วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ที่มาของวรรคทอง และทั้งหมด "เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน"

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล Posted : 2007-07-10 20:23:43

นี่ครับ ที่มาของวรรคทอง "เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน"

ต้องขอบคุณคุณ kkk.p และคุณ "ศิษย์เก่าอธิปัตย์" ที่ช่วยโพสต์คำถามและเสริมคำตอบในกระทู้ก่อนหน้านี้ http://www.sameskybo...ybooks&No=18066 เกี่ยวกับวรรคทอง "เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ..." ทำให้ผมเกิดความขยันพอที่จะทำในสิ่งที่คิดจะทำมานานแล้ว คือไปเช็คหากลอนเต็มที่เป็นที่มาของวรรคทองนี้

ผมทราบมาตลอดว่า กลอนนี้เป็นฝีมือของวิสา คัญทัพ และตีพิมพ์ครั้งแรกใน เราจะฝ่าข้ามไป ของเขา แต่ที่ผมจำผิดและเขียนผิดไปในกระทู้ก่อน (ซึ่งต้องขออภัยทุกท่านมา ณ ที่นี้) คือเวลาที่เขียน-พิมพ์ ซึ่งเดิมผมคิดว่า เป็นช่วงปลายปี ๒๕๑๖ ต่อต้นปี ๒๕๑๗

ความจริง กลอนบทนี้ เขียนขึ้นในวาระครบรอบ ๑ ปีเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ชื่อกลอนก็ชื่อ "ครบรอบปี - สิบสี่ตุลา"

กลอนนี้มีทั้งหมด ๑๒ บท หรือ ๔๘ วรรค ผมได้ใส่เลขวรรคเพิ่มเติมให้ในที่นี้ (ไม่มีในต้นฉบับพิมพ์) เพื่อสะดวกแก่การพิจารณาและอ้างอิงถึง

ก่อนอื่น ขอย้ำว่า ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเขียนกลอน แต่อยากตั้งข้อสังเกตส่วนตัวว่า กลอนนี้ วิสาเขียนในลักษณะให้เป็นกลอนแปดแบบ "ไม่เคร่งครัดฉันทลักษณ์" ซึ่งเป็นสิ่งที่นิยมพอสมควรในหมู่คนรุ่นใหม่สมัยนั้น (ในความเห็นของผม คนที่เขียนกลอนแปดสไตล์นี้ได้ดีที่สุด อาจจะได้แก่ ไพบูลย์ วงษ์เทศ) นั่นคือ แทนที่จะให้มี ๘ หรือ ๙ พยางค์ในแต่ละวรรค ก็ให้มีพยางค์ ไม่ถึงบ้าง เกินบ้าง ที่สำคัญ ให้การเว้นจังหวะการอ่านและการสัมผัสไม่ตรงกับฉันทลักษณ์แบบจารีต คือแทนที่จะเว้นจังหวะการอ่านในวรรคและสัมผัสระหว่างวรรคที่พยางค์ที่ ๓, ๕(๖) และ ๘(๙) ก็ให้เป็นที่พยางค์อื่น เช่น ตัวอย่างชื่อกลอนเอง "ครบรอบปี - สิบสีตุลา" ซึ่งเว้นจังหวะการอ่านที่พยางค์ที่ ๓, ๕ และ ๗ หรือดูตัวอย่าง วรรคที่ ๖ "โอ้พระปกฯ - ประชาธิปไตยอยู่ไหนหนา" เว้นจังหวะที่พยางค์ ๓, ๘ และ ๑๑)

ผมคิดว่าการเขียน "กลอนแปด" สไตล์นี้ ให้ความรู้สึกในการอ่านแบบ "กระแทกเสียง-ดุดัน" แม้แต่การใช้เครื่องหมาย "-" ตลอดทั้งกลอนก็เพื่อให้ได้ effect แบบนี้ โดยรวมคือให้เกิดความรู้สึกคล้ายกับกำลังอ่านกาพย์ยานี ๑๑ (ในแบบที่จิตรเรียกว่า "ยานีลำนำ") ซึ่งเป็นรูปแบบบทกวีที่นิยมที่สุดในหมู่นักศึกษาสมัยนั้น (ดูตัวอย่างงานของเสกสรรค์ เป็นต้น ไม่ต้องพูดถึง รวี โดมพระจันทร์ ผมเปรียบเทียบกลอนสไตล์นี้กับ ยานี ๑๑ ไม่ใช่กลอนหก เพราะเห็นว่ากลอนหก มีการอ่านเว้นจังหวะคำที่สม่ำเสมอกันมากกว่า)

