล้านฉบับ มาเป็นระบบการจัดสรรแบบแถบสี กระจายไปสู่มือประชาชนมากขึ้น ตั้งแต่กลางปี 2548 เป็นต้นมา โควตาทั้ง 4 สี 46 ล้านฉบับต่องวด หรือ 460,000 เล่ม ในราคาขาย ฉบับละ 40 แบ่งเป็น


1.สลากแถบสีเขียว ให้กับตัวแทนจำหน่ายทั่วไปในกรุงเทพ ฯ (ผู้ด้อยโอกาส,มีรายได้น้อย,พิการ ) เป็นผู้จำหน่ายขายปลีก จัดสรรรายละไม่เกิน 20 เล่ม

2.สลากแถบสีน้ำเงิน จำหน่ายในส่วนภูมิภาค ผ่านคลังจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัด รายละไม่เกิน 20 เล่ม

3.สลากแถบสีน้ำตาล ให้จำหน่ายโดยสมาคมการกุศล มูลนิธิ คนพิการ ทั่วประเทศ องค์กรละไม่เกิน 500 เล่ม และ

4.สลากแถบสีชมพู จำหน่ายให้กับกลุ่มนิติบุคคล,ห้างหุ้นส่วน บริษัทละไม่เกิน 500 เล่ม


เฉพาะ 2 กลุ่มแรก ( สีเขียว-สีน้ำเงิน ) นายวันชัย สุระกุล ผู้อำนวยการสนง. สลากฯ ยอมรับว่าเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดราคาสลากในตลาด เพราะนอกจากจะไม่ได้จำหน่ายด้วยตัวเอง ยังขายต่อให้มือที่ 2 และเป็นการขายขาด โดยรับเงินขึ้นมาแน่ ๆ เพียงระยะเวลา 15 วัน จนทำให้เกิดปัญหาว่าสลากไปสุมอยู่กับนายทุน นายทุนจึงกำหนดราคาได้เอง เช่นการนำสลาก ไปจัดสรรได้ตามความสามารถ รวมชุด โก่งราคา เป็นต้น


แหล่ง ข่าวจากตัวแทนผู้ค้ารายหนึ่ง กล่าวว่า แม้รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะสลายกลุ่ม 5 เสือที่ถือว่าผูกขาดระบบโควตามากสุด ตั้งแต่ปี 2548 แต่พวกเขากลับเชื่อว่าฐานอำนาจเก่าเหล่านี้ยังไม่หายไปจากระบบ


"คน ที่จะเข้ามาในธุรกิจนี้ได้ ต้องมีระบบการจำหน่าย เครือข่าย ความพร้อมด้านการจัดการเพราะระบบการจัดจำหน่ายสลากก็ไม่ต่างกับ การขายส่ง จึงเป็นการยากที่รายใหม่จะเข้ามา เชื่อว่าฐานอำนาจของกลุ่มนายทุน นักการเมือง ที่เรียกว่า 5 เสือยังอยู่ เพียงแต่โควตาหลังปี 2548 อาจถูกเปลี่ยนไป "แหล่งข่าวกล่าว


*เปิดโควตา


ทั้ง นี้การจัดสรรสลากขึ้นใหม่ ในปี 2548 ตามที่สนง.สลากฯ อ้างว่าเป็นการยุติบทบาทของ 5 เสือตามข้อมูลการรายงานของ "คณะทำงานพิจารณาศึกษาการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลในราคาที่ควบคุม คณะที่ปรึกษา คณะกรรมาธิการการคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งทำไว้เมื่อปี 2550 "


โควตาใหม่ตามการจัดสรรระหว่างปี 2548-2549 ประกอบด้วย


1. ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศได้ 162,644 เล่ม กินส่วนแบ่งตลาด 35.36% ของสลากทั้งหมด

2. ผู้ค้ารายย่อย 120,374 เล่ม สัดส่วน 26.17%

3. สมาคมและองค์กรการกุศลต่าง ๆ 88,950 เล่ม สัดส่วน 19.34% ,

4. มูลนิธิ สำนักงานสลากฯ 30,032 เล่ม สัดส่วน 6.53% (ปัจจุบันมูลนิธิ ดังกล่าวได้ปิดตัว แต่ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าโควตาส่วนนี้กระจายในมือใคร )


5. กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง 30,000 เล่ม สัดส่วน 6.52% และ

6. นิติบุคคล 25 ราย 28,000 เล่ม สัดส่วน 6.09%


โควตา นี้แม้จะใช้มาตั้งแต่ปี 2548-2549 แต่คงไม่ต่างจากปัจจุบันมากนัก และเป็นที่น่าสังเกตว่า มีบุคคลหรือองค์กร ที่ได้รับกำไรผูกขาดจากธุรกิจการ จำหน่ายสลากไม่ว่าจะเป็น ผู้ว่าราชการจังหวัด , กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง และนิติบุคคลบางส่วน รวมไปถึงโควตาในกลุ่มแถบสีเขียว (คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส ) กลุ่มนี้แม้จะได้มาแต่บางกลุ่มก็ไม่มีความพร้อมด้านทุน ก็ต้องนำโควตาตัวเองไปจำนำกับนายทุนต่อ ส่งผลให้โควตาในความเป็นจริงยังผูกขาดโดยกลุ่มหน้าเดิม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น