ที่เป็นเหมือน irony เล็กๆในเรื่องนี้ คือ ๘ วรรคสุดท้ายที่รู้จักกันดีที่สุด ที่เริ่มต้นว่า "ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้า..." นั้น เป็น ๘ วรรค ที่วิสาเขียนแบบกลอนแปดแบบจารีตมากที่สุด คือ มี ๘ พยางค์ในทุกวรรค ยกเว้นวรรคสุดท้ายเพียงวรรคเดียว "ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน" ที่มี ๙ พยางค์ (ซึ่งก็ยังจัดว่าอยู่ในจารีต) ผมคิดว่า ข้อนี้เป็นส่วนเสริมสำคัญ (นอกเหนือจากความเด่นของเนื้อความของส่วนนี้เอง) ที่ทำให้ ๘ วรรคนี้เป็นที่จดจำกันได้ง่าย ขณะที่แทบไม่มีใครรู้จักหรือจำวรรคอื่นๆได้เลย

ดังที่ผมเขียนไว้ในกระทู้ก่อนหน้านี้ ผมคิด่วา วิสาเอาไอเดียที่เป็น ๘ วรรคสุดท้ายนี้ โดยเฉพาะ ๒ วรรคแรก มาจาก "ภาษิต" ที่ว่า "กษัตริย์มา กษัตริย์ไป, นายพล(ขุนศึก)มา นายพล(ขุนศึก)ไป ประชาชนเท่านั้น ที่คงอยู่" เสียดายที่ผมไม่สามารถยืนยันเรื่องนี้ได้ หากท่านใดมีความรู้ ช่วยขยาย จะเป็นพระคุณมาก ผมจำได้ว่า มีการอ้างภาษิตนี้ในการอภิปรายและการชุมนุมสมัยนั้นหลายครั้ง

วิสาเอง เขียนคำอุทิศ ในหน้าแรกของ เราจะฝ่าข้ามไป ว่า

อุทิศแด่ วีรชน ๑๔ ตุลาคม
และประชาชนผู้ยิ่งใหญ่ในแผ่นดิน


ดังที่คุณ "ศิษย์เก่าอธิปัตย์" ชี้ไว้ กลอน ๘ วรรคสุดท้ายนี้ ได้ปรากฏอยู่ในหนังสือรวมภาพรูปปั้นแสดงชีวิตและการลุกขึ้นสู้ของชาวนา ที่พิมพ์โดยกลุ่มวรรณกรรมเพื่อชีวิตด้วย แต่ผมค่อนข้างมั่นใจว่า นั่นเป็นการปรากฏหลังจากกลอนนี้ตีพิมพ์ใน เราจะฝ่าข้ามไป แล้ว น่าเสียดาย ผมยังไม่สามารถหาหนังสือรวมภาพรูปปั้นดังกล่าวได้ ท่านผู้ใดมีหนังสือนั้นอยู่ในมือ จะช่วยกรุณาตรวจสอบ ก็จะเป็นพระคุณ

อนึ่ง ขอให้สังเกตว่า กลอนนี้ (วรรค ๑ ถึง ๘ และวรรค ๙ ด้วย) ยังสะท้อนอิทธิพลของ "พระราชหัตถเลขาสละราชย์ ร.๗" หรือร่องรอยของอิทธิพลนิยมเจ้าในขบวนการนักศึกษาขณะนั้นอยู่บ้าง (แต่อีกเพียงไม่นานแล้ว) เมื่อมองจากจุดนี้ ก็ต้องนับเป็น irony อย่างสูงที่ ๒ วรรคสุดท้ายของกลอนนี้ จะกลายมาเป็น "คำขวัญ" ของขบวนการนักศึกษาที่ฝ่ายขวาถือว่า แสดงให้เห็นลักษณะเป็นปฏิปักษ์กับสถาบันกษัตริย์ของขบวนการสมัยนั้น

วลี "พ่อข้าเพิ่งจะยิ้ม" ในวรรคที่ ๒๓ วิสานำมาจากชื่อนิยายของสุวัฒน์ วรดิลก (ที่พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร เอเชีย )

ข้อความในวรรคที่ ๓๒ หมายถึง พระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพ "วีรชน" ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ที่สนามหลวง ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๗ ในความเป็นจริง นี่เป็นเหตุการณ์เชิงสัญลักษณ์ของความเป็นพันธมิตรระหว่างขบวนการนักศึกษา
กับสถาบันกษัตริย์ในยุคนั้นเป็นครั้งสุดท้าย และเกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดของความพันธมิตรนี้แล้ว แสดงออกที่ประเด็นการจะแสดงละครเรื่อง "ห้าแผ่นดิน" ที่ธรรมศาสตร์ (ซึ่งในที่สุดถูกกดดันให้ยกเลิก)

โปรดสังเกตด้วยว่า ในวรรค ๔๔ ต้นฉบับเดิมต้องมีเครื่องหมาย "-" ด้วย

หากมีเวลา โอกาสหน้า ผมจะเขียนถึง ที่มาของวรรคทอง "ตื่นเถิดเสรีชน อย่ายอมทนก้มหน้าฝืน" ของ รวี โดมพระจันทร์

(หมายเหตุ ต้นฉบับพิมพ์ครั้งแรก พิมพ์เรียงบรรทัดละ ๒ วรรค ไม่ใช่บรรทัดละวรรคแบบข้างล่างนี้)

ครบรอบปี - สิบสี่ตุลา

(๑) สิบสี่ตุลา - วันมหาปิติ
(๒) พระปกเกล้าทรงดำริพระราชดำรัส
(๓) ทรงลงพระปรมาภิไธยอนุมัติ
(๔) ไทยยังจำ - คำสัตย์ เสมอมา
(๕) สองสี่เจ็ดห้าถึงสองพันห้าร้อยสิบหก
(๖) โอ้พระปกฯ - ประชาธิปไตยอยู่ไหนหนา
(๗) สิ้นแผ่นดินเผด็จการก็ลานตา
(๘) ทุรชนเรียงหน้าเข้าราวี

(๙) สิบสี่ตุลา - วันมหาวิปโยค
(๑๐) ลูกหลานไทยเลือดโชกทั่วพื้นที่
(๑๑) คาวเลือดคลุ้งนองสาดเพื่อชาติพลี
(๑๒) มาเถิดกู - สู้ไม่หนี - วีรชน
(๑๓) เขาเพรียกเสียงเพียงขานประสานก้อง
(๑๔) เขาเรียกร้องรัฐธรรมนูญเพิ่มพูนผล
(๑๕) เขายืนหยัดต่อสู้ศัตรูคน
(๑๖) เขาสู้ทนเพื่อมหาประชาไทย

(๑๗) สิบสี่ตุลา - วันมหาปิติ
(๑๘) มาฟังสิ - ฟังเสียงสำเนียงใส
(๑๙) เสียงชโยโห่ร้องดังก้องไกล
(๒๐) ประชาชนขับไล่เผด็จการ
(๒๑) คราบน้ำตายังไม่แห้งลงเหือดหาย
(๒๒) เพื่อนพี่น้องล้มตายทุรนร่าน
(๒๓) พ่อข้าเพิ่งจะยิ้ม - อย่างสำราญ
(๒๔) เห็นลูกมันกล้าหาญก็ภูมิใจ

(๒๕) ครบรอบปี - สิบสี่ตุลา
(๒๖) ประชาชนถ้วนหน้า - ก็ร่ำไห้
(๒๗) ดวงวิญญาณวีรชนอยู่หนใด
(๒๘) วันนี้ร้อยมาลัย - มาบูชา
(๒๙) มโหรีจะโหมโรงเป็นระลอก
(๓๐) มหกรรมในนอก - จะแน่นหนา
(๓๑) และผู้คนทุกชนชาติจะยาตรา
(๓๒) โปรดมาลา - จุดธูปคลุ้ง - ทุ่งพระเมรุ

(๓๓) ครบรอบปี - สิบสี่ตุลา
(๓๔) ราชดำเนินเลือดทาแผ่นดินเด่น
(๓๕) วีรกรรมอาชีวะที่กะเกณฑ์
(๓๖) ก็หนุนเนื่องเนืองเห็นเป็นประจำ
(๓๗) รอยเลือดแลกเลือดเดือดพล่าน
(๓๘) อาจหาญโหมรุก - บุกกระหน่ำ
(๓๙) สามัคคีมิตรสหาย - ออกร่ายรำ
(๔๐) มุ่งนำประชาธิปไตยหมายทุน

(๔๑) ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้า
(๔๒) ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาปสูญ
(๔๓) ไม่มีใครล้ำเลิศน่าเทิดทูน
(๔๔) ประชาชนสมบูรณ์ - นิรันดร์ไป
(๔๕) เมื่อยืนหยัดต่อสู้ผู้กดขี่
(๔๖) ประชาชนย่อมมีชีวิตใหม่
(๔๗) เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ
(๔๘) ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน


เขียนเพื่ออ่านออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม
สดุดีวีรกรรมของวีรชน 14 ต.ค. 16
ก่อนการแสดงละครเรื่อง "พ่อข้าเพิ่งจะยิ้ม"
บทละครของสุวัฒน์ วรดิลก ปี 2517

(วิสา คัญทัพ. เราจะฝ่าข้ามไป. พิมพ์ครั้งที่ 2 . สำนักพิมพ์พิราบ, 2517, หน้า 19-20)

ขออภัย ผมพยายาม เคาะ spacebar ให้เกิดย่อหน้าทุกๆ ๘ วรรค แต่มันไม่ออกมาให้เห็น

++++++++++++++++++++++++

สมศักดิ์ Posted : 2007-07-10 20:48:10 IP : (203.131.213.88)

ผมลืมบอกไปว่า เราจะฝ่าข้ามไป พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ ปุถุชน ซึ่งปกติพิมพ์นิตยสารรายเดือนขนาดกระทัดรัดเท่าป๊อกเก็ตบุ้คชื่อ ปุถุชน ในนิตยสารนี้ หลังเกิดเหตุการณ์กระทิงแดงบุกเข้าเผาธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๑๘ แล้ว วิสา ได้เขียนกลอนชิ้นหนึ่ง ที่มีข้อความบางตอนว่า

ยี่สิบสิงหาเข้าธรรมศาสตร์
ตึกรามพังพินาศปี้ป่น
มือตีนต่างด้าวระดมพล
กระทิงแดงบุกชนสถาบัน
........
สองพันห้าร้อยยุคมืดอับ
รัฐบาลสั่งจับกันยกใหญ่
ธรรมศาสตร์เป็นเสียงอันเกรียงไกร
ยังจำความจับใจเสมอมา
"สำนักไหนหมายชูประเทศชาติ"
สำนักนั้นธรรมศาสตร์ใช่ไหมหว่า?
สำนักธรรม ชูธงชัย ไสว - บา
โอ! มหาวิทยาลัยประชาชน
.......


สมัยนั้น ผมจำทุกวรรคทุกคำของกลอนชิ้นนี้ได้ขึ้นใจ (สมัยนี้จำไม่ได้เสียแล้ว) ทั้งที่ ๆ ยังไม่ได้เข้าเรียนในธรรมศาสตร์ด้วยซ้ำ

+++++++++++++++++++++++++++++++

อีกบทหนึ่ง.....
กดหัวประชาชน

หยาดน้ำตาประชาไทยในวันนี้
ไหลเกือบท่วมปฐพีแล้วพี่เอ๋ย
ถ้าความจริงสามารถอ้างเหมือนอย่างเคย
ก็จะเอ่ยและจะอ้างอย่างไม่กลัว
นี่มีปากก็ถูกปิดจนมิดเม้ม
มันแทะเล็มถุยรดและกดหัว
ปัญหาต่างต่างนั้นก็พันพัว
ไม่อยากโทษใครชั่วเพราะกลัวตาย
ถ้าขอได้จะขอกันในวันนี้
ขอให้สิทธิ์เสรีอย่าสูญหาย
ถ้าเลือดไทยจะหลั่งโลมจนโซมกาย
ก็ขอตายด้วยศักดิ์ศรีเสรีชน

พิมพ์ครั้งแรกใน ประชาชาติรายวัน ฉบับวันที่ 6 ตุลาคม 2516
ผู้เขียนถูกจับเป็น 1 ใน 13 กบฏเรียกร้องรัฐธรรมนูญวันเดียวกันนี้ แต่เดิมไม่มีชื่อบท

(วิสา คัญทัพ. เราจะฝ่าข้ามไป. พิมพ์ครั้งที่ 2 . สำนักพิมพ์พิราบ, 2532. หน้า 67.)

+++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น